วันเสาร์, พฤศจิกายน 20, 2564

คุณภาพชีวิตติดบ่วง จากผลแห่งเชื้อเพลิงแพง มาถึงควบรวมค่ายมือถือ


ถกกันกระหึ่มวันนี้ จะมีการควบรวมผู้ให้บริการสัญญานโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต สองในสามรายของไทย คือ TRUE กับ DTAC บ้านเมืองจะก้าวลึกเข้าไปในระบบผูกขาดอีกมิติ หลังจากที่ไม่นานมานี้กลุ่ม ซีพีซื้อกิจการตลาดของชำ เท็สโก้โลตัสไปครอง

ถ้าควบได้จริง “ก็ต้องบอกเลยว่าดีลนี้จะเป็นดีลที่ยิ่งใหญ่แห่งปี และกลุ่มซีพีจะเป็นเจ้าตลาดหลายสินค้าและบริการในประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ อาหาร ค้าปลีก และ โทรคมนาคมในดีลนี้” เพจ ลงทุนแมน longtunman.com ปริวิตก

เป็นที่รู้กันแล้วว่าการควบรวมทางธุรกิจในสังคมตลาดเสรีเป็นสิ่งต้องห้าม (anti-trust) เพราะจะทำให้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ได้เปรียบผู้ประกอบกิจการชนิดเดียวกัน และ/หรือเกี่ยวเนื่อง อย่างน่าเกลียด สามารถกำหนดราคาตามต้องการ

ผลร้ายจะไปตกแก่ผู้บริโภค เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นหรือหลากหลาย จะต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับของแพง บริการห่วย รวมไปถึงสินค้าขาดแคลน เพราะผู้ขายใช้เล่ห์บีบให้ราคาขึ้น เป็นต้น ดังเช่นปัญหาเชื้อเพลิงแพงหูฉี่ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ซื้อน้ำมันดิบจากไทยกลับถูกกว่า

เกิดการประท้วงจากชมรมรถบรรทุกเป็นระยะ ต่อเนื่องมาแรมเดือนเรื่องขอให้ตรึงราคาดีเซลลิตรละ ๒๕ บาท แต่รัฐบาลให้แค่ ๓๐ บาทขาดตัว นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์อะไรนะนั่นตอบโต้อย่างชายชาติทหาร สั่งรถบรรทุกของทหารกว่า ๓ พันคันออกมาวิ่งแทน

สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ สวนว่าถ้าภายในวันที่ ๑ ธันวา รัฐบาลยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับข้อเรียกร้องของสิงห์รถบรรทุก “เราก็จะใช้โมเดลของประเทศเยอรมัน โดยให้สมาชิกสหพันธ์ฯ นำรถบรรทุกทั่วประเทศเติมน้ำมัน ๒๐ ลิตร เดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ

น้ำมันหมดที่ไหนก็จอดที่นั่น” อันเป็นมาตรการ ทิ้งรถ คาถนนประท้วง อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ฯ บอกว่า “ความจริงรัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปกู้เงิน ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซล” ให้เป็นหนี้สาธารณะทับถมประชาชน

“แค่ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงมาลิตรละ ๕ บาท” ก็จบปัญหา แต่ถึงตอนนี้ปัญหากำลังจะเป็นลูกโซ่ กระทบกระเทือนไปทั่ว เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. ให้ของขวัญปีใหม่ชาวไทย ขอขึ้นค่าไฟอีก ๑.๓๙ สตางค์ต่อหน่วย

โดยจะเริ่มในรอบเดือนมกราถึงเมษา ๖๕ “ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ ๓.๗๘ บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๖๓ จากงวดปัจจุบัน” เกือบ ๕% นี่ก็ทำให้ชาวบ้านทำมาหากินเดือนต่อเดือน หรืออาทิตย์ชนอาทิตย์ อ่วมอรทัยไปได้ละ

กกพ.อ้างว่าต้องขึ้นค่าไฟครั้งนี้เนื่องจาก โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูก เช่นโรงไฟฟ้าพลังน้ำและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ ผลิตได้ปริมาณน้อยลง “นอกจากนั้นราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก”

นั่นหมายถึงว่าต้นทุนสูงขึ้นราคาก็คงต้องสูงตาม (ทฤษฎีเศรษฐกิจตลาดเสรี) อย่างหนึ่งละ อีกอย่างในเหตุอ้างของ กกพ. ก็คือ “ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งมาตรการการลดค่าไฟฟ้า และตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรหรือเอฟที...ตลอดระยะเวลากว่า ๒ ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว” แปลไทยเป็นไทยได้ว่า

เศรษฐกิจเริ่มดีแล้ว ผู้ผลิตไฟฟ้าขออนุญาตหยุดแบกภาระฝืดเคืองของชาวบ้านบ้าง ขอขึ้นราคาเล็กน้อยเพื่อจะได้ไม่ขาดทุนต่อไปนั่นละ ถึงอย่างนั้น กกพ. “ยังคาดหวังว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และราคาเชื้อเพลิง” อันเป็นต้นเหตุของการขึ้นราคาครั้งนี้

“ยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้บ้าง หลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวซึ่งมีปริมาณความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติสูง” เป็นความหวังว่าหมดหนาวแล้วอาจจะดีขึ้น แต่ “สถานการณ์ราคาพลังงานระยะต่อไปยังคงมีความผันผวนและเป็นแนวโน้มขาขึ้น

ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายสัมปทาน” จึงมาลงเอยว่า “จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการประหยัดใช้พลังงาน” เพื่อที่ “กกพ. จะดูแลค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ”

และ “หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้อย่างราบรื่นและมีความสมดุล” เข้าใจนะ ภาษาชาวบ้านก็คือขอขึ้นราคาไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ผลิตเข้มแข็ง จะได้ไปหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด อย่างคล่องๆ ไงล่ะ

(https://www.matichon.co.th/economy/news_3048485, https://thaipublica.org/2021/11/oil-fuel-fund-stabilize-retail-diesel-palm-oil-prices-4/ และ https://www.facebook.com/longtunman/posts/1188687884997151)