วันเสาร์, พฤศจิกายน 06, 2564

ม.112 : ไทยเตรียมเข้ากระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เบลเยียมชูคำถามเรื่องแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 10 พ.ย.นี้



ม.112 : ไทยเตรียมเข้ากระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เบลเยียมชูคำถามเรื่องแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทย

เบลเยียมชูคำถามเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไทยซึ่งมีกำหนดจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ (Universal Periodic Review หรือ UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 พ.ย.นี้


ไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่คณะทำงาน UPR จะทำการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในการประชุมสมัยที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 พ.ย. โดยก่อนหน้านี้ไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะครั้งที่ 1 และ 2 ไปแล้ว เมื่อเดือน ต.ค. 2554 และ พ.ค. 2559 ตามลำดับ

เพื่อไทยเตรียมเสนอแก้กฎหมาย ม.112 ด้าน ปชป.ยืนกรานค้าน
สำรวจปฏิกิริยาหลังทักษิณ ชินวัตรบอกว่ากฎหมายไม่ใช่ปัญหา ชวนถวายความจงรักภักดีให้ถูกทาง
เปิดสำนวนตำรวจ ทำอะไรถึงเข้าข่าย "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ"

สำหรับกระบวนการในวันที่ 10 พ.ย.นี้ จะมีขึ้นที่สํานักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยประเทศผู้แทนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้รายงาน (rapporteurs หรือ troika) ของกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ประกอบด้วย สาธารณรัฐบัลแกเรีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐโกตดิวัวร์

ส่วนคณะผู้แทนของประเทศไทยจะนำโดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะต้องตอบคำถามของนานาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย หนึ่งในนั้นคือคำถามจากประเทศเบลเยียมที่ถามว่า รัฐบาลไทยจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่มักเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ตามที่เบลเยียมได้เคยแนะนำในกระบวนการ UPR ครั้งที่แล้วหรือไม่ และไทยจะมีมาตรการใดเพื่อรับประกันว่าเยาวชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก


ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม "ราษฎร" เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ได้ชูข้อเสนอยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

เบลเยียมยังถามถึงสถานะปัจจุบันของไทยในกระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และรัฐบาลไทยได้พิจารณาให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Optional Protocols to the Convention against Torture) หรือไม่

เรื่องต่อต้านการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหายก็เป็นคำถามที่สวีเดน และสหราชอาณาจักรสอบถามถึงความคืบหน้าจากรัฐบาลไทยเช่นกัน

นอกจากนี้ เบลเยียมยังได้แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้โทษประหารชีวิต พร้อมถามว่ารัฐบาลไทยได้พิจารณาจะยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับผู้กระทำผิดที่ไม่เข้าเกณฑ์ก่อ "อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด" หรือไม่ และจะรับประกันว่าจะพิจารณาคดีที่มีโทษประหารโดยเคารพมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดหรือไม่


ขณะเดียวกันลิกเตนสไตน์และปานามาต่างก็ถามว่าไทยมีแผนการจะยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตหรือไม่


น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ถือป้ายรณรงค์เรียกร้องให้สภารับหลักการร่าง พ.ร.บ. อุ้มหาย เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564

อีกประเด็นที่เบลเยียมถามคือ รัฐบาลไทยพิจารณาจะส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมด้วยการขยายขอบข่ายของร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งปัจจุบันยังให้สิทธิคนเหล่านี้ไม่เท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิง

ส่วนสหราชอาณาจักรมีคำถามหลายเรื่องอาทิ ไทยจะทบทวนข้อบังคับที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนจากการถูกข่มขู่ และคุกคามทุกรูปแบบหรือไม่ นอกจากนี้ยังถามว่าไทยมีแผนการอะไรบ้างที่จะสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่สหรัฐฯ ชื่นชมที่ไทยยึดคำมั่นที่จะออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมถามถึงการแผนการนี้ แต่ขณะเดียวกันได้แสดงความกังวลเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายความมั่นคงต่าง ๆ โดยมิชอบต่อชาวมุสลิมในภาคใต้ และไทยมีวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไร


