วันพุธ, พฤศจิกายน 10, 2564

บทเรียนจากเพื่อนบ้าน ทำไมเวียดนาม (ใต้) ปี 1955 ถึงมีการลงคะแนนเสียงประชามติ ถอดถอนกษัตริย์ เลือกการปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด


เบ๋าได๋ (Bảo Đại) กษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียดนาม 

psawasdipakdi
Posted onJune 30, 2021
Thai Students Overseas

ปี 1955 อาจผ่านไปเพียงไม่นาน แต่จะมีสักกี่คนที่จดจำเหตุการณ์ที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์เวียดนามอย่างถาวรเมื่อในเดือนตุลาคมปีดังกล่าวได้ วันที่ 23 ตุลาคมคือวันลงคะแนนเสียงประชามติ เพื่อเลือกระหว่างการปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด กับการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ โดยผลปรากฏว่าคะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนให้เวียดนามใต้มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ปี 1955 จึงเป็นปีที่เวียดนามใต้กลายสภาพจากประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข สู่ประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์

บทความชิ้นนี้ฉายภาพให้เห็นบทบาทและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นับตั้งแต่การเข้ามาของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงการลงประชามติโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในปี 1955 ตลอดช่วงเวลากว่าร้อยปีนี้ แรงกดดันจากภายนอกทำให้อำนาจของสถาบันกษัตริย์เวียดนามถูกจำกัด จนทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องหันไปเอาใจและเชื่อฟังเจ้าอาณานิคมเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ การกระทำเช่นนี้แม้ว่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์ยังคงอยู่รอด แต่กลับสร้างความห่างเหินระหว่างกษัตริย์กับคนในชาติ ที่เชื่อว่ากษัตริย์เวียดนามเห็นประโยชน์ของตัวเองสูงกว่าทุกข์ร้อนของคนในชาติ วิกฤติแห่งศรัทธาที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงอาณานิคมนี้ส่งผลต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถาบันกษัตริย์เวียดนามภายใต้อิทธิพลฝรั่งเศส

ทันทีที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเวียดนามหรือในขณะนั้นเรียกขานว่าได่นาม (Đại Nam) ซึ่งเพิ่งเป็นปึกแผ่นภายใต้ราชวงศ์เหงวียนเพียงไม่นาน ก็จำต้องถูกแบ่งออกเป็น 3 ดินแดนอีกครั้ง นั่นคือพื้นที่ทางตอนเหนือหรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่าตงกิน พื้นที่ทางตอนกลางหรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่าอันนัม และพื้นที่ทางตอนใต้หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่าโคชินไชนา

โคชินไชนาเป็นดินแดนแรกที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศส (ด้วยความร่วมมือของสเปน) ส่งกองกำลังทางเรือเข้าโจมตีตอนกลางของเวียดนาม เพื่อตอบโต้คำสั่งของพระจักรพรรดิเวียดนามที่ให้ปราบปรามมิชชันนารีชาวยุโรป เมื่อการโจมตีตอนกลางของเวียดนามไม่ประสบความสำเร็จ ฝรั่งเศสจึงเคลื่อนเรือรบไปยังตอนใต้ของเวียดนาม จนสามารถโจมตีป้อมปราการไซ่ง่อน พร้อมทั้งบุกยึดเมืองไซ่ง่อนและเมืองรอบข้างได้สำเร็จ นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาไซ่ง่อนระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและจักรพรรดิเวียดนามในปี 1862 อันทำให้จักรพรรดิเวียดนามจำต้องยอมรับอิทธิพลของฝรั่งเศสเหนือไซ่ง่อน เมืองทางใต้อีกสามเมือง และเกาะทางใต้อีกหนึ่งเกาะ นอกจากนี้ จักรพรรดิเวียดนามยังต้องยอมเปิดท่าเรือให้ฝรั่งเศสเข้ามาค้าขาย และให้มิชชานารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาได้อย่างเสรี

ดินแดนอินโดจีนภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส 
(source: http://what-when-how.com/western-colonialism/french-indochina-western-colonialism/ )

จากนั้นอีก 5 ปี ฝรั่งเศสก็สามารถผนวกเมืองที่เหลือทางตอนใต้ของเวียดนามเข้ามาอยู่ภายใต้อิทธิพลของตัวเองได้สำเร็จ ในปี 1874 เวียดนามกับฝรั่งเศสลงนามในสนธิสัญญาไซ่ง่อนอีกฉบับ ซึ่งเปลี่ยนสถานะเมืองทางใต้ของเวียดนามให้เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น ฝรั่งเศสยังขยายอิทธิพลเข้าไปยังตงกินและอันนัม ด้วยการให้เวียดนามเปิดท่าเรือในตงกินให้ต่างชาติเข้าไปค้าขาย และให้จักรพรรเวียดนามอนุญาตให้ฝรั่งเศสส่งกุงสลไปประจำที่ท่าเรือต่างๆ รวมถึงท่าเรือเว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เหงวียนอีกด้วย

ในปี 1884 ตงกินและอันนัมตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส หลังจักรพรรดิเขียนฟุก (Kiến Phúc) ลงนามในสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้ฝรั่งเศสมีบทบาทด้านการปกครอง แม้ว่าตามสนธิสัญญาแล้ว จักรพรรดิเวียดนามจะยังคงมีอำนาจในการบริหารกิจการภายในประเทศ แต่ตัวแทนรัฐบาลรัฐบาลฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ในเวียดนามก็มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มการปฏิรูปการปกครองครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายแล้วจักรพรรดิเวียดนามแทบไม่เหลืออำนาจใดๆ นอกรั้วพระราชวังของตัวเองเลย

แม้ว่าอำนาจของกษัตริย์เวียดนามจะถูกลดทอนลงอย่างรวดเร็วจากการคุกคามของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส แต่กลับมีเพียงจักรพรรดิเพียงแค่สองพระองค์คือห่ามงี (Hàm Nghi) และซุยเติน (Duy Tân) เท่านั้นที่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสอย่างจริงจัง

ความหวงแหนอำนาจของตัวเองจนยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลของต่างชาตินี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ของชาวเวียดนามลดน้อยลงเรื่อยมา เพราะแม้ว่าชาวเวียดนามจะยังเคารพแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ แต่ผู้ที่เป็นกษัตริย์กลับไม่ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่ง จึงไม่คู่ควรกับความภักดีของประชาชน ความคิดเช่นนี้ยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเมื่อพัฒนาการด้านสื่อสารมวลชนทำให้ชีวิตของกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องลึกลับอีกต่อไป และนี่คือชะตากรรมที่เบ๋าได่ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียดนามต้องเผชิญ

เบ๋าได่ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียดนาม

เบ๋าได่หรือชื่อเดิมคือเจ้าชายหวินถุ่ย (Vĩnh Thụy) ขึ้นครองราชย์ในปี 1926 แทนจักรพรรดิขายดิ่น (Khải Định) พระบิดาที่เสียชีวิตลงในปี 1925 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเบ๋าได่ยังไม่บรรลุนิติภาวะขณะเข้ารับตำแหน่ง เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจึงอนุญาตให้เบ๋าได่เดินทางกลับมายังเวียดนามเพื่อเข้าพิธีราชาภิเษกที่เมืองเว้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนกลับไปอาศัยต่อที่ฝรั่งเศสเพื่อให้เคยชินกับธรรมเนียมและวัฒนธรรมของฝรั่งเศสจนเกือบบรรลุตินิภาวะในปี 1932

