วันศุกร์, มีนาคม 05, 2564

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข: การต่อสู้ของพ่อ เรื่องเล่าของครอบครัว ในวันที่ต้องสูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง



ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข: การต่อสู้ของพ่อ เรื่องเล่าของครอบครัว ในวันที่ต้องสูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง

02/03/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ระยะเวลา 7 ปี อาจเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน หรืออาจจะเป็นเพียงแค่ชั่วพริบตา ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้คน แต่สำหรับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมืองที่โชคชะตาพัดพาให้เขาต้องกลายมาเป็นนักโทษคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ระยะเวลาดังกล่าวนานพอที่จะทำให้รู้สึกกลายเป็นคนแปลกหน้า ในวันที่ต้องออกมาเผชิญโลกอีกครั้ง

สำหรับครอบครัวพฤกษาเกษมสุขที่คอยเคียงข้างตลอดระยะเวลา 7 ปี พวกเขาเติบโต เปลี่ยนผ่าน ขยับขยายชีวิต แม้จะเต็มไปด้วยบาดแผล แต่ที่ยังคงแน่วแน่ตลอดมาคือการเลือกยืนเคียงข้างหัวหน้าครอบครัว แม้ในยามวิกฤตที่สุด กระทั่งเมื่อสมยศตระหนักว่า ไม่สามารถปล่อยผ่านให้คนรุ่นใหม่ออกเผชิญกับมวลพายุของยุคสมัยอย่างโดดเดี่ยว เขาจึงได้เข้าร่วมด้วยในฐานะแนวปะทะทางความคิด กลายเป็นชนวนพาไปสู่คดีมาตรา 112 คดีที่ 2 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563

และนับจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เป็นเวลาถึง 22 วันแล้วที่สมยศต้องสูญเสียอิสรภาพซ้ำอีกครั้ง เช่นเดียวกับเพื่อนนักกิจกรรมอีก 3 ราย

การต่อสู้ของสมยศในโลกภายนอกได้วิ่งมาบรรจบที่สุดทาง ขณะที่การต่อสู้ของทั้งครอบครัวหวนคืนสู่จุดเริ่มต้น ในความรู้สึกของ “เทียน” ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ลูกสาวคนเล็กของครอบครัว แม้จะรู้ว่าหนทางข้างหน้าจะมีเรื่องหนักหนารออยู่ แต่ในยามนี้ ครอบครัวก็พร้อมจะร่วมต่อสู้ไปด้วย เคียงข้างไปกับมวลชน เพราะพวกเขาเองก็เชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องเปลี่ยน

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดกิจกรรม “ครบ 1 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” หน้าทำเนียบรัฐบาล / สื่อประชาชน

พ่อผู้อุทิศตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลง

“เราไม่ได้สนิทกับพ่อขนาดนั้น อาจจะถึงขั้นห่างเหิน ครอบครัวเราอาจจะคล้ายครอบครัวญี่ปุ่น แม่เองก็เป็นคนที่ทำงานหนัก ด้วยความที่เราก็เป็นนักเรียน ตารางชีวิตคือตื่นนอนไปเรียน กลับมาเข้านอนราว 3 – 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อกลับบ้าน

“ด้วยตารางเวลาแบบนี้มันก็แทบทำให้เราไม่ค่อยได้เจอกันเลย ไม่มีเวลากินข้าวเย็นด้วยกัน ต้องเป็นช่วงปิดเทอมที่พอจะหาเวลาไปกินอะไรกันทั้งครอบครัว เพราะมีเวลาว่างตอนกลางวัน อาจจะมีการไปเที่ยวเป็นทริปครอบครัวบ้าง แต่ก็มีแค่แม่ เรา แล้วก็พี่ไท (ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข – ลูกชายคนโตของสมยศ) ที่ไป”

ถ้อยคำดังกล่าวคือเรื่องราวของครอบครัวและชีวิตในหนหลังของ “เทียน” ลูกสาวคนเล็กของตระกูลพฤกษาเกษมสุข ในโมงยามก่อนที่หัวหน้าของครอบครัวจะถูกตัดสินจำคุกและถูกพรากอิสรภาพเป็นเวลาถึง 7 ปี ในคดีมาตรา 112 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นที่มีลักษณะหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยที่ตัวสมยศไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวเอง

