ผู้ว่าธปท. ห่วงโควิดระลอก 3 ทุบเศรษฐกิจ-แรงงานรายได้วูบ “หนี้ครัวเรือน”กระฉูด
19 เมษายน 2564
ประชาชาติธุรกิจ
ผู้ว่าการแบงก์ชาติชำแหละปัญหาเศรษฐกิจไทย อาการหนักกว่าเพื่อนบ้าน-ฟื้นตัวช้า ระบาดระลอก 3 เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไม่สิ้นสุด-ฟื้นตัวสะดุด ประเมินสถานการณ์พร้อมออกมาตรการดูแลภาคธุรกิจ-ครัวเรือนเพิ่มเติม พร้อมเดินเครื่องชุดมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้” ต้น พ.ค.นี้ ห่วงปัญหา “หนี้ครัวเรือน” พุ่งสูงจนแฮงโอเวอร์ เพราะประชาชนไม่มีรายได้ เร่งหามาตรการดูแล เหตุโครงสร้างแรงงานไทย “ผิดเพี้ยน” 50% ไม่มีรายได้ประจำ ชี้ประเทศไทยต้องหา “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ตัวใหม่ หลังเครื่องยนต์ท่องเที่ยวดับ
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เป็นเหมือนฝันร้ายที่เข้ามาซ้ำเติมบาดแผลของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบหนักอยู่แล้ว ให้ฟื้นตัวช้าลงไปอีก เดิมที่ประเทศไทยวางแผนเปิดประเทศในไตรมาส 4/2564 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตได้ 3% แต่การระบาดระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยที่ ธปท.มองว่าฟื้นตัวช้า ไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว ทรุดหนักอีกครั้ง
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชำแหละปมความเสี่ยง-จุดอ่อนเศรษฐกิจไทย และมาตรการทางการเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคโควิด-19
ชำแหละปมเศรษฐกิจฟื้นช้า
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เข้ามาจากการระบาดระลอกใหม่เรียกว่าเป็นการซ้ำเติมภาพเดิมที่เรามองไว้อยู่แล้วว่า การฟื้นตัววิกฤตครั้งนี้จะใช้เวลา ไม่เร็ว และฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวสูงจึงถูกกระทบหนักกว่าเพื่อนบ้าน
อย่างปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจมาเลเซีย -5% ไทยโดนหนักกว่า -6% ขณะที่มาเลเซียปีนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะ +5% ใกล้เคียงกับก่อนโควิด แต่ไทยปีนี้คาดว่า +3% เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอิงภาคท่องเที่ยวสูง
ขณะที่ภาคส่งออกก็ฟื้นช้ากว่าชาวบ้าน เพราะสินค้าส่งออกของไทยอยู่ในหมวดที่ไม่โตเร็ว แม้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่ใช่สินค้าอินเทรนด์ ขณะที่ประเทศอื่นส่งออกเครื่องมืออุปกรณ์สมาร์ทโฟน แต่ของไทยเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ก็ฟื้นตัว แต่ไม่ได้ฟื้นเร็วแบบคนอื่น 2 ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของการฟื้นตัวต้องใช้เวลาและฟื้นช้ากว่าชาวบ้าน
แรงงานไทย 50% อาชีพอิสระ
ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า นอกจากภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียมกัน ยังมีปัญหาการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในแง่ของแรงงาน เพราะภาคท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 11-12% ของจีดีพี ที่สำคัญคือมีแรงงานในภาคท่องเที่ยวสูงถึง 20% ของการจ้างงาน
“การจ้างงานของไทยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน อาชีพอิสระ หากรวมเกษตรกรรวมเป็น 50% ของแรงงานทั้งหมด ถือว่าสูงมากสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่อหัว 7,000 ดอลลาร์ ที่ปกติสัดส่วนแรงงานที่เป็นลูกจ้างประจำต้องมากกว่านี้
แต่ของไทยค่อนข้างผิดเพี้ยนไป และการระบาดโควิด-19 กระทบอาชีพอิสระ ลูกจ้างรายวัน เพราะทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ ส่วนพนักงานออฟฟิศไม่เดือดร้อน ทำงานที่บ้านได้ เงินเดือนก็ยังเหมือนเดิม ขณะที่แรงงานในภาคท่องเที่ยว ภาคบริการที่เป็นอาชีพอิสระกระทบหนัก จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่เห็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน”
Wave3 ทุบจีพีดี-ฟื้นตัวไม่สมูท
