วันพุธ, กันยายน 04, 2567

ช่างกล้าที่จะชิงตำแหน่ง UNHRC ทั้งที่นักโทษการเมืองเต็มคุก - ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว เสนอตัดงบฯ หาเสียง 'คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ' กระทรวงการต่างประเทศ


พรรคประชาชน - People's Party
5 hours ago
·
[ กล้าที่จะชิงตำแหน่ง UNHRC ทั้งที่นักโทษการเมืองเต็มคุก ]
.
“ลูกเกด ชลธิชา” เสนอหั่นงบหาเสียงชิงเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถามเลือกตั้งเดือนหน้าแล้ว จะใช้งบตอนไหน? พิสูจน์ความจริงจังด้านสิทธิ รัฐบาลทำได้เลย ไม่ต้องของบ
.
—-------
Lookkate Chonthicha - ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 พรรคประชาชน อภิปรายการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ ในการพิจารณา #งบ68 วาระ 2-3 โดยระบุว่า งบประมาณจำนวนมากในปีนี้ ถูกใช้ไปกับโฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยผ่านโครงการต่างๆ อย่างไรก็ดี ตนไม่แน่ใจว่างบที่ใช้จะคุ้มค่า สมเหตุสมผล และสามารถบรรลุเป้าหมายได้จริงหรือไม่
.
โดยขอเน้นไปที่โครงการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีการตั้งงบกว่า 61 ล้านบาท ถูกใช้จ่ายเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการฟื้นฟูบทบาทของไทยในเวทีโลกด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีประชุมใหญ่ของสหประชาชนกว่า 30 ล้านบาท
.
และในงบส่วนนี้เอง มีส่วนที่ตนตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผล คือโครงการรณรงค์สมัครรับเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) กว่า 4.9 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งดังกล่าว
.
ชลธิชาเห็นด้วยว่า นโยบายฟื้นคืนบทบาทไทยในเวทีโลกด้านสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จากข้อสังเกตต่อไปนี้ ทำให้ไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะทำเรื่องนี้ได้ทัน และได้ตำแหน่งอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
.
ข้อสังเกตแรก คือการเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่ง HRC จะเกิดขึ้นต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ หรืออีกไม่กี่วันหลังจากที่งบประมาณนี้ผ่าน คำถามคืองบนี้จะถูกใช้เพื่อรณรงค์หาเสียงตอนไหน เพราะการหาเสียงควรเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันเอกสารชี้แจงงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่าช่วงปี 67 มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้อีก 5.6 ล้านบาท แต่กระทรวงไม่ได้เบิกจ่ายแต่อย่างใด
.
ข้อสังเกตที่สอง การได้ตำแหน่งเราควรได้มาอย่างสมภาคภูมิ ผ่านการพิสูจน์ให้นานาอารยประเทศเห็นว่าไทยพร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และ มนุษยธรรมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีสำคัญอย่างเมียนมาที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยสามารถพิสูจน์ให้เวทีโลกเห็นได้ถึงความตั้งใจจริงของเราโดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเลย
.
ที่ผ่านมาตนได้พูดคุยกับรัฐบาล นักการเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว องค์กรระหว่างประเทศ พวกเขาต่างพร้อมสนับสนุนทรัพยากรด้านมนุษยธรรมให้ประเทศไทยรวมถึงตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา รอแค่รัฐบาลไทยพร้อม
.
ข้อสังเกตที่สาม เป็นประเด็นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าไทยมีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้และเราสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณหาเสียงเลย นั่นคือการยกระดับสิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่สถานการณ์สิทธิในประเทศไทยยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็น คดีทางการเมืองอย่างมาตรา 112 ทุกวันนี้ยังมีเด็กเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกคุมขังถูกดำเนินคดี หรือแม้แต่การยุบพรรคการเมือง
.
