วันอังคาร, พฤศจิกายน 16, 2564

โกหกระดับโลก.. คิดว่าเค้าไม่รู้ทัน


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
14h ·

ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 เวลา 15.00 น. (ตามเวลาไทย) คณะผู้แทนของประเทศไทย นำโดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงต่อคำถามที่หลายประเทศได้แสดงความกังวล รวมถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในหลายประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และการใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระมหากษัตริย์) ดำเนินคดีประชาชนและเยาวชน
.
ในวันที่จัดประชุมทบทวนดังกล่าว ชาติสมาชิกหลายประเทศ ยังได้แสดงความกังวลในเรื่องการจับกุมนักกิจกรรมประชาธิปไตย รวมถึงเยาวชน การใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีต่อประชาชนที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกความคิดเห็น ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
.
ชาติสมาชิกได้เสนอข้อแนะนำที่มีต่อรัฐบาลไทยในประเด็นมาตรา 112 ขอให้มีการทบทวนและแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยุติการดำเนินคดีประชาชน โดยมีทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เดนมาร์ก แคนาดา เบลเยี่ยม ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก ทั้งนี้ทางสหรัฐอเมริกาและสวีเดนเสนอข้อแนะนำให้ยกเลิกอัตราจำคุกขั้นต่ำของข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย
.
รวมถึงข้อเสนอให้ยุติการจับกุมและการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ต่อเด็กและเยาวชน และหลีกเลี่ยงการคุมขังเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดและการชุมนุมโดยสงบ โดยเป็นข้อเสนอจาก 4 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ออสเตรีย เดนมาร์ก และฟินแลนด์
.
ประเทศเหล่านี้ยังมีข้อเสนอให้ไทยรับรองว่าจะเคารพพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ข้อที่ 13, 15 และ 37 ว่าเด็กมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการได้รับการรับฟัง เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเด็กไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงข้อบทที่ 40 ว่าเด็กและเยาวชนจะต้องไม่ได้รับโทษทางอาญาที่หนักที่สุด ในบริบทของข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112
.
ในรอบนี้มีชาติสมาชิกที่เสนอข้อแนะในประเด็นมาตรา 112 มากกว่ารอบที่สอง อยู่ทั้งหมด 8 ประเทศ
.
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงด้วยวาจาในประเด็นมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย ต่อที่ประชุม ว่าข้อกฎหมายนี้เป็นเกราะป้องกันการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศ และมีความเชื่อมโยงกับความมั่นคงแห่งชาติ การใช้ข้อกฎหมายนี้มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเพื่อให้ความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยเฉพาะทางพนักงานอัยการ ทั้งนี้การร้องเรียนในบางคดีก็ไม่ได้ถูกสั่งฟ้องต่อศาล
.
ปลัดกระทรวงต่างประเทศระบุว่า สำหรับคนที่ถูกกล่าวหา ถ้าไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะกระทำการละเมิดกฎหมายซ้ำ ก็จะได้รับการประกันตัว รวมถึงได้ระบุในส่วนการแก้ไขทบทวนกฎหมายฉบับนี้ว่า การจะแก้ไขทบทวนกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณา อีกทั้งยืนยันการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม โดยการแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องกระทำด้วยความสร้างสรรค์และอย่างเหมาะสม
.
ส่วนผู้แทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงว่าไทยได้มีการแก้ไขมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สำหรับการสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์นั้น จะมีการสอบสวนโดยคณะกรรมการก่อนเสมอ และในปีที่ผ่านมาทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข่าวปลอมและให้ข้อมูลที่ถูกต้องของสังคม พร้อมทั้งยังยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งมั่นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกความคิดเห็นของประชาชนและสื่อ
.
ทั้งนี้คณะผู้แทนของประเทศไทยไม่ได้แถลงด้วยวาจาเพื่อตอบคำถามและกล่าวถึงข้อเสนอแนะในประเด็นเด็กและเยาวชน ในบริบทของการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการดำเนินคดีร้ายแรงต่อเด็กเยาวชนแต่อย่างใด
.
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา พบว่าข้อชี้แจงดังกล่าวต่อนานาชาติไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยมีประเด็นสรุปได้ว่า
.
1.เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ และมีการตีความที่กว้างขวางอย่างไม่มีขอบเขต
.
2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ไม่มีความผิด ฉะนั้นแล้วการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะต้องปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
.
3.การเรียกร้องของประชาชนให้แก้ไขตัวบทกฎหมาย แต่กลับโดนดำเนินคดีแทน นับตั้งแต่การกลับมาบังคับใช้กฎหมายข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีจำนวนทั้งหมด 157 คน ใน 161 คดี รวมเยาวชนอีก 12 คน ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องแล้วกว่า 58 คดี
.
4. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใช้ปราบปรามความคิดเห็นทางออนไลน์ทั้งที่กฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กว่า 115 คดี ในจำนวนนี้มี 91 คดี ที่ถูกดำเนินคดีร่วมกับข้อหามาตรา 112 โดยจำนวนกว่า 10 คดี มีทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กล่าวหา
.
5. กระทรวงดิจิทัลฯ ขอศาลปิดกว่า 4,024 URLs ที่แสดงออกทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมถึงสื่อในช่วงปี 63 พร้อมขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และมาตรา 20
.
6. รัฐคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมแกนนํานักเรียนนักศึกษาและเด็ก จากการประท้วงตลอดปี 2563 นักเรียนและนักศึกษาหลายคนรายงานว่า ตํารวจได้ไปยังโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขา
.
7.เจ้าหน้าที่รัฐยกระดับการดําเนินการทางกฎหมายต่อแกนนํานักเรียน นักศึกษา และเด็กเยาวชน ไม่ให้เข้าร่วมการประท้วง ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2564 (วันที่ส่งรายงาน) มีเยาวชน 17 คนที่ถูกตํารวจควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ หรือไม่มีการแจ้งเหตุผลในการจับกุม มีเยาวชน 1 รายถูกตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมี 6 ราย ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
.
8.เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการอันไม่ชอบธรรมจับกุม กักขัง และดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน มีผู้เยาว์หลายคนที่เผชิญหน้ากับการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ มีผู้เยาว์อย่างน้อย 95 ราย ถูกควบคุมตัวและได้รับแจ้งข้อกล่าวหาในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 1 หรือสำนักงานกองปราบปราบยาเสพติด
.
.
อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/37769