วันพฤหัสบดี, กันยายน 26, 2567

ครบรอบ 1 ปี ‘อานนท์’ ติดคุก สำรวจความคิดนักศึกษา มช. ในวันกระแสการเคลื่อนไหวต่ำ

25 กันยายน 2567
ประชาไท

ประชาไทชวนสำรวจความคิดนักศึกษา มช. ในวันที่ผู้ต้องขังทางการเมืองยังคงอยู่ในคุกและกระแสการเคลื่อนไหวตกต่ำลง พวกเขายังคงเชื่ออยู่หรือไม่ว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” ในขณะที่มีผู้ต้องขังทางเมืองติดคุกครบ 1 ปีแล้วหลายคนทั้ง “อานนท์ นำภา” , “สมบัติ ทองย้อย” , “บุ๊ค ธนายุทธ” และมีผู้ต้องขังคดีการเมืองทั่วประเทศอยู่ในเรือนจำอีกอย่างน้อย 42 คน

25 ก.ย. 2567 ครบรอบ 1 ปี “อานนท์ นำภา” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ติดคุกจากคดี ม.112 โดยอานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 14 ปี 2 เดือน 20 วัน จากคดี ม.112 ที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว 4 คดี นอกจากอานนท์แล้วยังมีสมบัติ ทองย้อย และบุ๊ค ธนายุทธ ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ติดคุกครบ 1 ปีในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองทั่วประเทศอยู่ในเรือนจำอีกอย่างน้อย 42 คน



ในวันกระแสการเคลื่อนไหวต่ำ


นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ทั้งสองคนจำได้ตัวเองยังเป็นนักเรียนชั้น ม.4 ม.5 ในช่วงปี 63 นักศึกษาหญิงเสื้อสีเทาเล่าว่าตอนนั้นหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ตนเองและเพื่อนที่ จ.ขอนแก่น รวมตัวกันทำกลุ่มนักเรียนเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการศึกษา ในสายตาเธอสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเลยในปี 63 ประชาชน นักเรียน นักศึกษา มีความตื่นตัวทางการเมืองมากเป็นพิเศษ แต่กระแสการเคลื่อนไหวก็เริ่มแผ่วลงหลังรัฐบาลใช้กฎหมายปราบปรามคนที่ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น

“กระแสมันแผ่วลงอาจเป็นเพราะว่ารัฐใช้กฎหมายปราบปรามคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเยอะ ทำให้เรารู้สึกว่าเราหมดกำลังใจ หวังพึ่งการเมืองในสภาก็ไม่ได้ หวังพึ่งการต่อสู้บนท้องถนนก็ไม่ได้ กระแสมันก็เลยแผ่วลง แต่ว่าการแผ่วลงของกระแสก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เคยออกมาเคลื่อนในปี 63 เขาจะเลิกสนใจการเมืองไปเลย มันอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปไม่ใช่เป็นการทำม็อบลงถนน แต่ว่าหันมาทำงานเย็นกันมากขึ้น” นักศึกษาหญิงเสื้อสีเทา กล่าว

ขณะที่นักศึกษาหญิงเสื้อสีดำมองเห็นสองแง่มุมของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ระยะเวลาจากปี 63 จนมาถึงปี 67 ยาวนานพอในความรู้สึกหรือความรับรู้ของคน ความแผ่วลงของกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจเป็นเพราะคนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวรู้สึกย่ำอยู่กับที่ แต่ว่าในขณะเดียวกันกลุ่ม “นิติซ้าย” ที่เธอทำร่วมกับเพื่อนๆ ในคณะกลับมีคนหน้าใหม่ๆ เข้ามาให้ความสนใจมากขึ้น นักเรียนที่เคยหนีพ่อหนีแม่ไปม็อบกลายมาเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่มมากขึ้น เธอมองว่าความสนใจการเมืองของนักเรียนที่เคยถูกกดทับไม่ได้หายไปจากตัวนักเรียนหลายคนที่กลายมาเป็นนักศึกษาในวันนี้ ในความแผ่วของการเคลื่อนไหวยังมีคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นอยู่ในนั้น

นอกจากนี้เธอยังมีความคิดเห็นต่อคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางเมืองและถูกจับติดคุกกลายเป็นนักโทษในคดีการเมือง รวมไปถึงหลักนิติศาสตร์ที่เธอร่ำเรียนว่า

“ในความเป็นเด็กนิติศาสตร์แล้วเห็น Law in action ที่เป็นแบบนั้น เรารู้สึกว่าเรียนมา 3 ปี เรากำลังเรียนอะไรอยู่ รู้สึกหมดหวัง รู้สึกหดหู่ มันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เริ่มหมดความศรัทธากับสิ่งที่เรียนไป” นักศึกษาหญิงเสื้อสีดำ กล่าว

