
ภาษาและวรรณกรรมไทย
March 10, 2020 ·
ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน

ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน เป็นสำนวนที่ใช้อธิบายยุคหรือสมัยที่คนดีไม่กล้าแสดงตน ไม่กล้าเผยตัว จะสัญจรไปที่แห่งใดก็ต้องหลบไปใช้ตรอกซอกซอยที่คับแคบ ต่างกับคนชั่วซึ่งปกติไม่กล้าออกสู่ที่แจ้ง มาถึงยุคนี้กลับเพ่นพ่านและวางอำนาจบาตรใหญ่ไปทั่วถนนหลวง เป็นที่เหนื่อยหน่ายอิดหนาระอาใจของคนดี เช่น เขาไม่คิดว่าจะต้องมาเห็นผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน คนดี ๆ ต้องหลบคนชั่วเพราะรังเกียจ ไม่ต้องการพบเห็น
คำว่า ผู้ดี ในสำนวนนี้หมายถึง คนดี คนมีกิริยามารยาท คนที่ได้รับการศึกษาขัดเกลามาอย่างดี ส่วนคำว่า ขี้ครอก เดิมหมายถึงลูกที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นทาส แต่ในสำนวนนี้หมายถึง คนชั่ว อันธพาล คนที่ไร้วัฒนธรรม คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมความเป็นผู้ดี

สัปรุษจะแพ้แก่ทรชน
มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว
คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
กระเบื้องหมายถึงปี้ที่ใช้แทนเงิน น้ำเต้าคือเงินตรา หมายความว่า ปี้กระเบื้องซึ่งเป็นของต่ำจะกลายเป็นที่นิยมใช้กันยิ่งกว่าเงินตราแท้ ๆ สรุปความว่าอะไร ๆ จะกลับกลายสูงเป็นต่ำ ต่ำเป็นสูงไปหมด ผู้ดีกลับมาเดินในตรอก ส่วนขี้ครอกไพล่ไปเดินป๋อตามถนน

ผู้ กอบสินทรัพย์ทั้ง ปรีชา
ดี ประหยัดวาจา จิตต์พร้อม
เดิน ดัดตัดมรรคา หลีกหลาบ พาลแฮ
ตรอก ซอกสู้เลี่ยงอ้อม ห่อนให้เห็นพาล
ขี้ ข้าสินทรัพย์ไร้ ทรพล
ครอก เกิดเรือนเบี้ยตน มั่งคั่ง
เดิน หาญรุกราญชน ชอบเช่น พาลนา
ถนน ใหญ่เที่ยวรายกั้ง กีดกั้นรานทาง

ครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้จารึกแผ่นศิลาติดไว้ใต้รูปภาพซึ่งโปรดฯให้พระอาจารย์อินโข่ง วัดราชบูรณะ เขียนไว้ที่ผนังกรอบประตูและหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สุภาษิตที่เอามาเขียนภาพและแต่งโคลงเหล่านี้ เป็นสุภาษิตไทยมีมาแต่โบราณมักชอบอ้างและกล่าวเป็นอุปมากันในพื้นเมือง รู้กันมากบ้างน้อยบ้างแพร่หลาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้รวมสุภาษิตไทยเหล่านี้มาเขียนรูปภาพไว้ที่ท้องฉนวนที่ทรงบาตรในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศน์แห่ง ๑ ก่อน ครั้นทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงโปรด ฯ ให้พระอาจารย์อินโข่งเขียนที่ผนังกรอบประตูหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่โคลงนั้นจะโปรด ฯ ให้ใครแต่งหาทราบไม่
ตามประวัติดังกล่าวทำให้ทราบว่าสำนวนนี้เป็นสำนวนที่มีใช้มานานแล้ว เก่ากว่าสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่หลักฐานอย่างเก่าสุดที่บันทึกไว้มีในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นสำนวนที่สะท้อนภาพชนชั้นในสังคม
____________________________
โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. ๒๔๗๒. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา. ค้นจาก https://bit.ly/2TDdsgr.
ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๕๕. สำนวนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.
วิจิตรมาตรา, ขุน. ๒๕๔๑. สำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
18h ·
“ในเวลานี้ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคน เอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิสามประการ คือสิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือนไปใช้ในทางที่ผิด
.
กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิสามประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้นอาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น
.
คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง”
.
หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515, หน้า 46-47.
.....
.
“ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานกระเช้าของขวัญให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันนี้นั้น
ข้าพระพุทธเจ้า มีความปลาบปลื้มซาบซึ้งเป็นล้นพ้น ในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระราชทานกระเช้าของขวัญในครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
.
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า