วันพฤหัสบดี, เมษายน 01, 2564

บันทึกเยี่ยมรุ้ง ปนัสยา: เหตุที่ใช้ทัณฑ์ทรมานตนเอง ในการทดลองความจริง



บันทึกเยี่ยมรุ้ง ปนัสยา: เหตุที่ใช้ทัณฑ์ทรมานตนเอง ในการทดลองความจริง

โดย admin010
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
30/03/2564

แม้การไปเยี่ยมลูกความจะเป็นเรื่องปกติของอาชีพทนายความ แต่การพูดถึงความไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรมมันก็ยากเย็นทุกครั้ง วันนี้เรามาเยี่ยม “รุ้ง” ปนัสยา โดยเริ่มถามถึงจากแผนการอดอาหารวันแรกของเธอ รุ้งบอกว่าวันนี้เธอดื่มนมในช่วงเช้าแล้ว และจะทานข้าวในช่วงกลางวัน จะค่อยๆ ลดจากสองมื้อ เป็นมื้อเดียวก่อน

ผู้หญิงวัย 22 ปี ที่หวังดีกับประเทศ แต่เป็นภัยความมั่นคงในสายตารัฐ

เราเล่าให้รุ้งฟังถึงข่าวลือ เรื่องที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพูดคุยกันว่ามีคำสั่งจากบุคคลภายนอกไม่ให้แกนนำม็อบประกันตัว รุ้งพรั่งพรูออกมาโดยเราไม่ต้องยิงคำถามอีก

“ถ้ามีข่าวแบบนี้ยิ่งอยากตรวจสอบศาล ศาลต้องเป็นอิสระสิ คุณต้องทำตามหลักการ ถ้าอย่างนั้นศาลเป็นคนมีเส้นสายก็ได้สิ ไม่ต้องเรียนคณะนิติศาสตร์ก็ได้ เราต้องการขอให้มีการตรวจสอบ เพราะนี่คือกระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นจริง ก็แปลว่าไม่ยุติธรรม แปลว่าบุคคลภายนอกสั่งได้ใช่หรือไม่ คนนอกคือใครเราต้องการรู้ และเหตุผลคืออะไร

“หนูเป็นนักศึกษาปีสาม อายุ 22 ปี คุณกลัวอะไร วันนี้เป็นวันที่ 23 ที่หนูอยู่ในนี้ ในทุกๆ วันที่อยู่ในนี้ คือการที่คุณตอกย้ำว่าตัวคุณเองกลัวผู้หญิงอายุ 22 ปี หนูเป็นภัยความมั่นคงของชาติ

“ยิ่งคุณขังเราไว้นานเท่าไหร่ มันยิ่งย้ำชัดเจนขึ้นไปอีกว่ารัฐไทย ประเทศไทยไม่ได้มีความมั่นคงแต่แรกอยู่แล้ว ผู้หญิงวัย 22 ปี คนนี้ จะไปทำอะไรคุณได้ จะไปพูดอะไรได้ ถ้าพวกคุณไม่สร้างปัญหาขึ้นมาเองตั้งแต่แรก พวกเราไม่เคยหนีและไม่เคยคิดหนี สิ่งที่เราทำ เราพูดทุกคำ ก็มาจากความหวังดีอยากให้ประเทศพัฒนาในทางที่ดีเท่านั้นเอง

“ผู้หญิง 22 ปี คนนี้ไม่ต้องการอะไรมากกว่าการจะทำให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เราเลือกเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะเราอยากเข้าใจมนุษย์ เพราะเราเชื่อว่าการจะแก้ไขปัญหาสังคมได้ ต้องมาจากความเข้าใจมนุษย์ก่อน มีความรัก และความหวังดีให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผู้หญิงคนนี้มีเป้าหมายว่าถ้าเรียนจบปริญญาตรีไปแล้ว ก็อยากเรียนต่อปริญญาโทด้านอาชญาวิทยา และเมื่อจบแล้วก็อยากทำงานเพื่อนำความรู้มาพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น

“ทุกๆ อย่างที่หนูเคยทำและทำอยู่ ทุกสิ่งมาจากความรักที่หนูมีให้เพื่อนมนุษย์ เราผิดใช่ไหม ที่เรามีความหวังดีให้กับทุกคน เราผิดมากใช่ไหมที่อยากให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดี คำตอบมันคือผิดใช่ไหม คุณถึงยังขังเราไว้แบบนี้ เราเสียใจที่สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่ได้ยุติธรรมกับเราเลย เราเสียใจจริงๆ”