“(ก่อนที่จะมีคำพิพากษาจำคุก) ตอนประมาณ 16 – 17 เราไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ 1 ปี ไม่ได้คุยกับพ่อเลยตลอดปีนั้น คุยแต่กับแม่กับพี่ไท พอกลับมาก็ยังไม่ได้พูดคุยอะไรกันมาก อาจจะเรียกว่าไม่ได้ใส่ใจ เพราะปกติไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่อยู่แล้ว จนพอศาลมีคำพิพากษาจำคุกก็เลยเริ่มคุยกันครั้งแรก ตอนที่เขาเข้าไปข้างในแล้วเราเข้าไปเยี่ยม”

ตลอดชีวิตการต่อสู้ของสมยศ เขาได้เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันสิทธิของแรงงาน เริ่มต้นจากการเข้าไปเป็นแรงงานในโรงงานตั้งแต่สมัยเรียน สัมผัสภาพชีวิตและประสบการณ์ตรงของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน หลังจากที่เรียนจบ สมยศที่ยังหนุ่มในเวลานั้นเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิกรรมกรของสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) และเป็นประธานพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย (พสป.) ในเวลาต่อมา

อาจจะมีแค่คนที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้นถึงจะรู้ว่าสมยศเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายสำคัญหลายร่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันสังคม สิทธิลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร หรือแม้แต่การประกันการว่างงาน แต่นั่นก็เป็นเพียงอีกใบหน้าหนึ่งของการต่อสู้ จนภายหลังการรัฐประหารปี 2549 สมยศได้จัดตั้งกลุ่ม “24 มิถุนายนประชาธิปไตย” จากนักสู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงาน เขาจึงได้ขยับขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สอดคล้องกับชื่อของกลุ่มที่เอาฤกษ์วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามมาเป็นหมุดหมายในการต่อสู้

บนหนทางการต่อสู้ที่ดูเหมือนไร้สิ้นสุด เวลาทั้งหมดแทบจะเรียกได้ว่าถูกทุ่มเทให้กับการทำงานเพื่อความเปลี่ยนแปลง ทำให้ครอบครัวต้องกลายเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับถัดมา ถึงจะเป็นเช่นนั้น ตัวของเทียนในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวพฤกษาเกษมสุขก็ยังประคองความรู้สึกไปได้ ความสัมพันธ์รูปแบบที่มีระยะห่างชัดเจนไม่ได้ทำร้ายอะไรเธอ จนเมื่อวันที่พ่อต้องเข้าคุกในฐานะนักโทษคดีมาตรา 112

“ส่วนตัวที่บ้านเทียน เขาไม่ได้เลี้ยงเราแบบที่ทำให้รู้สึกว่าขาดความรัก เพราะว่าแต่ละคนอ่านหนังสือกันเยอะ เราก็เลยใช้เวลาว่างของเราด้วยการอ่านหนังสือ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหงา เข้าใจว่าพ่อเขาไปทำงาน แต่ถ้าจะรู้สึกแย่จริงๆ ก็ตอนช่วงที่พ่อต้องติดคุกมากกว่า”



การต่อสู้ยาวนาน 7 ปี และสิ่งที่ครอบครัวต้องแลก ในวันที่อิสรภาพถูกพรากไปจากชีวิต

ราวเที่ยงของวันที่ 30 เมษายน 2554 สมยศถูกควบคุมตัวตามหมายจับที่ถูกออกโดยศาลอาญา ผ่านคำร้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ระหว่างที่กำลังเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากวันนั้น โลกของสมยศก็ถูกตีให้แคบลงภายหลังกำแพงสูงของเรือนจำ และเขาไม่เคยได้รับอิสรภาพอีกเลย จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 รวมเวลา 7 ปีเต็มพอดิบพอดี

