วันเสาร์, ตุลาคม 02, 2564

#ป้าเป้า #อนาจาร หรือ #เสรีภาพในการแสดงออก - หากพิจารณาจากแรงจูงใจน่าจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกถึงการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐโดยสันติ


Angkhana Neelapaijit
Yesterday at 4:12 AM ·

#ป้าเป้า #อนาจาร และ #เสรีภาพในการแสดงออก
คำว่าอนาจารมักถูกนำมาใช้ในความผิดเกี่ยวกับเพศ แต่อาจไม่มีใครทราบว่ากฎหมายไทยไม่ได้นิยามคำว่า “#อนาจาร” ไว้ในศัพท์กฎหมาย คงอาศัยการเทียบเคียงความหมายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาและความเห็นของนักกฎหมาย ซึ่งได้ให้ความหมาย “อนาจาร” ว่า หมายถึง “การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ หรือการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศโดยกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายโดยตรง หรือการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี การกระทำอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล” (เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๓๖/๒๕๔๗) หรือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายว่า “หมายถึงความประพฤติชั่วความประพฤติน่าอบอายอันเป็นฐานความผิดอาญาที่ผู้กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ลามกน่าบัดสีทำให้เป็นที่อับอาย เป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้อื่นในความดีงาม”
.
กรณีการเปลื้องผ้าของ #ป้าเป้า หากพิจารณาจากแรงจูงใจน่าจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกถึงการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐโดยสันติ โดยใช้เนื้อตัวร่างกายของตัวเองเป็นสัญญาลักษณ์ในการต่อต้าน ในฐานะของผู้หญิงที่ “เพศ” มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่เสมอๆ เช่นการใช้คำว่า “หน้าตัวเมีย” “หน้ากี” หรือ “ไปเอาผ้าถุงคลุมหัว” ...
.
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาป้าเป้า ตามมาตรา 388 เรื่อง #การกระทำอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล อันนี้ต้องถามพนักงานสอบสวนว่า การแก้ผ้าของป้าเป้าเป็นการทำให้ใครขายหน้า แล้วถ้าป้าเป้าเองไม่รู้สึกว่าตัวเอง “ขายหน้า” แล้วใครที่จะขายหน้า อีกอย่าง “ธารกำนัน” ในที่นี้ก็หมายถึงเฉพาะ #คฝ เพราะป้าเป้าไม่ได้แก้ผ้าโทงๆเดินตามถนนสาธารณะให้ใครต่อใครดู และไม่ได้ใช้เพศเพื่อแสดงความใคร่ แต่เป็นการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของ #คฝ โดยการแสดงออกอย่างสันติโดยใช้ร่างกายของตัวเอง
.
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ มีเครื่องมือต่างๆมากมาย รวมถึงมีกฎหมายที่ให้อำนาจและคุ้มครองการกระทำในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญ สำหรับผู้หญิง ที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีอาวุธ และไม่มีความรู้มากมายในการใช้ภาษากฎหมาย หรือศัพท์สิทธิมนุษยชนในการต่อต้าน การใช้เพศของตัวเองเพื่อแสดงออกจึงอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือสันติวิธีที่ผู้หญิงบางคนเลือกใช้
...........................
ขอบคุณภาพจาก 1O1 ค่ะ