วันเสาร์, พฤศจิกายน 13, 2564

ความเห็นต่างต่อ "ตาชั่งนรก"



iLaw
15h ·

แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิฉัยให้การปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของ อานนท์ นำภา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมสั่งห้ามองค์กรและเครือข่ายใดกระทำการในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต
.
อย่างไรก็ตามในวิชาการก็มีความเห็นที่แตกต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีนักวิชาการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ให้ความเห็นไว้ได้น่าสนใจเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง ดังนี้
.
อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีล้มล้างการปกครองกับสำนักข่าว workpointTODAY โดยมีสาระสำคัญดังนี้
.
"คำว่าประชาธิปไตยกับอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นคำที่ผสมกัน เราต้องมาดูว่าประชาธิปไตยคืออะไร สาระสำคัญคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง มีการแสดงออกอำนาจนั้นผ่านทางผู้แทนหรือประชาธิปไตยทางตรง มีเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ มีเรื่องของการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน"
.
"แล้วมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคืออะไร คือประเทศมีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายโลหิตตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสมบัติตามสันตติวงศ์ ไม่ใ่ช่ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ตามวาระ มันก็ชัดว่าสองคนนี้มีอยู่แค่นี้"
.
"พอเราได้หลักนี้ เราก็มาดูว่า การใช้เสรีภาพของคุณอานนท์ คุณรุ่ง และคุณไมค์ เป็นการล้มล้างไหม ก็มาดูกันว่าอะไรที่เป็นการล้มล้าง"
.
"ศาลรัฐธรรมนูญอ้างคำวินิจฉัยที่ 3/2562 คือคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ วันนั้นศาลรัฐธรรมนูญอ้าง ล้มล้างหมายถึง การกระทำที่ทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไปไม่ให้ธำรงอยู่หรือมีอยู่ต่อไปอีก ดังนั้นล้มล้างคือ เจตนาเข้าไปทำลายของสิ่งหนึ่งทำลายให้สิ่งนั้นหายไปเลย"
.
"พอดูแล้วก็ไม่มีตรงไหนที่ข้อเสนอของเขา การแสดงความเห็นของเขาที่จะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ ไม่มีตรงไหนบอกว่าจะทำให้ประเทศนี้ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตรงกันข้ามคือ เขาบอกว่าข้อเสนอของเขาคือ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปฏิรูปก็ชัดอยู่ในตัวว่า ก็คือของสิ่งนั้นยังคงอยู่แต่ปรับให้ดีขึ้น ไม่ใช่การปฏิวัติท่ีทำลายทิ้งและสร้างใหม่ ดังนั้นข้อเสนอที่ผมอ่านดูทั้งหมดในคำปราศรัยไม่มีตรงไหนยืนยันว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง"
.
"ประเด็นเรื่องคำบังคับในมาตรา 49 วรรคสุดท้าย คือให้ศาลสั่งได้สองแบบคือ ถ้าไม่เป็นการล้มล้างให้ยกคำร้อง แต่ถ้าล้มล้างก็สั่งให้ผู้ถูกร้องยกเลิกการกระทำที่เป็นการล้มล้างเสีย แต่ปรากฎว่าในคำบังคับสั่งตอนสุดท้าย ไปสั่งทั้งสามคนและองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ห้ามการกระทำเหล่านี้อีกในอนาคต ปัญหาก็คือองค์กรที่เกี่ยวข้องไปเกี่ยวอะไร"
.
"คดีนี้คุณณฐพร (โตประยูร) เขาร้องแปดคนแต่ตอนหลังเหลือสามคน เขาร้องในการกระทำที่เกิดขึ้นจากการปราศรัยหกครั้งในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แล้วเกี่ยวอะไรกับองค์กรเครือข่าย แล้วยังไม่นับว่าองค์กรเครือข่ายคือใครบ้าง รวมถึงคนบริจาคเงินไหม รวมถึงคนเอาใจช่วยกดไลค์กดแชร์ไหม คนไปร่วมชุมนุมด้วยไหม คนไปปราศรัยทุกคนเลยไหม และคำที่บอกว่าในอนาคตคืออะไร คือชั่วกาลปาวสานหรือเปล่า หมายความว่าคนกลุ่มนี้ทั้งหมดห้ามพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปในทิศทางที่เสนอให้ปฏิรูปชั่วกาลปาวสานอย่างนั้นหรือ"
.
"นี่คือคำวินิจฉัยที่ผมเห็นว่ามีปัญหาทั้งสองประเด็น ทั้งในการให้เหตุผลและในคำบังคับ"
.
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ikmbJ9tmYsc
...
อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีล้มล้างการปกครองกับสำนักข่าว THE STANDARD โดยมีสาระสำคัญว่า บทบัญญัติที่ห้ามใช้เสรีภาพมาลบล้างรัฐธรรมนูญกับระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ เป็นกลไกป้องกันตัวเองของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั่วโลกมีกัน สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ต้องเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการล้มล้างการปกครองมีได้สามแบบกล่าวโดยสรุปคือ
.
"1. จะเป็นการนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขไม่ใช่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ อันนี้ถือเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
2. ถ้าจะเป็นระบอบที่กษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ได้ คือ มันเป็นสองเรื่องที่ต้องไปด้วยกันคู่กัน หนึ่ง คือ ประชาธิปไตย กับ สอง คือ ประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ มาตรา 49 มุ่งคุ้มครองทั้งสองอย่างด้วยกันไม่ใช่อย่างหนึ่งอย่างใด แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะสับสนกับมาตรา 6 คือ พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
.
3. ยิ่งไม่ได้เลย คือ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นประมุข"
.
"ผมเรียนว่าถ้าเป็นการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะนับว่าเป็นการล้มล้างการปกครองผมเห็นว่าไม่ถนัด ส่วนในข้อที่ว่าจะเป็นการไปก้าวล่วงหรือเปล่าจนเข้าองค์ประกอบความผิดอื่นไหมเป็นอีกข้อหนึ่ง แต่ถ้านับว่าเป็นการล้มล้าง ผมคิดว่า ตัวอย่างของการทำรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วอำนาจรัฐฐาธิปัตย์ก็กลายเป็นของคณะปฏิวัติตามแนวทางของศาลฎีกาที่วางไว้ คณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติส่ังประชาชนในสิ่งใดก็เป็นกฎหมาย คณะปฏิบัติย่อมมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและออกกฎหมาย อันนี้คือการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าอำนาจกลายเป็นของคณะปฏิวัติ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์
.
"แต่ถ้าดูแล้วลำพังที่เขาเสนอมายังไม่ขนาดนั้น ที่จะเรียกว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าเขาถ้าดูจากคำปราศรัยคือมุ่งไปที่ พลเอกประยุทธ์ ถามว่าเป็นการล้มล้างสถาบันไหม ผมว่าถ้าอ่านดูก็ไม่ใช่ แต่ถามว่าถ้อยคำท่าทีควรจะอยู่ในขอบเขตอีกหน่อยไหมหรือเกินเลยไปไหมเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าจะถามว่าล้มล้างการปกครองไหม ผมว่าไกลไปหน่อย"
.
"ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ทิ้งโอกาสในการให้ความเห็นต่างในเรื่องนี้ของสังคมไทย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จะเห็นด้วยหรือไม่ รับฟังได้หรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง"
.
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=AddmHsCEnF8