ในภาวะวิกฤตช่วงแรกของการคุมขัง ครอบครัวที่เคยอยู่กันอย่างมีระยะห่าง กลับต้องมานั่งจับเข่าคุยถึงทางออก ในวันที่หัวหน้าครอบครัวถูกพรากอิสรภาพจากคดีความมั่นคง สำหรับเทียน นี่คือช่วงเวลาที่เธอได้เติบโตและซึมซับประเด็นเรื่องการเมือง สังคม พร้อมกันนั้นก็ได้ใช้สายตาสำรวจโลกการต่อสู้ของพ่อ

“ด้วยความที่ครอบครัวเราอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน แม่เองก็ทำงานเยอะมาก ส่วนเราเองก็ไปเรียนมัธยมที่นครปฐม พี่ชายก็เข้ามหาลัย พอต้องแยกกันอยู่ ทำให้ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน จนกระทั่งช่วงแรกๆ ที่พ่อติดคุก เหมือนมันทำให้พวกเรากลับมารวมกัน พอดีกับที่เราก็กลับมาอยู่อยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนมหาลัยที่ศิลปากร ก็จะได้เจอกันเวลาไปเยี่ยมพ่อ กินข้าวด้วยกัน

“เราคุยกันเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อพ่อบ้าง ส่วนใหญ่พี่ไทจะคุยกับแม่ ส่วนเราก็อยู่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ แง่หนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้นแปลกๆ แล้วก็ทำให้เราเริ่มสนใจการเมือง พอสนใจการเมืองก็รู้สึกว่าตัวเองได้เข้าใกล้ชีวิตของพ่อมากขึ้น เห็นโลกของเขามากขึ้น ส่วนพี่ชายเราเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ ทำเรื่องการเมืองเยอะอยู่แล้ว เราเองก็ไปร่วมเคลื่อนไหวกับพี่ชายมากขึ้น

“มันคล้ายเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแรงผลักดัน อาจจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ ที่ทำให้เราจากที่เคยเป็นเด็กที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เราหันมาอ่านงานทางสังคม อ่านปรัชญาการเมือง ก็เข้าใจสังคมในภาพใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนใกล้ชิดกันกว่าที่เคย เพราะต้องการทำกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้พ่อ”

ตลอดระยะเวลาการคุมขังที่ยาวนานถึง 7 ปี ทางครอบครัวได้พยายามยื่นประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุดถึง 4,762,000 บาท แต่ศาลกลับปฏิเสธการให้ประกันตัวทุกครั้ง ต่อให้มีพลังใจมากแค่ไหน การต่อสู้โดยที่ความหวังถูกบั่นทอนทุกครั้ง ทั้งจากสังคมที่รุมประณามผู้ต้องหาคดี 112 อีกทั้งการที่ศาลยังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัว ทั้งสองอย่างส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับตัวของสมยศ แต่กับครอบครัวที่อยู่ภายนอก ก็เรียกได้ว่าสร้างบาดแผลทางใจอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน และนั่นยิ่งหนักหนาสำหรับเทียนที่ยังเพิ่งเติบโต และเริ่มสนใจการเมือง

“ทุกคนเองก็มีปัญหาของใครของมัน อย่างตัวเทียนเองก็มีความเครียดฝังลึก เพราะรู้สึกว่าเราทำให้พ่อได้ไม่เท่าแม่กับพี่ไท ด้วยความที่เรายังเด็กด้วย ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการทำกิจกรรม ก็ได้แต่ยืนมองหรือเป็นคนไปเยี่ยมพ่อ ทำให้เรารู้สึกผิดสะสม แล้วก็ตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาทำไมเราไม่สนิทกัน แต่เราไม่เคยโทษเขาเลยนะว่าทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหว ทำไมถึงต้องกลายมาเป็นนักโทษการเมือง เพียงแต่เรารู้สึกผิดว่า เขาทำเพื่อสังคมขนาดนี้ แต่เราไม่เคยช่วยเหลือเขาเลย ก่อนหน้านี้

