วันพุธ, พฤศจิกายน 17, 2564

ทนายของรุ้ง เผย มี“ข้อเท็จจริงนอกสำนวน” มาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่? หลังอ่านพบ ในสำนวนคดี “ไม่มี” รายงานถึงเรื่องการขอเพิกถอนการประกันตัวที่ศาลอาญา และไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งศาลใช้เป็นเหตุ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งเลย


นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
Yesterday at 7:31 AM ·

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้ง
จากกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112
คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว คือ
“กรณีก่อนจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีนี้
จำเลยที่ 2 เคยกระทำการในลักษณะทำนอง
เดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี
ทั้งหลังจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีนี้
จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำซ้ำซึ่งอาจเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว
หากจำเลยที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป
จำเลยที่ 2 อาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกันกับคดีนี้อีก กรณีจึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ให้ยกคำร้อง”
.
ในฐานะที่ผมเป็นทีมทนายความในคดีนี้
อาจจะด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ยังน้อย
จึงทำให้ผมเกิดคำถามต่อคำสั่งและกระบวนการ
ในหลายประการ
1. ศาลได้นำข้อเท็จจริงที่ว่า “หลังจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำซ้ำซึ่งอาจเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว” มาจากไหน?
เพราะคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง และโจทก์ก็ “ไม่คัดค้านการประกันตัว”
ใครเป็นคนทำรายงานข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้ศาลทราบ
ถ้ามีคนรายงานขึ้นไปศาลก็น่าจะไต่สวนว่าจริงหรือไม่
และเรื่องที่ร้องเพิกถอนประกันมีข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงใด
แต่ศาลก็ไม่ได้สอบถามฝ่ายจำเลยหรือไต่สวนในเรื่องนี้เลย
หากไม่มีคนทำรายงานข้อเท็จจริงขึ้นไป
แบบนี้จะถือเป็นการนำ “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน”
มาพิจารณาหรือไม่ เพราะฝ่ายจำเลยก็ไม่มีโอกาสได้โต้แย้งในประเด็นนี้มาก่อนเลย
เหตุผลเพียงแค่พนักงานอัยการ
ไปร้องขอให้เพิกถอนประกันตัวที่ศาลอาญา
เป็นเหตุไม่ให้ประกันตัวทันทีได้เลยหรืออย่างไร
เพราะแม้แต่ในศาลอาญาก็ยังนัดไต่สวนอยู่เลย
ศาลอาญายังไม่มีคำสั่งด้วยซ้ำว่ารุ้งได้ทำผิดเงื่อนไขหรือไม่
หรือจะถูกเพิกถอนการประกันตัวหรือไม่
ก่อนหน้านี้ก็มีหลายคดีที่ตำรวจและอัยการ
ไปยื่นขอเพิกถอนประกันตัว
แต่เมื่อไต่สวนแล้วก็ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะเป็นเหตุให้เพิกถอนประกันตัวเช่น กรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข
และ คดีของคุณอานนท์ นำภา หรือคดีน้องตี้
ศาลก็ยกคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว
แต่เหตุใดกันศาลถึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ด้วยเหตุผลว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีนี้
จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำซ้ำซึ่งอาจเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว
แก้ไขเพิ่มเติม (16 พ.ย. 64 เวลา 09.34 น.)
เช้านี้ผมได้มาตรวจสำนวนคดี
ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้
คดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งนั้น
ในสำนวนคดี “ไม่มี” รายงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย
รายงานถึงเรื่องการขอเพิกถอนการประกันตัวที่ศาลอาญา
และไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งศาลใช้เป็นเหตุ
ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งเลย
เช่นนี้แล้ว ทำให้ผมเกิดคำถามว่า
คำสั่งศาลฉบับดังกล่าวได้นำ “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน”
มาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่?
การนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
โดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ทราบก่อน
และจำเลยไม่มีโอกาสได้โต้แย้งนั้น
เป็นธรรมต่อจำเลยหรือไม่
2. “หากจำเลยที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป
จำเลยที่ 2 อาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกันกับคดีนี้อีก”
เหตุผลข้อนี้ขัดต่อมาตรา 108/1
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่
เพราะมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ว่า
“การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4.ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5.การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
อยู่ในข้อใดของกฎหมายมาตราดังกล่าว
3. คำสั่งของศาลขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา 29 วรรคสาม หรือไม่?
เพราะรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 กำหนดว่า
“การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย
ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้หลบหนี” เท่านั้น
ไม่มีเหตุทึ่ว่าอาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกันกับคดีนี้อีก
4. คำสั่งของศาล ขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า
ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่?
ศาลไม่อนุญาตให้ประกันรุ้งโดยให้เหตุผลว่า
“หากจำเลยที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป
จำเลยที่ 2 อาจไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิด
เช่นเดียวกันกับคดีนี้อีก”
กรณีที่ศาลเกรงว่าอาจไปกระทำการอันมีลักษณะ
เป็นความผิดเดียวกันกับคดีนี้อีก
ถือว่าศาลได้พิจารณาพิพากษาแล้วหรือว่าการกระทำของจำเลยตามที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดตามกฎหมาย ถึงได้เกรงว่าจะไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเดียวกันกับคดีนี้อีก โดยยังไม่มีการพิสูจน์ด้วยซ้ำว่า จำเลยได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ หากทำจริงการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
