วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 23, 2565

โฮปเวลล์ วางบิล ค่าโง่ ชี้รัฐอาจต้องจ่ายเงินคืนเพิ่มเป็น 2.7 หมื่นล้านบาท หากยื้อคดี



โฮปเวลล์เผยเคยเจรจาแต่ไร้ผล ย้ำหากหน่วงเหนี่ยวรัฐต้องจ่ายเงินคืนเพิ่มเป็น 2.7 หมื่นล้านบาท

21 มิถุนายน 2022
บีบีซีไทย

ผู้บริหารบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยตั้งแต่รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศในปี 2562 มีการเจรจาระหว่างบริษัทฯ และกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตัวแทนคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อยุติข้อพิพาทตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 แต่ไม่เป็นผล

นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ผู้บริหารฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในปี 2562 ให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทางบริษัทได้เสนอตัวขอเจรจาหาหรือกับทางการไทย และมีการเจรจากัน 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายบริษัทได้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการพร้อมเงื่อนเวลากำกับ แต่ทางภาครัฐกลับเงียบหายไป

ผู้บริหารฝ่ายกฎหมายของโฮปเวลล์ตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐได้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อหน่วงเหนี่ยวการคืนเงินเป็นมูลค่ากว่า 1.18 หมื่นล้านบาท ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

  • ให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายคือบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. คืนสู่สถานะเดิม
  • ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. คืนเงินค่าตอบแทนให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ จำนวน 2,850 ล้านบาท รวมทั้งคืนเงินที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้วบางส่วน จำนวน 9,000 ล้านบาท รวมทั้งให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญา และคืนค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

นายสุภัทรเล่าย้อนไปถึงช่วงที่บริษัทยังคงเจรจากับทางการไทยว่า "หลัก ๆ คือ ตัวเลข (เงินที่จะต้องคืน) ลดลงครับ แต่เงื่อนไขหลังคือ คุณ (ฝ่ายรัฐ) ต้องยุติการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกเรื่องกับโฮปเวลล์ และจ่ายเงินมาตามตัวเลขที่ตกลงกันได้ แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีผลใช้บังคับเพราะฝ่ายรัฐไม่ได้ตอบรับมาภายในระยะเวลาที่กำหนด"

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโครงการโฮปเวลล์ที่รัฐต้องจ่าย "ค่าโง่" 1.2 หมื่นล้าน
ผู้ว่าฯ กทม. เผย 1 เดือนได้ข้อสรุปปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังหารือกรุงเทพธนาคม
เปิด 7 ข้อกังขาของภาคประชาชนกรณีรัฐบาลอนุญาตให้คิงส์เกตกลับมาเปิดเหมืองทอง
คิงส์เกตเผยรัฐบาลไทยอนุมัติให้เปิดเหมืองทองคำชาตรี ขณะที่อนุญาโตฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาดโดยไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม หากว่าจะมีการเจรจากันใหม่อีกครั้ง เขาระบุว่า อาจจะต้องมีการกำหนดตัวเลขใหม่ขึ้น ซึ่งอาจจะมากกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท จากเดิมอย่างน้อย 1.18 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่รวมกับดอกเบี้ย


ทางรถไฟโฮปเวลล์ เมื่อปี 2543

ส่วนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น นายสุภัทร ยกตัวอย่างกรณี วันที่ 3 ก.ย. 2563 ฝ่ายรัฐร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอเพื่อให้ดำเนินคดีเอาผิดผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทฯ และเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้กระทำความผิดกรณีจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งที่สุดแล้ว ดีเอสไอได้สรุปสำนวนไม่ชี้มูลความผิดผู้ใด และส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พิจารณาและมีคำสั่ง


ผู้บริหารโฮปเวลล์แสดงหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าววันที่ 21 มิ.ย. 2565

โฮปเวลล์ยืนยันคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการปี 2552 ยังมีผล

จุดพลิกผันในคดีมหากาพย์โฮปเวลล์เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ (คดีโฮปเวลล์) ไว้พิจารณา

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การนับระยะเวลาหรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัทโฮปเวลล์ฯ ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ส่งไปถึงบริษัท โฮปเวลล์ฯ จำกัด มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงเป็นเหตุแห่งการรับเรื่องดังกล่าวพิจารณาเป็นคดีใหม่


นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ต่อมาในวันที่ 16 มี.ค. ศาลปกครองกลางได้ออกหนังสือชะลอการงดบังคับคดีโฮปเวลล์ ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่

อย่างไรก็ตาม นายสุภัทรกล่าวย้ำว่า แม้ผลของคำสั่งของศาลดังกล่าวจะทำให้บริษัทยังคงดำเนินการทวงคืนเงินตามคำชี้ขาดของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ยังมีผลผูกพันทางกฎหมายเช่นเดิม ขณะที่ดอกเบี้ยยังคิดต่อเนื่องอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อวัน พร้อมกับยืนยันว่า อายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัทยังไม่หมดอายุ ซึ่งจะต้องจัดทำคำให้การแก้คำขอพิจารณาดดีใหม่ต่อศาลภายในกลางเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งบริษัทขอศาลขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจากกำหนดคือกลางเดือน เม.ย. เพื่อความละเอียดรอบคอบในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล


ส่วนหนึ่งของเอกสารชี้แจงสื่อมวลชนถึงที่ไปที่มาของโครงการโฮปเวลล์

นอกจากนี้แล้ว บริษัทโฮปเวลล์ฯ ระบุว่ากำลังศึกษาแนวทางติดตามเอาทรัพย์สินของโฮปเวลล์คืนตามกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ในเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หวั่นกระทบภาพลักษณ์การลงทุนประเทศ

นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความกังวลว่าการบวนการหน่วงเหนี่ยวการคืนเงินตามคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ถึงที่สุดแล้ว จะส่งผลกระทบทางลบต่อการลงทุนในประเทศไทย


มีการประเมินว่ารัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนตอม่อซีเมนต์ของโครงการโฮปเวลล์เป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท

"ความพยายามของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ รวมทั้งไม่คำนึงถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความซื่อสัตย์สุจริตในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่พึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากข้อยกเว้นหรือข้ออ้างใด ๆ" เขากล่าว