วันเสาร์, กันยายน 28, 2567

ไทยเป็นปลายทางขยะโลก!? - ย้ายอธิบดีพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แล้วนโยบายคุมเข้มขยะนำเข้าจะหายไปด้วยหรือไม่








https://t.co/84zzgPDM7e

.....


มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
Yesterday
·
ชวนแคลงใจ...ย้ายอธิบดีพาณิชย์ โยงพิษการลอบนำเข้าขยะ??
ผอ. บูรณะนิเวศห่วง ย้ายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแล้ว นโยบายคุมเข้มขยะนำเข้าจะหายไปด้วยหรือไม่
...
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 กันยายน 2567) ได้มีมติโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ระดับรองปลัดและอธิบดีกรมต่างๆ รวม 4 กรม ทั้งนี้รวมถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ถูกโยกไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งหมดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
.
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง แสดงความห่วงใยและคลางแคลงใจต่อกรณีดังกล่าว โดยอธิบายว่า “การโยกย้ายข้าราชการในช่วงสิ้นปีงบประมาณถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่กรณีของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มีความน่าสนใจ เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อน อธิบดีรณรงค์ พูลพิพัฒน์ เพิ่งออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับกรณีที่มีการพบขยะเทศบาลซุกซ่อนมากับเศษกระดาษที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทยสั่งนำเข้ามา ดังนั้นถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการคนเดียวที่แสดงความห่วงใยในปัญหาการลอบนำเข้าขยะ และได้ประกาศที่จะมีมาตรการเข้มต่อเรื่องนี้ต่อไปด้วย”
.
ตามข่าวที่นำเสนอโดยสำนักข่าว CNA หรือ Commercial News Agency เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ระบุว่า อธิบดีรณรงค์เปิดเผยว่า ทางกรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตามและได้เตรียมยกระดับความเข้มข้นของมาตรการในการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะหากปล่อยให้มีการนำเข้าขยะโดยไม่มีการกำจัดและบริหารจัดการที่ดี ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการบำบัดและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมก็ต้องใช้ระยะเวลานานและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงอีกด้วย
.
เขายังเปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 ทางกรมได้รับการรายงานมาเป็นระยะว่ามีผู้ประกอบการสำแดงการนำเข้าเศษกระดาษ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในโรงงานสำหรับผลิตเป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์ แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของสินค้ากลับพบว่ามีของเสียและวัสดุอื่นเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจัดว่าเป็นขยะอันตราย เช่น ของใช้แล้วจำพวกขวดพลาสติก โฟม ถุงพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หน้ากากอนามัย ถุงน้ำยาทางการแพทย์และสายยาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศษกระดาษที่สั่งซื้อเข้ามาไม่ได้รับการคัดแยกประเภทและไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งเจือปนที่ยอมรับได้จากประเทศต้นทาง โดยสินค้าที่มีของเสียและวัสดุอื่นเจือปนเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล ซึ่งเป็นสินค้าห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562
.
“ประเด็นสำคัญคือ อธิบดีรณรงค์ชี้ออกมาชัดเจนเลยว่า การนำเข้าเศษกระดาษที่ปะปนขยะดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังกล่าวฝากไปถึงผู้ประกอบการนำเข้า ให้เพิ่มความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการคัดเลือกตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อจะได้ไม่นำขยะจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน” เพ็ญโฉมกล่าว และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า คำพูดดังกล่าวของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนปัจจุบันถือได้ว่ามีความตรงไปตรงมา และสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในประเด็นปัญหา รวมถึงมีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดตามมา
.
“เราจึงติดใจว่า สิ่งที่อธิบดีเพิ่งประกาศไว้ที่จะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการในการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หรือพูดง่ายๆ คือ จะเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาการลอบแฝงขยะมาให้สินค้านำเข้า จะยังคงเป็นนโยบายของกรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ หรือจะปล่อยให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะจากต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในเงามืดต่อไป”
...
...
เรียบเรียงโดย ปานรักษ์ วัฒกะวงศ์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ขอบคุณภาพจาก กรมควบคุมมลพิษ และ prachachat.net
.....


มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
10 hours ago
·
ไทยเป็นปลายทางขยะโลก!? (ตอน 8-จบ: ข้อเสนอและคำเตือน (อีกครั้ง))
.
ในที่สุดก็มาถึงประเด็นที่เป็นข้อเสนอและทางออกต่อเรื่องที่ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางขยะของโลก ซึ่งเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นำเสนอไว้ในการแถลงข่าวหัวข้อ “เมื่อขยะโลกหลั่งไหลเข้าไทย เราจะรอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา
.
ประเด็นพื้นฐานจริงๆ ที่เพ็ญโฉมให้ความสำคัญคือการติดตามตรวจสอบ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่มูลนิธิบูรณะนิเวศจะทำด้วย
.
“จากหลายๆ คดี ไม่ว่าจะคดีเศษพลาสติกในอดีต ทุกวันนี้ก็ยังมีการนำเข้าตามโควต้าที่รัฐบาลอนุมัติอยู่ แต่ปีหน้าเราต้องตามดูว่าจะไม่มีการนำเข้าเลยจริงไหม หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีบางพิกัดเล็ดลอดนำเข้ามาได้ เรื่องการนำเข้ากากอะลูมีเนียม และเรื่องของการนำเข้ากระดาษใช้แล้วอย่างกรณีที่ผ่านมา เรารู้ว่านำเข้าโดยเอสซีจี แต่ฝุ่นแดงยังไม่ปรากฏชื่อผู้นำเข้า และเป็นล็อตที่ใหญ่พอสมควร จึงอยากให้มีการตรวจสอบว่า ผู้นำเข้าคือบริษัทอะไร ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าจะตรวจสอบจริงๆ จะหาผู้นำเข้าได้”
.
ประการต่อมา เพ็ญโฉมให้น้ำหนักที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย “เราคิดว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่กำกับดูแลต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และต้องมีการลงโทษจริงจังตามมาด้วย ทำให้เป็นตัวอย่าง เพราะไม่อย่างนั้น ประเทศไทยจะไม่สามารถพ้นจากการเป็นถังขยะหรือเป็นแหล่งรองรับขยะจากหลายๆ ประเทศได้”
.
ส่วนข้อเสนอในเชิงนโยบายประการแรกที่เพ็ญโฉมเอ่ยถึงคือ “เพิ่มระดับมาตรฐานระบบคัดแยกขยะและโรงงานรีไซเคิลขยะ ซึ่งอันนี้คิดว่า จากที่ผลการบังคับใช้คำสั่ง คสช. ที่ให้มีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และนำมาซึ่งการขยายตัวเติบโตของโรงงานรีไซเคิล โรงงานคัดแยก รวมถึงโรงงานหล่อหลอมด้วย ได้ทำให้ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมของบ้านเราชัดเจนขึ้น เป็นความเสียหายระดับที่รุนแรง ตรงนี้เราคิดว่า จริงอยู่ว่า โรงงานรีไซเคิลที่มีอยู่ทั้งหมด โรงงานไหนที่ทำผิดก็จัดการไป แต่โรงงานที่ประกอบกิจการอยู่ เราอยากให้เข้าไปตรวจมาตรฐานของการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานเหล่านั้น ไม่ว่าจะระบบการจัดการน้ำเสีย ระบบการฝังกาก/เศษซากที่เหลือจากกระบวนการ เราคิดว่าต้องมีการติดตามตรวจสอบ หรือมีมาตรการ อาจเป็นมาตรการช่วยเหลือ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในเรื่องการควบคุมมลพิษจากโรงงานเหล่านี้ เราคิดว่าตรงนี้ต้องมีการเพิ่มความระมัดระวัง”
.
เพ็ญโฉมขยายความไปถึงมาตรการที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วยว่า “เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งทราบว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามเรื่องนี้ ว่าในแต่ละจังหวัดมีโรงงานที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานเหล่านี้ ที่ไหน และเขามีการดูแลอย่างไร แต่เรายังไม่เห็นการรายงานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมว่า ผลจากการติดตามหรือว่าการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้เป็นอย่างไร ซึ่งอันนี้เราก็อยากให้ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเผยผลการติดตามนี้ และรายงานผลเรื่องมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานเหล่านี้ให้กับสาธารณะได้รับทราบด้วย”
.
ประเด็นเชิงนโยบายลำดับต่อไปที่เพ็ญโฉมเสนอคือ “เราอยากให้มีการทบทวนรายการสินค้าห้ามนำเข้า นอกจากรายการสินค้าที่มีการควบคุมโดยอนุสัญญาบาเซลแล้ว ประเทศไทยเองควรมีการทบทวนและห้ามนำเข้าสินค้าที่เป็นกากอุตสาหกรรมบางรายการ ไม่ว่าจะเป็นตัวอะลูมิเนียม ผงหรือกาก หรือว่าเศษฝุ่นต่างๆ จากอุตสาหกรรม เศษทองแดง เศษตะกั่ว เราคิดว่านี่เป็นการนำเข้าขยะอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศไทย”
.
ส่วนข้อเสนอต่อภาคเอกชนคือ “สำหรับบริษัทที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีฝุ่นแดง กากอะลูมิเนียม หรือว่ากระดาษ เราอยากเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทย/ต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพราะการกระทำเรื่องการนำเข้าขยะเหล่านี้มายังประเทศไทย ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม มันส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมมาก และมันส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ ถ้าคุณมีการนำเข้าหรือประกอบกิจการในสิ่งเหล่านี้ ก็อยากให้คุณเคารพสิทธิของชุมชนที่อยู่รอบๆ และประชาชนโดยรวมของประเทศด้วย ให้มีการลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ และก็ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย เมื่อกระทำผิดแล้ว ถูกจับกุมแล้ว ก็ขอให้รับผิดชอบไปตามตรง ตามกฎหมายนั้น”
.
ขณะเดียวกัน เพ็ญโฉมเรียกร้องบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบภาคเอกชนด้วย “ขอให้หน่วยงานที่กำกับดูแลมีการตรวจสอบรายชื่อของทุกบริษัทที่มีการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นนำเข้าโดยลักษณะของการสำแดงเท็จ หรือการลักลอบนำเข้ามา หรือโดยลักษณะของการกระทำผิดอย่างไรก็ตาม บริษัทที่ตรวจพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ขอให้มีการพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ และให้มีการดำเนินโทษตามกฎหมายจนกว่าบริษัทนั้นๆ จะมีการแก้ไข ยอมรับผิด แล้วมีการแก้ไขให้ถูกต้อง และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และขอให้ส่วนราชการเปิดเผยรายชื่อบริษัทเหล่านั้น ซึ่งอันนี้เราคิดว่าเป็นมาตรการทางสังคมที่จะปกป้องประเทศไทยให้รอดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ได้”
.
ทางด้านกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ซึ่งเป็นผู้ร่วมแถลง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีประเด็นขยะหรือวัสดุใช้แล้วแฝงมาด้วย
.
“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจรจา FTA อยู่หลายฉบับ ฉบับที่เป็นฉบับใหม่ๆ ก็คือเจรจากับประเทศในสหภาพยุโรป หรือว่า อียู-ไทยเอฟทีเอ นอกเหนือจากที่คุณเพ็ญโฉมบอกแล้วว่า ทางประเทศแถบยุโรปพยายามไม่ให้มีการทิ้งขยะแบบนี้ส่งออก แต่มันก็มีการไหลออกมา แต่นอกเหนือจากนั้น ในการเจรจาเอฟทีเอฉบับนี้ มีเรื่องของ remanufacturing ก็คือเป็นเรื่องสินค้า โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ เขาเรียกว่า “ทำเสมือนใหม่” ก็คือเป็นของเก่านั่นแหละ แล้วมาโมนิดหน่อย แล้วก็บอกว่าเหมือนใหม่ ดังนั้น เวลาประเทศคุณจะจัดซื้อจัดจ้าง ห้ามมีข้อรังเกียจสินค้าเหล่านี้
.