ความหวังที่จะได้ประกัน

เราถามถึงสาเหตุที่รุ้งจะเริ่มอดอาหารหลังวันที่ 29 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้หวังว่าจะได้ประกันหรือเปล่า

“ก่อนหน้านี้เรามีความหวังว่าวันที่ 29 มีนาคม 2564 จะได้ออกจากเรือนจำ เพราะเรายื่นประกันหลายหนแล้ว เราคิดว่าเหตุผลที่เราให้เรื่องการเรียนการสอบ เขาจะเห็นความสำคัญให้โอกาสเราเรียน เพราะช่วงสอบกลางภาคผ่านมาสักพักแล้ว

“ที่จริงต้องสอบกลางภาควันที่ 14 ถึง 16 มีนาคม ที่ผ่านมา เราเลยหวังว่าจะได้ไปตามเรียนตามสอบ เพราะตอนอยู่ในเรือนจำปีที่แล้วก็อยู่ในช่วงสอบ ทำให้เราไม่ได้สอบ เราจึงออกไปตามสอบ แต่พอเป็นการสอบคะแนนที่ได้หลังคนอื่นคะแนนก็จะดร็อป ถ้าสอบพร้อมคนอื่น ก็อาจจะได้คะแนนแบบที่หวังก็ได้ แต่พอต้องมาสอบตามหลังคะแนนที่ได้ก็ลดลง เพราะเวลาเราลงทะเบียนเรียน เราตั้งใจเรียน อยากรู้เพื่อต่อยอดสิ่งที่อยากทำในอนาคต ที่อยากให้อนาคตดีขึ้นเลยหวังว่าวันที่ 29 มีนาคม จะได้ประกัน”

กลัวคนหายไปเพราะประเทศนี้ไม่ให้เสรีภาพ

“มันเหนื่อย หนูอยากเป็นความหวังเป็นกำลังใจให้ทุกคน อยากยิ้มทุกวัน แต่หนูไม่รู้ว่าผิดอะไรนักหนา หนูอยากให้สังคมดีขึ้น ทุกคนจะได้ไม่ต้องทรมาน หนูผิดอะไร ถ้าความยุติธรรมไม่มี ก็เป็น Anarchy ใช่ไหม ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้ใช่ไหม ถ้าสังคมไม่มีความยุติธรรม

“เมื่อวาน (วันนัดตรวจพยานหลักฐาน) เป็นวันแรกที่เห็นไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ร้องไห้ หนูถามว่าไมค์ร้องไห้ทำไม ไมค์ตอบว่าเขาไม่ได้ร้องไห้เพราะอ่อนแอ แต่ไมค์รู้สึกว่าเราเหมือนขอทานที่ต้องไปนั่งร้องขอความยุติธรรม ทั้งที่มันเป็นสิทธิที่เราควรได้ เขาเกลียดอะไรเรานักหนา

“วันนัดก่อนหน้าวานนี้ มีผู้พิพากษามาตวาดเรา หนูไม่เคยด่าเขา หนูไม่เคยด่าใคร ทำไมต้องทำกับหนูแบบนี้ หนูอยากเป็นคนดีให้กับทุกคน ไหนผู้ใหญ่บอกให้เป็นเด็กดี เป็นบุคลากรที่ดีของประเทศ หนูกำลังทำอยู่ แต่ทำไมต้องทำร้ายหนู

“หนูกำลังคิดว่าถ้าออกไป ก็คงกังวลว่าจะต้องกลับมาอีก หรือกังวลว่ามีคนจะทำร้าย นี่คิดถึงขั้นว่าอยากแต่งงาน ในวันที่ทุกคนยังอยู่ กลัวคนในชีวิตหายไป เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับเรา กลัวมีคนหายไปเพราะประเทศนี้ไม่ให้สิทธิเสรีภาพกับเรา”

ขอใช้ร่างกายเป็นประกันว่าความยุติธรรมต้องเกิดขึ้น

“สิ่งที่หนูทำแค่ความหวังดีกับประเทศ แต่ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมเหมือนกำลังฆ่าเรา หนูพยายามทุกทางเพื่อให้เขาเห็นว่าสิ่งที่หนูทำมีแต่ความดีและความรัก แต่เมื่อศาลไม่เห็นค่าความดีของหนู หนูเลยต้องทำให้เขาเห็นว่าหนูพยายามแค่ไหน ในการต่อสู้ครั้งนี้ อยู่ในนี้ทำอะไรไม่ได้ อยู่ในนี้แสดงออกอะไรไม่ได้ นอกจากการอดข้าว อยู่ในนี้พูดไปใครก็ไม่ได้ยิน แสดงสัญลักษณ์อะไรก็ไม่เห็น แต่ถ้าหนูอดข้าวอย่างน้อยเวลาออกไปศาล คนก็จะเห็นร่างกายหนู หนูอยากใช้ร่างกายตัวเองเป็นประกันว่าความยุติธรรมต้องเกิดขึ้น ชีวิตทุกชีวิตมีค่า

