วันพฤหัสบดี, กันยายน 05, 2567

'Nepo Babies' : เมื่อ ‘บ้านใหญ่’ ครองการเมือง แล้ว ‘ลูกท่าน’ เข้ามาทำงาน กรณีศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป



จะเป็นอย่างไรในวันที่ ‘ลูกท่าน’ ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง?

2 Sep 2024
101 World

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บทความชิ้นหนึ่งใน The Economist พาดหัวได้เตะตาว่า เหล่าลูกท่านหลานเธอแห่งเอเชียกำลังสยายปีกบนเวทีการเมือง ส่วนเมื่อปลายเดือนสิงหาคมก็มีบทความใน Financial Times ต้อนรับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมกลุ่มผู้นำลูกท่านหลานเธอแห่งเอเชีย

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการเมืองคือเรื่องของครอบครัวโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อย่างในฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี 3 ใน 4 คนล่าสุดต่างเป็นลูกของอดีตประธานาธิบดี ส่วนที่กัมพูชา สมเด็จฮุน เซน (Hun Sen) ผู้นำที่ครองอำนาจมายาวนานนับสี่ทศวรรษก็ส่งไม้ต่อให้กับฮุน มาเนต (Hun Manet) บุตรชาย ขยับมาที่บังคลาเทศ ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) บุตรสาวของชีค มูจิบู เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) ประธานาธิบดีคนแรกและเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ ก็คว้าชัยเหนือ คาเลดา เซีย ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกคำสั่งคุมขังในบ้านระหว่างเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนที่ฮาสินาจะถูกมวลชนประท้วงขับไล่จนต้องลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปยังอินเดียเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และยังไม่นับครอบครัวผู้นำแห่งเกาหลีเหนือที่สืบทอดกันมาจนถึงรุ่นที่สาม

ส่วนประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์

เหล่าลูกท่านหลานเธอมีศัพท์แสงเฉพาะซึ่งเป็นที่นิยมในมวลชนอินเทอร์เน็ตว่า ‘nepo baby’ ซึ่งขึ้นแท่นศัพท์ฮิตติดชาร์ตนับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน คำว่า nepo ในชื่อดังกล่าวมาจาก nepotism ที่มีนิยามอย่างกว้างว่าการเลือกที่รักมักที่ชังโดยเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและเครือญาติ ส่วนคำว่า nepo baby เป็นคำเรียกรวมๆ ของเหล่าคนรุ่นใหม่เส้นสายดีที่หลายคนก้าวไปได้ไกลในหน้าที่การงานเพราะพ่อแม่โด่งดังหรือประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในแวดวงหรืออุตสาหกรรมเดียวกันกับพ่อแม่

แน่นอนครับว่าประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมไม่ค่อยปลื้มปิตินักกับการประสบความสำเร็จของเหล่าลูกท่านหลานเธอ บางคนอาจคิดดูแคลนด้วยซ้ำว่าเป็นใหญ่เป็นโตได้เพราะมีพ่อแม่สนับสนุน แต่ในทางกลับกัน หากลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ตัวผมในวัยเด็กก็อยากโตไปเป็นผู้พิพากษาเหมือนกับพ่อ แถมยังวิ่งเล่นในศาลมาตั้งแต่เล็กๆ ในบ้านก็เต็มไปด้วยหนังสือกฎหมาย และยังมีผู้เชี่ยวชาญอย่างพ่อที่พร้อมคุยทุกมิติของชีวิตผู้พิพากษาอยู่ใกล้ตัว