เมื่อถามทั้งสองคนว่ายังเชื่อข้อความในเวทีปราศรัยหลายๆ เวทีในช่วงปี 63 ที่บอกว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” อยู่หรือไม่ นักศึกษาหญิงเสื้อสีเทาเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเราก็ต่อเมื่อประชาชนออกมาเคลื่อนไหวหรือทำอะไรสักอย่างขึ้นมา เพราะเวลาก็อยู่ข้างผู้มีอำนาจด้วยเช่นกัน ฉะนั้นหากประชาชนปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร อีกฝ่ายก็จะใช้กฎหมายมาฟาดเราได้อยู่เสมอ

ในขณะที่นักศึกษาหญิงเสื้อสีดำมีข้อความที่อยากฝากถึงอานนท์และทุกคนที่ต้องติดคุกในคดีทางการเมืองตอนนี้ว่า “เราให้กำลังใจ เราเองก็ไม่ได้คิดว่าจะเรื่องแบบนี้ขึ้น ก็ไม่แน่ใจว่าในฐานะที่เราเป็นนักศึกษาตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง แต่เป็นกำลังใจให้เสมอ แล้วก็คาดหวังว่าในอนาคตจะไม่มีเพื่อนที่ออกมาพูดในสิ่งที่เขารู้สึกแล้วต้องโดนอะไรแบบนั้น”

ส่วนนักศึกษาหญิงเสื้อสีเทากล่าวว่า “คนข้างนอกก็จะพยายามเคลื่อนไหวเต็มที่ในเรื่องของการผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมประชาชน เราจะได้ออกมาเจอกันข้างนอกอีกครั้ง”


พิ้งกี้ นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน ปี 3

พิ้งกี้ นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 3 เล่าว่าตอนปี 63 เธออายุเพียง 17 ปี และเป็นเด็กที่ออกมาตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมสังคม รัฐบาล หรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศถึงเป็นเช่นนี้ และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปี 67 สิ่งที่เธอเห็นได้จากสายตาตนเองเลยคือพลังของผู้คนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหย่อนยานลงไป คนที่สู้ก็ยังสู้สุดใจ “เรามองว่าพลังของการต่อสู้มันหดหายไปจากปี 63 เยอะมาก จนเรารู้สึกว่าเราคิดถึงช่วงปี 63 มากๆ ที่สามารถทำให้มวลชนลุกขึ้นมาได้ขนาดนั้น เราก็ยังอยากให้มันกลับไปเป็นแบบนั้นอีกครั้งหนึ่ง”

“เรารู้สึกว่าเรารังเกียจกับสิ่งที่รัฐทำกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เราเชื่อมาตลอดว่าอะไรที่น่าสงสัยเราสามารถตั้งคำถามกับได้ แต่เรารู้สึกว่ามันใช้ไม่ได้กับรัฐแห่งนี้ กลับกลายเป็นว่าเพราะเราสงสัยและตั้งคำถาม เราต้องถูกจับทุกๆ ครั้ง ทำให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องเข้าคุกหรือเดินเข้าห้องขังโดยที่ไม่มีความยุติธรรมอะไรเลย” พิ้งกี้ กล่าว

การผ่านม็อบในปี 63 มาส่งผลให้พิ้งกี้เชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างประชาชน แต่ในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน เวลาที่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากพออย่างไรก็ต้องอยู่ข้างประชาชน


นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 ที่มองดูความเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 63 มาจนถึงปี 67 เสนอว่า การเลือกตั้งเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถจัดการกับความเห็นต่างได้ดีกว่าการนำคนที่เห็นต่างไปเข้าคุก อุดมการณ์ทางประชาธิปไตย ความเชื่อของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยังคงอยู่ในชุดความเชื่อของประชาชนหลายคน สิ่งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนและเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประชาชนจะชนะกับระบบเก่าได้หรือไม่

“การจัดการความเห็นต่างผมเชื่อว่ามีวิธีที่หลากหลายไปมากกว่าการจับคนเข้าคุก ผมคิดว่าวิธีหนึ่งที่สามารถแสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือการเลือกตั้ง เราสามารถจัดการความเห็นต่างผ่านการเลือกตั้งได้ โดยกระบวนการเลือกตั้งถ้าคุณไม่เห็นด้วย คุณก็ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยแล้วเลือกตั้งกันใหม่ รัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารก็จะมีแนวนโยบายแบบใหม่ ที่ไม่ใช่แนวนโยบายเดิม ก็ถือว่าเป็นการจัดการความเห็นต่างได้อีกรูปแบบหนึ่ง การจับกุมคนไปขังคุกเป็นวิธีที่จัดการความเห็นต่างที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 กล่าว


นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ปี 1

นักศึกษาปี 1 คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อและการออกแบบสื่อ เป็นอีกคนหนึ่งที่มองความเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เธอกล่าวว่าในช่วงปี 63 เธอเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่พึ่งก้าวขาเข้าไปสนใจในเรื่องการเมือง แล้วก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายที่ทำให้เปลี่ยนแปลงชีวิตไปเหมือนกัน ถ้าถามว่าทุกวันนี้เป็นไปตามผลที่คนรุ่นเธออยากได้ไหม ก็ยังไม่ใช่

“คิดว่าทุกวันนี้พวกเราออกมาคอลเอ้าท์กันออกมาในรูปแบบของการที่พวกเรา "ไร้ความหวัง" กันมากยิ่งขึ้น” นักศึกษาปี 1 คณะวิจิตรศิลป์ กล่าว

ส่วนตัวเธอยังคงเชื่อในประโยคที่ว่าเวลาอยู่ข้างเรา แม้หลายอย่างจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในตอนนี้ “เราเชื่อว่าเวลายังอยู่ข้างพวกเรา เพราะพวกเรากำลังเป็นคนรุ่นหลังที่กำลังมีเวลามากมายพอที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้กันต่อไปได้”


มณฑิรา คำสอน

มณฑิรา คำสอน บัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่บังเอิญพบกันในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้เธอรู้สึกว่ากระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยแผ่วลงไป อาจจะเป็นเพราะผู้คนเริ่มเหนื่อย แล้วก็เหมือนอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมสำหรับอะไรบางอย่าง หลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงแรกก็เริ่มแผ่วลงจากสถานการณ์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ

“แม้กระทั่งเพื่อนเราเองที่จากตอนนั้นเขาเป็นนักศึกษา เขาสามารถทำอะไรได้เยอะมาก เขาออกมาแอคชั่นอะไรได้อย่างรุนแรง พอถึงช่วงนี้ที่เรียนจบกันไปแล้วมันก็ไม่มีแรงเหมือนเดิม เนื่องด้วยไม่มีเงินกันบ้าง หรือว่าต้องทำงานกันบ้าง พอย้อนกลับคุยกันว่าจะทำอะไรกันอีกไหม ก็ไม่ไหวแล้วเหนื่อย” มณฑิรา กล่าว

มณฑิรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อคนเรามีไฟแล้วไฟจะมอดลงบ้างในบางครั้ง แต่ทุกการมอดก็จะมีไฟกลับมาใหม่เป็นพลวัต ไม่มีไฟใดที่จะติดตลอดเวลา ขอแค่ประชาชนยังคงเชื่อถึงการเปลี่ยนแปลง โดยเธอมองว่าการที่คนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนต้องถูกจับติดคุกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรไม่ควรเกิดขึ้น แต่ระบบสังคมและโครงสร้างหลายอย่างในประเทศไทยทุกวันนี้เอื้อให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ กับคนที่ทำกิจกรรมทางการเมือง

ถ้าฝากอะไรถึงผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในคุกได้เธอก็ขอขอบคุณพวกเขาที่กล้ามาเป็นหัวหอกในการทำอะไรหลายอย่างจนตัวเองเดือดร้อน ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น คนข้างนอกก็ยังคงวันรอเวลาที่จะมีไฟแล้วกลับมาสานต่อในสิ่งที่ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองตั้งใจจะทำหรืออยากจะทำต่อไป


นักศึกษา Media Arts and Design ปี 3

จากเด็กมัธยมในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ตอนปี 63 ตอนนี้เขากลายเป็นนักศึกษาปี 3 สาขาวิชา Media Arts and Design มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กำลังจะจบการศึกษาในอีกไม่นาน สิ่งที่เขามองเห็นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาคือขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนในโรงเรียนหายไปแล้วในปี 67 อาจจะมีกลุ่มนักเรียนเลวที่ยังคงแอคทีฟอยู่บ้างแต่ก็เฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ ตัวเขาเองที่เคยเป็นนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยก็ขยับจากประเด็นประชาธิปไตยไปสู่ประเด็นแรงงานที่ใกล้ตัวในชีวิตจริงมากขึ้น

สำหรับประโยคที่บอกว่าเวลาอยู่ข้างเราที่มักพูดกัน ส่วนตัวเขาไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วกับประโยคนี้ เพียงแต่ว่าบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลานั้นที่ทำให้คำนี้ดูหึกเหิมมีความหวัง เอาเข้าจริงเวลาอยู่ข้างเราเป็นประโยคที่ฮิปปี้ในยุค 70 นำมาใส่ไว้ในเพลงหลายเพลง แต่ก็ยังไม่เห็นเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ “เวลาก็อยู่ข้างเรา แล้วก็อยู่ข้างเขาด้วย ฝ่ายขวาเขาก็ปรับตัวตลอดเราก็เห็นหลายมุกหลายอย่างมาตลอด หมายถึงว่ามันอาจจะไม่อยู่ข้างใครหรอก ทุกฝ่ายก็สามารถที่จะปรับตัวกับเวลาได้เหมือนกัน”

