วันพุธ, ตุลาคม 06, 2564

พบ 6 ตระกูลร่ำรวยสูงสุดไทย ถือครอง บ.นอกอาณาเขต ใน ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’



อิศราร่วมกับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ - ไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) เปิดฐานข้อมูล ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’ https://www.icij.org/investigations/pandora-papers/ สืบค้นรายชื่อผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore entities) ชาวไทย พบตระกูลร่ำรวยสูงสุด 6 อันดับพร้อมหน้า สมาชิกครอบครัวซีพี-เบียร์ช้างครองแชมป์ถือครองบริษัทจำนวนมาก หนึ่งในพื้นที่นอกอาณาเขตยอดนิยม คือ เกาะสวรรค์บริติช เวอร์จิน

.............................

การตรวจสอบข้อมูลการรายงานข่าว "แพนโดรา เปเปอร์ส" ของไอซีไอเจ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีส่วนร่วมในการรายงานพบว่า สมาชิกตระกูลธุรกิจที่ร่ำรวยอันดับ 1 - 6 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐอเมริกา มีความนิยมใช้บริษัทนอกอาณาเขตในการทำธุรกิจอย่างกว้างขวาง

หลายตระกูลมีสมาชิกที่ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสองรุ่น

โดยปรากฏชื่อในการรายงานข่าวจากฐานข้อมูลในความครอบครองของไอซีไอเจหลายครั้ง รวมทั้งในการรายงานข่าว “ปานามา เปเปอร์ส” ใน พ.ศ. 2559 ตระกูลมหาเศรษฐีไทยที่มีจำนวนการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตอย่างโดดเด่นตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลครั้งนี้ คือ สมาชิกตระกูลเจียรวนนท์ และนายเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ครอบครัวมหาเศรษฐีอันดับ 1 และ 3 ของไทย

'ICIJ' เผยเอกสาร 'ปานามาลีก'!เจ้าสัวไทยติดโผตั้งบ.ลับเกาะบริติชเวอร์จิ้น
เจาะ 5 บริษัทเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ-วรรณา” ในฐานข้อมูลปานามาลีก
พบชื่อ 'เจริญ-วรรณา' สิริวัฒนภักดี-พี่น้อง 'จิราธิวัฒน์' ในฐานข้อมูลปานามาลีก

สำนักข่าวอิศรา ตระหนักดีว่า การเป็นเจ้าของบริษัทในพื้นที่นอกอาณาเขตไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย

ในขณะเดียวกันการที่ประเทศหรือพื้นที่นอกอาณาเขต เช่น ประเทศเบลิซ หรือ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน มีกฏหมายพิเศษในการคุ้มครองบริษัทของนิติบุคคลหรือชาวต่างชาติที่จดทะเบียนในพื้นที่ของตน ที่เอื้อประโยชน์ด้านการยกเว้นหรือการเก็บภาษีในอัตราต่ำและเอื้อให้บริษัทสามารถสร้างกลไกในการปกปิดข้อมูลสำคัญ

โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับ "เจ้าของผู้รับผลประโยชน์" หรือเจ้าของที่แท้จริงได้ การใช้บริษัทนอกอาณาเขตจึงเป็นที่นิยมของนักุรกิจและและบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเป็นเครื่องมือลดต้นทุนด้านภาษีและให้ความคล่องตัวในการเก็บรักษาทรัพย์สินและการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน รายชื่อคนไทยในฐานข้อมูลไม่ได้จำกัดเพียงตระกูลธุรกิจชื่อดัง

อย่างไรก็ตามสังเกตได้ว่า ตระกูลร่ำรวยขนาดใหญ่เหล่านี้มีลักษณะการใช้บริษัทนอกอาณาเขตในหลายกรณี

ประการหนึ่ง คือ ใช้ในการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ เช่น การถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอังกฤษของครอบครัว จุตินันท์ – หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี และครอบครัวเฉลิม อยู่วิทยา หรือใช้ในการถือครองหุ้น ตราสาร หรือเงินสดในต่างประเทศเช่นกรณีของ เจริญ – คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี และเฉลิม อยู่วิทยา เป็นต้น

ลักษณะของบริษัทนอกอาณาเขตที่นิยมใช้คือทรัสต์ หรือบริษัทโฮลดิ้งที่ใช้ในการถือหุ้นในบริษัทอื่น หลายกรณีพบว่าบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ถือหุ้นของกันและกันซ้อนเป็นหลายชั้น และทำธุรกรรมระหว่างกันเองหรือบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามมีหลายบริษัทในความครอบครองของนักธุรกิจไทยที่ไม่ปรากฏข้อมูลการทำธุรกิจที่ชัดเจน


