พรรคเพื่อไทย เสนอแนวทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศยกใหญ่ จากสภาพที่ขณะนี้ “โตต่ำ ลากยาว” จนเป็นปัญหาที่ลงลึก ถ้าไม่เร่งแก้ จะหลุดจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
โดย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการและ ผอ.ศูนย์นโยบายของพรรค ชี้ว่าต้องแก้ที่ฐานราก ๗ ด้าน ได้แก่ ข้อแรกเรื่อง ‘ประชากร’ ซึ่งมีเกิดน้อยและแก่ลงไปเรื่อยๆ จำเป็นต้อง “เพิ่มอัตราการเกิด” เพื่อขยายฐานแรงงาน ช่วยทั้งด้านการผลิต (supply) และกำลังซื้อ (demand)
ข้อสองเรื่อง ‘โครงสร้างแรงงาน’ อ้างว่า ๖๐% แรงงานไทยอยู่ในภาคการเกษตร “ซึ่งผลิต GDP ได้แค่ ๘%” ต้องสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเคลื่อนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการแทน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมจะทำให้ก้าวกระโดดได้เร็วกว่า ด้วยเทคโนโลยี่ที่ ‘โตไว’
บังเอิญในข้อนี้ มีเสียงทักมาจากนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต กานดา นาคน้อย @kandainthai ท้วงว่า “ตัวเลขสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรไม่ถูกต้องอย่างสาหัส บทความบอก ๖๐% แต่ที่จริง ๒๗%”
อจ.กานดายังได้เขียนคอมเม้นต์เพิ่มเติมไว้บนทวิตเตอร์ว่า “ค) สัดส่วนค่าแรงในจีดีพีไทยต่ำมาก ๒๙% เปรียบเทียบกับ ๕๒% ที่เกาหลีใต้ ๗๐% ที่สหราชอาณาจักร และ ๗๑% ที่สหรัฐอเมริกา จึงหมายความว่า (เจ้าของ) ‘ทุน’ ได้ส่วนแบ่งกำไรเยอะมาก
ฉะนั้นการปรับโครงสร้างจะไม่พูดถึงนโยบายตลาดทุนเลยไม่ได้ อย่าผลักปัญหาไปที่ทักษะของแรงงานฝ่ายเดียว (และ ง) ระบบ certificate ยังอยู่ในกรอบรวมศูนย์ และมองข้ามความแตกต่างของตลาดแรงงานในภูมิภาคต่างๆ
ในเมื่อภูมิภาคต่างๆ มีโครงสร้างการผลิตที่แตกต่างกัน ก็ย่อมมีความต้องการแรงงานที่ต่างกัน ฉะนั้น” อจ.กานดาแนะเรื่อง ‘โครงสร้างการศึกษา’ ว่า “ต้องกระจายอำนาจการจัดหลักสูตร ให้ท้องถิ่นกำหนดหลักสูตรเองตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา
ตลาดแรงงานครอบคลุม ‘ธุรกิจส่วนตัว’ (self employed) หรือไม่ การศึกษาไม่ควรโฟกัสที่การสร้างคนเพื่อเป็นลูกจ้างชั่วกัลปาวสาน” และ “ตลาดแรงงานครอบคลุม ‘ทหารเกณฑ์’ หรือไม่ การเกณฑ์ทหารยกระดับทักษะอะไรให้ตลาดแรงงาน”
ดังนั้น เธอว่า “ถ้าไม่ยกเลิกทหารเกณฑ์ก็เรียกว่าปฏิรูปโครงสร้างไม่ได้” อีกทั้ง “การนำผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้าสู่ระบบเป็นดาบสองคม ถ้าไม่บังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด จะทำให้บริษัทสตาร์ทอัพเกิดยากยิ่งขึ้น”
ข้อเสนอที่สี่ของเพื่อไทยเป็นเรื่อง ‘โครงสร้างอุตสาหกรรม’ ว่าต้องปลดล็อคระบบ “ปกป้องและผูกขาด” ให้เกิดการแข่งขันและ “การลงทุนเพื่อพัฒนา” ส่วนข้อห้า ‘โครงสร้างธุรกิจ’ ที่ว่า “ไทยมีสัดส่วนเอกชนนอกระบบสูงมาก” ถึง ๕๓% ทำให้ “ฐานภาษีหายไป”
อจ.กานดาบอกว่า “ถ้าอยากเปลี่ยนโครงสร้างต้อง ‘กระจายอำนาจจัดเก็บภาษี’ และ ‘กระจายกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินรัฐ’ เช่น เปลี่ยนกรรมสิทธิ์สนามบินจาก AOT ให้ อบจ. การเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะไร้ประโยชน์ถ้าปราศจากอำนาจเก็บภาษีและทรัพย์สิน”
ข้อ ๖ เผ่าภูมิเจาะจง ‘โครงสร้างงบประมาณ’ ว่าทำให้ไทยเป็นรัฐราชการขนาดยักษ์ แต่ไม่ได้ทำให้มีประสิทธิภาพสูง “Outsource หน่วยงานและภารกิจต่างๆ ของภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน...และใช้การร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐให้มาก”
ทว่าข้อนี้ อจ.กานดามีเสริม “จะบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอย่างไรโดยไม่ปฏิรูประบบราชการและระบบยุติธรรมแบบกล่าวหา โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นประมาทประเภทอาญา การ ‘เอ๊าท์ซอร์ส’ งานภาครัฐให้เอกชนจะเพิ่มสัมปทานซึ่งอาจทำให้ทุจริตเพิ่มขึ้น”
ข้อสุดท้ายของเผ่าภูมิเรื่อง ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ลงรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘โครงสร้างด้านดิจิทัล’ ว่า “การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสำคัญไม่น้อยกว่าการเข้าถึงระบบการศึกษาพื้นฐาน” จึงควรบัญญัติไว้ให้ทุกรัฐบาลต้องทำ ในเรื่อง “สิทธิการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรี”
ข้อนี้ อจ.กานดาถาม “ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงการอุดหนุนค่าอินเตอร์เน็ตตามครัวเรือน หรือการอุดหนุนฮ้าร์ดแวร์ เช่น ไอแพด ราสเบอร์รีพาย (คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว)” พร้อมทั้งต่อยอดให้อย่างกัลยาณมิตรว่า
“ที่จริงสามารถผูกกับการยกระดับคุณภาพห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดชุมชนให้ยืมไอแพดได้ ประชาชนที่ไม่ใช่นักเรียนก็ใช้ฮาร์ดแวร์ได้ด้วย” นี่คนที่คอยรอรับใช้รัฐบาลประยุทธ์ภาคสาม น่าจะเก็บมุบมิบเอาไปเสนอหน้า ให้สมคุณค่าการเป็น ‘ลิ่วล้อ’
เพราะถ้าสามารถทำได้ก็จะดีไป กับทั้งทีมงานผู้ครองเมือง และประชากรผู้ถูกปกครอง ไม่เช่นนั้นข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อย่างดี
(https://twitter.com/kandainthai/status/1447408686117400582 และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2982486)