ในช่วงแรก การครองราชย์ของเบ๋าได่เป็นที่พอใจของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาปฏิบัติตามข้อเสนอในการปฏิรูปการปกครองของฝรั่งเศสเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปออกไป หรือการเลือกอภิเษกกับหญิงสามัญชนจากครอบครัวคาทอลิก แต่ไม่นานหลังจากนั้น ความสนใจของเบ๋าได่ต่อการปฏิรูปการปกครองก็ลดน้อยลง เบ๋าได่มักหลีกหนีความวุ่นวายทางการเมืองด้วยการเดินทางไปพักยังที่พักตากอากาศและออกล่าสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสไม่เหลือพื้นที่ให้เขาได้ปกครองประเทศอย่างแท้จริง

สงครามโลกครั้งที่สองเปลี่ยนแปลงพลวัตทางอำนาจของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนาม ทันทีที่เยอรมนีบุกยึดฝรั่งเศสสำเร็จในปี 1940 ญี่ปุ่นก็อาศัยจังหวะนำกองกำลังของตัวเองเข้าประจำการที่เวียดนาม เพื่อป้องกันไม่ให้เวียดนามกลายเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธเข้าสู่จีน ญี่ปุ่นยังเริ่มสานสัมพันธ์กับกลุ่มชาตินิยมต่างๆ ของเวียดนามที่ต้องการปลดแอกประเทศจากการปกครองของฝรั่งเศส และเป็นตัวกลางในการประสานกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการชักจูงให้เวียดนามเข้าวงศ์ไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา

แม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่สามารถทำให้เป้าหมายของตัวเองลุล่วงได้เนื่องจากแพ้สงครามเสียก่อน แต่ญี่ปุ่นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เวียดนามเป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม 1945 ไม่กี่เดือนก่อนญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม ญี่ปุ่นยื่นคำเตือนครั้งสุดท้ายต่อรัฐบาลฝรั่งเศส นั่นหมายความว่าหากฝรั่งเศสไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น คำเตือนครั้งสุดท้ายจะถูกยกระดับเป็นการประกาศสงคราม ด้วยเหตุนี้กองทัพฝรั่งเศสในอินโดจีนซึ่งมีกำลังน้อยกว่าญี่ปุ่นในขณะนั้นจึงยอมแพ้ จากนั้นฝรั่งเศสจึงยอมถอนเจ้าหน้าที่ด้านปกครองออกจากอาณานิคมในอินโดจีนทั้งหมด และยอมให้อิสรภาพกับเวียดนาม กัมพูชา และลาวในที่สุด

การถอยร่นของฝรั่งเศสทำให้เบ๋าได่กลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกในรอบ 60 ปีที่ได้ปกครองเวียดนามแบบที่ไม่เป็นเมืองขึ้นของประเทศใด และแม้ว่าในทางกฎหมาย ญี่ปุ่นจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการปกครองแทนที่ฝรั่งเศส แต่เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเพลี้ยงพล้ำในสนามรบในช่วงสงครามครั้งที่สอง ญี่ปุ่นจึงไม่เข้ามายุ่มย่ามกับกิจการภายในของเวียดนามเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้ เบ๋าได่และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงมีบทบาทอย่างสูงในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม เบ๋าได่ไม่สามารถสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จลุล่วง เพราะเมื่อขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งกำลังประสบกับความระส่ำระสายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เบ๋าได่และรัฐบาลเวียดนามในขณะนั้น ก็ไม่มีประสิทธิภาพและความสามารถเพียงพอในการบริหารงานภายในประเทศ โดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาภัยแล้งและภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น

ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเวียดนามเปิดโอกาสให้สันนิบาตเพื่อเอกราชเวียดนาม (Việt Nam Độc Lập Đông Minh Hội) หรือที่รู้จักกันในชื่อเวียดมินห์ (Việt Minh) นำโดยโฮจิมินห์ ขยายอิทธิพลของตัวเองไปยังส่วนต่างๆ ของเวียดนาม เวียดมินห์ใช้ภาวะข้าวยากหมากแพงเพื่อสร้างความนิยมของตัวเองในหมู่ประชาชนชาวเวียดนาม โดยหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมเป็นอย่างยิ่ง คือการโจมตียุ้งฉางของชาวเวียดนามและชาวญี่ปุ่น เพื่อนำข้าวปลาอาหารมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ขาดแคลน



โฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) ผู้นำขบวนการชาตินิยมเวียดนาม – 
(source: http://nvhtn.org.vn/)

การขยายอิทธิพลในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นระส่ำระสายจนไม่สามารถให้การสนับสนุนรัฐบาลเวียดนาม ส่งผลให้เวียดมินห์สามารถควบคุมพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ ซึ่งรวมถึงเว้ อันเป็นเมืองหลวงและที่พำนักของจักรพรรดิเวียดนามเอาไว้ได้ในระยะเวลาไม่นาน เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรในเดือนสิงหาคม 1945 รัฐบาลเวียดนามจึงไม่มีกำลังมากพอที่จะรับมือกับอำนาจและความนิยมที่มากขึ้นของเวียดมินห์ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการเดินขบวนสนับสนุนการปลดปล่อยประเทศตามแนวทางของเวียดมินห์ในโคชินไชน่า ซึ่งไม่ได้เป็นฐานที่มั่นของเวียดมินห์แต่อย่างใด โดยการปลดปล่อยประเทศตามแนวทางของเวียดมินห์ที่ว่าคือการสรรสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์

หลังขึ้นสู่อำนาจ เวียดมินห์ประกาศแน่ชัดว่าต้องการให้เบ๋าได่สละราชสมบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐ ในที่สุด หลังจากที่เวียดมินห์ส่งคำเตือนครั้งสุดท้ายไปยังเบ๋าได่ เบ๋าได่จึงยอมประกาศสละราชสมบูรณ์เพื่อหลีกทางให้เวียดมินห์ได้บริหารประเทศตามแนวทางที่พวกเขาต้องการ เบ๋าได่ระบุถึงสาเหตุของการสละราชสมบัติไว้ในแถลงการณ์สละราชสมบัติไว้ว่า เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างประชาชนทางเหนือที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางเวียดมินห์อย่างแรงกล้ากับประชาชนทางใต้ เนื่องจากประเทศจะอยู่รอดได้เพื่อความร่วมมือร่วมใจเท่านั้น โดยเขายินดีจะเปิดทางให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสาธารณรัฐอย่างแท้จริง

ในวันที่ 30 สิงหาคม 1945 พิธีสละราชสมบัติมีขึ้นที่เมืองเว้ ในพิธี เบ๋าได่ได้มอบตราประทับและดาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิให้กับคณะผู้แทนของเวียดมินห์ ก่อนธงพระจักรพรรดิจะถูกลดลงเป็นครั้งสุดท้ายและถูกแทนที่ด้วยป้ายเวียดมินห์ เบ๋าได่กลายเป็นนายหวินถุ่ย ประชาชนชาวเวียดนามคนหนึ่ง ส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเบ๋าได่ มารดาของเบ๋าได่ และจักรพรรดินีนามเฟือง (Nam Phương) ตกเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล นับเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์เหงวียนของเวียดนาม

การต่อสู้เฮือกสุดท้ายของเบ๋าได่

หลังสละราชสมบัติ เบ๋าได่ดำรงตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาสูงสุด” ให้กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามซึ่งนำโดยโฮจิมินห์ ในปี 1946 หนึ่งปีหลังจากที่เบ๋าได่สละราชสมบัติ โฮจิมินห์ส่งเบ๋าได่ไปปฏิบัติภารกิจที่จีน นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เบ๋าได่ปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งที่ปรึกษาสูงสุด เนื่องจากเขาตัดสินใจขอลี้ภัยที่ฮ่องกง ที่ที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตอย่างสำราญและเป็นอิสระได้อีกครั้ง


ภาพหมู่ผู้นำรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามที่นำโดยโฮจิมินห์ (คนกลาง แถวหน้า) – 
(source Bao Dai’s abdication and the failure of an imperial project | End of Empire)

