วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 14, 2564

สว.ปักหลักต้าน ไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ๑๖ พ.ย.นี้ อ้างสภาเดียวไม่เหมาะประเทศไทย

สามวันก่อนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา บรรดา สว.ตู่ตั้งดาหน้ากันออกมาปักหลักค้าน ต้านกันเป็นปราการไว้แล้ว แม้บางคนบอกว่า “ยังไม่มีธง” รอฟังคำอภิปรายของผู้เสนอร่าง และผลการประชุมปรึกษากันในวุฒิสภาวันพรุ่งนี้

พีระศักดิ์ พอจิต อุตส่าห์มีมิตรจิตว่า เหตุที่รอฟังผู้เสนอ เผื่อ “จะได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่อาจจะนึกไม่ถึง” แต่ เสรี สุวรรณภานนท์ สว.คนดังฟันธงไปแล้ว “มีโอกาสผ่านยาก” เพราะเนื้อหาของการแก้ไข “เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง”

ทั้งของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง องค์กรอิสระ เขาตั้งแง่ไว้เลยว่า “และยังเปิดช่องให้แทรกแซงการทำงานของศาลและองค์กรอิสระได้” พร้อมทั้งกล่าวหาว่า รู้อยู่แล้วจะไม่ผ่าน ก็ยังดันทุรังเสนอเข้าไปด้วยเจตนาแฝงเร้น

“ยังเสนอเข้ามาเพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการเรียกมวลชน” เสรีสร้างทฤษฎีสมคบคิดเสียเองว่า “ต้องการให้รัฐสภาถูกเข้าใจผิดจากประชาชน” ว่ารัฐสภาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน “ทั้งที่รัฐสภาไม่มีเจตนาเช่นนั้น”

ฟังดีๆ อ๊ะ เสรีกำลังกุเรื่องให้ร้ายผู้เสนอร่าง ว่าการปรับโครงสร้างองค์กรการเมืองเป็นเรื่องไม่ดี เพียงต้องการจ่าหัว ไม่ให้ผ่านนึกว่าชั้นเชิงแพรวพราว ที่ไหนได้ ตายน้ำตื้นในขณะที่ยอมรับในทีว่า นี่เป็นการเสนอแก้ไขโดยประชาชน

สว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เสียอีกแม้จะออกลูก ระห่ำ ก็ยังทื่อๆ ทึ่มๆ แบบ กล้ามากเก่งมากไม่ต้องมีสำบัดสำนวนเต็มไปด้วยชั้นเชิง ข้างนอกดูขลึมๆ ที่ไหนได้ข้างในพิษสงร้ายกาจ จึงได้ยืนยันฟันธงเลยว่า ร่างนี้ไม่ผ่านตั้งแต่วาระรับหลักการ

กิตติศักดิ์อ้างว่าข้อเสนอแก้ไขให้เหลือสภาเดียว “ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้ขาดการถ่วงดุล” เพียงแต่ว่ากิตติศักดิ์ไม่มีข้อเสนออย่างใดให้เห็นว่า ความเหมาะสมที่ว่าเป็นอย่างไร บอกแต่เพียงตนเองอยู่อีก ๒ ปีก็ไปแล้ว หมดวาระ

ส่วนเสียงประชาชน ๑๓๕,๒๔๗ คนหนุนร่างแก้ไข รธน.นี้ ไม่มีความหมายสำหรับเขา ยกเอารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ทั้งแท่งมาอ้างว่าผ่านประชามติประชาชน ๑๖ ล้านคน ทั้งๆ ที่เป็นเสียงอนุมัติซึ่งจำนวนมากไม่เฉลียวว่ามีบทบัญญัติ หมกเม็ดไว้เยอะ

อันเป็นที่มาของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในขณะนี้ อีกทั้งยังห้ามวิเคราะห์เจาะไชช่วงก่อนจะมีการลงประชามติ และจับกุมประชาชนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นพ้องเอาไปคุมขัง กล่าวได้ว่าเสียงประชามติผ่าน รธน.๖๐ เพื่อให้หลุดจากระบบ คสช. สู่การเลือกตั้ง

