วันพุธ, กันยายน 04, 2567

หยุดตั้งกองเซนเซอร์งานวิจัย ในนาม "จริยธรรม" : เมื่อสังคมค้าน ครม. ‘ถอย’ นำร่างพระราชกฤษฎีกากลับมาทบทวน - แล้วอย่างไรต่อ?



ถอยไปทบทวนแล้วอย่างไรต่อ?

ในการประชุม ครม. วันนี้ สื่อมวลชนบางส่วนรอติดตามท่าทีของ ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทว่ากลับได้รับรายงานว่าศุภมาสลาประชุม ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะมีการแถลงผลว่าที่ประชุม ครม. มีมติถอนร่าง พ.ร.ฎ. ที่เป็นประเด็นกลับไปทบทวนแล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับว่ารวดเร็ว โดยอาจมีปัจจัยจากกระแสต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวและการถกเถียงแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นกฎหมายที่เสนอสู่ ครม. ผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ถึงกระนั้นเอง การ ‘ถอย’ ร่างกฎหมายกลับไปทบทวนไม่ได้แปลว่าเป็นข้อยุติหรือจุดจบ เพราะ พ.ร.ฎ. มีผลผูกพันให้ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า ในที่นี้คือ พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562

การจะแก้ไข พ.ร.ฎ. ให้ต่างจากเดิม ถึงระดับที่มีความเปลี่ยนแปลงในหลักการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เว้นเสียแต่จะต้องย้อนตะเข็บไปจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

หากเป็นเช่นนั้นจริง จำเป็นต้องมีการเสนอ พ.ร.บ. นั้นกลับสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกครั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่น่าจะกินเวลาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการอุดมศึกษาและการวิจัยอีกไม่น้อย

กฎหมายสร้าง ‘สิ่งแปลกปลอมทางวิชาการ’

วันเดียวกัน ในวงเสวนาหัวข้อ ‘เสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้ พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ’ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการแสดงความเห็นอย่างหลากหลายจากอาจารย์และนักวิชาการ เพื่อสะท้อนความกังวลอย่างเป็นรูปธรรมในแวดวงนักวิชาการ

อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ระบุว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีกฎหมายว่าด้วยจริยธรรม มีก็แต่เพียงแนวปฏิบัติให้ยึดถือ แต่ประเทศไทยได้สร้างนวัตกรรมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีหน่วยงานที่กำกับดูแลจริยธรรมทางวิชาชีพอีกมากมายอยู่แล้วที่สามารถกลั่นกรองได้ในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งในทางปฏิบัติแทบจะไม่มีโครงการวิจัยใดๆ เลยที่หลุดรอดออกไปแล้วเกิดการละเมิดจริยธรรมได้

ด้าน รศ. ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า กลไกตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสรีภาพทางวิชาการมีสถานะเทียบเท่ากับเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้มีอำนาจไม่พอที่จะจำกัดเสรีภาพทางวิชาการได้

ทว่าร่างดังกล่าวกลับให้อำนาจแก่คณะกรรมการสามารถกำหนดนิยามงานวิจัยที่ละเมิดจริยธรรมได้ ตลอดจนมอบอำนาจในการสอบสวนและกำหนดบทลงโทษได้ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในกฎหมาย จึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

“โดยสรุปคือ คณะกรรมการ 9 คนนี้ ซึ่งผมขอใส่เครื่องหมายคำพูดว่าเป็น ‘สิ่งแปลกปลอมทางวิชาการ’ ร่าง พ.ร.ฎ. จำกัดเสรีภาพในการเลือกหัวข้อวิจัย เพราะจะมีการเซ็นเซอร์โดยคณะกรรมการได้” รศ. ดร.ต่อพงศ์ กล่าว

ขณะที่ ศ. ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ร่าง พ.ร.ฎ. นี้มีปัญหาคือ พยายามนำเอาอำนาจของศาสนาในเชิงสถาบันมาควบคุมกำกับงานวิจัย และยังเห็นว่าความเชื่อพื้นฐานด้านศาสนาและศีลธรรมในร่างกฎหมายนี้ทั้งผิดและอันตราย

“การที่บอกว่าหลักศาสนาโต้แย้งไม่ได้ สะท้อนว่าผู้ยกร่างกฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ไม่เข้าใจหลักสำคัญของศาสนา เพราะทุกศาสนาหลักบนโลกนี้กำเนิดขึ้นจากการละเมิดหรือวิพากษ์หลักการของศาสนาที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ” ศ. ดร.ปิ่นแก้ว กล่าว

จากนั้น รศ. ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การแสวงหาความรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคม เพราะการตัดสินใจทางนโยบายอาศัยความรู้เป็นฐาน แต่การแทรกแซงจากคนที่ไม่รู้เรื่องทางวิชาการจะเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ และจะทำให้กระบวนการแสวงหาความรู้เสียไป

อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่จุดจบของร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังต้องจับตาต่อไปว่าภายหลังเสียงวิพากษ์วิจารณ์รอบด้านจากแวดวงวิชาการ จะมีการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพของนักวิจัย

อ่านบทความเต็ม
กฎหมาย ‘จริยธรรม’ บีบงานวิจัย? เมื่อสังคมค้าน จนรัฐบาลถอยกลับไปทบทวน
ที่ https://thestandard.co/key-messages-ethics-law/