66 ปี บังคับสูญหาย หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา

ทั้งนี้ UPR เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะของรัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศจำนวน 193 ประเทศ หลังจากการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2551 รัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศได้รับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะไปแล้วทั้งสิ้นสองครั้งตามวงรอบที่หนึ่งและสอง โดยระหว่างกระบวนการทบทวนตามวงรอบที่สามนี้ คาดว่ารัฐสมาชิกจะรายงานการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งก่อนหน้าตามคำมั่นที่ให้ไว้ และจะนำเสนอพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนล่าสุดภายในประเทศ

มีอะไรอยู่ในร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่สภาผู้แทนฯ รับหลักการ หลังมีการผลักดันมานานนับสิบปี
ผู้กำกับโจ้: เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ตำรวจที่กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ
วันเฉลิม : ย้อนรอยผู้ลี้ภัย ใครถูก “อุ้มหาย” บ้างหลังรัฐประหาร 2557

แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นประเด็นที่ต่างชาติแสดงความกังวลว่าจะเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ถึงจุดยืนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อที่ประชุม ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมย้ำกับประชาชนและสื่อมวลชนว่า "ในนามของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล เราไม่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างแน่นอน เราจะบริหารประเทศด้วยยึดหลัก ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์"

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวที่ท่าอากาศยานทหาร บน.6 ว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้ และมองว่านี่เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ไม่ควรทำลายสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ ทุกประเทศมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีมายาวนาน ไม่มีใครคิดจะลบล้างสิ่งดี ๆ ที่สืบทอดกันมา แล้วทำสิ่งใหม่ที่ไม่มีกฎกติกา

ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกลุ่มผู้เรียกตัวเองว่า "ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112" ได้จัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เปิดรณรงค์รวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พรรคการเมืองต่าง ๆ พากันออกมาแสดงจุดยืน อาทิ พรรคเพื่อไทยได้ออกจดหมายเปิดผนึกยืนยันพรรคพร้อมนำข้อเสนอแก้กฎหมายอาญา ม.112 และ ม.116 เข้าไปพิจารณาในสภา


หลังอ่านแถลงการณ์ในที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง" กรีดแขนตัวเองเป็นเลข 112 และขีดฆ่า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจะทุ่มเทเดินหน้ารณรงค์ยกเลิกกฎหมายนี้ด้วยแรงกาย แรงใจ และแม้กระทั่งชีวิต

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนยันไปชัดเจนหลายครั้งว่าทิศทางและจุดยืนของพรรค คือยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่มีความคิดที่จะแก้ไข ม.112

ด้านนายทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความเห็นต่อกฎหมายมาตรานี้ผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 2 พ.ย. มีใจความสำคัญว่า ตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบังคับใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วนั้นไม่มีปัญหา แต่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อนี้ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายของคนในกระบวนการยุติธรรม และคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยก

ความคิดเห็นของนายทักษิน ทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามว่าท่าทีของเขาเป็นไปในทางเดียวกับพรรคที่เขาเพิ่งส่งลูกสาวคนเล็กมาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ ขณะที่ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการที่ลี้ภัยในฝรั่งเศสโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงจุดยืนของอดีตนายกฯ "ด้วยความผิดหวังและเหลือเชื่อ"
...

Thanapol Eawsakul
8h ·

มารอดูกันว่าก่อนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
จะมีผู้ถูกคุมขังคดี 112 โดยที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังจะอยู่ในเรือนจำสักกี่คน
ก่อนที่รัฐบาลไทยจะต้องชี้แจงในเวทียูเอ็น
ก่อนลอยกระทงต้องปล่อยผู้ถูกคุมขังคดี 112
....................
ไทยเตรียมเข้ากระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เบลเยียมชูคำถามเรื่องแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
https://www.bbc.com/thai/thailand-59174204...