วันเสาร์, มิถุนายน 25, 2565

การเมืองไทยในแต่ละ 10 ปี ของ 24 มิถุนายน หากอยู่ถึง 2575 -ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจะหมดไป - ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะถูกเช็คบิล ส่วนทักษิณ ชินวัตร (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) ก็ยังจะมีอิทธิพลทางการเมือง - สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และผู้ลี้ภัยรัฐประหาร 2557 จะได้กลับบ้าน


.....
Thanapol Eawsakul
11m ·

การเมืองไทยในแต่ละ 10 ปี ของ 24 มิถุนายน 2475
-- 24 มิถุนายน 2485--
ในเวลานั้นคือประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะอันประกอบด้วยเยอรมันกับอิตาลี ไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกากับอังกฤษตอนต้นปี 2485
24 มิถุนายน 2485 มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม สร้างขึ้นโดย “อ้างว่า” ชนะฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนในปี 2483 แต่นี่เป็นหมุดหมายที่สำคัญถึงความผิดพลาดเพราะเมื่อสิ้นสุดสงครามรัฐบาลไทยก็ต้องคืนดินแดนอินโดจีนที่ได้มาและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลายเป็นวงเวียนกลับรถและป้ายรถเมล์ไม่มีความน่าภาคภูมิใจอะไร
-- 24 มิถุนายน 2495---
ภายหลังรัฐประหารเงียบ 29 พฤศจิกายน 2494 เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนิยมเจ้า 2492 คณะรัฐประหารก็ได้นำรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา 2475 มาปรับปรุงแก้ไขและประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจาก ร.7 สละราชย์ในปี 2477 ที่ประเทศไทยได้มีกษัตริย์ประทับในประเทศไทยเป็นการถาวรหลังจาก ร.9 เสด็จนิวัตพระนครในเดือนพฤศจิกายน 2494
และนี่เป็นจุดสำคัญที่ขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 ได้มีแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจในการ “ร่วมกันสู้” เพื่อฟื้นฟูพระราชอำนาจที่ลดลงภายหลังปฏิวัติสยาม 2475 โดยคู่ต่อสู้ที่สำคัญคือจอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกันเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น
-- 24 มิถุนายน 2505--
ภายหลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 แล้วรัฐบาลเผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองด้วยธรรมนูญการปกครอง 2502 แต่มีอำนาจ ม.17 ให้อำนาจเด็ดขาดสั่งประหารคนได้ แล้วมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ตามใบสั่งไปด้วย ไปจนสฤษดิ์ตายก็ร่างไม่เสร็จ ส่วน 24 มิถุนา ซึ่งเคยเป็นวันชาติก็ถูกยกเลิกในปี 2503 ในสมัยสฤษดิ์นี่เอง
-- 24 มิถุนายน 2515 --
รัฐบาลเผด็จการทหารถนอม กิตติขจร การปกครองในช่วงเวลานี้เลวร้ายกว่าสฤษดิ์เมื่อ 24 มิถุนายน 2505 เสียอีกเพราะในเวลานั้น ตกอยู่ใต้อำนาจคณะปฎิวัติ 17 พฤศจิกายน 2514 ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีพรรคการเมือง
ถนอม กิตตขจร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทุกคำสั่งของถนอม กิตติขจรคือกฎหมาย ไม่ต้องให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ถ้าไม่มีการตั้งมกฎราชกุมารในเดือนธันวาคม 2515 ก็ไม่แน่ว่าประเทศไทยจะมีแม้แต่รัฐะรรมนูญฉบับชั่วคราว 2515 หรือไม่
-- 24 มิถุนายน 2525--
รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ อันป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ 2521 โดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยโครงสร้างการโหวตเลือกนายก วุฒิสภายังมีอำนาจอยู่ แถมทหารยังทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐอีกชั้นหนึ่งในการขู่แบลคเมล์นักการเมือง
การฉลอง 24 มิถุนายน 2525 ในยุคนี้คือการจัดอย่างกร่อย ๆ พร้อม ๆ กับการล่มสลายของ พคท. การจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย ที่มีคนอย่างชัยอนันต์ สมุทวณิชเป็นแกนหลักในการจัดงาน
