https://www.facebook.com/thematterco/posts/3025445814337467
The MATTER
14h ·
RECAP: สรุปประเด็น ผู้เสียหายถูกแฮกโดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่ได้ทำธุรกรรม ด้าน ธปท.ยืนยัน สามารถขอเงินคืนได้
.
ใครเป็นหนึ่งในคนที่โดนดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารบ้าง? เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่หลายคนจับตามองสำหรับประเด็นการโดนตัดเงินออกจากบัญชีธนาคารโดยที่เจ้าของบัญชีไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ
.
ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น มีผู้เสียหายนับหมื่นรายรวมตัวกันตั้งกลุ่ม ‘แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว’ เพื่อบอกเล่าเคสของตัวเอง จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกระแสในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
.
The MATTER จะพามาย้อนดูเหตุการณ์การโดนตัดเงินของเหล่าผู้เสียหาย และคำชี้แจงจากธนาคารและผู้เกี่ยวข้องว่าสรุปเหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
.
1. มหากาพย์ดูดเงินนี้เริ่มต้นที่ผู้เสียหายจำนวนมากออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาถูกหักเงินออกจากบัญชีธนาคารในลักษณะ ‘หักถี่ๆ แต่จำนวนเงินไม่มาก (แต่บางรายก็มาก)’ ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุว่าเป็น Purchase via EDC โดยมีการซื้อสินค้าและชำระค่าบริการผ่านบัตรเดบิต จากนั้นจึงตัดเงินจากธนาคารอีกที
.
อย่างเช่นในกรณีที่มีรูปเผยแพร่กันคือ โดนหักเงินครั้งละ 37 บาท 5 ครั้ง, 86.90 บาท 7 ครั้ง และ 17.27 บาท 1 ครั้งรวมเป็นเงินทั้งหมด 810.57 บาท ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 2 ตุลาคม
.
นอกจากนี้ ยังผู้เสียหายบางส่วนออกมาเล่าว่า มักจะโดนหักเงินในช่วงต้นเดือนของทุกเดือนโดยที่จำนวนไม่มากนัก ขณะบางรายก็เล่าว่า โดนหักเงินไปหลายร้อยครั้ง รวมๆ แล้วก็เป็นเงินมากกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนน้อยเลย
.
2. หลังมีกระแสข่าว ผู้เสียหายจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันตั้งกลุ่ม ‘แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว’ ใน Facebook เพื่อแชร์เคสโดนหักเงินของตัวเอง โดยตอนนี้พบว่ามีผู้เสียหายแล้ว 3-4 หมื่นราย พร้อมทั้งมีการคาดการณ์กันไปว่า เคสการแฮกตัดเงินนี้เกิดจากการเชื่อมบัตรเดบิตและธนาคารเข้ากับบริการตัดเงินผ่านทางออนไลน์ต่างๆ เช่น แอพฯ สินค้า หรือแพลตฟอร์มสื่อสาร
.
แต่บางกลุ่มคิดว่าอาจจะเกิดจากแอพฯ ดูดเงิน เพราะผู้ใช้บางรายไม่ได้ผูกบัตรเดบิตกับบริการออนไลน์ใดๆ เลย แต่ก็ยังโดน
.
3. หลังประเด็นนี้เป็นกระแสขึ้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลธนาคาร “แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอพฯ ดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว”
.
พร้อมระบุว่า ลูกค้าที่ตรวจพบความผิดปกติของเส้นทางบัญชี สามารถตรวจสอบกับธนาคารเพื่อยืนยันปัญหา และหากพบว่าเข้าข่าย ธนาคารจะคืนเงินให้กับลูกค้าทุกคนอย่างเร็วที่สุด
.
5. เมื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระบบออนไลน์ หนึ่งในองค์กรที่หลายคนถามหาคือ ‘ตำรวจไซเบอร์’ ซึ่ง พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) เพิ่งออกมาแถลงข่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นวันนี้ โดยบอกว่า ปัญหาการดูดเงินจากบัญชีธนาคารเกิดขึ้นมานานแล้ว และ “เป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะถูกแฮก เพราะหากธนาคารถูกแฮก จะต้องแฮกทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นทุกคนจะต้องโดนเหมือนกันหมด”
.
ผบช.สอท. ระบุว่าปัญหานี้เริ่มต้นจากการที่มิจฉาชีพปลอมเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและส่ง SMS มาหลอกขอข้อมูล แต่อีกนัยหนึ่งอาจเกิดจากการทำธุรกรรมออนไลน์ ที่เปิดช่องให้มิจฉาชีพนำข้อมูลลูกค้าไปขายในตลาดมืด
.
6. ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สำนักงานตำรวจ เปิดเผยว่าขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องสืบสวนประเด็นดังกล่าวแล้ว สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหาย ให้เข้ามาแจ้งความกับสถานีตำรวจใกล้บ้าน และติดต่อทางธนาคารเพื่อขอเงินคืน
.
7. พร้อมกันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังแนะนำวิธีป้องกันปัญหาดังกล่าวว่าสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยการ
- หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมไม่น่าเชื่อถือที่ต้องใช้ข้อมูลหน้าบัตรและรหัส 3 ตัวหลังบัตร เพราะจะทำให้คนร้ายนำข้อมูลไปใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องขอรหัส OTP
- หลีกเลี่ยงกดลิงก์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือสื่อออนไลน์ แต่หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ ให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอม
- นำแผ่นสติ๊กเกอร์ปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัส 3 ตัวออกจากหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน
.
8. ปัญหาการโดนหักเงิน โดนโกงเงิน ล้วนไม่ใช้ปัญหาใหม่ หากเสิร์ชคำว่า ‘Purchase via EDC’ ก็จะพบว่า เคยเกิดเคสแบบนี้ขึ้นมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่จนมาถึงตอนนี้ ปัญหาดังกล่าวกลับไม่ได้รับการจัดการอย่างจริงจัง ซ้ำร้ายยังทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมีผู้เสียหายมากกว่าหมื่นคน
.
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ว่ามีแนวทางใดในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก และจะมีวิธีการปัญหาระยะยาวอย่างไร เพราะธนาคารคือกระเป๋าเงินที่ประชาชนไว้ใจมากที่สุด หากกระเป๋าเงินรั่ว คนที่ลำบากที่สุดคงหนีไม่พ้นเจ้าของกระเป๋า
.
.
อ้างอิงจาก
https://www.bot.or.th/.../Pages/JointPress_17102021.aspx
https://www.thansettakij.com/general-news/500084
https://news.thaipbs.or.th/content/308719
https://www.dharmniti.co.th/5-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8.../
https://www.amarintv.com/news/detail/103491
https://www.prachachat.net/finance/news-783767
#Brief #TheMATTER