“นอกจากเรื่องครอบครัว เรื่องพ่อ เราก็ยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรักด้วย ซึ่งเขาก็ทำประเด็นการเมืองเหมือนกัน ในเวลานั้น ความเครียดจากเรื่องพ่อติดคุกมันสะสม บวกกับเรื่องความสัมพันธ์ ช่วงหนึ่งมันก็รู้สึกหนักมาก รู้สึกว่าทำไมชีวิตเราถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมครอบครัวเราไม่อบอุ่นเหมือนคนอื่น เริ่มน้อยใจ พาลไปจนโกรธสังคม ช่วงที่พ่อติดคุก เราเชื่อเต็มที่เลยว่าเขาไม่ควรมาต้องอยู่ตรงจุดนั้น ไม่มีใครควรไปอยู่ตรงนั้นด้วยกฎหมาย 112

“จากจุดนั้น มันลามจนกลายเป็นซึมเศร้า มันเป็นความซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว ผลจากความเครียดทำให้พอเริ่มเข้ามหาลัยก็กลายเป็นคนดื่มเหล้าเยอะ วันหนึ่งทะเลาะกับแฟน ประกอบกับทุกอย่างที่สะสมกันมา ทั้งหมดมันพาเราไปถึงจุดที่เลือกกินยาฆ่าตัวตาย

“ตอนแรก เราคิดว่าเราทุกข์อยู่คนเดียวในบ้าน แต่มารู้ทีหลังว่าจริงๆ ทุกคนก็เครียดเหมือนกัน แม่เองงานประจำของเขาก็หนักอยู่แล้ว เสาร์อาทิตย์ยังต้องลางานมาช่วยทำกิจกรรมให้พ่อ แล้วพอเจอกับเรื่องที่เราเครียดจนเป็นซึมเศร้า แม่ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราแอบเห็นแม่ร้องไห้คนเดียว ทำให้รู้ว่าสำหรับแม่เอง มันก็หนักเหมือนกัน ตลอดชีวิต เราไม่เคยเห็นเขาร้องไห้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก

“ในส่วนของพี่ไท เราคิดว่าเขาจัดการกับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดี เพราะว่าเป็นคนเดียวในบ้านที่ติดตามการเมืองโดยตรง แล้วก็อยู่ธรรมศาสตร์ ซึ่งมันมีคนที่สนใจการเมืองเยอะ ส่วนคนที่ไม่ค่อยได้สัมผัสการเมืองอย่างแม่ อย่างเรา เรารู้สึกว่ามันเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนามากพอสมควร”

สู่อิสรภาพอีกครั้ง

ตลอดระยะเวลาที่ถูกคุมขัง จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัว สมยศยืนกรานอย่างหนักแน่นที่จะต่อสู้คดี แม้จะรู้ว่าหากรับสารภาพแต่แรก คดีความมีโอกาสจะจบเร็วกว่า ช่วงเวลาในการรับโทษจะลดน้อยลง แต่ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าตัวเองเพียงแค่ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออก และไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เขาจึงจะต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา และต้องรับ “โทษ” จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนเมษายน 2561 การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมยาวนานของครอบครัวพฤกษาเกษมสุขจึงเป็นอันจบลง

“วันที่พ่อออกจากคุก ตอนนั้นเราเรียนโทอยู่ที่เขมร ก็บินกลับมา แล้วก็ไปรับแค่นั้น (หัวเราะ) ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่มันก็เป็นความรู้สึกแปลกๆ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่เราได้เจอกันนอกลูกกรง ไม่ได้รู้สึกตื้นตันอะไรขนาดนั้น เพราะรู้ข่าวว่าจะได้ออกเป็นเดือนแล้ว ตอนนั้นพอรู้ว่าพ่อจะได้ออก เราก็ได้แต่ถอนหายใจยาวด้วยความโล่งอก

“มันเป็นความรู้สึกรู้สึกเขินๆ ปนดีใจ ไม่ได้วิ่งเข้าไปกอด ร้องไห้ อะไรอย่างนั้น แค่รู้สึกแบบ จบสักที เส้นทางอันยากลำบากของครอบครัวพฤกษาเกษมสุข (หัวเราะ)”

พายุพัดผ่านในคราแรก และแม้ความรู้สึกจะยังเต็มไปด้วยบาดแผลจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น แต่เมื่อหวนนึกถึงตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้กันมา สิ่งที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวพฤกษาเกษมสุขและคอยหล่อเลี้ยงให้สามารถผ่านคืนวันไปได้นั่นก็คือ ความคิดที่ว่า พวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหว ถือเป็นพลังใจสำคัญที่ทำให้ครอบครัวสามารถฟันฝ่าช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาได้ในที่สุด