ข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องรับฟังและนำมาแก้ไขเพื่อให้แน่ใจว่าคุณค่าสิทธิมนุษยชนที่เรากล่าวอ้างกันนั้น จะเป็นสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่แบบไทยๆ อย่างที่เราชอบอ้าง
.
ทั้งนี้ ในชั้น กมธ.งบประมาณฯ มีการตัดลดงบประมาณก้อนนี้ลงแล้วส่วนหนึ่ง แต่จากเหตุผลและข้อสังเกตทั้งหมดที่กล่าวมา ขอยืนยันตัดลดงบประมาณทั้งโครงการนี้ลง จำนวนกว่า 4.9 ล้านบาท เพราะไม่เชื่อมั่นว่ากระทรวงการต่างประเทศจะสามารถใช้งบส่วนนี้รณรงค์หาเสียงที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ได้
.
#งบ68 #เจ๊งไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ #นักโทษการเมือง



Lookkate Chonthicha - ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว
6 hours ago
·
เสนอตัดงบฯ กระทรวงการต่างประเทศ
[ "สิทธิมนุษยชน" กับบทบาทไทยในเวทีโลก : ตั้งงบฯ หาเสียง 'คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ' ล่าช้า - ต้องทำอย่างมีเกียรติ สมศักดิ์ศรี]
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉันนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคประชาชน วันนี้ ดิฉันขอร่วมอภิปราย เพื่อเสนอเหตุผลและความจำเป็นในการตัดลดงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ
ท่านประธานคะ เราต่างทราบกันดีค่ะว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นหนึ่งในกระทรวงสำคัญ ที่ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเวทีโลก
แต่หากเราพิจารณา การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ ดิฉันไม่มั่นใจว่างบประมาณที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลกในมิติต่างๆนั้นจะคุ้มค่า สมเหตุสมผล และบรรลุเป้าหมายได้จริงๆหรือไม่
โดยงบประมาณจำนวนมหาศาล ของกระทรวงการต่างประเทศในปีนี้ ถูกใช้ไปกับงานในลักษณะสร้างภาพลักษณ์ การโฆษณาชวนเชื่อภาพลักษณ์ไทยผ่านโครงการต่างๆ เช่น
งบประมาณว่าเกี่ยวกับ Soft Power ที่ตอนนี้กลายเป็นเทรนด์ของหน่วยงานรัฐไทย ถูกสอดแทรกไปแทบจะทุกหน่วยงานไม่เว้นแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศ
หรืองบประมาณที่ใช้ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์และความนิยมไทยต่อสายตาต่างชาติ ซึ่งท่านตั้งไว้สูงกว่า 56 ล้านบาท และงบส่วนหนึ่งในก้อนนี้ ถูกใช้ไปกับการจ้างสำนักข่าวต่างประเทศ
โดยในสองประเด็นนี้ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชน คุณณัฐพล โตวิจักชัยกุล จะมาอภิปรายลงรายละเอียดให้เห็นภาพปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น
ในการอภิปรายงบประมาณวาระ 2 ครั้งนี้ ดิฉันจะขอเน้นไปที่ “โครงการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ” ซึ่งตั้งงบประมาณไว้สูงถึงกว่า 61 ล้านบาท
งบประมาณในส่วนนี้ ถูกใช้จ่าย เพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย คือ การฟื้นคืนบทบาทไทยในเวทีโลกด้านสิทธิมนุษยชน เช่น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน 5 ล้านกว่าบาท
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านส่งเสริมบทบาทของไทย ในเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ 30 ล้านกว่าบาท
และในงบประมาณส่วนนี้ มีส่วนที่ดิฉันตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผล ของการจัดสรรงบประมาณ คือ “โครงการรณรงค์สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ HRC” ซึ่งตั้งงบประมาณไว้กว่า 4,912,132 บาท เพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งเก้าอี้ดังกล่าว