“เมื่อวานคุยกับเพนกวิน หนูร้องไห้ กวิ้นถามว่า ‘ลูกเอ๋ยใครทำอะไรหนู’ หนูบอกว่ากลัวมันตาย มันบอกว่าถ้าจะตายก็ให้ตายไป หนูเลยนึกถึงคำพูดตัวเองที่พูดกับคนอื่นมาตลอดว่า ‘เราสู้เพื่ออยู่ ไม่ใช่เพื่อตาย’ หนูไม่เคยอยากเสียใครไปหรือเสียตัวเองไป แต่จากบทสนทนาเมื่อวาน มันทำให้เราคิดว่า ถ้ามันต้องมีคนตายก็ขอให้การตายนั้น เป็นการตายที่มีค่ามีความหมายที่จะทำบางสิ่งบางอย่างหรือนำแสงสว่างมาสู่สังคม หนูเลยจะอดข้าวประท้วงไปกับเพื่อนของหนูเพราะถ้าเขาไม่ยอมปล่อยเรา ไปจนเราต้องตายในนี้ แปลว่าประเทศนี้หมดสิ้นแล้ว ซึ่งความยุติธรรมและอย่าหวังอะไรกับกระบวนการยุติธรรม

“ตอนแรกหนูก็ไม่อยากอดข้าว แต่พอเห็นภาพเมื่อวาน (เพนกวินนั่งรถเข็นและให้น้ำเกลือ) ก็ไม่อยากให้เพนกวินโดดเดี่ยว หนูจะเลยจะอดข้าวเป็นเพื่อนเพนกวินด้วย”

การอดอาหารในฐานะหนทางแห่งสันติวิธี

เราถามว่าถ้าใช้มุมมองแบบสังคมวิทยาจะมองเรื่องการอดอาหารอย่างไร

“เราไม่รู้ว่าจะมองอย่างไร แต่การอดข้าวคือการทำอะไรที่ต่างจาก Norm เป็นความแตกแยก เป็นการต่อต้าน เพื่อส่งสาสน์ เพื่อส่งเสียง เป็นการประท้วง เพราะเราต้องการให้คนสนใจรับรู้ว่าเราอยากพูดอะไร ทำอะไร เป็นหนึ่งในสันติวิธีที่เราพยายามผลักดันมาตลอด เพื่อให้ขบวนการประชาธิปไตยเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี เพราะสันติวิธีคือทางออก”

ความหวังของการอดอาหาร

เราถามถึงแผนการอดข้าวที่กำลังเริ่มต้น รุ้งบอกว่าจะทานมื้อเดียวในช่วงสามวันแรกก่อน แต่พอถามว่าทำไมถึงเป็นสามวัน รุ้งก็ตอบว่าไม่แน่ใจเหมือนกัน “อยู่ในนี้ก็หาข้อมูลไม่ได้ ว่าควรเริ่มอย่างไร”

รุ้งเล่าว่าปกติแม่จะซื้อข้าวฝากเข้าไป “ในเรือนจำข้าวจะแข็ง กับข้าวคุณภาพไม่ดี แทบไม่มีเนื้อสัตว์เลย” ถึงจะอยู่ในเรือนจำและเริ่มการอดอาหาร รุ้งก็ยังบอกทุกคนว่าไม่ต้องห่วง

“เราอยู่ได้ไม่ต้องห่วงเพราะช่วงแรกที่เราเข้าเรือนจำมา เราไม่ค่อยได้กิน ก็พออยู่ได้ ไม่ต้องห่วงว่าเราจะเป็นอะไรถ้าถึงขีดจำกัด เราจะบอกทุกคน เราหวังว่าการอดข้าวนั้นจะสำเร็จ เราหวังจริงๆ อยากให้ข้างนอกส่งเสียงและช่วยกันเรื่องนี้”

ถ้อยคำหลังกรงขังจบลงตรงนี้ เราได้แค่ยิ้มส่งกำลังใจ ชูสามนิ้วให้กัน เราเดินจากมาพร้อมความรู้สึกว่าบทสนทนาไม่กี่หน้ากระดาษที่เพิ่มมา กลับหนักอึ้งเกินกว่าน้ำหนักของแผ่นกระดาษนั้นหลายล้านเท่า

30 มีนาคม 2564

ทัณฑสถานหญิงกลาง