วันศุกร์, เมษายน 09, 2564

เดี๋ยวนี้ศาลกลายเป็นส่วนงานราชทัณฑ์ไปเสียแล้ว "ปฏิเสธขบวนการอยุติธรรม" ไม่มี 'Rights to fair trial.'


ศาลอาญาเดี๋ยวนี้กลายเป็นส่วนงานราชทัณฑ์ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในการพิจารณาคดีห้อง ๗๐๔ ผู้โดนข้อหาถูกคุมแจ ไม่ให้ปรึกษาทนายเป็นส่วนตัว ปรึกษากันเองก็ไม่ได้ และห้ามญาติมิตรเข้าฟังในห้อง พิจารณาคดี แล้วยังตรวจคัดกรองถึง ๓ ชั้น

อีกครั้งของการที่ศาลอาญารัชดา เปลี่ยนสภาพห้องพิจารณาคดีไปเป็นคุกเสียเอง เมื่อมีมาตรการจำกัดจำเขี่ย กีดกันต่อบรรดาทนายความจำเลย รวมทั้งพ่อแม่และญาติผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องหา ๒๒ คนขอถอนทนายออกหมด อ้างเหตุ “ไม่ได้รับความเป็นธรรม”

อานนท์ นำภา เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศาลอ่านถึงต้นสายของเหตุ “ปฏิเสธขบวนการอยุติธรรม” ว่านอกจากยื้อยุดไม่ยอมให้สิทธิการประกันตัวปล่อยชั่วคราวออกไปเตรียมการสู้คดีแล้ว ยังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก้าวร้าว ข่มเหง ทนายและญาติ

ทนายแจม Sasinan Thamnithinan เขียนเล่า ความไม่เป็นธรรมต่างๆไว้ว่า “กีดกันไม่ให้ญาติเข้ามาด้านในบริเวณศาล...ผู้คุมที่แทบจะสิงร่างจำเลย ควบคุมทุกฝีก้าว จะลุกขึ้นมาคุยทนาย ผู้คุม ๓-๔ คนก็จะรีบลุกมาฟังจนหูแทบจะติดกัน


ทำให้ “ไม่มีความเป็นส่วนตัวในการปรึกษาคดี” แล้วยัง “ใช้กำลังของผู้คุมโดยไม่จำเป็นที่ปฏิบัติต่อญาติและทนายความ (ปัดมือ ไม่ให้ถูกตัวผู้ต้องขัง)” กลุ่มจำเลยที่ถูกคุมขัง ๙ คนนั้นมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบสองข้างต่อคน

ในห้องพิจารณา ๗๐๔ เมื่อวานนี้จึงมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เสีย ๒๐ คน ตำรวจศาลอีก ๑๔ คน ยังไม่รวม จนท.พยาบาลที่ดูแลเพ็นกวิ้น ๒ คน “ประมาณล๊อคตัวแทบหิ้วปีกมาเลย นั่งเก้าอี้ก็ประกบซ้ายขวา...เขาใช้กำลัง จนท.นี้ขนาดนี้ เขากลัวอะไรกัน”

Yaowalak Anuphan ทนายสิทธิมนุษยชน บ่น “การพูดคุยกับจำเลยทนายต้องขออนุญาตศาล จนทนายบางท่านบอกว่าเหมือนเรากลายเป็นขอทาน...กระบวนการยุติธรรมข่มเหงเราเกินไป” จนถึงจุดที่ “จำเลยต้องขังและทีมทนายทนไม่ได้ต้องถอนทนาย”

เหตุผลในคำร้องขอถอนทนายระบุว่า “เนื่องด้วยกระบวนการพิจารณาคดีในศาลอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามหลักการและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย” เช่นไม่สามารถปรึกษาคดีเป็นส่วนตัวได้

ทั้งการไม่อนุญาตให้ครอบครัวจำเลยเข้าฟังการพิจารณา ก็ผิดหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส “อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน Rights to fair trial.” เช่นนี้จำเลยและทนายเห็นพ้องกันว่า “หากร่วมกระบวนพิจารณาต่อไปรังแต่จะสร้างบรรทัดฐานอันบิดเบี้ยว”

พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ ณัทพัช อัคฮาด หนึ่งในผู้โดนกล่าวหาในคดีนี้ เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าว่าพวกแม่ๆ ผู้ต้องหาไม่สามารถขึ้นไปห้องพิจารณาคดีบนชั้น ๗ ของอาคารศาลได้ เจ้าหน้าที่ว่าวันนี้ศาลห้ามขึ้น ต้องไปรอดูวิดีโอชั้นล่างที่ห้องเวรชี้ ๒

บนชั้น ๗ ห้องน้ำหญิงถูกปิดสำหรับคนจากภายนอกที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ศาล “มีรั้วสีเหลือง ๓ แผง ถูกนำมากั้นตั้งแต่ลิฟต์เป็นต้นมา รปภ. นายหนึ่งกล่าวว่านี่เป็นรั้วที่หนาที่สุดแล้วที่เอามากั้น” ญาติบางส่วนยืนและนั่งกับพื้นที่บริเวณหน้าลิฟต์ชั้น ๗

นางพะเยาว์ติง “ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมก็ไม่เคยปิดกั้นถึงขนาดนี้ แต่ทำไมรุ่นหลังๆ นี้รู้สึกปิดกั้นน่าดูเลย มันถือว่าเป็นสิทธิของเราไหมที่เราควรจะได้รับฟังในคดีความของลูกเรา ในฐานะที่เราเป็นแม่” ส่วนสุรีรัตน์ ชีวารักษ์ มารดาของเพ็นกวิ้นแจ้งว่า

“ลูกมือเย็นถึงแขน ตาดำๆ ไม่สดชื่น อาการหนักลง เพนกวินบอกเพื่อนว่าถ้าวันที่ ๙ เม.ย. ยื่นประกันแล้วไม่ได้ออก จะลาเพื่อน ลาครอบครัว ไม่เจอกันอีก” ขณะที่อานนท์ซึ่งเมื่อวานนั่งกอดลูกสาวน้อยๆ ของเขาแน่น บอกว่า

“การบีบบังคับต่างๆ ไม่ต่างจากการพรากความเป็นมนุษย์ไปจากผม” เขาเขียนในแถลง ปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรมด้วยว่าข้อหามาตรา ๑๑๒ ที่พวกเขาถูกฟ้องนั้น เป็นเรื่องที่ “ปฏิเสธจะให้ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น”

ถือเป็นการ ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง “จำเลยในฐานะคนเรียนกฎหมาย อาชีพทนายความ และในฐานะหนึ่งในราษฎรที่มีจุดยืนให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงมิอาจร่วมกระบวนการทั้งหมดต่อไปได้”

เหล่านั้นแสดงแจ่มแจ้งแล้วว่าการพิจารณาคดีในศาลอาญาส่วนหนึ่งมิได้เป็นไป และละเมิดหลักการยุติธรรมชนิดไม่มีข้ออ้างใดลบล้างความเลวร้ายได้ แม้แต่ว่าทำไปในนามของประมุขแห่งรัฐ เพราะนั่นจะทำให้ผู้ถูกอ้างเองถูกถมเต็มไปด้วยความเสียหาย

(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3816022821780877, https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165278452685551, https://www.facebook.com/jammyjamlawyer/posts/3719886874804600 และ https://www.facebook.com/waymagazine/posts/10157704341616456)