วันอังคาร, กันยายน 24, 2567

หอการค้าตั้งโต๊ะแถลง จี้แบ๊งค์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย เหตุค่าเงินบาทแข็งสุดในรอบ ๑๙ เดือน กระทบส่งออกขาดทุน อาจถึง ๑.๓ แสนล้านตอนสิ้นปี

งานเข้าแล้วละ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดนภาคธุรกิจจี้ยิก แก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าด่วนจี๋ โดยเฉพาะเร่งให้ลดอัตราดอกเบี้ยไวๆ ทั้งที่ ผู้ว่าฯ เพิ่งตอบกรณี เฟ็ด ธนาคารกลางสหรัฐเพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงหมาดๆ

เมื่อวันเสาร์ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ บอกว่าประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องลดค่าเงินบาทตามเฟ็ดสหรัฐ แม้ค่าเงินบาทเริ่มแข็งตัว ถึงอย่างนั้นก็กำลังดูอยู่ แต่พอวันจันทร์ ค่าเงินแข็งขึ้นไปอีกจากเมื่อ ๒๐ กันยา เป็น ๓๒.๙๑ (ตอนเช้า ๓๒.๘๗)

คราวนี้ฮือฮากันมากมาย ทั้งหอการค้าไทย และสมาคมการค้าอื่นๆ รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออก ต่างบอกว่าไม่ไหวแล้ว เงินบาทแข็งตัวที่สุดในรอบ ๑๙ เดือนอย่างนี้เสียหายมาก นอกจากกระทบการส่งออกแล้วยังกระเทือนการท่องเที่ยวด้วย

ขนาดนี้ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมสูญรายได้ไปแล้ว ๕ หมื่นล้านบาท หากแนวโน้มยังไม่ยอมอ่อนไปจนถึงสิ้นปี ความเสียหายถึง ๑.๓ แสนล้านบาทแน่ๆ รายการเรื่องเล่าเช้านี้เอาตัวเลขจากสมาคมผู้ผลิตไก่มาแจงว่าทำให้ราคาไก่ลดลง

ราคาไก่มีชีวิตเคยอยู่ที่กิโลละ ๔๔ บาท ผลของค่าเงินบาทแข็งทำให้ราคาลดเหลือ ๔๐ บ./ก.ก. เช่นนี้เกษตรกรก็ขาดทุนแล้ว เพราะต้นทุนจะอยู่ที่ ๔๑-๔๒ บาท/ก.ก. อีกทั้งไม่สามารถแข่งขันกับบราซิลในตลาดโลกได้ เพราะของเขาค่าเงินอ่อนลง ๓-๔%

ครั้งนี้ค่าเงินบาทของเราแข็งขึ้น ๑๐-๑๒% แม้นว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก็ค่าเงินแข็งเหมือนกัน ที่ +๙.๐๘% แต่นั่นเขาไม่ได้แข่งขันกับเราในสินค้าส่งออกอย่างเดียวกัน และการลดอัตราดอกบี้ยก็ไม่ใช่หนทางแก้โดยตรง ทว่าช่วยได้

ประเด็นความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จะให้แบ๊งค์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย มีมาแต่ครั้งที่ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ แล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถทัดทานมาได้ตลอด ด้วยหลักการที่ว่าธนาคารกลางต้องตั้งมั่นในเป้าหมายรักษาสภาวะเศรษฐกิจระยะยาว

ดูจากการดำเนินนโยบายของเฟ็ดสหรัฐ ซึ่งใช้หลักการเดียวกันในความเป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมือง กว่าจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็ดูแล้วดูอีก ทัดทานกระแสกดดันของภาคธุรกิจมานานทีเดียว พอได้จังหวะประกาศ

ก็ปะเหมาะทำให้เศรษฐกิจพุ่งกระฉูดขานรับทันที

(https://www.posttoday.com/business/713577, https://www.youtube.com/watch?v=vnCPlcUSku0 และ https://www.nationtv.tv/economy-business/378948952)