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ 1.การระบาดเวฟ 3 หรือเวฟ 4 ที่จะมาอีกเมื่อไหร่ไม่รู้ และ 2.ทริกเกอร์สำคัญที่ประเทศไทยรอคอย คือ การท่องเที่ยว เพราะตัวเลขประมาณการจีพีดีโต 3% ก็อยู่บนสมมติฐานนักท่องเที่ยวจะกลับมาในไตรมาส 4 ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งเยอะกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ก็น้อยเมื่อเทียบกับอดีต ถ้าตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่ได้ ตัวเลขเศรษฐกิจโต 3% ก็ไม่มีทางได้
รวมถึงเศรษฐกิจในปี 2565 ก็มีความเสี่ยงสูง จากที่มีการปรับคาดการณ์จีดีพีอยู่ที่ 4.7% ภายใต้สมมติฐานที่นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 20 ล้านคน ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก
“ถ้ายังเกิดโควิด-19 ระลอก 3 หรือระลอก 4 ในไทย และการท่องเที่ยวต้องขึ้นกับต่างประเทศว่าจะยอมให้ประชาชนของเขามาหรือเปล่า และนักท่องเที่ยวจะกล้ามาหรือเปล่า จึงมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวไม่สมูท และสะดุดเป็นระยะ ๆ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ วัคซีนจะเอาอยู่หรือไม่ ทำให้เศรษฐกิจยังมีโอกาสสะดุด เรื่องวัคซีนและโรคเป็นองค์ประกอบของความเสี่ยง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่า
“สิ่งที่ไม่ควรคิดคือวัคซีนมาแล้ว ฉีดไปถึงระดับหนึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) แล้วทุกอย่างจะโอเค เพราะไม่ง่ายที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงยังมีปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ และยังมีคำถามว่าวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน ยังไม่มีคำตอบ แต่อย่างน้อย 8 เดือน หมายความว่ากว่าจะไล่ฉีดคนครบทั้งประเทศ ก็ต้องเริ่มวนฉีดอีกรอบ และมีความเป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี”
กังวล Over Hang หนี้ครัวเรือน
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงระยะยาวต่อเศรษฐกิจที่ ธปท.เป็นห่วง คือ over hang/hang over จากหนี้ครัวเรือนและหนี้ต่าง ๆ โดยเฉพาะหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี สิ่งที่ ธปท.พยายามทำคือลดภาระของลูกหนี้ จากเดิมมองว่าสถานการณ์จะสั้นจึงเน้นยืดหนี้ ลดค่างวดแต่หนี้ไม่ได้หายไปไหน
ธปท.จึงอยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้จริง ๆ มีการลดมูลหนี้ (hair cut) แต่ก็ต้องขึ้นกับเจ้าหนี้มองยังไง สุดท้ายยอมรับว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีคงต้องเพิ่มขึ้น จาก ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 89.3% (14 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ประชาชนมีรายได้ลดลง ก็ยิ่งทำให้ความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง ธปท.ก็กำลังดูว่าถ้าสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ ยืดหนี้แล้วจะทำอย่างไร ก็มีหลายอย่างที่กำลังดูอยู่
“ปัญหาของลูกหนี้รายย่อยเป็นปัญหาด้านรายได้ รายย่อยไม่ได้ต้องการสินเชื่อใหม่ แต่ต้องการรายได้ แต่ถ้าเพิ่มรายได้ไม่ได้ ก็ต้องลดหนี้ การลดภาระ การปรับโครงสร้างหนี้ต่าง ๆ ให้เหมาะสม ดังนั้น รายย่อยโจทย์จะแตกต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง”
แก้โจทย์สภาพคล่องเอสเอ็มอี
ผู้ว่าการแบงก์ชาติอธิบายว่า มาตรการในฝั่งนโยบายการเงินจะต้องเมกชัวร์ว่า สภาพตลาดเงินจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป จึงทำให้ policy rate ลดลงมาที่ 0.50% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งในส่วนของสภาพคล่องโดยรวมเพียงพอ แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายสภาพคล่องไม่ได้ไปอยู่ในจุดที่มีความต้องการ
ดังนั้น จึงต้องทำมาตรการเฉพาะเจาะจง ไม่เหวี่ยงแห จึงเป็นที่มา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อฟื้นฟู เพราะกลุ่มที่ไม่มีสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก และเหตุผลเพราะว่าความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk)
มาตรการรอบใหม่จึงต้องแก้ด้วยการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ 40% ของพอร์ตรวมแต่ละแบงก์ โดยที่จะทำให้ภาระการคลังทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท
ปล่อยกู้ “สินเชื่อฟื้นฟู” ต้น พ.ค.
ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ชุดมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ (asset warehousing) คาดว่าจะเริ่มนำมาปฏิบัติได้ต้นเดือน พ.ค.นี้ (พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 เมษายน 2564) ซึ่ง ธปท.จะต้องมีการออกประกาศหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่าง ๆ ออกมาเพิ่มเติม
ทั้ง 2 มาตรการเป็นการปิดแกปสำคัญคือ “สินเชื่อใหม่” สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะหากดูระบบสินเชื่อจะพบว่าสินเชื่อรายย่อยยังขยายตัว 3-4% ทั้งที่หนี้ครัวเรือนสูงขนาดนี้ และสินเชื่อรายใหญ่ก็โตกว่า 10% มีแต่สินเชื่อเอสเอ็มอีที่ติดลบทำให้สินเชื่อฟื้นฟูมาช่วยปิดแกปตรงนี้
ขณะนี้ ธปท.ทำงานร่วมกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และสมาคมธนาคารไทย ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กระทรวงการคลัง ดูเรื่องระบบโอเปอเรชั่น ที่ฝั่งธนาคารต้องมีการออก product program มารองรับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า เรื่องการปล่อยสินเชื่อไม่ได้มองว่า สินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้าน จะทะลักออกมาในเวลาสั้น ๆ เพราะมองว่าวิกฤตรอบนี้ยืดเยื้อ จึงออกแบบมาตรการแบบเน้นระยะยาว เพราะไม่รู้ว่าการระบาดจะมีมากี่ระลอก โดยมองไว้ 3 เฟส
คือ เฟสแรกเป็นการปล่อยกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน จ่ายเงินเดือนพนักงาน เฟสสอง กู้เพื่อซ่อมแซมปรับปรุงเตรียมเปิดบริการ และจากนั้นกู้เพื่อขยายกิจการเมื่อธุรกิจกลับมาเต็มที่ เพราะแต่ละคนสปีดการฟื้นไม่เหมือนกัน
เขียนสัญญามาตรฐานพักทรัพย์
ผู้ว่าการ ธปท.อธิบายว่า สำหรับมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เนื่องจากเป็นของใหม่จึงต้องการทำเป็นสัญญามาตรฐาน เพื่อให้ลูกหนี้สบายใจว่าการเขียนสัญญาจะไม่ถูกเอาเปรียบ โดยทีมกำลังคุยเน้นจัดการแนวทางปฏิบัติให้สมูทและ effective ที่สุดเท่าที่จะทำได้
“พักทรัพย์ พักหนี้ เรียกว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบเข้มข้นก็ได้ คือเป็นกรณีลูกหนี้ไม่มีรายได้เข้ามา เพราะธุรกิจอยู่ในภาคท่องเที่ยว ดังนั้น ทางที่ดีคือแช่แข็งหนี้ไว้ โดยการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ ที่ลูกหนี้มีสิทธิจะซื้อคืน ซึ่งเหมาะกับกลุ่มที่มองว่าธุรกิจระยะยาวยังมีศักยภาพ จึงให้โอกาสกลับมาซื้อคืนได้ โดยปรับให้สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ฟิตกับบริบทความเสี่ยงที่ยังมีอยู่เยอะ คือให้ยืดหยุ่นและเน้นยาว”
ธปท.พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า นอกจากชุดมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์ พักหนี้ ที่เป็นการปิดแกปเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมองไปข้างหน้าเผื่อไว้ แต่ขณะเดียวกัน ธปท.ก็พร้อมออกมาตรการทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม หากมีความจำเป็น ธปท.ไม่ได้ปิดกั้น
แต่จากที่มีคนบอกว่า ทำไมไม่ทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) เหมือนต่างประเทศ ซึ่งมองว่าตอนนี้ไม่มีความจำเป็นและเหตุผลที่ต้องทำ เพราะสภาพคล่องโดยรวมยังมีอยู่ และการทำ QE ในไทย ผลที่ได้รับจะไม่เหมือนต่างประเทศ บริบทแตกต่างกันเยอะ