ท่านประธานคะ ดิฉันต้องขอบอกว่า นโยบายการฟื้นคืนบทบาทไทยในเวทีโลกด้านสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นเรื่องที่ดีค่ะ หลังจากที่ไทยถูกวิพากย์วิจารณ์เรื่องนี้มาโดยตลอด
แต่ดิฉันไม่มั่นใจจริงๆว่าการจัดสรรวบประมาณก้อนนี้ จะทำให้ประเทศไทยได้ตำแหน่ง HRC อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีได้อย่างไร
โดยดิฉันมีข้อสังเกตดังนี้ค่ะ
ประการแรก > การเลือกตั้งชิงตำแหน่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ นั่นคือ ไม่กี่วันหลังจากที่งบประมาณปี 68 ก้อนนี้ผ่าน
ดิฉันจึงมีคำถามค่ะว่า งบประมาณ 4.9 ล้านบาทที่ กต. ตั้งไว้นี้ จะถูกใช้ไปกับการหาเสียงได้อย่างไร เพราะการรณรงค์หาเสียงนั้นควรจะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ในขณะที่เอกสารชี้แจงงบประมาณในห้องอนุงบ อบรมสัมมนา พบว่า ในปี 67 ท่านตั้งงบประมาณไว้ ในส่วนนี้กว่า 5.6 ล้าน แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศ กลับไม่ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ ไปใช้หาเสียง HRC แต่อย่างใด
ประการที่สอง > การได้มาซึ่งตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยควรได้มาอย่างสมภาคภูมิ ผ่านการพิสูจน์ให้นานาประเทศเห็นว่า ไทยพร้อมที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงท่าทีไทยต่อเรื่องอิสราเอล-ปาเลสไตน์, กรณีรัสเซีย-ยูเครน
หรือกรณีที่สำคัญมากๆอย่าง กรณีเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดไทย ที่แชร์พรมแดนร่วมกันกว่า 2,400 กิโลเมตร และวันนี้เราเห็นแล้วว่า วิกฤติการเมืองเมียนมา ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง อย่างการไหลทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยจากเมียนมา
เรื่องนี้ รัฐบาลไทยสามารถพิสูจน์ให้เวทีโลก เห็นถึงความตั้งใจจริงได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลเลย คือ เราต้องยอมรับการมีอยู่ของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ และเปิดให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดน
ซึ่งที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกับรัฐบาลและนักการเมืองประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ พวกเขาต่างก็พร้อมที่จะสนับสนุนทรัพยากรด้านมนุษยธรรม ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา รอแค่รัฐบาลไทยพร้อม
ประการสุดท้าย > ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าไทยมีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ และเราสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณหาเสียงเลย นั่นคือ การยกระดับสิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลค่ะ
ท่านประธานคะ เราต่างทราบกันดีว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ยังคงถูกวิพากย์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น UPR หรือ แถลงการณ์ของ Special Rapporteur ด้านต่างๆ เช่น เรื่องการดำเนินคดีการเมืองอย่างมาตรา 112, การยุบพรรคก้าวไกล เป็นต้น
ข้อท้วงติงตลอดจนข้อเสนอแนะ จากเวทีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เป็นเสียงที่พวกเราควรรับฟัง แล้วนำมาพิจารณาแก้ไข เพื่อให้มั่นใจว่าคุณค่าสิทธิมนุษยชนที่เราชอบกล่าวอ้างนั้น จะเป็น “สิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล” ไม่ใช่ “สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ” ที่ชอบอ้างกันอยู่เช่นทุกวันนี้
ท่านประธานคะ ดังนั้น ดิฉันจึงเห็นด้วยกับ การตัดลดงบประมาณในส่วนนี้ของกระทรวงการต่างประเทศ ตามข้อสังเกตที่ดิฉันยกมาข้างต้นค่ะ
ขอบคุณค่ะ
#ลูกเกดชลธิชา #ชลธิชาแจ้งเร็ว #พรรคประชาชน #ปทุมธานี #เขต3 #คลองสาม #ท่าโขลง #ทีมลูกเกด