วันอังคาร, เมษายน 13, 2564

หลายครั้งอะไรๆที่เป็น"ที่สุดในโลก" จะเป็นสิ่งที่ "บัดซบที่สุดในโลก" อ่านเรื่องรัฐสภาเยอรมนี (Reichstag) จะประเทืองปัญญากว่าแยะ



Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล
18h ·

เห็นข่าวรัฐสภาแห่งใหม่ที่หน้าตาเหมือนวัด อาคารราชการที่ไม่ user friendly ที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยเจอ จะเปิด "อย่างเป็นทางการ" ในเดือน พ.ค. นี้ แถมยังภูมิใจแปลกๆ กับการเป็น "รัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก" () ก็ทำให้นึกถึงรัฐสภาเยอรมันค่ะ
.....

โลกในนิทรรศการ - World in Exhibits is at Reichstag (building).
April 16, 2015 · · Berlin, Germany ·

ภาพ: โดมใหม่ หลังคาที่ประชุมรัฐสภา, สร้างปี ค.ศ. 1999
สถานที่: ที่ประชุมรัฐสภา (Reichstag) กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี
โดมที่ประชุมรัฐสภาเยอรมนี หรือ “ไรช์สตาก” (Reichstag) ทำจากกระจก เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเดินวนเวียนตามทางเดินก้นหอยขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของโดมได้ เปิดออกไปเป็นดาดฟ้าที่เห็นเบอร์ลินทั้งเมือง 360 องศา
สถาปัตยกรรมภายในของตัวอาคารเก่าแก่แห่งนี้ออกแบบใหม่หมดเมื่อปี 1999 โดย เซอร์ นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ
ฟอสเตอร์ออกแบบกรวยทรงสูงกลางที่ประชุมสภาให้เป็น “เสา” ค้ำโดมแก้วบนสุดของตึกเอาไว้ เมื่อมองผ่านหลังคาสภาหรือพื้นโดมลงไปจะเห็นที่ประชุมสภา ได้ดู ส.ส. ทำหน้าที่หรือนั่งหลับได้อย่างถนัดชัดเจน
จากคำอธิบายของไกด์ หลังคาของตึกเป็นกระจกเพราะต้องการสื่อว่ารัฐบาลควรทำงานอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
ตลกร้ายคือคนที่สั่งให้สร้างโดมกระจกบนตึกนี้เป็นคนแรกคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จอมเผด็จการที่ร้ายกาจที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมัน โดมและสถาปัตยกรรมภายในของตึกไรช์สตากถูกทำลายในการวางเพลิงปี 1933 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันไม่จบว่า พรรคนาซีหรือพรรคคอมมิวนิสต์กันแน่ที่อยู่เบื้องหลัง
(คนที่วางเพลิงถูกจับและประหารชีวิต ยืนกรานจวบจนลมหายใจสุดท้ายว่าทำคนเดียว วางเพลิงเพราะต้องการประท้วงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของชนชั้นกรรมกรในสมัยนั้น)
หลังจากที่นักวางเพลิงเผาตึกนี้จนภายในวอดวายทั้งหลัง และหลังจากที่ตึกถูกเผาซ้ำและรุกรานโดยกองทัพโซเวียต ผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีความพยายามที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ ปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมภายในให้ทันสมัยระหว่างปี 1966-1972
แต่บูรณะเพียงใดก็ไม่สามารถใช้ไรช์สตากเป็นอาคารรัฐสภาได้ เพราะเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก (สถาปนาปี 1949) ตอนนั้นยังอยู่ที่กรุงบอนน์ ไม่ใช่เบอร์ลิน
หลังจากปี 1990 เมื่อเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้ง ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่เบอร์ลิน คนเยอรมันก็ถกเถียงกันยกใหญ่ว่าควรใช้ตึกไรช์สตากเป็นรัฐสภาดีหรือไม่ หลายคนไม่อยากให้ใช้ตึกเดียวกันกับที่ระบอบเผด็จการของฮิตเลอร์ใช้ เพราะรู้สึกว่ามันมีมลทินที่ลบไม่ออก หรือรู้สึกสะเทือนใจเกินไป แต่ในที่สุด คนเยอรมันก็ก้าวข้ามเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์ขนาดยักษ์มาได้
ข้างในที่ประชุมสภาดูสวยงามแบบสมัยใหม่ ผนังเหนือที่นั่งประธานสภาติดรูปปั้นนกอินทรีสีเทาขนาดยักษ์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ (แต่ดูไม่ดุเท่ากับพญาอินทรีของอเมริกา) ประชาชนจะเข้าไปนั่งดู ส.ส. ทำงานจากอัฒจรรย์ที่ยื่นออกมาเป็นชั้นลอยเหนือที่นั่งของ ส.ส. วันไหนเมื่อไหร่ก็ได้ที่มีประชุมสภา แต่ไกด์บอกว่าปกติไม่ค่อยมีใครสนใจอยากมานั่งดูเท่าไร ดูอยู่ที่บ้านสบายกว่า เพราะรัฐสภานี้มีสถานีทีวีและเว็บไซต์ถ่ายทอดสดของตัวเอง
ไกด์เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า สภาอังกฤษก็มีหน้าตาคล้ายกัน แต่ต้องติดตั้งกระจกใสกั้นกลางระหว่างผู้ชมกับ ส.ส. เพราะบ่อยครั้งเกิดกรณีการปาไข่เน่า มะเขือเทศ ฯลฯ จากประชาชนที่ไม่พอใจผู้แทน แต่เยอรมนีไม่ต้องทำอย่างนั้นเพราะ “คนเยอรมันมีวินัยสูงมาก” (พูดด้วยน้ำเสียงกระหยิ่ม)
การทำงานของสภาเยอรมันมีประเด็นน่าสนใจมากมาย เป็นต้นว่า ส.ส. เยอรมันยังใช้วิธีโหวตแบบโบราณ คือยกมือ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (กดปุ่มตรงเก้าอี้)
เหตุผลเป็นเรื่องของความโปร่งใสต่อสาธารณะ – ถ้า ส.ส. กดปุ่มตรงเก้าอี้ ประชาชนก็จะไม่รู้เลยว่าใครโหวต “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” อีกทั้งยังไม่ชัวร์ว่าคอมพิวเตอร์จะไม่คำนวณพลาด หรือถูกใครเข้ามาแฮ็ก
(กรณีปัญหาการนับโหวตของรัฐฟลอริดาในอเมริกา ส่งผลให้ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างฉิวเฉียดด้วยผลการตัดสินของศาลฎีกา พลพรรคเดโมแครตเก็บเอามาเหน็บแนมจนถึงทุกวันนี้ว่า บุชชนะเลือกตั้งด้วยเก้าคะแนนเสียง (ตุลาการศาลสูงเก้าคน) เป็นกรณีตัวอย่างคลาสสิกของเรื่องนี้ทีเดียว)
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เราเสมอไป บางเรื่องการใช้วิธีแบบ “บ้านๆ” กลับได้ผลดีกว่า หรือมีความเสี่ยงน้อยกว่า
โดมไรช์สตากเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่า เยอรมนีในศตวรรษที่ 21 ได้ยกแอกทางประวัติศาสตร์อันหนักอึ้งออกไปแล้ว ด้วยการเผชิญหน้าและยอมรับกับความจริงจากอดีตทุกเหลี่ยมมุม
อีกทั้งยังประกาศก้องว่า ประชาชนย่อมอยู่ “เหนือ” รัฐ ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่
รัฐต่างหากที่ต้องอยู่ “ใต้” ประชาชน
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.architecture.com/Explore/Buildings/Reichstag.aspx
.....