“หลังจากที่พ่อออกจากคุก แม่ก็ขอแยกกันอยู่กับพ่อ เราคิดว่าเขาก็คงอยากจะพักตัวเอง เพราะรู้สึกมันไม่ใช่เส้นทางชีวิตของเขาตั้งแต่แรก เขาทำเพราะว่าพวกเราทุกคน

“ในความรู้สึกของครอบครัวเราที่ต่อสู้กันมา พวกเราทำเพราะเราให้ความเคารพกับพ่ออย่างสูงสุดในฐานะนักกิจกรรมทางสังคมคนหนึ่ง เรื่องความเป็นพ่อหรือความเป็นผัวมันอาจจะเป็นเรื่องรอง การคิดแบบนี้มันทำให้เรายังยืนหยัดต่อสู้ให้เขาได้ดีที่สุด เพราะถ้าเรามองแค่ความเป็นพ่ออย่างเดียว มันอาจจะมีเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความน้อยอกน้อยใจ หรืออะไรพวกนี้ ที่มากั้นขวางพวกเรา

“สิ่งที่ทำให้เราต่อสู้ได้อย่างมั่นคงแล้วก็ต่อเนื่อง คือการมองว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวที่จะช่วยผลักดันคนๆ หนึ่ง เราเชื่อว่าเราทำได้ดีที่สุด เพราะว่าเรามีสถานะเป็นครอบครัว สามารถดำเนินการเรื่องยื่นประกัน หรือว่าอะไรอย่างอื่นที่มากกว่าเพื่อนหรือคนรู้จักจะสามารถทำได้ เราก็ต้องใช้สถานะตรงนี้เพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของเขาด้วย”

สิ่งแรกที่สมยศทำหลังจากได้รับอิสรภาพเพียงเดือนเศษ คือการหวนคืนสู่พื้นที่เจรจาทางการเมืองของภาคประชาชน นั่นก็คือบริเวณด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล ในการเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ เขามาพร้อมกับหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาล คสช. ใน ประเด็นเรื่องงบประมาณรัฐและเรื่องปากท้องของประชาชน แม้จะยังคงทุ่มชีวิตให้กับการเคลื่อนไหวไม่ต่างจากในอดีต แต่สำหรับลูกสาว เธอสังเกตเห็นบางสิ่งที่เปลี่ยนไปในตัวของพ่อ – ระยะห่างของความสัมพันธ์ที่เหมือนจะร้อยโยงเข้าด้วยกันมากกว่าที่เคย

“ช่วงแรกที่พ่อออกมา เรานัดเจอกันบ่อยหน่อย เพราะกลัวเขามีปัญหาเรื่องปรับตัวกับโลกภายนอก แต่พอเห็นว่าเขามีเพื่อนฝูงเยอะแยะที่คอยช่วยเหลือ คอยมาเยี่ยมไม่ขาดสาย เราก็โอเค สบายใจขึ้น ตัวเราก็กลับไปเรียนโทต่อให้จบ

“หลังจากที่เขาออกมา พ่อในภาพจำของเรากับตอนนี้มันแตกต่างจากเดิม รู้สึกว่าเขาพยายามมากขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัว ก็พยายามโทรหาเราบ่อยขึ้น เราก็เริ่มเล่าเรื่องส่วนตัวของเรา เพราะรู้สึกว่าตัวเองก็โตแล้ว ก็อยากเล่าเรื่องชีวิตของเราบ้าง เขาเองก็ดูใส่ใจขึ้น มีการพูดจาหวานๆ (หัวเราะ) คิดถึงนะ รักลูกสาว อะไรประมาณนั้น ก็เป็นมุมที่ก่อนหน้านี้ไม่มี ซึ่งตอนแรกก็รู้สึกประดักประเดิดนิดหน่อยว่าทำไมเราหวานกันขนาดนี้ (หัวเราะ)”