-- 24 มิถุนายน 2435--
การฉลอง 60 ปี ประชาธิปไตยที่แสนเศร้าเพราะเพิ่งผ่านการล้อมปราบกลางเมืองหลวงมาไม่ถึง 1 เดือน และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือการเรียงร้องนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งจนต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อ คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีคืออานันท์ ป้นยารชุน ที่เป็นนายกคนนอกอีกวาระหนึ่ง
แต่ในปีนี้เองก็มีหนังสือวิชาการเล่มสำคัญคือ การปฏวัติสยาม พ.ศ. 2475 ของนครินทร์ เมฆไตรัตน์ ที่ออกมาล้าวาทกรรม "ชิงสุกกอ่นห่าม" แม้ว่าภายหลังผู้เขียนจะเปลี่ยนแนวคิดแล้วก็ตาม
-- 24 มิถุนายน 2545--
ในเป็นครั้งแรกของสมาชิกรัฐสภาไทยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2540
กล่าวคือมีการเลือกตั้งวุฒิสภาโดยตรงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2543 จำนวน 200 คน โดยแบ่งสัดส่วนตามประชากร และวุุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งก็มีอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2544 และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยใช้ระบบแบ่งเขต แบบเขตเดียวคนเดียว และมีระบบบัญชีรายชื่อที่ให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างนายกรัฐมนตรีที่มีความเข้มแข็งชื่อทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อให้เกิดความตึงเครียด เสียดสีกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่พุ่งขึ้นสูงหลังพฤษภา 2535 จนเป็นที่มาของรัฐประหาร 2549 ในที่สุด
-- 24 มิถุนายน 2555--
11 ปีหลังจากทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งในปี 2544 แล้วถูกรัฐประหารไปในปี 2549 แม้พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนจะถูกยุบในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ แต่เมื่อถึงปี 2554 พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์
ในปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังได้รับความนิยมอย่างสูง ขณะที่ฝ่ายต่อต้านดูเหมือนจะไม่มีน้ำยา แต่คล้อยหลัง 1 ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จึงกลับไปสู่การคืนชีพของ ฝ่ายต่อต้านอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2556
เหมือนฉลามได้กลิ่นเลือดหลังจากนั้นรัฐบาลต้องยุบสภา มีการรัฐประหาร 2557 และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกเลย
-- 24 มิถุนายน 2565--
เป็นการฉลอง 24 มิถุนา ภายหลังการเกิดครั้งที่ 3 ของการปฎิวัติสยาม คือภายใต้การลบล้างมรดก 2475 ทั้งในรูปแบบสถาปัตยกรรม เช่น อนุสารีย์ปราบกบฎ ที่หลักสี่ หมุดคณะราษฎร หรือการเปลี่ยนเจตนรมณ์ที่ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายกษัตริย์ ภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เกิดภายใต้คณะรัฐประหาร แต่ก็เกิดขบวนการราษฎร 2563 ที่ออกมาสานต่อภารกิจที่คณะราษฎร 2475 ยังทำค้างไว้ หรือถูกโต้กลับคือการเอาพระราชอำนาจ พระราชทรัพย์ กลับมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
แม้ขบวนการนี้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้จบสิ้นลงแต่อย่างใด
-- 24 มิถุนายน 2575--
ผมคาดการณ์ว่า
- จะมีการจัดงานฉลองการปฏิวัติสยาม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หมุดคณะราษฎรจะได้กลับไปอยู่ที่เดิม ไม่ว่าจะเป็นของเก่า หรือของใหม่ที่จัดทำขึ้นมา
- ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจะหมดไป
- ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะถูกเช็คบิล ส่วนทักษิณ ชินวัตร (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) ก็ยังจะมีอิทธิพลทางการเมือง
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และผู้ลี้ภัยรัฐประหาร 2557 จะได้กลับบ้าน