แต่ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่ผมดันสอบติดคณะบัญชีเสียก่อน แถมครอบครัวก็เห็นดีเห็นงามให้เรียนไปทางนั้นแม้ว่าจะไม่มีคนใกล้ชิดทำงานในสายนี้เลย ถ้าผมเลือกเดินบนเส้นทางกฎหมายเหมือนพ่อ รับรองว่าต้องมีคนค่อนขอดว่าผมเองก็เป็นหนึ่งใน ‘nepo baby’ อย่างแน่นอน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกท่านหลานเธอบางคนเติบโตตามความฝันที่อยากเป็นเหมือนพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก ลูกในบ้านนักการเมืองก็ย่อมใฝ่ฝันอยากเป็นนักเมือง ลูกในบ้านดาราก็วาดหวังว่าวันหนึ่งจะได้โด่งดังเหมือนพ่อแม่ แน่นอนครับว่าบางคนมีพรสวรรค์โดดเด่นที่เมื่อผนวกกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็พร้อมจะเติบโตเปล่งประกาย ขณะที่ลูกท่านหลานเธอบางคนไร้ความสามารถ แต่ก้าวเข้าเป็นดาวเด่นในวงการได้ด้วย ‘แรงดัน’ ของพ่อแม่ล้วนๆ

ดังนั้น เราอย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าเขาหรือเธอ ‘เหมาะสม’ กับตำแหน่งหรือไม่ แต่ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

น่าเสียดายที่ผมพยายามค้นหางานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับลูกท่านหลานเธอในประเทศไทยไม่เจอ แต่โชคดีที่ภาคการเมืองมีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับตระกูลการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างฟิลิปปินส์ ส่วนในภาคธุรกิจก็มีหลายชิ้นที่น่าสนใจซึ่งศึกษาในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

เมื่อ ‘บ้านใหญ่’ ครองการเมือง: กรณีศึกษาประเทศฟิลิปปินส์

การเมืองของฟิลิปปินส์อยู่ใต้อิทธิพลของตระกูลนักการเมืองมาอย่างยาวนาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรราว 8 จาก 10 คนและเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นที่เข้ารับตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งราวครึ่งหนึ่งต่างมาจากตระกูลการเมือง มีการศึกษาพบว่าตระกูลการเมืองที่ครองอำนาจยาวนานมีแนวโน้มจะฉกฉวยผลประโยชน์เข้ากระเป๋า เนื่องจากการแข่งขันทางการเมืองที่ไม่ร้อนแรงทำให้เหล่าตระกูลการเมืองขาดแรงจูงใจที่จะทำผลงานให้โดดเด่นครองใจประชาชน การสั่งสมอำนาจของตระกูลการเมืองในระดับท้องถิ่นยังส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมทั้งลดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม โรนัลด์ เมนโดซา (Ronald Mendoza) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ตามติดประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดกลับพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการครองอำนาจของเหล่าบ้านใหญ่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกลุ่มเมืองบนเกาะลูซอน เกาะศูนย์ทางการเศรษฐกิจและการเมืองของฟิลิปปินส์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เทียบกับกลุ่มเมืองนอกเขตลูซอนที่ยังคงตกอยู่ในความยากจนและเหลื่อมล้ำ

เมนโดซาอธิบายว่า ความแตกต่างดังกล่าวเกิดจากการคานอำนาจการเมืองของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่เป็นอิสระ และเมื่อผนวกกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคัก ก็จะยิ่งหนุนเสริมให้กลไกธรรมาภิบาลที่คอยกำกับดูแลนักการเมืองทำงานได้อย่างเต็มที่ แรงคัดง้างเช่นนี้เองที่ส่งผลให้ถึงแม้ตระกูลการเมืองจะครองอำนาจในสภาฯ และอำนาจบริหารอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปด้วยเช่นกัน

การศึกษาของเมนโดซาและคณะพบว่า ตระกูลการเมืองนอกเขตลูซอนมีพฤติกรรมโกงกินเนื่องจากกลไกตรวจสอบในเชิงสถาบันไม่ทำงาน อีกทั้งแทนที่เหล่าชนชั้นนำในภาคธุรกิจจะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของเหล่าตระกูลการเมือง พวกเขากลับทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างช่องว่างทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ในทางกลับกัน เศรษฐกิจในเขตลูซอนยังคงเติบโตได้อย่างยอดเยี่ยมเนื่องจากแรงกดดันของภาคธุรกิจต่อตระกูลการเมือง แต่กระนั้นผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้รับการปันส่วนอย่างเหมาะสมสะท้อนจากสัดส่วนคนจนที่ยังใกล้เคียงเดิม ดังนั้นตระกูลการเมืองในลูซอนไม่ได้ช่วยบรรเทาความยากจนหรือทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม แต่พวกเขาเดินหน้าโดยหาทาง ‘สมประโยชน์’ กับชนชั้นนำภาคธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำให้เศรษฐกิจเติบโตแต่ไม่ได้สนใจเรื่องการขจัดความเหลื่อมล้ำ

