วันพฤหัสบดี, กันยายน 26, 2567
ช่วยกันจับตา สภาพิจารณารายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม พฤหัสนี้ #นิรโทษกรรมประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15 hours ago
·
จับตา สภาพิจารณารายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม พฤหัสนี้
.
.
ภายหลังจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้นเพื่อศึกษาการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง ใช้เวลาทำงานประมาณ 6 เดือน และได้จัดทำรายงานผลการศึกษาและการประชุมเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรเตรียมจะนำรายงานฉบับดังกล่าวเข้าพิจารณาในวันที่ 26 ก.ย. นี้
.
กมธ.ชุดนี้มี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการ และมี สส. หรือผู้เชี่ยวชาญ สัดส่วนของพรรคต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวมจำนวน 35 คน นอกจากนั้นในระหว่างการทำงานได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการจำนวน 2 คณะ เพื่อพิจารณาเพิ่มเติมศึกษาในเรื่องข้อมูล-สถิติคดี และศึกษาจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางนิรโทษกรรม จนได้มาเป็นรายงานการศึกษาที่จะนำกลับเข้ามาเสนอสู่สภา
.
ทั้งนี้ การนำรายงานเข้าพิจารณาในสภาดังกล่าว ยังไม่ใช่การส่งผลให้เกิดการ “นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง” ขึ้นทันที แต่เป็นเพียงการให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาและอภิปรายต่อผลการศึกษาหรือข้อเสนอต่าง ๆ ของกรรมาธิการที่ตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะการเร่งนำร่างกฎหมายที่มีทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนที่เสนอไว้แล้วเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
.
.
สำหรับเนื้อหารายงานของ กมธ. นี้ โดยภาพรวมได้พยายามทบทวนข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น ทั้งในเชิงนิยามของ “การนิรโทษกรรม” แนวทางการนิรโทษกรรม ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม ฐานความผิดในการนิรโทษกรรม บุคคลกับการนิรโทษกรรม เงื่อนไขและกลไกในการนิรโทษกรรม กระบวนการอื่น ๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นทั้งก่อนและหลังการนิรโทษกรรม
.
ในส่วนผลการพิจารณาโดยสรุป กมธ. ได้เสนอให้กำหนดช่วงเวลาในการนิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน และเสนอให้ใช้รูปแบบ #การนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน คือสร้างกลไกการพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมคดีใดหรือไม่ ใน 2 ส่วน คือ ส่วนหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว (ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมราชทัณฑ์) และส่วนที่เป็นคณะกรรมการนิรโทษกรรม ที่จะตั้งขึ้นใหม่โดยเฉพาะ โดยเสนอให้มีการใช้รูปแบบการออกกฎหมาย คือออกเป็นพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ กำหนดแนวทางการนิรโทษกรรม องค์ประกอบคณะกรรมการ พร้อมกับมีการกำหนดฐานความผิดท้ายกฎหมาย ซึ่งจะคัดกรองเบื้องต้นว่าฐานความผิดใดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม
.
กมธ. ได้เสนอให้จำแนกฐานความผิดออกเป็น คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว โดยลักษณะคดีในสองส่วนแรกนั้น หน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมข้างต้น สามารถพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามบัญชีได้ แล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีเสนอต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากไม่มีความเห็นแย้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ถือว่าเห็นด้วย หรือผู้ที่ได้รับสิทธินิรโทษกรรมอาจยื่นคำร้องต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วยตนเอง ในส่วนประเภทคดีที่มีความอ่อนไหวนั้น ผู้พิจารณาทั้งหมดคือคณะกรรมการนิรโทษกรรม
.
ทั้งนี้ในรายงานหลัก ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกณฑ์ในการแยกคดีหลัก ออกจากคดีรองคืออะไร แต่ในรายงานของอนุกรรมาธิการที่เสนอเรื่องนี้ได้อธิบายว่า “คดีหลัก” เป็นคดีที่ชัดเจนว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง เช่น ในช่วงที่อำนาจรัฐมาจากการรัฐประหาร หรือเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่วน “คดีรอง” คือคดีที่มีความชัดเจนน้อยกว่าคดีหลัก และมักตั้งเป็นคดีที่พ่วงไปกับคดีหลัก รวมถึงคดีที่บทลงโทษเป็นลหุโทษและมีอายุความไม่มากนัก
.
ในส่วนคดีหลัก จึงมีการกำหนดฐานความผิด ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113-118 (รวมผิดฐานกบฏ), ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย, ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ความผิดตามคำสั่ง คสช. รวมทั้ง ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2559 ส่วนข้อหาอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ถูกจัดไว้เป็น “คดีรอง”
.
ในส่วน “คดีที่มีความอ่อนไหว” มีการกำหนดสองข้อหา คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่ง กมธ. ระบุว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปเป็นมติได้ว่าควรทำอย่างไรกับผู้ถูกดำเนินคดีส่วนนี้ เนื่องจากกรรมาธิการมีความเห็นแตกต่างกันไปเป็นสามแนวทาง คือ แนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว, เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข และเห็นด้วยแบบไม่มีเงื่อนไข
.
