เห็นท่าว่าการจัดเสวนา ‘ทะลุทางออกที่ดินแดง’ เมื่อวันวานจะหลงทาง หรือไม่ก็ลงข้างทางไปเลย เสียละมัง เมื่อมีเสียงจากนักกิจกรรมซึ่งรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกันมาช้านานบางคน แสดงความไม่พอใจกันอย่างจะแจ้ง โดยเฉพาะกับ กสม.
ก่อนอื่นขออ้างถึง Sitanun Satsaksit พี่สาวของ ต้าร์ วันเฉลิม ผู้ถูกอุ้มหายไปจากที่พักลี้ภัยในพนมเปญปีกว่าแล้ว ไม่เคยมีอาการเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ออกมาจากกรรมการสิทธิฯ ไม่มีแม้แต่การรับรู้ ทำให้ผู้สูญเสียน้องชายคนนี้ กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิฯ ตัวยง
“หลายครั้งแล้วที่เห็นองค์กรสิทธิออกมาเล่นละคร” เธอโพสต์ข้อความอย่าง “เหลืออด กับคำว่าองค์กรอิสระ...ภายใต้รัฐบาลชุดนี้...พยายามหาจุดดีขององค์กรนี้มาหักล้าง ยังมองหาไม่เจอเลย กับคำพูดที่ฟังดูสวยหรู งดงาม แต่ไม่เคยทำได้อย่างที่พูด”
ไปที่ประเด็นต้นเรื่อง ที่ว่าเป็นความเดือดร้อนของชาวแฟล็ทดินแดง ซึ่งมีการปะทะกับหน่วยควบคุมฝูงชนด้วยประทัด พลุ ก้อนอิฐ ขวด และหนังสติ๊ก โดยกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ และการสลายชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงสูง ไม่เว้นแต่ละวัน
ตลอดสองเดือนที่ผ่านมาไม่เพียงการได้รับบาดเจ็บหนักของฝ่ายเยาวชน มีตำรวจรายเดียวที่หน้าเละ แต่ความเสียหายต่อทรัพย์สินและร่างกาย เกิดกับผู้อยู่อาศัยในย่านสามเหลี่ยมดินแดงนั้นไม่น้อย เพราะการยิงสะเปะสะปะไม่ยั้งของ คฝ. เข้าไปในบ้านคน
จนมีเสียงบางส่วนจากชาวบ้านตำหนิกลุ่มเยาวชน ‘ไม่ยอมเลิก’ ระยะหลังนี่กลายเป็นฝ่ายเริ่มต้นการปะทะเสียเอง หรือกลายเป็นแรงดึงดูดให้หน่วย คฝ.ยกพลเข้าไป ใช้กำลังกับใครก็ตามที่อยู่ในพื้นที่ขณะมีการสลายชุมนุม เปิดช่องให้ กสม.มีบทบาท
ร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่นมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ (ก.ยุติธรรม) กรมกิจการเด็ก (ก.พัฒนาสังคม) รวมทั้งศูนย์สื่อสารวาระสังคม ไทยพีบีเอส เชื้อเชิญตัวแทนต่างๆ ของชุมชนแฟล็ทดินแดง ไปสนทนาสาธารณะ ‘หาทางออก’
แต่กลายเป็น ‘เวทีไกล่เกลี่ย’ สำหรับสามฝ่าย คือชาวบ้านดินแดง ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่ง Pimsiri Mook Petchnamrob ระเบิดออกมาว่า “เสร่อมาก จะมาทำตัวเป็นกลางไกล่เกลี่ยอะไรอ่ะ...คือหน้าที่มึงนะคะ ต้องปกป้องประชาชนจากความเหี้ยของรัฐเว้ย”
เจ้าหน้าที่ประจำประเทศไทยขององค์การสิทธินานาชาติ ARTICLE 19 ใส่ไม่ยั้ง “คนกลางแบบนี้จะเจอนิ้วกลางนะยู ยูใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนปีละ ๓๐๐ ล้านบาท เค้าให้ยูมาบอกรัฐว่าอย่าละเมิดสิทธิพลเมือง ไม่ใช่มาบอกว่าอย่าตีกัน ผมรักทุกคน
ชาวแฟลตดินแดงยังกล้าพูดว่าผู้ชุมนุมไม่ใช่ผู้ก่อจลาจล ชาวแฟลตดินแดงยังกล้าพูดว่าต้นเหตุความเดือดร้อนคือการใช้กำลังของตำรวจควบคุมฝูงชน เรื่องแค่นี้ทำไมกรรมการสิทธิฯ ไม่กล้าพูด” ทั้งหมดนั่นมอบให้ วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิฯ ที่ไปเสวนา
“คุณกำลังสร้าง narrative (โวหาร) ว่าชาวแฟลตดินแดงเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมโดยตรง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ถ้าตั้งใจ คุณคือคนเหี้ยระดับสวะสังคมระดับหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ถ้าไม่ตั้งใจ คุณคือคนโง่” พิมพ์สิริ ยังสาธยายเสริม
“การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งมันเป็นเครื่องมือได้เฉพาะในสถานการณ์ที่คู่ขัดแย้งมีอำนาจต่อรองใกล้เคียงกัน (levelling the playing field) เช่นกลุ่มนึงมีอำนาจรัฐ กลุ่มนึงมีอาวุธ ปะทะกันไปไม่จบไม่สิ้นและมีผลกระทบเป็นวงกว้าง”
“คือสถานการณ์ที่รัฐใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมที่แทบจะมือเปล่า (คือพลุกับระเบิดเสียงดังมันทำให้เจ็บสาหัสหรือตายไม่ได้ โอเคนะ ส่วนตำรวจที่เห็นว่าหน้าเละไปคนนึง ลองไปคุยกับชาวแฟลตดูสิว่าใครทำ)”
“หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ข้อแรกคือ ตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” เธอว่าต้องทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่มาไกล่เกลี่ย
คลิปการเสวนาโดย ‘ประชาไท’ เต็มไปด้วยความเห็นของคนในชุมชน ที่บอกว่าความเดือดร้อนเกิดจากเจ้าหน้าที่ คฝ. ส่วนทะลุแก๊สนั้นถูกตำหนิว่าแค่ ‘ไม่เลิก’ แต่ในส่วนของการเรียกร้องให้รัฐเยียวยา ปรากฏจากถ้อยคำของตัวแทนรัฐว่ายังไม่มีกฎหมายใดให้ทำได้
ปิดท้ายการเสวนา กรรมการสิทธิฯ สรุปว่า “เวทีนี้คือ ‘อิฐก้อนแรก’ ที่จะนำไปสู่การก่อร่างสร้างประตูสู่ทางออกของปัญหาการชุมนุม” น่าจะคนละเรื่องเสียมั้ง ‘the first stone’ มาจากไบเบิ้ล ที่เยซูให้คนไม่มีบาปขว้างใส่คนบาปได้
ปัญหาอยู่ที่ ไม่มีใครเลยในโลกที่ไม่มีบาป ดังนั้นความหมายของ ‘อิฐก้อนแรก’ ก็คืออย่าได้บังอาจขว้างใส่ใครเป็นอันขาด ตราบเท่าที่ไม่สามารถบอกได้ ‘ใครดีกว่าใคร’
(https://prachatai.com/journal/2021/10/95268, https://www.youtube.com/watch?v=Od2AO-gS-U0 และ https://www.facebook.com/allthingsmustpassaway/posts/10158531336323244)