“อดสูใจไม่ได้ ผ่านการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่แล้ว ก่อนหน้านี้ทุกคนก็ดูโลกจะสดใสขึ้น แต่เอาจริงแล้วหนักกว่าเดิม เผลอๆ ตอนช่วงปี 63 ยังจะดูเข้าคุกเข้าตารางกันน้อยกว่านี้ แล้วพอตอนนี้หลายคนที่เข้าไปไม่ได้มีแสงหรือถูกรับรู้มากเท่ากับตอนช่วงที่กระแสมันขึ้น ก็รู้สึกว่ามันน่าเศร้ากว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่เป็นรัฐบาลประยุทธ์อีก” นักศึกษา Media Arts and Design ปี 3 กล่าว


รามิล อดีตนักศึกษา มช. และผู้ต้องหาคดี ม.112

รามิล อดีตนักศึกษา มช. และผู้ต้องหาคดี ม.112 ในปัจจุบัน กล่าวว่า ตอนปี 63 เขาอายุประมาณ 22 – 23 ปี ยังเป็นนักศึกษาที่เรียนปรัชญาอยู่ เป็นประธานฝ่ายวิชาการของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเคลื่อนไหวทางการเมืองไปด้วยในช่วงที่มีการชุมนุมหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ เขามองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนปี 63 ฝ่ายประชาธิปไตยมีตัวละครที่อยู่ตรงข้ามชัดเจนก็คือฝ่ายเผด็จการ อย่างคณะรัฐประหารหรือพลเอกประยุทธ์ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วย จนกระทั่งในตอนนี้รัฐบาลกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทยตัวละครตรงนี้ก็อาจจะพร่าเลือนความความทรงจำเกี่ยวกับการรัฐประหาร การใช้ความรุนแรงของรัฐในปี 63 ปี 64 ไป ที่รัฐมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนหรือใช้กฎหมายเข้ามาปิดปากประชาชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

รามิลกล่าวว่า ช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงของการทบทวนของสังคมด้วยเหมือนกัน หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันมาอย่างเข้มข้นว่าจะไปต่ออย่างไรกันต่อ ในขณะที่รัฐบาลใหม่ก็ยังมีมรดกตกทอดจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่ อาทิ คดีทางการเมือง รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรกับนักโทษทางการเมืองเหล่านี้ ไม่สมควรมีใครต้องลี้ภัยหรือติดคุกจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

“ผมคิดว่าในวันหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยหรือคนที่เป็นโหวตเตอร์ของพรรคเพื่อไทยอยู่ข้างประชาธิปไตย เขาก็จะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เห็นด้วยกับการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ว่าในวันหนึ่งที่เขาได้เป็นรัฐบาล เขามีส่วนมากน้อยขนาดไหนในการที่จะทำให้คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดนคดีความทางการเมืองสามารถที่จะไม่มีความผิดจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญก็เขียนว่าเรามีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติมาก ตัวรัฐบาลเองก็ต้องทบทวนว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่หลีกหนีออกจากการยืนอยู่เคียงข้างประชาชนมากน้อยแค่ไหน” รามิล กล่าว

ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่โดนคดีทางการเมืองรามิลรู้ดีว่าคดีเหล่านี้กินเวลาในชีวิตเขามากเพียงใด ตั้งแต่การไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ จนกระทั่งขึ้นศาล คดีความทางการเมืองหลายคดียืดเยื้อมาก ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 63 จนถึงตอนนี้ “หลายคดีความก็ยังไม่สิ้นสุด ถ้าให้พูด ถ้าเราจะต้องพูดตามกฎหมาย คนที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ความผิดเขามีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว เพื่อที่จะออกมาต่อสู้คดี เขาก็ควรจะได้ใช้ชีวิตปกติเหมือนกับเราทุกคน”

สุดท้ายรามิลกล่าวว่า ตัวเขาเองไม่เคยพูดว่าเวลาอยู่ข้างเรา เวลาไม่อยู่อยู่ข้างใคร เวลาก็เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ “ผมคิดว่าถ้า "ประชาชนอยู่ข้างประชาชน" สิ่งนี้แหละที่เราจะมีความหวังกับมันได้มากกว่า ถ้าเวลาจะอยู่ข้างประชาชนก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราเลือกทำอะไรด้วย อย่าไปคาดหวังลมๆ แล้งๆ กับเวลาที่ไม่มีอยู่จริงเลย คาดหวังกับตัวเองที่ตระหนักเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองดีกว่า โลกจะเป็นอย่างไร สังคมการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้น” รามิล กล่าว

https://prachatai.com/journal/2024/09/110819