เมนโดซามองว่าการครองอำนาจของเหล่าตระกูลการเมืองสมัยใหม่เข้าข่ายการเป็น ‘ผู้ฉกฉวยทรัพยากรแบบถาวร (stationary bandit)’ ตามแนวคิดที่เสนอโดยสองนักเศรษฐศาสตร์การเมือง มาร์ติน ซี. แมคไกวร์ (Martin C. McGuire) และ แมนเคอร์ โอลสัน (Mancur Olson) โดยเหล่าตระกูลการเมืองจะให้ความสำคัญกับความนิยมในหมู่ประชาชนและการพัฒนาท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ขยายอำนาจและงบประมาณภาครัฐเพื่อถ่ายโอนทรัพยากรจากภาษีประชาชนเข้ากระเป๋าพวกพ้องผ่านการดำเนินนโยบายหรือการใช้จ่ายเงินงบประมาณซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

เห็นได้ว่าผลกระทบจากการสืบทอดอำนาจของตระกูลการเมืองกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับบริบททางสถาบันและเครือข่ายอำนาจซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แม้แต่ในประเทศฟิลิปปินส์เอง ตระกูลการเมืองในเขตลูซอนกับนอกเขตลูซอนก็สร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว ดังนั้นหากหันกลับมาดูในประเทศไทย เราต้องตั้งต้นจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าตระกูลการเมืองกับชนชั้นนำทางธุรกิจว่าใกล้ชิดสนิทสนมกันมากเพียงใด รวมถึงความแข็งแกร่งและความนิยมของพรรคคู่แข่งในการคานอำนาจซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของรัฐบาลทั้งสิ้น

เมื่อ ‘ลูกท่าน’ เข้ามาทำงาน: กรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

แม้คนจำนวนไม่น้อยจะไม่ชอบใจนักเมื่อเจอกับการเลือกที่รักมักที่ชังในบริษัท แต่พวกเขาก็อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ทำอะไรไม่ได้ เช่นการที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวจะให้เงินเดือนและสวัสดิการเหล่าเครือญาติดีกว่าพนักงานภายนอก หรือการที่ลูกหลานที่เพิ่งเรียนจบมาไม่นานสามารถ ‘กระโดดข้ามหัว’ พนักงานคนอื่นๆ มาสู่ตำแหน่งผู้บริหารได้ทันทีแม้จะยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ความสามารถ เพราะสุดท้ายแล้วอำนาจตัดสินใจทั้งหมดก็อยู่ในมือเหล่า ‘ท่านประธานบริษัท’ ที่ตั้งต้นธุรกิจมาตั้งแต่วันแรก

เรื่องราวเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไปเพราะธุรกิจกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยนั้นครอบครองโดยครอบครัว แม้แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกินกว่าครึ่งหนึ่งก็ยังมีลักษณะเป็น ‘อาณาจักรของตระกูล’ โดยอาจถือหุ้นส่วนใหญ่หรือบริหารจัดการโดยคนในครอบครัว

น่าเสียดายที่ผู้เขียนหางานวิจัยว่าเมื่อเหล่า ‘ลูกท่านหลานเธอ’ เข้าไปทำงานในธุรกิจของพ่อแม่แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ แต่โชคดีที่ผมค้นเจองานวิจัยที่น่าสนใจสองชิ้นด้วยกันที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

