วันพุธ, พฤศจิกายน 03, 2564

อนุญาตโตเลื่อนตัดสินคดีคิงส์เกตฟ้องรัฐไทยไปปีหน้า ต้องจับตาจับตายอมทุกทางแลกเลิกฟ้อง 4 หมื่นล้าน



อนุญาโตเลื่อนตัดสินคดีคิงส์เกตฟ้องรัฐไทยปี 65 จับตายอมทุกทางแลกเลิกฟ้อง

1 พฤศจิกายน 2564
เดลินิวส์

อนุญาตโตเลื่อนตัดสินคดีคิงส์เกตฟ้องรัฐไทยไปปีหน้า เอกชนชี้ต้องจับตาคุ้มหรือไม่ไทยยอมทุกทางให้กลับมาเปิดใหม่แลกเลิกฟ้องร้อง 4 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีความคืบหน้าการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่ถูกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ม.44) ถูกสั่งปิดการดำเนินงาน ได้ฟ้องราชอาณาจักรไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ว่า รัฐบาลไทย และบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ได้รับอนุญาตจากคณะอนุญาโตตุลาการให้เลื่อนการตัดสินคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทยออกไปก่อน จะกลับมาพิจารณาคดีในวันที่ 31 ม.ค. 65 จากเดิมจะตัดสินคดี 31 ต.ค. 64 เนื่องจากรัฐบาลไทย และคิงส์เกต อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกัน ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงให้เวลาเจรจาเพิ่มเติม

“หากการเจรจาถึงเดือน ม.ค. 65 ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็สามารถขอเลื่อนออกไปก่อนเป็นงวดๆออกได้ เบื้องต้นทาง บมจ.อัครา มีความประสงค์จะกลับมาดำเนินธุรกิจทำเหมืองแร่พื้นที่เดิมต่อ ซึ่งทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระบุว่า ผู้ประกอบการเหมืองแร่ สามารถดำเนินการธุรกิจได้ โดยให้มาทำตามเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีความเข้มงวดในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น”

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตากรณีนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มยอมทุกทางเพื่อให้ บมจ.อัคราฯ กลับมาดำเนินการธุรกิจเหมืองแร่ในพื้นที่เดิมใหม่ เพื่อแลกให้คิงส์เกตยกเลิกการฟ้องร้องจากกรณีรัฐบาลไทยใช้ ม.44 จึงต้องดูว่า เงื่อนไขการกลับมาให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.แร่ฯ ฉบับใหม่ มูลค่าการให้สัมปทานที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายในกรณีที่รัฐบาลแพ้คดีแล้วต้องชดเชยความเสียหายเบื้องต้นตามที่คิงส์เกตเรียกร้องประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท สิ่งไหนเสียหายมากกว่ากัน นี่ยังไม่รับรวมถึงการเข้มงวดในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จะมีการป้องกันเข้มงวดได้จริงหรือไม่