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงในครั้งนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของบทบาททางการเมืองของเบ๋าได่ ในสายตาของฝรั่งเศสที่ไม่สามารถเจรจาผลประโยชน์กับโฮจิมินห์ได้อย่างลงตัว และกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของเวียดนามที่ไม่พอใจที่ตัวเองสูญเสียอำนาจจากการบริหารประเทศของโฮจิมินห์ ล้วนมองว่าเบ๋าได่คือตัวเลือกทางการเมืองที่ดีกว่าโฮจิมินห์

นี่คือที่มาของการก่อตั้งแนวหน้าสมาพันธ์แห่งชาติ (National Union Front) ในเดือนกุมภาพันธ์ 1947 อันมีสมาชิกหลักประกอบด้วยสันนิบาตการปฏิวัติ (Revolutionary League) พรรคชาตินิยม (Nationalist Party) กลุ่มลัทธิหว่าหาว (Hoà Hải) และลัทธิกาวได่ (Cao Đài) ซึ่งมีฐานกองกำลังของตัวเองในโคชินไชน่า และท้ายสุดคือสันนิบาตคาธอลิกเวียดนาม (The Vietnamese Catholic League) อันมีโงดิ่นเสี่ยม (Ngô Đình Diệm) ผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเวียดนามใต้ในเวลาต่อมาเป็นผู้นำ โดยเป้าหมายสูงสุดของสมาพันธ์แห่งชาติคือการกำจัดโฮจิมินห์ออกจากตำแหน่ง ส่วนเป้าหมายในเรื่องระบอบการปกครองหรือจุดยืนต่อฝรั่งเศสนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละกลุ่มยังไม่เห็นพ้องต้องกัน

แม้ว่าในระยะแรกเบ๋าได่จะยังไม่ตกลงปลงใจที่จะเข้าร่วมขบวนการต่อต้านโฮจิมินห์ ที่ต่อมารู้จักกันในนาม “ขบวนการเบ๋าได่” ดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องการอยู่เหนือการเมือง แต่ไม่กี่เดือนถัดมาเบ๋าได่ก็ตกปากรับคำที่จะเสียสละตัวเองเพื่อปลดปล่อยประชาชนชาวเวียดนามจากการกดขี่ของเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ และพร้อมเป็นตัวแทนเจรจาอิสรภาพและการรวมชาติกับฝรั่งเศส อันเป็นจุดเปลี่ยนให้ฝรั่งเศสระงับการเจรจากับโฮจิมินห์ในฐานะตัวแทนของเวียดนาม และเพราะฝรั่งเศสมองว่าเบ๋าได่มิได้ต่อต้านอำนาจของอดีตเจ้าอาณานิคมเท่ากับโฮจิมินห์ ฝรั่งเศสจึงยอมตกลงให้มีการประชุมเพื่อลงมติเรื่องสถานะของโคชินไชน่า ซึ่งนำไปสู่การให้อิสรภาพกับโคชินไชน่า และการรวมชาติเวียดนามในที่สุด

ภายหลังการรวมชาติ เบ๋าได่เดินทางกลับมายังเวียดนามในวันที่ 28 เมษายน 1949 พร้อมใช้สถานะพระจักรพรรดิอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นเพียงการใช้ตำแหน่งในนามเพื่อให้มีสถานะที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติเท่านั้น อย่างไรก็ดี ทั้งตำแหน่งของเบ๋าได่และความเป็นปึกแผ่นของเวียดนามก็ต้องสั่นคลอนอีกครั้งจากการเมืองโลก ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติประเทศสำเร็จ รัฐบาลจีนไม่ลังเลในการให้การรับรองกับรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การรับรองรัฐบาลเบ๋าได่

สถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในเอเชียให้การสนับสนุนกองทัพฝรั่งเศสในการต่อสู้กับกองกำลังเวียดมินห์ของเวียดนาม แต่กระนั้นฝรั่งเศสก็ไม่สามารถต้านทานกำลังของกองกำลังเวียดมินห์ได้ และพ่ายแพ้ไปในที่สุดในการต่อสู้ที่เดียนเบียนฟูในปี 1954 ชัยชนะของเวียดมินห์นำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่เจนีวา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ที่เส้นขนานที่ 17 โดยเวียดนามเหนือปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนเวียดนามใต้มีเบ๋าได่ที่ย้ายไปใช้ชีวิตหรูหราที่ฝรั่งเศสเป็นประมุขแห่งรัฐ และมีโงดิ่นเสี่ยมเป็นนายกรัฐมนตรี

เบ๋าได่ กษัตริย์ขายชาติ

แม้เวียดนามใต้จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่รัฐบาลของโงดิ่นเสี่ยมก็ดูยังคงไม่มีเสถียรภาพ ตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อตั้งรัฐบาล โงดิ่นเสี่ยมต้องเผชิญกับการข้อเรียกของกลุ่มลัทธิหว่าหาวและกาวได่ รวมถึงกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่เข้าร่วมในขบวนการเบ๋าได่ ซึ่งล้วนต้องการมีตำแหน่งในรัฐบาลเวียดนามใต้ อย่างไรก็ตาม โงดิ่นเสี่ยมปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้ จนนำไปสู่การใช้กำลังต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งท้ายสุดแล้วโงดิ่นเสี่ยมเอาชนะได้สำเร็จ

ชัยชนะเหนือกลุ่มการเมืองต่างๆ ในเวียดนามใต้ ไม่ได้ทำให้โงดิ่นเสี่ยมรู้สึกว่ามั่นคงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม โงดิ่นเสี่ยมมองว่าผู้ยุยงให้กลุ่มการเมืองต่างๆ เรียกร้องขอส่วนแบ่งทางอำนาจจนนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองที่แท้จริงคือเบ๋าได่กับฝรั่งเศส เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีการเดียวที่จะทำให้อำนาจของโงดิ่นเสี่ยมมั่นคงจึงคือการถอดถอนเบ๋าได่ออกจากตำแหน่งพระจักรพรรดิ

ในวันที่ 6 ตุลาคม 1955 โงดิ่นเสี่ยมประกาศว่าการลงประชามติเพื่อถอดถอนเบ๋าได่ออกจากตำแหน่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคมปีเดียวกัน การประกาศวันลงประชามติในระยะเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนี้ ทำให้เบ๋าได่ไม่สามารถแก้ต่างการข้อมูลในทางลบที่เผยแพร่จากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวได้ ในสายตาของชาวเวียดนามใต้ เบ๋าได่คือกษัตริย์ที่ไร้คุณธรรมและความสามารถ เป็นคนเจ้าชู้ สำมะเลเทเมา ตะกละตะกราม และสกปรก อีกทั้งยังร่วมมือกับทั้งฝรั่งเศส คอมมิวนิสต์ และกลุ่มการเมืองศักดินาต่างๆ ในเวียดนามใต้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้เบ๋าได่ไม่ใช่บุคคลที่เหมาะสมกับการรับโองการแห่งสวรรค์เพื่อดำรงตำแหน่งพระจักรพรรดิ

ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ก่อนการลงประชามติ หนังสือพิมพ์ในเวียดนามใต้มุ่งโจมตีชีวิตรักหลายภรรยาของโงดิ่นเสียม เรื่องราวเช่นเดียวกันนี้ถูกตีพิมพ์บนใบปลิวที่ปลิวว่อนอยู่ตามถนนในเวียดนามใต้ โดยสโลแกนหลักๆ ที่ฝ่ายรัฐและสื่อใช้โจมตีเบ๋าได่ ได้แก่ เบ๋าได่เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดผู้ขายชาติ เป็นนายคุมบ่อนและซ่อง เป็นคนติดการพนัน ผู้หญิง ไวน์ นม และเนย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นตะวันตก ดังนั้นการลงคะแนนรับรองเบ๋าได่จึงเท่ากับเป็นการหักหลังประเทศชาติ ในทางกลับกัน โงดิ่มเสี่ยมคือผู้นำที่คิดจะนำสวัสดิการและความยุติธรรมมาสู่สังคม เป็นผู้ช่วยชีวิตประชาชนด้วยการฆ่าคอมมิวนิสต์ ล้มกษัติรย์ และต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเพื่อปลดปล่อยเวียดนาม