ชิ้นแรกคือแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารของบริษัทกว่า 10,000 แห่ง โดยสองนักเศรษฐศาสตร์นิโคลัส บลูม (Nicholas Bloom) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และจอห์น แวน เรเนน (John Van Reenen) จากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที เพื่อวิเคราะห์ว่าวิธีการบริหารจัดการแบบไหนที่ส่งผลให้บริษัทสำเร็จหรือล้มเหลว พวกเขาพบว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อวิธีการบริหารบริษัทคือการที่เหล่าลูกท่านหลานเธอได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารหรือเปล่า

บลูมให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NPR ว่า “พวกเราพบว่าการบริหารในธุรกิจครอบครัวจะเลวร้ายลงอย่างมากหากมีการส่งมอบตำแหน่งผู้บริหารให้กับลูกชายคนโต เพราะพวกเขามีทักษะการบริหารที่เลวร้ายและมักทำให้ธุรกิจล้มละลายในท้ายที่สุดเนื่องจากการจัดการที่ย่ำแย่” บลูมยังเล่าติดตลกอีกว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ถ้าคุณอยากคว้าแชมป์โลกในปี 2040 อย่าเลือกแต่ลูกชายหรือลูกสาวคนโตของทีมนักเตะในปี 2020 มาลงสนาม”

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งไม่ได้เจาะเฉพาะแค่การสืบทอดตำแหน่งในธุรกิจครอบครัว แต่เป็นการวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการที่รุ่นลูกที่เข้าไปทำงานในบริษัทเดียวกันกับพ่อแม่ โดย แมทธิว สเตเกอร์ (Matthew Staiger) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทำการวิเคราะห์ข้อมูลรายได้พนักงานทั้งในบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการศึกษาพบว่าชาวอเมริกันที่เรียนจบใหม่และอายุไม่ถึง 30 ปีมีสัดส่วนราวหนึ่งในสามที่เคยทำงานในบริษัทที่พ่อแม่ของตัวเองทำงานอยู่ โดยเหล่าลูกท่านที่เลือกเดินทางนี้จะมีรายได้สูงกว่าคนอื่นๆ ถึง 19 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าทำงานในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่จ่ายเงินเดือนสูง แม้ว่าภายหลังพวกเขาจะย้ายที่ทำงาน ผลลัพธ์จากการเริ่มงานแรกด้วยเงินเดือนที่สูงกว่าคนอื่นๆ ก็ยังทำให้พวกเขามีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยราว 7 เปอร์เซ็นต์ในระยะยาว

งานวิจัยทั้งสองชิ้นฉายให้เห็นเหรียญสองด้านจากการสืบทอดตำแหน่งโดยเลือกจากคนในครอบครัว ชิ้นแรกมองว่าการเลือกลูกชายคนโตมาสืบทอดธุรกิจนั้น ‘ไม่มีประสิทธิภาพ’ เนื่องจากไม่ได้คัดที่ความเหมาะสมหรือความสามารถ ส่วนชิ้นที่สองสะท้อนว่าเส้นสายนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบกว้างขวางกว่าแค่การสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารในธุรกิจครอบครัว

แน่นอนครับว่าบริบทในประเทศไทยทั้งในภาคการเมืองและภาคธุรกิจย่อมแตกต่างจากประเทศที่มีการศึกษาในงานวิจัยเหล่านี้ แต่อย่างน้อยเราก็พอจะยืนยันได้ว่าวลี “เลือดข้นกว่าน้ำ” คือของจริงและอาจส่งผลกระทบต่อหลากหลายมิติในชีวิตของเรามากกว่าที่คิด

เอกสารประกอบการเขียน

Political dynasties, business, and poverty in the Philippines
Asian “nepo babies” are dominating its politics
Nepo babies are taking over the workplace
Tracking ‘nepo baby’ effect on young Americans’ earnings
Why Nepo Babies Are Bad For Business (Sorry, ‘Succession’)
Nepo Babies and the Myth of the Meritocracy


เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพประกอบ: จิราภรณ์ บุญเย็น

(https://www.the101.world/nepo-baby-curious-economist/)