คำสั่งและเหตุผลของศาลในประเด็นนี้
ทำให้ผมเกิดคำถามว่าขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่?
5. คดีนี้ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 คือ
เบนจา กับ คุณป๊อกกี้ ที่มีพฤติการณ์ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไปก่อนหน้าแล้ว
แต่เหตุใดศาลถึงไม่อนุญาตตัวรุ้ง
ทั้งหมดคือคำถามที่เกิดขึ้นวันนี้
……………………………………………………………
สำหรับประเด็นคำว่า
“ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” หมายความว่าอย่างไรในความเป็นจริงนั้น
แนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยนำมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community)
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกลับมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายในประเทศแม่แบบมาก
ซึ่งนำไปสู่การตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง
ความหมายของคำว่า “อันตราย”
กฎหมาย Bail Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า
“Danger to the Community” แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีหลายประการ
แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ
การกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence)
นั้นเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence) อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism)
การกระทำความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim) การกระทำความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม (controlled substance) การใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทำลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device) หรือไม่ ฐานความผิดเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น (physical force against the person or property of another) (ดู 18 USC § 3156(a)(4)) เห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้มีการประกันตัวนั้นต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย
ดังนั้น ความหมายของ “อันตรายประการอื่น”
จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใด ๆ ก็ได้
หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว
การจะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น
ภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) ต้องอยู่กับรัฐ
ไม่ใช่อยู่กับผู้ต้องหาหรือจำเลย
รัฐมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยผ่านมาตรฐาน ๒ ระดับ
ในข้อเท็จจริง ๒ เรื่อง คือ
ประการแรก ปัญหาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงหรือมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือไม่ รัฐต้องพิสูจน์ตามหลักความเหนือกว่าซึ่งพยานหลักฐาน (preponderance of the evidence) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐต้องพิสูจน์ได้มากกว่า 50% ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นกระทำความผิดร้ายแรงหรือมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือจะกระทำการอันเป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรม (Whether the government has established “by a preponderance of the evidence that the defendant either has been charged with one of the crimes enumerated in § 3142(f)(1) or that the defendant presents a risk of flight or obstruction of justice.”) [United States v. Friedman, 837 F.2d 48, 49 (2d Cir. 1988)]
นอกจากนั้น เมื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้แล้ว
รัฐยังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์โดยชัดแจ้งและน่าเชื่อถือด้วยว่า
หากมีการปล่อยตัวชั่วคราวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่นหรือสังคม (The government must show by clear and convincing evidence that pretrial release will not reasonably ensure the safety of other persons and the community.) [United States v. Orta, 760 F.2d 877 (8th Cir. 1985).] ซึ่งมาตรฐานในส่วนนี้หมายความว่ารัฐต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักถึง 80% มาพิสูจน์
ในสหรัฐอเมริกานั้น ศาลจะไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ต้องหาหรือจำเลย การจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว
รัฐต้องมีหน้าที่ในการนำสืบข้อเท็จจริงว่าหากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะต้องมานำสืบให้ศาลเห็นว่าหากตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนจะไม่หลบหนีหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง เมื่อคดีนี้โจทก์ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวแต่ประการใด ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น
ส่วนนี้นำมาจากคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งได้ยื่นต่อศาลในวันนี้ โดยได้คัดลอกเนื้อมาจากบทความของอาจารย์นันทน อินทนนท์ ซึ่งเป็นทนายความและอดีตผู้พิพากษา
………………….
ภาพจาก The MOMENTUM
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
15 พ.ย. 2564

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
เช้านี้ผมได้มาตรวจสำนวนคดี
ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้
คดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งนั้น
ในสำนวนคดี “ไม่มี” รายงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย
รายงานถึงเรื่องการขอเพิกถอนการประกันตัวที่ศาลอาญา
และไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งศาลใช้เป็นเหตุ
ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวรุ้งเลย
เช่นนี้แล้ว ทำให้ผมเกิดคำถามว่า
คำสั่งศาลฉบับดังกล่าวได้นำ “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน”
มาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่?
การนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
โดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ทราบก่อน
และจำเลยไม่มีโอกาสได้โต้แย้งนั้น
เป็นธรรมต่อจำเลยหรือไม่