หวนคืนสู่การต่อสู้

เมื่อได้อุทิศชีวิตให้กับการเปลี่ยนแปลงแล้ว การจะหวนคืนสู่ “ชีวิตปกติ” จึงไม่ใช่ตัวเลือก ในเมื่อบ้านเมืองไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือดีขึ้น แม้จะผ่านมานานถึง 7 ปี สมยศจึงหวนคืนสู่สนามการต่อสู้ ทว่าในครั้งนี้ เขาไม่ได้เคลื่อนไหวเพียงแค่กับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป แต่คือส่วนหนึ่งของขบวนการ “คณะราษฎร 2563” – ขบวนการต่อสู้ที่ไม่ได้เรียกร้องแค่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเหมือนดังเช่นการชุมนุมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ยังวางเดิมพันครั้งใหญ่ นั่นก็คือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ถึงจะเข้าใจและรับรู้ถึงความตั้งใจอันดีของพ่อ สำหรับลูกสาว ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ยังเป็นห่วง ยิ่งกับคนที่เริ่มมีอายุ การถูกดำเนินคดีและเข้าคุกอีกครั้งอาจส่งผลต่อสุขภาพ ร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากดูจากบริบทของสังคมในเวลานี้ก็ยังถือว่ามีความหวังกว่าเมื่อตอนถูกจำคุกครั้งก่อน เพราะเกิดการตื่นรู้ของประชาชนในวงกว้าง ปัญหาของมาตรา 112 ไม่ใช่สิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมอีกต่อไป เทียนเชื่อว่าแรงกดดันจากสังคมน่าจะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับสมยศและนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ที่โดนกล่าวหาในข้อหาเดียวกัน

“ในฐานะครอบครัว ถ้าถามว่าคิดยังไงกับตอนที่เขากลับมาทำกิจกรรมอีกครั้ง มันก็คงเหมือนเดิม คงจะคอยช่วยเหลือต่อไป แต่จริงๆ มีเตือนบ้างว่าอย่าพยายามออกหน้าออกตาให้มันมาก ด้วยวัยวุฒิเขาแล้ว เราไม่อยากให้เขาติดคุกอีก มันเสียสุขภาพมาก ถ้าต้องติดอยู่นานๆ ตอนเขาออกมาแรกๆ ก็มีปัญหาเรื่องเข่า เรื่องฟัน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ

“พอเขาเริ่มโดนคดีเมื่อปีที่แล้ว เราก็เริ่มคุยกันว่าจะเอายังไงต่อ คิดว่าจะต้องอยู่ข้างในนานไหม พ่อเขาก็บอกว่า ครั้งนี้มันไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะมีคนโดน 112 ทีเดียวหลายคน แล้วคนก็ให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากกว่าเมื่อก่อนมาก ไม่น่าจะต้องติดนานถึง 7 ปี เหมือนในคดีแรก ส่วนตัวก็เลยไม่ได้รู้สึกสะเทือนใจมากนัก รู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่า”

ก่อนหน้าที่จะถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยในชุมนุมครั้งใหญ่ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน ของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นข้อหาที่ถูกแจ้งเพิ่ม สมยศเคยถูกฝากขังอยู่ระยะหนึ่งร่วมกับเพื่อนนักกิจกรรมในคดีเดียวกันนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 รวมเป็นระยะเวลา 18 วัน ก่อนศาลยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน

“ในเวลานั้น เท่าที่คุยกับพ่อ เขาก็มีความกังวลบ้างเรื่องบ้าน แล้วก็อาจจะห่วงเรื่องความรู้สึกของเราด้วย กลัวว่าจิตใจเราจะไม่โอเค แต่ก็ยังมีหวัง เพราะว่าด้านนอกยังมีมวลชน เราเองก็มีพี่ชายที่คอยช่วยมองในเชิงกระบวนการ วินาทีที่รู้ว่าพ่อต้องเข้าคุก เขาก็คอยดูว่าเราต้องทำอะไรบ้างก่อน ต้องไปเยี่ยมตอนไหน ต้องเตรียมเงินประกันเท่าไหร่ เพราะพี่ชายเราเป็นคนที่สามารถจัดการความรู้สึกได้ดี ยิ่งตัวเขาเองก็ทำงานด้านกฎหมายด้วย”