เพราะต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลาดการเงินพึ่งพาตลาดพันธบัตร (บอนด์) เป็นสำคัญ แต่เมืองไทยตลาดเงินยังผ่านแบงก์เป็นหลัก และคนที่จะได้ประโยชน์ คือ รายใหญ่ที่ออกบอนด์ แต่เอสเอ็มอีไทยซึ่งเป็นกลุ่มที่ ธปท.ห่วงสุดไม่ได้ออกบอนด์ อานิสงส์เรื่องนี้เลยไม่มาก
ส่วนมาตรการอื่น เช่น การตั้ง National AMC เราเคยศึกษา แต่ ณ จุดนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะระบบธนาคารยังทำงานอยู่ และสถานะธนาคารรอบนี้ต่างกับปี’40 และแม้ว่าทิศทางหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่พุ่งแบบยุคนั้นที่ขึ้นไปเกือบ 50% ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของแบงก์ยังเข้มแข็ง จึงควรให้กลไกธนาคารทำงานเหมาะสมกว่า และเราต้องนึกถึงภาระทางการคลังด้วย จึงมองว่าตอนนี้ยังไม่จำเป็น แต่หากหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงก็พร้อมที่จะดูเพิ่มเติม
โควิดทุบกล่องดวงใจ ศก.ไทย
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า มาตรการที่สำคัญที่สุดและของจริงของวิกฤตครั้งนี้ คือ “ฉีดวัคซีน” มาตรการอย่างอื่นคือ “ซื้อเวลา” ต้องบอกว่าวัคซีนคือพระเอก ตัวอื่นเป็นตัวรองหมด รวมถึงนโยบายการเงิน การคลัง เพราะถ้ายังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ทุกอย่างก็จะวนลูปอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” กับการระบาดอีกรอบ เยียวยาอีกรอบ ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นหัวใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยการฉีดวัคซีนยังช้า และโอกาสการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่ได้
ต่อคำถามว่า เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า วิกฤตรอบนี้โดนจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาท่องเที่ยวสูง และเมื่อโดนโควิด-19 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการเติบโตก็ดับ
ถามว่าหลังจากนี้จะมีเครื่องยนต์อะไร ยังเห็นไม่ชัด เรามี Thailand 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมใหม่ แต่ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ตัวเลข
จีดีพี และที่ ธปท.ห่วงที่สุดคือ “รายได้ประชาชนและการจ้างงาน”
“ปัญหาคือประชาชนรายได้ไม่พอ นักศึกษาจบใหม่จะให้ทำอะไร จากการจ้างงานในระยะข้างหน้าจะมาจากตรงไหน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่คืออะไร ยังไม่มีคำตอบชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องมีแผนว่า เศรษฐกิจข้างหน้าที่ไม่ต้องพึ่งภาคท่องเที่ยวมากเหมือนเดิมหน้าตาควรจะเป็นยังไง และหากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กลับมา 40 ล้านคน แล้ว capacity โรงแรม ที่พัก ธุรกิจบริการต่าง ๆ ที่เหลืออยู่จะทำอย่างไร นี่คือโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด ขณะที่ในส่วนของ ธปท.ก็ทำได้แค่นโยบายการเงิน ออกมาตรการให้สินเชื่อยาว และมีช่องทางฟื้นตัวได้ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