“คณะก้าวหน้าไม่ได้แพ้แลนด์สไล้ด์ หรือแพ้ยับดังที่พูดนะครับ” ต้องยอมรับว่าประโยคนี้ เป็นถ้อยความของ ไพศาล พืชมงคล จริง เพราะถ้าเป็นฝ่ายเยาวชนปลดแอกต้องว่า “ก้าวหน้าไม่ได้แพ้เลือกตั้ง อบต.ย่อยยับ อย่างที่เขาหลอกลวง” นะคุณ
อีกอย่าง โพสต์ของอดีตทีมผู้ช่วยรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ นี้ เพจ ‘มะม่วงหิมพานต์’ ของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นผู้นำมาแสวงแสง (แห่งสัจธรรมมั้ง) เพราะไม่มีการกระแนะกระแหน (อย่างที่เขามักเป็น) ได้แต่ถ่ายทอดอารมณ์สู่พวกพ้องว่า “อย่าประมาทไป”
“คณะก้าวหน้าแพ้เลือกตั้ง อบต.? ได้เพียง ๓๘ อบต. จากจำนวนที่ส่งสมัครทั้งหมด ๑๙๖ อบต.หรือประมาณ ๒๐%...เพราะอะไร” ตามคำของไพศาลว่าเพราะ “เป็นการเลือกในระดับหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งแทบไม่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่เลย”
แม้ไพศาลจะยอมรับ “ซึ่งต้องนับว่าไม่น้อย” ดังเช่นที่ผู้ฝักใฝ่ติดตามผลงานของคณะก้าวหน้าว่ากันอย่างคล้องจอง เมื่อ ๒๐% ที่ได้นี้ มากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่แล้วสำหรับสภาเทศบาล ผู้สมัครที่คณะก้าวหน้าสนับสนุนได้รับเลือก ๑๖%
Pannika Wanich@Pannika_FWP แจ้งข่าวทางทวิตเตอร์ โดยยกเอาผลที่จังหวัดร้อยเอ็ดมาชู ว่าที่นั่นได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ คือได้ถึง ๘ อบต. คงเป็นเพราะเหตุจากที่ ส.ส.ก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ประโคมว่าเกิดจาก
“การผลักดันนโยบายที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ทำได้จริง จับต้องได้ กับ ‘โครงการน้ำประปาดื่มได้’ ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนใช้ความเชื่อมั่นมากขึ้น” ซึ่ง เชตวัน เตือประโคน - Chetawan Thuaprakhon เสริม
ว่า “เป็นผลงานของ ‘เทศบาล’ ที่คณะก้าวหน้าได้เข้าไปร่วมสนับสนุนผู้บริหาร มาแล้วก่อนหน้านี้” โดยเฉพาะในเรื่อง ‘๙๙ วันน้ำประปาดื่มได้’ นั้น “มีประชาชนเข้ามาถามหา อยากให้มาช่วยเปลี่ยนน้ำประปาสกปรกสีขุ่นข้นของบ้านตัวเองด้วย
นี่ย่อมสะท้อนความอยากเปลี่ยนแปลง” ‘เชตวัน’ ชี้ให้มองถึงระยะยาว “ไม่ต้องคิดเรื่อง ‘แลนด์สไลด์’ ในครั้งหน้าอะไรหรอกครับ แค่เปลี่ยนให้คนอื่นๆ หันมาทำการเมืองท้องถิ่นแบบเดียวกันกับคณะก้าวหน้า ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามนโยบายที่หาเสียงไว้
...แค่นี้ก็ถือว่าเกิดประโยชน์กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่น ยกระดับการเมืองไทยได้มากแล้ว” มองในประเด็นนี้ ก็จัดว่าเป็นคุณูปการของคณะก้าวหน้า ต่อความพยายามปฏิรูปการเมืองไทยให้อยู่บนพื้นฐานของการสะท้อนเสียงประชาชนได้ไม่น้อย
โดยที่ครั้งนี้ ผลเบื้องต้นที่ กกต.ผู้กำกับควบคุมการเลือกตั้งแถลงออกมา ว่าเรียบร้อยดี พบว่ามี “การร้องเรียนจำนวน ๒๖๘ เรื่อง เป็นเรื่องซื้อเสียงมากที่สุด นอกนั้นเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น การปิดป้ายไม่ถูกขนาด ไม่ตรงสถานที่”
ไทยพีบีเอสรายงาน “พบการซื้อเสียงใน ๗ จังหวัด...มีการดำเนินคดีกับผู้ซื้อเสียง ๗ คดีใน ๕ จังหวัด ที่ชลบุรี นครปฐม เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และเชียงราย” ซึ่งจัดว่าไม่มาก แต่ก็ไม่ควรเกิดแม้แต่รายเดียว ดังที่ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.เพื่อไทยว่า
“ผ่านมา ๘ ปีที่ทหารยึดอำนาจเข้ามาปกครองประเทศ การทุจริตเลือกตั้งหนักขึ้นทุกระดับ ซื้อเสียงทุกหย่อมหญ้า แบบไม่กลัวความผิด แสดงถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...กดคนให้อดอยากและใช้ภาษี ปชช.มาซื้อเสียง”
เธอเผยว่ามีน้องๆ ส่งข้อความมาระบายเรื่องราวคืนหมาหอน “เมื่อคืนช่วงดึกๆ มีคนเอาเงินมาให้ที่บ้านหนู แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้รับไว้ ช่วงเช้าๆ วันนี้ ก็มีผู้สมัครอีกคนเอาเงินมาให้อีกเหมือนกัน” บางแห่งที่มีการเปิดโปงในภาคประชาชน หัวละ ๒-๓ พันบาทก็มี
แต่ในเช้าวันที่ ๒๘ พ.ย. พลตำรวจโทสราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ช่วยกันเปิดเบิ่ง (ต่างกรรม ต่างวาระ) ไว้ก่อนแล้วว่า “ยังไม่พบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงแต่อย่างใด”
เช่นนี้ในเรื่องร้องเรียนถึงความ ‘ไม่ได้เรียบร้อยจริง’ ๒๖๘ ราย ส่วนใหญ่จากการซื้อเสียง ให้อารมณ์ได้ทำนองเดียวกับ “อย่าประมาทไป” ของการที่ก้าวหน้าได้ อบต.แค่ ๓๘ แห่ง ซึ่งก็คือ ‘ฮ้า อะไรวะ’
(https://www.sanook.com/news/8480770/, https://www.prachachat.net/politics/news-811037, https://twitter.com/aim.../status/1464932272998547460 และ https://truthforyou.co/77345/-nrJWe4)