“ข้ออ้างหนึ่งก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นการไม่ใช้ทรัพยากรเพิ่ม แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีศักยภาพในการตรวจว่าใหม่หรือเสมือนใหม่ หรือเสมือนใหม่นั้นเท่ากันกับใหม่ไหม มีความสามารถเท่าของใหม่หรือเปล่า คุณก็รับได้ แต่ถ้าประเทศที่ไม่มีศักยภาพ ก็เท่ากับคุณอาจได้ของเก่าในคราบใหม่ไม่รู้ตัว ใช้แค่สองสามปีแรกดูเท่าของใหม่ แต่ในที่สุดมันจะกลายเป็นขยะในเวลาอันรวดเร็ว
.
“ในช่วงรัฐบาลที่แล้วที่ไทยอยากเจรจา CPTPP ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ก็มีเนื้อหาแบบนี้ นี่ก็เป็นข้อห่วงใยของกระทรวงสาธารณสุข อย. ถึงขั้นบอกเลยว่า ถ้าจะให้เขามีศักยภาพในการตรวจเครื่องมือแพทย์ ว่าเสมือนใหม่นี่มันเทียบเท่าได้ไหมกับของใหม่ เขาต้องใช้กำลังคน ข้าราชการ อีกเป็น 100 คน และใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เคยได้ แม้เคยพยายามขอไว้เหมือนกัน”
.
“ฉะนั้น การเจรจา FTA ที่มีอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลำบากมากจริงๆ มันจะคล้ายๆ JTEPA ที่เราเคยบอกว่ามันไม่ใช่แค่ขยะมีพิกัดภาษีศุลกากร”
.
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กรรณิการ์ได้ย้อนกล่าวถึงความพยายามของ FTA Watch และมูลนิธิบูรณะนิเวศที่ออกมาเตือนรัฐบาลไทยและสังคมไทยตั้งแต่เมื่อราว 17-18 ปีก่อน ว่าในร่างข้อตกลงการค้ากับประเทศญี่ปุ่น (JTEPA) มีการเปิดช่องให้มีการส่งออกและนำเข้าขยะหลายชนิด แต่กลับถูกสถาบันวิจัยระดับประเทศมองข้ามอย่างดูเบาว่าเป็นเพียงชื่อรายการสินค้าเพื่อกิจกรรมด้านภาษีเท่านั้น
.
ฉะนั้น ในครั้งนี้รองประธาน FTA Watch จึงพยายามส่งเสียงเตือนอีกครั้ง เช่นเดียวกับผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศที่เสนอชัดเจนว่า “อยากให้ทบทวนการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของ FTA หรือ EPA ว่ารายการไหนที่มันกระทบกับสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องรายการที่เป็นสินค้าขยะทั้งหมด ควรมีการกำกับให้ดีและควรจะแบน”
...
...
เรียบเรียงโดย ปานรักษ์ วัฒกะวงศ์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
.
อ่าน 'ซีรีย์ไทยเป็นปลายทางขยะโลก!?'
ตอนที่ 1 : ทวงถามความรับผิดชอบ กรณีนำเข้าเศษกระดาษ แต่มี “ขยะเทศบาล” ปนมาด้วย
https://shorturl.asia/k2SJG
.
อ่านตอนที่ 2 : ข้อมูลชี้...การนำเข้าขยะพุ่งและมีมากมายหลายชนิด https://shorturl.asia/a4nJi
.
อ่านตอนที่ 3 : การลอบนำเข้า/ส่งออกขยะเกิดขึ้นเป็นการทั่วไป!? https://shorturl.asia/B38qT
.
อ่านตอนที่ 4 : เตือนมาก่อนตั้งเกือบ 20 ปี แล้วขยะก็หลั่งไหลมาจริงๆ
https://shorturl.asia/j8erR
.
อ่านตอนที่ 5 : นโยบายที่เป็นการเปิดประตูรับขยะ
https://shorturl.at/FHWZ3
.
อ่านตอนที่ 6 : ผลกระทบและพิษภัยที่ตามมา
https://shorturl.at/ZhBEh
.
อ่านตอนที่ 7 : มาตรการและเครื่องมือที่จะปกป้องตนเองของไทย
https://shorturl.at/gNlcy