“ตอนนั้นเราเองก็เครียด เพราะตอนแรกที่ไปคือมั่นใจมากว่าต้องได้ประกัน เชื่อว่าได้ออกแน่นอน ปรากฏว่าไม่ได้ออก ศาลให้ความเห็นว่ากลัวจะหลบหนี ก็เลยอึ้งๆ พี่ชายก็ปลอบเราว่า คดีก่อน เรายื่นประกันไปตั้ง 16 ครั้ง นี่เพิ่งครั้งแรกเอง (หัวเราะ) แต่พอออกมาแล้วเราก็โอเค ไม่ได้แย่นี่หว่า เชื่อว่าเพราะมันมีแรงกดดันจากทางสังคมที่คอยเป็นแสงส่อง”

หากแต่นับจากศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสมยศและเพื่อนนักกิจกรรมอีก 3 ราย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ทำให้การคุมขังรอบนี้เนิ่นยาวออกไปกว่าเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563 แล้ว แม้จะมีการยื่นประกันถึง 4 ครั้ง โดยแต่ละรอบได้เพิ่มวงเงินประกันตัวทุกรอบ อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงมีท่าทีเช่นเดิม และยืนยันว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

แม้ใจจะเปี่ยมไปด้วยความหวังเนื่องจากมวลชนที่ยังเหนียวแน่นในข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ แต่เมื่อต้องสู้กับอำนาจรัฐจึงไม่อาจวางใจได้อย่างเต็มที่ เทียนได้เล่าถึงการสนทนากับพ่อ คืนก่อนที่จะไปฟังคำสั่งอัยการ การเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อต้องเผชิญกับกระบวนการเดิมซ้ำอีกครั้ง ความหวังของครอบครัวที่จะได้รับความยุติธรรม และท้ายที่สุด ความฝันของสมยศและหมุดหายที่เขายอมสละทุกอย่างเพื่อต่อสู้ให้ได้มา

“วันที่ 9 ที่พ่อไปฟังคำสั่งอัยการ เรากับพี่ไม่ได้ไปด้วย เพราะติดงาน แต่คืนก่อนหน้าเราก็โทรคุยกัน คุยกันเรื่องเงิน ฝากให้ดูรถกับดูบ้าน ก็ได้ฝากฝังกันไว้ก่อน เราเชื่อว่าเขาคาดการณ์ไว้แล้ว ถึงได้โทรมาคุย ตัวเขาเองก็เตรียมใจทุกครั้ง เพราะรู้ว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร

“ทุกวันนี้ ครอบครัวยังมีกำลังใจดี เพราะเห็นจำนวนของมวลชน เทียบกับครั้งก่อน มันดีกว่าเยอะ ใจชื้นกว่าเยอะ เหมือนพวกเราไม่ได้สู้อยู่ครอบครัวเดียว บ้านเทียนเองก็มีประสบการณ์ด้วย เรารู้ว่าถ้าร้องห่มร้องไห้ไปมันไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าเป็นไปได้พยายามอยู่กับความจริง สิ่งไหนที่ต้องก็ต้องทำ

“ด้วยความที่พ่อต่อสู้เพื่อสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อยมาโดยตลอด เขาเลยมองว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องออกมา ในปลายทางที่สุดแล้ว สิ่งที่เขาอยากจะให้เกิดขึ้นในสังคมนั่นก็คือความเท่าเทียม สังคมที่ปราศจากความอยุติธรรม เขาเลยตกลงเข้าร่วมในการชุมนุม เพราะนั่นคืออุดมการณ์ที่พ่อยึดถือตลอดมา”

อ้างอิง
สถาบันกษัตริย์: สมยศ พฤกษาเกษมสุข กับข้อหา ม.112 ครั้งที่ 2
เกียรติยศของคนดื้อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
อานนท์ นำภา: ทนายและจำเลยที่คิดถึง
บันทึกทนายความเยี่ยม 4 ราษฎร: ผมอยากคุยกับศาลและฝากบอกว่าคิดถึง
“การเข้าเรือนจำครั้งนี้ไม่ยุติธรรม” เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยในวันที่ 4 ราษฎรไม่ได้ประกัน​