ผลจากการให้ข้อมูลกับประชาชนข้างเดียวและความไม่โปร่งใสในกระบวนการการลงและนับคะแนน เช่นการพิมพ์บัตรลงคะแนนสองใบ คือใบสีแดงซึ่งเป็นสีแห่งความโชคดี เป็นบัตรที่ให้เลือกหย่อนลงในหีบเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนถอดถอนเบ๋าได่ และรับรองโงดิ่นเสี่ยมเป็นประมุขแห่งรัฐ และใบสีเขียวซึ่งเป็นสีแห่งความโชคร้ายเป็นบัตรที่ให้เลือกหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อรับรองตำแหน่งของเบ๋าได่ รวมทั้งการใช้เจ้าหน้าหน้ารัฐคุกคามหรือจับกุมประชาชนที่ให้การสนับสนุนเบ๋าได่ ทำให้มีคะแนนเสียงสนับสนุนการถอดถอนเบ๋าได่และรับรองโงดิ่นเสี่ยมเป็นประมุขแห่งรัฐถึงร้อยละ 98.9 ขณะที่มีผู้ให้การรับรองเบ๋าได่ในฐานะพระจักรพรรดิเพียงแค่ร้อยละ 1.09 แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือจำนวนบัตรลงคะแนนประชามติที่นับได้ทั้งหมด 5,784,752 ใบ ทั้งๆ ที่มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้เพียง 5,335,668 คน

ภายหลังการลงคะแนนได้สามวัน โงดิ่นเสี่ยมประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐเวียดนามโดยมีตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนแรก เท่ากับว่าวันที่ 26 ตุลาคม 1955 เป็นวันสิ้นสุดสถาบันกษัตริย์ของเวียดนามอย่างเป็นทางการ


โงดิ่นเสี่ยม (Ngô Đình Diệm) ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเวียดนาม หลังการทำประชามติยกเลิกระบอบกษัตริย์อย่างเป็นทางการ (source: wikipedia)

แม้ว่าการให้ข่าวด้านเดียวและระบบการลงคะแนนที่ไม่โปร่งใสอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้สนับสนุนระบอบสาธารณะรัฐทิ้งห่างผู้ที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือการปล่อยข่าวเหล่านี้ก็มีเศษเสี้ยวความจริงเพียงพอที่จะทำให้กษัตริย์หมดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่เชื่อว่ากษัตริย์ต้องปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบความถูกต้องตามลัทธิขงจื่อ การใช้ชีวิตหรูหราในต่างประเทศและมีภรรยาหลายคน ทำให้ประชาชนกังขาในคุณสมบัติของกษัตริย์ ประกอบกับพฤติกรรมการเจรจากับกลุ่มการเมืองในประเทศและมหาอำนาจเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจของสถาบันตัวเอง จึงไม่แปลกที่สุดท้ายสถาบันกษัตริย์จึงปลาสนาการไปในประเทศเวียดนาม

อ้างอิง

Chapman, J. M. (2006). Staging Democracy: South Vietnam’s 1955 Referendum to Depose Bao Dai. Diplomatic History, 30(4), 671–703. https://doi.org/10.1111/j.1467-7709.2006.00573.x

Hammer, E. J. (1950) The Bao Dai Experiment. Pacific Affairs 23(1). 46–58. https://doi.org/10.2307/2753754

Lockhart, B. M. (1993). The End of the Vietnamese Monarchy. New Haven, CT: Yale Center for International and Area Studies.

Nguyên, T. A. (1985) The Vietnamese Monarchy under French Colonial Rule 1884-1945. Modern Asian Studies 19(1), 147-162. http://www.jstor.org/stable/312324.