ในส่วนลักษณะเงื่อนไขสำหรับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวดังกล่าว ว่าให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข โดยมี 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ กระบวนการสานเสวนา โดย “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” ให้ผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาส่วนนี้ได้แถลงความจริงเกี่ยวกับคดีนั้น ๆ หรืออธิบายมูลเหตุจูงใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานความมั่นคง คู่ขัดแย้ง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่วนที่สอง คือกระบวนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งคณะกรรมการนิรโทษกรรมจะเป็นผู้กำหนดให้เหมาะสมกับแต่ละคดี หากยอมรับเงื่อนไขในสององค์ประกอบดังกล่าว ก็จะได้รับการนิรโทษกรรม
.
รายงานได้สรุปความเห็นของกรรมาธิการแต่ละคน ที่จัดอยู่ในกลุ่มแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าว มานำเสนอไว้ โดยไม่ได้มีการสรุปมติร่วมกันว่าควรดำเนินการเช่นไรในส่วนคดีที่มีความอ่อนไหวนี้ แต่ให้เป็นประเด็นถกเถียงของสภาต่อไป
.
กมธ. ยังกำหนดนิยามของ “การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” ไว้ให้ชัดเจน เป็นองค์ประกอบในการพิจารณา ไม่ใช่เพียงการพิจารณานิรโทษกรรมจากฐานความผิด ว่าหมายถึง “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”
.
นอกจากนั้น รายงาน กมธ. ยังมีข้อเสนอในระหว่างยังไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และยังมีการดำเนินการต่อคดีทางการเมืองต่าง ๆ ควรต้องให้ฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายต่อหน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรม ทั้งการใช้อำนาจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง, ให้คำนึงถึงการประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดี หรือศาลอาจใช้ดุลยพินิจเลื่อนคดี หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว ในคดีที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรรม และศาลอาจใช้ดุลยพินิจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างนี้ด้วย
.
.
กมธ. ยังมีข้อสังเกตร่วมกันในเชิงความสำคัญของการเร่งผลักดันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ว่า “สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน อันจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์และทำให้สังคมกลับคืนสู่สภาพปกติ คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงมีข้อสังเกตว่า คณะรัฐมนตรีควรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และแจ้งผลของการพิจารณาหรือการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญมายังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผลดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสามสิบห้าคณะเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาต่อไป”
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/70167
.
อ่านรายงานของกมธ.ศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม https://shorturl.asia/Mr2GO
.....
Thumb Rights
a day ago
·
วันนี้ช่วงบ่าย ๆ ท่ามกลางฝนตกปรอย ๆ
.
ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
.
มีกิจกรรมทางการเมืองเล็ก ๆ เกิดขึ้น ซึ่งนัดหมายโดยคุณเจี๊ยบอมรัตน์ และคุณแม่ของเก็ต นั่นก็คือการเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจนักโทษการเมืองการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ที่นั่น
.
ผู้เข้าร่วมที่มารอเยี่ยม มากันตั้งแต่เที่ยงแล้ว แม้กิจกรรมจะเริ่มตอนบ่ายสอง
.
พอถึงเวลาเยี่ยม ทุกคนก็เดินเข้าไปบริเวณอาคารที่เรือนจำจัดไว้สำหรับการเยี่ยมนักโทษ
.
คนที่อยู่ในสิบรายชื่อเข้าเยี่ยมก็ทยอยกันเข้าไปด้านใน ขณะที่อีกหลายสิบคนยืนให้กำลังใจอยู่ด้านนอก เพราะมันพอจะมองเห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเราที่ถูกคุมขังในชุดสีลูกวัว
.
คนในสิบรายชื่อบอกว่า “คนข้างในก็ยังดูมีความหวัง แม้ว่าหลังได้ฟังแนวโน้มเรื่องการนิรโทษกรรมที่อาจไม่รวมม.112 ไปแล้วมีหน้าเสียอยู่บ้าง”
.
“วันนี้ไม่รู้จะไปพูดยังไงเลย ในเมื่อมันยังไม่มีข่าวดีเรื่องนิรโทษกรรม”
.
อย่างไรก็ดี การที่มีกิจกรรมที่รวมตัวมาเยี่ยมกันแบบนี้ก็ถือเป็น “อาหารใจ” ชั้นดีแก่เพื่อน ๆ ที่อยู่ในนั้น
.
“เด็ก ๆ ดีใจ มีแม่ ๆ มาเยี่ยมกันเยอะ” คุณแม่ของเก็ต โสภณกล่าวกับเรา
.
กิจกรรมการเยี่ยมแบบนี้จะจัดขึ้นทุกวันพฤหัสสิ้นเดือน ซึ่งเหมือนเป็น “ฝนตกในหน้าแล้ง” แก่นักโทษการเมืองที่อยู่ในนั้น
.
แม้ว่าเรือนจำชายจะเปิดให้มีการเยี่ยมแบบนี้ แต่เรือนจำหญิงกลับไม่สามารถทำได้
.
“เยี่ยมยากมาก เนื่องจากเรือนจำหญิงกับชายไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกัน เรือนจำชายใช้บัตรประชาชนใบเดียว แต่ถ้าเป็นเรือนจำหญิงต้องใช้ทะเบียนบ้านด้วย แล้วเวลายื่นไปแล้วต้องรอ 35 วัน“ คุณเจี๊ยบกล่าวกับเรา
.
#นิรโทษกรรมประชาชน