วันเสาร์, มิถุนายน 25, 2565

๗ พื้นที่ 'จัดให้' ชุมนุมใน กทม. เรื่องของการกำขี้ดีกว่ากำตดไหมเนี่ย

เห็นด้วยนะกับ พรรณิการ์ วานิช ว่า กทม.ควรเปิดให้ทำการชุมนุมได้ทุกพื้นที่สาธารณะ และจำกัดเฉพาะบางแห่งส่วนน้อย คือกลับกันกับนโยบายที่ผู้ว่าฯ คนใหม่เพิ่งประกาศ โดยจัดสถานที่ให้ใช้ทำการชุมนุมได้ ๗ แห่ง

เหตุผลพื้นฐานง่ายๆ ก็คือ การชุมนุมสาธารณะเป็นการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากเพื่อแสดงออกถึงความเห็นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือยกย่องโดยรวมเป็นส่วนกลาง ตัวอย่างเช่นมวลชนปกป้องสถาบันต้องการแสดงความจงรักภักดี

หากจะสนับสนุนการได้รับเครื่องบินโบอิ้งลำใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ กับพระราชินี ก็ต้องไปชุมนุมบริเวณหน้าหรือข้างๆ สวนอัมพร จะให้ไปชุมนุมหน้าลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนงคงไม่ขลัง และจะไปถึงมูนิคคงไม่ได้

ถ้าอยากแสดงความชื่นชอบแบบมอบกายถวายหัวต่อสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด ก็ต้องไปแถวๆ วังหลวง จะให้ไปสวนมณฑลภิรมย์ตลิ่งชันก็กระไรอยู่ ฉันใดฉันนั้นหากกลุ่มปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องการแสดงความเห็น ก็ไปสำนักพระราชวังใกล้สนามหลวง

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนสมัยนี้มักเป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ ต้องไปดินแดงกันทุกครั้งทุกครามันถึงได้เกิดความตึงเครียด หรืออย่างกลุ่มอาชีวะปะทะสามกีบ อยากแสดงศักดาเป็นข้าราชบริพารกัน ไปร้องเพลงสรรเสริญฯ หน้าสวนจิตฯ ก็โอเค

แต่ไปร้องที่บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันผิดวัตถุประสงค์ ตีความได้อย่างเดียวว่าต้องการหยามหมิ่น ก้าวร้าวต่อฝ่ายที่มีอุดมคติ ความเห็นตรงข้าม ลักษณะอันธพาลหาเรื่อง ผิดวัตุประสงค์การชุมนุมโดยสันติตามระบอบประชาธิปไตย

ช่อ บอกว่า “การให้สิทธิการชุมนุมของประเทศเยอรมันนี คือทุกพื้นที่สามารถชุมนุมได้ทั้งหมด รัฐประกาศเฉพาะพื้นที่ห้ามชุมนุม ประเทศไทยควรเป็นแบบนั้น” พนันได้เลยพระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงเห็นพ้อง ด้วยพระองค์เองทรงโปรดปรานการเสด็จพำนักที่เจอระมัน

ครั้นไปพินิจถึงแนวคิดที่อาจเป็นพื้นฐานการตัดสินนโยบายของ กทม. ว่าสถานที่กลางๆ ซึ่งเป็นสาธารณะจริงๆ และอยู่ในความดูแลกำกับของกรุงเทพมหานคร ดังเช่น ๗ แห่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคาะออกมาแล้วนั้น

หลายแห่งมันไม่ได้กลางๆ จริงเท่าลานคนเมือง หรือสนามหลวง กทม.เมินผ่าน สนามหลวง จะด้วยสาเหตุอันใด หรือถึงขั้นตายแล้วยังบอกไม่ได้ ก็เกินไป สนามหลวงเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การชุมนุมสาธารณะทุกประเภท ดังเคยเป็นในอดีต

ข้อเสนอแนะจากนายวรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข ๒๒ ยื่นต่อผู้ว่าฯ ชัชชาติเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนา หลังการสัมมนาเรื่อง สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand’ ให้เอารั้วกั้นรอบสนามหลวงออก เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านไม่มีที่เดินบนฟุตปาธ

ชี้ให้เห็นว่าการหวงสนามหลวงไว้ใช้สำหรับราชพิธีอย่างเดียวในเวลานี้ นอกจากจะลบล้างธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านซึ่งใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ส่วนกลางของทุกคนมานับศตวรรษ แล้วยังสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน บูรพกษัตริย์องค์ไหนคงไม่ปรารถนา

ชาวกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าที่เป็นแบบอย่างของการสนองตอบต่อความทุกข์สุขของประชาชนลงตัวดีแล้ว ในเรื่องของท้องที่ ทางเท้า ท่อระบายน้ำ สวนสาธารณะเคล้าดนตรี ขยับเพดานขึ้นไปอีกนิดในเรื่องของการแสดงความคิดอิสระ ศิลปะ และเพศสภาพ ก็จะดี

ยังไม่ต้องให้ผู้ว่าฯ ก้าวกระโดดขึ้นไปเป็นนายกฯ ในระดับชาติก็ได้ ยิ่งเจ้าตัวเพิ่งแย้มว่ายังมี “ตำแหน่งที่ สอง (เป็น) แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย” อยู่นะ ซะด้วย “ไม่มีที่ลาออก ไม่มีเงินเดือน ไม่รู้จะไปลาออกที่ไหน”

จะให้เป็นผู้ว่าฯ ปีเดียวหรือไม่ถึงปี แล้ว ‘Great Leap Forward’ ไปเป็นนายกฯ เลย พวกที่ยึดอำนาจมาแล้วอยู่ยาว อยากอยู่ต่อ จัดระเบียบอำนาจไม่ลงตัว ยุ่งตายห่

(https://www.facebook.com/Noppakow.kong/posts/5l, https://prachatai.com/journal/2022/06/99199, https://www.facebook.com/waymagazine/photos/a.374982256455/10158452085311456/ และ https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/1dsml)