@ จุตินันท์ – หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี / ภาพจาก m.mgronline.com


@ เฉลิม อยู่วิทยา / ภาพจาก www.naewna.com

สำหรับตระกูลเจียรวนนท์ที่นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่ามีความมั่งคั่งอันดับ 1 ของประเทศไทย มีสมาชิกที่ใช้บริษัทนอกอาณาเขตทั้งในรุ่นของนาย ธนินท์ เจียรวนนท์ และทายาทรุ่นถัดมา โดยมีทั้งในรูปของทรัสต์และบริษัทโฮลดิ้ง

ตัวอย่างเช่นข้อมูล พ.ศ. 2559 จากฐานข้อมูลของ เอเซียซิตี้ ทรัสต์ (Asiaciti Trust) ซึ่งเป็นเอเย่นต์ให้บริการจดทะเบียนและดูแลบริษัทนอกอาณาเขตระบุชื่อ บุตรธิดาทั้งห้าคนของนาย ธนินท์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์บริษัทนอกอาณาเขตของตนเอง และยังร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนหนึ่งด้วย


@ ศุภชัย เจียรวนนท์/ภาพจาก /th.wikipedia.org

โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท แอมเปิ้ล แคปปิตัล คอร์ปเปอเรชั่น (Ample Capital Corporation) นาย ณรงค์ เจียรวนนท์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท อัลไพน์ อัลเลอร์ คอร์ปเปอเรชั่น (Alpine Allures Corporation) นาย สุภกิต เจียรวนนท์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท ไมดาส แม็กน่า คอร์ปเปอเรชั่น (Midas Magna Corporation) นาง วรรณี เจียรวนนท์ รอส และ นาง ทิพาภรณ์ อริยวรารมย์ เป็น เจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท ซิลเวอร์ อัลไลน์เม้นท์ คอร์ปเปอเรชั่น (Silver Alignment Corporation) และบริษัท (Merit Corporation) ตามลำดับ บริษัททั้งหมดจดทะเบียนที่บริติช เวอร์จิน

บริษัททั้งห้าร่วมกันถือหุ้นในบริษัทในบริติชเวอร์จินอีก 5 บริษัทในสัดส่วนการถือหุ้นรายละ 20 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเหล่านี้คือ บริษัท คริสตัล เอเลเม้นท์ คอร์ปเปอเรชั่น (Crystal Element corporation) อีคิวโอพีเอเอส คอร์ปเปอเรชั่น (EQPOS Corporation) อัลไลน์ เอเลเม้นท์ส คอร์ปเปอเรชั่น (Allign Elements Corporation) แอฟฟลูนซ์ แอสเซ็ท อินเวสต์เม้นท์ ลิมิดเต็ด (Affluence Asset Investments Limited) และ เอพิโทม แคปิตัล คอร์ปเปอเรชั่น (Epitome Capital Corporation) อย่างไรก็ตาม ไม่พบเอกสารในฐานข้อมูลที่แสดงวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของบริษัทดังกล่าว ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้ส่งอีเมลและหนังสือลงทะเบียนขอความเห็น นายศุภชัย เจียรวนนท์ เรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา แต่ฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัทแจ้งว่ายังไม่ได้รับอีเมลและหนังสือดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา จึงอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อขอความเห็นเรื่องนี้อีกครั้ง

จากการตรวจสอบยังพบด้วยว่า เอกสารจากเอเย่นต์จดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต ซิตี้ ทรัสต์ (CitiTrust) ระบุชื่อทายาทรุ่น 2 และ 3 ของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ตระกูลมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทย เช่น สุทธิชัย สุทธิลักษณ์ ปริญญ์ ทศ ปิยวรรณ และ จริยา จิราธิวัฒน์ เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์หรือผู้มีอำนาจในการลงนามของบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนหนึ่งในช่วงเวลาที่ต่างกันระหว่าง พ.ศ. 2549 – 2557 เช่นบริษัท เกรท คาสเทิล กรุ๊ป (Great Castle Group Ltd.) จดทะเบียนที่ประเทศเบลิซในอเมริกากลาง บริษัท ทรานส์วู้ด โกลบัล ลิมิดเต็ด (Transwood Global Limited) บริษัท เอเวอร์แม็กซ์ แคปิตัล ลิมิดเต็ด (Evermax Capital Limited) และ บริษัท โกลด์ เซ็นจูรี แปซิฟิก ลิมิดเต็ด (Gold Century Pacific Limited) เป็นต้น แต่เอกสารที่พบไม่แสดงวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ โดยสำนักข่าวอิศรา ได้ส่งอีเมลและหนังสือลงทะเบียนขอความเห็น นาย ทศ จิราธิวัฒน์ เรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 เช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา


@ ทศ จิราธิวัฒน์ / ภาพจาก www.centralretail.com

นาย สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บจม. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย มีชื่อเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัท โรบัส คอมปานี ลิมิดเต็ด (Robus Company Limited) ในเอกสารของไทรเด้นท์ ทรัสต์ ปี 2560 อย่างไรก็ตาม ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจของบริษัทนี้

ในอดีตนาย สารัชถ์ เคยมีบริษัทนอกอาณาเขตอีกแห่งหนึ่ง คือบริษัท เอริดจ์ อินเวสต์เม้นท์ (Eridge Investments Pte Ltd) โดยเอกสารของเอเซียซิตี้ ทรัสต์ ชี้ว่า ใน พ.ศ. 2540 บริษัทดังกล่าวได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทสาริน พร้อพเพอร์ตี ดิเวลลอปเม้นท์ (ประเทศไทย) จากบริษัท เวลธ์ อินฟินีตี้ คอมปานี ลิมิดเต็ด (Wealth Infinity Company Limited) ในบริติช เวอร์จิน อย่างไรก็ตามบริษัท เอริดจ์ อินเวสต์เม้นท์ ได้ยุบไปราว พ.ศ. 2544 โดยสำนักข่าวอิศรา ได้ส่งอีเมลและหนังสือลงทะเบียนขอความเห็นเรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตไปยัง นาย สารัชถ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ


@ สารัชถ์ รัตนาวะดี /ภาพจาก www.bbc.com

นาย เพชร โอสถานุเคราะห์ รองประธานกรรมการบริหารบริษัทโอสถสภา จำกัด และอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สมาชิกครอบครัวโอสถสภาซึ่งติดโผครอบครัวมหาเศรษฐีอันดับ 6 ของประเทศ ใช้บริการของไทรเด้นท์ ทรัสต์ (Trident Trust) เอเย่นต์รับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์และผู้ถือหุ้นของบริษัท ไดม่อน ฟาร์ม อิ้งค์ (Diamond Farm Inc.) ที่บริติช เวอร์จินเช่นเดียวกัน

เอกสารของไทรเด้นท์ ทรัสต์ พ.ศ. 2559 ระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทดังกล่าวว่า เพื่อใช้ในการถือครองทรัพย์สินที่เป็นเงินสดและหุ้น และใช้ถือปัญชีธนาคาร บีเอ็นพี พาริบัส สาขาสิงคโปร์ โดยมูลค่าประเมินของทรัพย์สินที่จะถือโดยบริษัทอยู่ที่ 8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ (ราว 260 ล้านบาท) บริษัทนี้มีผู้อำนวยการเป็นสมาชิกในครอบครัว 4 คน คือ นาย เพชร นาง นฤมล (ลาออกพ.ศ. 2561) และบุตรชายทั้งสองคือ นายภูรี และนายภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์


@ เพชร โอสถานุเคราะห์/ภาพจาก mgronline.com

นอกจากนั้นข้อมูลไทรเด้นท์ ทรัสต์ พ.ศ. 2561 ยังระบุว่า นาย เพชร เป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของบริษัทนอกอาณาเขตอีกบริษัทหนึ่งคือ ไดม่อน ฟาร์ม โกลบอล อิ้งค์ (Diamond Farm Global Inc.) ที่มีวัตถุประสงค์ในการ “ถือทรัพย์สินในทรัสต์” โดยมีบริษัท บีโอเอส ทรัสตี ลิมิดเต็ด (BOS Trustee Limited) ในสิงคโปร์เป็นทรัสตี อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุมูลค่าของทรัพย์สินแต่อย่างใด

ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ส่งอีเมลและหนังสือลงทะเบียนขอความเห็น นาย เพชร เรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมาเช่นกัน

ทั้งนี้ หากได้รับคำตอบจากจากกลุ่มต่าง ๆ แล้ว สำนักข่าวอิศราจะนำมารายงานความคืบหน้าต่อไป

อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล

ที่มา https://www.isranews.org/article/isranews/103032-investigative00-2-64.html