ผ่านมานี่สี่ปี หลายเสียงใน ๑๖ ล้านรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอก เมื่อผลการเลือกตั้งพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคของคนรุ่นใหม่เสียงอันดับสาม ถูกยุบและแกนนำหลักๆ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนและตัดสิทธิการเมือง

ส.ส.ที่เหลือจากถูกดูดและกลายเป็นงูเห่ากินกล้วยแล้ว รวมตัวได้ภายใต้ชื่อใหม่ของพรรคปฏิบัติภารกิจอย่างแข็งขันในการอภิปรายตรวจสอบรัฐบาลร่างทรง คสช. ก็กำลังตกอยู่ในกระบวนการหาเรื่อง ยุบ อีกครั้ง อาจไม่รอดก่อนเลือกตั้ง

มิใย ส.ส.ตัวเด่นของพรรคนี้พูดเป็นเสียงเดียว “ไม่กลัวยุบพรรค” ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิสร “มั่นใจว่ายุบก็มีแผนเดินหน้าต่อ” เช่นเดียวกับ ส.ส. ไหม ศิริกัญญา ตันสกุล บอก “ยุบก็แตกหน่อใหม่ ไม่มีถอย จะสู้ระยะยาวแบบวิ่งมาราธอน”

ด้าน ส.ส. เจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ว่า “มันเหมือนกับตายสิบเกิดแสน” เป็นบทเรียนจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ “จะเหยียบเราให้จมดิน ก็เหมือนมาเหยียบเมล็ดพันธุ์ให้มันลงไปในดิน ก็งอกงามขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ได้กังวลเลย”

พลังของพรรคมวลชนน้องใหม่อย่างนั้น มีส่วนทำให้ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีลักษณะก้าวหน้า และตรงกับข้อเท็จจริงของปัญหา ในการถูกอำนาจแฝงจากการรัฐประหารครอบงำและเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาตู่ตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญลำเอียง

หนึ่งในข้อเสนอหลักคือยกเลิก สว. แล้วปรับให้สภาผู้แทนฯ สามารถตั้งคณะกรรมการอิสระเฉพาะเรื่องขึ้นมาตรวจสอบกฎหมายต่างๆ ด้วย หากแต่พรรคเพื่อไทยยังต้องการสองสภา โดยให้สภาสูงมาจากการเลือกตั้ง และมีหน้าที่เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯ

เลขาธิการเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เปิดเผยถึงแผนการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันพรุ่งนี้ว่า ร่างแก้ไข รธน.ภาคประชาชน มีเนื้อหาบางอย่างไม่ตรงกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในเรื่องยกเลิกวุฒิสภาทั้งยวง พรรคจะคุยกันก่อนเข้าประชุมร่วมฝ่ายค้าน

ส่วนข้อเสนอรื้อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตุลาการมาจาก ๓ แหล่ง พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด แต่ละองค์กรคัดสรรผู้ที่เหมาะสมแหล่งละ ๖ คน ส่งให้รัฐสภาพิจารณาด้วยมติ ๒ ใน ๓ ตัดเหลือแหล่งละ ๓ คน

แล้วยังมีกลไกถ่วงดุลโดยให้ ส.ส.จำนวน ๑ ใน ๔ หรือประชาชนทั่วไป ๒ หมื่นคน สามารถเข้าชื่อกัน “ให้มีการพิจารณาถอดถอนผู้พิพากษาและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ” ได้ “จากนั้นส่งให้สภาลงมติโดยใช้เสียง ๓ ใน ๕”

กับการตรวจสอบอีกชั้น โดย ผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญอัน “มาจาก ส.ส. ฝ่ายค้านและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่างละ ๕ คน ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล วิเคราะห์ผลกระทบจากคำพิพากษาต่างๆ”

เช่นนี้จะทำให้สามารถยับยั้งและตัด วงจรอุบาทว์ แห่งการมีและใช้อำนาจ ล้นเกินของวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญ ได้อย่างดี จึงได้เห็น สว.ลิ่วล้อเครือข่ายรัฐประหาร ออกมาค้านกันเสียงขรม

(https://www.facebook.com/resolutionconstitution/posts/373325757873142?__tn__=%2CO*F, https://www.matichon.co.th/politics/news_3040043 และ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_486493po)