วันอาทิตย์, ตุลาคม 17, 2564

นักศึกษา Media Arts มช. ตัดโซ่เข้า ‘หอศิลป์ฯ’ สำเร็จ แต่ยังถูกตัดไฟ หลังพยายามจัดนิทรรศการ


The Momentum
11h ·

นักศึกษา Media Arts มช. ตัดโซ่เข้า ‘หอศิลป์ฯ’ สำเร็จ
แต่ยังถูกตัดไฟ หลังพยายามจัดนิทรรศการ
.
วันนี้ (16 ตุลาคม 2564) นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคณะอาจารย์ที่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนักศึกษา นำโดย ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ายึดพื้นที่บริเวณหอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) โดยนักศึกษา ได้ใช้เครื่องมือตัดโซ่คล้องกุญแจ หลังจากทางมหาวิทยาลัยล็อกประตูหอศิลป์ฯ และไม่อนุญาตให้ผลงานของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าจัดแสดงในพื้นที่
.
เนื่องจากงาน Whiplash นิทรรศการแสดงรวมธีสิสของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์ มีกำหนดการแสดงในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมนี้ และนักศึกษาต้องนำงานผลงานเข้าติดตั้งจัดแสดงในพื้นที่ภายในวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม ตามกำหนดการเดิมที่เคยขออนุญาตใช้พื้นที่ และทางหอศิลป์ฯ แจ้งกลับมาว่า ตารางการจัดกิจกรรมว่างตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมถึง 25 ตุลาคม แต่ทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับยังไม่อนุมัติการใช้พื้นที่ โดยอ้างว่าผลงานของนักศึกษามีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงพยายามยื้อเวลาด้วยการขอเอกสารชี้แจงรายละเอียดงาน และการประชุมหารือภายใน โดยวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ กลับมา
.
เมื่อถึงกำหนดการการจัดเตรียมพื้นที่ แต่ยังไร้คำตอบจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางนักศึกษาจึงเข้ายึดพื้นที่หอศิลป์ฯ เพื่อเข้าจัดเตรียมงานนิทรรศการตามตารางงานที่วางไว้ แต่ทั้งนี้นักศึกษาไม่สามารถจัดเตรียมงานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถใช้น้ำและไฟจากอาคารได้ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด ทางนักศึกษาจึงต้องหาทางออกโดยการหาเครื่องปั่นไฟเพื่อใช้ในการจัดตั้งผลงานให้เป็นไปตามกำหนดการ
.
ทั้งนี้ นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้เน้นย้ำ 4 ข้อเรียกร้องต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้
.
1. ขอใช้พื้นที่ตามเวลาที่จับจองเอาไว้
2. จะไม่มีการปรับแก้งานที่ทางคณะบอกว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง
3. ให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารวิจิตรศิลป์ชุดนี้
4.ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมารับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
.
ก่อนหน้านี้นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคณะอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยต่อมาตรการของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยถูกกลุ่มผู้บริหารคณะ เก็บผลงานศิลปะลงถุงขยะดำ เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้องกับเรื่องการเมือง จน ผศ.ดร.ทัศนัย ต้องออกมาปกป้อง และกลายเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมจนเป็นที่มาของวลีเช่น “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร”
.
เรื่อง: พาฝัน หน่อแก้ว


Pinkaew Laungaramsri
10h ·

การปิดหอศิลป์ ไม่ยอมให้นศ.มีเดียอาร์ตชั้นปี 4 เข้าใช้พื้นที่เพื่อแสดงผลงานตัวจบ โดยผู้บริหารคณะฯ ซึ่งมีผู้บริหารมหาลัยให้ท้าย ทั้งนี้โดยอ้างว่ามีผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่สะท้อนความตกต่ำของมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มักอวดอ้างการส่งเสริมเสรีภาพและความเป็นธรรมต่อประชาคมนานาชาติอยู่เป็นประจำ
และยิ่งตกต่ำหนัก เมื่อผู้บริหารใช้แทคติกต่ำๆ สั่งตัดไฟ ตัดน้ำ ปิดรั้ว ล็อคประตู ไม่ยอมให้นศ.เข้าใช้พื้นที่แสดงศิลปะ ทั้งที่นศ.เหล่านี้ จ่ายค่าเทอมมาเรียน ไม่ได้เรียนฟรี และการแสดงผลงานศิลปะ ก็เป็นส่วนสำคัญของการสำเร็จการศึกษาของพวกเขา การกระทำแบบนี้ ไม่ใช่แค่ผิดจรรยาบรรณของสถาบันการศึกษา แต่น่าจะผิดกฎหมายด้วย
การไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมของนักศึกษามีเดียอาร์ต และยืนยันที่จะเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์เพื่อแสดงผลงานของพวกเขา จึงถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมในฐานะที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในฐานะที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ดิฉันขอสนับสนุนการยืนหยัดต่อสู้ของนักศึกษามีเดียอาร์ต มช. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนคณาจารย์ และนักศึกษาท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยจะร่วมกันสนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้ของนศ.มีเดียอาร์ตด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ: นศ.จะปักหลักทำงานติดตั้งผลงานของตนในหอศิลป์มช. ไปจนกว่าจะได้รับคำตอบจากผู้บริหารคณะ และผู้บริหารมช. วันนี้ มีคณาจารย์และนักกิจกรรมทางสังคมเดินทางไปให้กำลังใจนศ.กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเลยทีเดียว