วันพุธ, ตุลาคม 20, 2564

ถึงที่สุด เหตุลักลอบดูดเงิน "นั่นคือการ ‘เจาะระบบของธนาคาร’ อย่างหนึ่ง" แต่ดันโทษประชาชนไว้ก่อน

ถึงที่สุด เหตุที่เกิดการลักลอบดูดเงินจากบัญชีของผู้ใช้บัตรเครดิต-เดบิต ไม่ใช่เพราะการซื้อของออนไลน์เลย แต่เป็นการ แฮ็ค ข้อมูลส่วนตัวเจ้าของบัตร โดยที่หลายรายซึ่งเงินในบัญชีสูญหาย ไม่ได้ใช้บัตรบัญชีวงเงินในการทำธุรกรรม

บัดนี้ “ทุกธนาคารรับเป็นผู้เสียหาย” และทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะชดใช้เงินคืนแก่ลูกค้าภายใน ๕ วันทำการ หลังจากได้รับแจ้ง ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานแบ๊งค์ชาติ กสทช. ปปง. กระทรวงดิจิทัล และสมาคมธนาคาร

“ตรวจสอบพบว่า กลุ่มคนร้ายอาศัยช่องว่างในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคาร ในการขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และข้อมูลบัตรเครดิต-เดบิตไปใช้จ่าย หรือโยกย้ายเงิน” การนี้ข้อมูลส่วนตัวและบัญชีของลูกค้า เช่นเลขที่บัตร วันหมดอายุ และโค้ดความมั่นคงเลข ๓ หลัก

นั่นคือการ เจาะระบบของธนาคารอย่างหนึ่ง แต่แถลงของทางการยังอุตส่าห์บอกว่า “กลุ่มคนร้ายไม่สามารถเจาะระบบของธนาคารต่างๆ ได้” ประหนึ่งว่าการผลักภาระความผิดไปให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเมื่อเกิดเหตุไม่ดีขึ้น เป็นข้ออ้างสำเร็จรูปไปแล้ว

แรกทีเดียวทั้งแบ๊งค์ชาติและสมาคมธนาคารรีบปฏิเสธไว้ก่อน เมื่อเกิดการโวยวายกระหึ่มว่าเงินในบัญชีอันตรธานไปโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ “เบื้องต้นพบว่า มิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้า”

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ บอก “เชื่อว่าธนาคารมีมาตรฐานที่สูง และเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของธนาคาร ไม่ได้โดนแฮ็กเข้าไปในระบบ” เขาโทษผู้บริโภคว่า “ประชาชนที่ซื้อของออนไลน์ ก็จะให้ข้อมูลกับผู้ขาย”

รมว.ดิจิทัล คุยต่อเสียอีก “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้บริการทำธุรกรรมทางมือถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงเป็นการยืนยันว่า ระบบการรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยดีที่สุด” แต่ก็เกิดการแฮ็คครั้งใหญ่ เสียหายกว่า ๑๓๐ ล้านบาท

“ขณะนี้มีบัตรเครดิตที่ถูกล้วงข้อมูลไปแล้ว ๕,๗๐๐ ใบ เดบิต ๔,๘๐๐ ใบ” แต่จากโพสต์ของผู้เสียหายรายหนึ่งว่า “พ่อเรามีแต่สมุดกับเอทีเอ็ม ไม่มีแอ็พ ไม่ผูกบัตรกับที่ไหน ยังโดนเลย ๒๙ บาท ๙๙ ครั้ง” ทำให้ มือปราบคนตอแหล@OakkyzaCZ ชี้

“เคสแบบนี้นี่แหละที่งงว่ามิจฉาชีพมันจะได้ข้อมูลบัตรเราไปได้ยังไง ถ้าไม่ใช่ธนาคารทำหลุด หรือฐานข้อมูลโดนแฮ็ค เพราะมันไม่มีสเต็ปไหนเลยที่จะโดนดักข้อมูลไปได้” อันไปคล้องจองกับคำยอมรับของนายชัยวุฒิตอนหนึ่ง

“ที่ผ่านมา ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข” เขาเน้นเรื่องการออกกฎหมายควบคุมธุรกรรมอีเล็คโทรนิคส์ ปราบปรามมิจฉาชีพ “ส่วนในกรณีการปราบปราบเรื่อง SMS หลอกลวงประชาชน ทั้งกู้เงินและพนันออนไลน์นั้น

ยืนยันว่า ทางกระทรวงกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” หากแต่การดำเนินการนั้นยิ่งทำให้ประชาชนสับสน บอกว่าระบบธนาคารปลอดภัย ในขณะเดียวกัน “เตือนอย่านำบัตรเครดิต/เดบิต ไปทำธุรกรรมออนไลน์” มันย้อนแย้งกันอยู่นะ

ถึงกระนั้น ยืนยันอย่างไรก็ไม่เท่าที่ตาประชาชนเห็น ว่านี่คือ วัวหายล้อมคอกชัดแจ้ง

(https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2877629369196603, https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6681885, https://www.facebook.com/sorrayuth9115/posts/429329868553958 และ https://today.line.me/th/v2/article/gzoj5ng5rT4)