เอาอีกแระ ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ แหวกแนวนิติธรรมกำหนดกฎหมายเอง เพียงมุ่งหมายจะเก็บ ‘รุ้ง’ เข้าห้องขังร่วมกับเพื่อนๆ เยาวชนปฏิรูปของเธอ ไว้เท่านั้น นี่คือวิธีการของพวกเปลี่ยนลุค มายืนฝันใฝ่ ใส่เสื้อฮาวายลายสีฟ้าริมหาด
ไม่ให้ประกันตัวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล “ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จากการทำกิจกรรม ‘ใคร ๆ ก็ใส่ครอปท็อป’ ไปเดินสยามพารากอน” เมื่อปลายธันวา ๖๓ ศาลอ้างจำเลยเคยทำลักษณะนี้มาแล้วหลายคดี
“หลังจากจำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๒ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญา ก็ไปกระทำซ้ำซึ่งอาจเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามของศาลอาญา จนพนักงานอัยการร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว” รุ้งเป็นจำเลยที่สองในจำนวน ๕ จำเลย
ทนาย นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ยังไม่ได้ซักค้าน แค่ถามว่า ศาลเอาข้อเท็จจริงเป็นคุ้งเป็นแควดังกล่าว ‘มาจากไหน’ ในเมื่อ “คดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง และโจทก์ก็ไม่คัดค้านการประกันตัว” แล้วใครล่ะทำรายงานเท็จเสนอศาล
และถ้าไม่มีใครทำรายงานเท็จนี้ ศาลใช้อำนาจบาตรใหญ่ ที่สร้างเอง เออเอง เป็นการเอา “ข้อเท็จจริงนอกสำนวน” มาใช้ในการพิจารณาคดี “เพราะฝ่ายจำเลยก็ไม่มีโอกาสได้โต้แย้งในประเด็นนี้มาก่อนเลย” เพียงแค่อัยการร้องขอก็พอแล้วหรือ
“แม้แต่ในศาลอาญาก็ยังนัดไต่สวนอยู่เลย ศาลอาญายังไม่มีคำสั่งด้วยซ้ำว่ารุ้งได้ทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ หรือจะถูกเพิกถอนการประกันตัวหรือไม่” ทนายนรเศรษฐ์ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีหลายคดีที่ตำรวจและอัยการยื่นขอเพิกถอนการประกันตัว
ศาลต้องไต่สวนทุกกรณี เมื่อไม่เจอเหตุอันใดเข้าข่ายข้อเท็จจริงให้เพิกถอนได้ ดัง “กรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และคดีของคุณอานนท์ นำภา หรือคดีน้องตี้ ศาลก็ยกคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว” แต่ในคดีรุ้งศาลอ้างเองดื้อๆ ว่าถ้าปล่อย
จำเลย ‘อาจจะ’ “ไปกระทำการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกันกับคดีนี้อีก” ซึ่งการอ้างเช่นนี้เป็นมโนจริตโดยแท้ เนื่องเพราะ “เหตุผลข้อนี้ขัดต่อมาตรา ๑๐๘/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ใช่มะศาลจ๋า
ไม่เชื่อ ฯพณฯ หัวเจ้าทั่นศาล กรุณาไปเปิดดูกฎหมายมาตรานี้สักที จะได้ทราบว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อ” ผุ้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ไม่เช่นนั้นก็
“ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ” และ/หรือ “การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล” เหล่านั้นไม่ปรากฎว่าคำสั่งศาลอาญาใต้เข้าข่ายอะไรสักอย่างเดียว
นอกนั้นทนายนรเศรษฐ์บอกอีกว่า “คำสั่งของศาลขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา๒๙ วรรคสาม” ด้วยไหม ด้วยเหตุที่มาตรา ๒๙ ระบุว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้หลบหนี” เท่านั้น
ตามหลัก ‘ยุติธรรม’ ผู้ใช้กฎหมายทั้งหลายย่อมต้องจำใส่กบาลไว้ตลอดเวลาว่า “ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” เหตุผลที่ศาลอ้างไม่ให้ประกันรุ้ง เท่ากับว่า ศาลได้พิพากษาไปแล้วก่อนดำเนินคดี ว่าผู้ต้องหามีความผิด
ทั้งที่ “ยังไม่มีการพิสูจน์ด้วยซ้ำว่า จำเลยได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ หากทำจริงการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่” ด้วย แล้วยิ่งกว่านั้น เพื่อนร่วมโดนฟ้องร้องในคดีเดียวกันอีกสองคน
คือเบนจากับป็อกกี้ (เบนจา อะปัญ กับ ภวัต หิรัณย์ภณ) “ก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไปก่อนหน้าแล้ว แต่เหตุใดศาลถึงไม่อนุญาตประกันตัวรุ้ง” นั่นน่ะสิ
(https://www.facebook.com/ronsan.huadong/posts/4527436994016260 และ https://www.bbc.com/thai/thailand-59293526atDWo)