วันอังคาร, ตุลาคม 05, 2564

“หากคนข้างนอกยังไม่หมดหวัง คนข้างในก็พร้อมจะสู้ต่อ” บันทึกเยี่ยม ไผ่ – อาทิตย์ ทะลุฟ้า – ชิติภัทร์



บันทึกเยี่ยม ไผ่ – อาทิตย์ ทะลุฟ้า – ชิติภัทร์: “หากคนข้างนอกยังไม่หมดหวัง คนข้างในก็พร้อมจะสู้ต่อ”

04/10/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ ทนายความ

วันที่ 30 กันยายน 2564 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

เดินทางถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 10.00 น. พบว่าญาติของจตุภัทร์ คือน้องสาวมารอเพื่อขอเข้าเยี่ยมด้วย ทางทนายได้เข้าไปแจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าขณะนี้ยังงดญาติเยี่ยม จึงไม่สามารถขอให้เข้าเยี่ยมได้ น้องสาวและแฟนของไผ่ซึ่งเดินทางมาสมทบ จึงพยายามฝากข้อความเข้าไป แต่ทนายเข้าไปเยี่ยมก่อน จึงไม่ได้นำไปอ่านให้ฟัง

เยี่ยมจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) เวลาประมาณ 10.30 น.

เบื้องต้น ทนายได้แจ้งความคืบหน้าของคดีและหมายขังที่ยังเหลืออยู่ของจตุภัทร์ จำนวนคดีทั้งหมด และกระบวนการขอประกันตัวในชั้นต่อไป จตุภัทร์แจ้งว่าตนย้ายมาอยู่แดนกักตัว (แดน 3) รู้สึกว่าสบายกว่าครั้งก่อนที่ไม่ได้รับการประกันตัวมาก แต่ค่อนข้างเบื่อเพราะไม่มีกิจกรรมให้ทำ จึงอยากให้ส่งหนังสือเข้ามาให้อ่าน โดยเฉพาะหนังสือสอบใบอนุญาตว่าความ แม้จะยังไม่รู้วันสอบแต่คิดว่าควรเตรียมตัวไว้ นอกจากนี้ ยังแจ้งให้ทนายไปรับของคืนจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษที่มีทั้งเงินและหนังสือที่ส่งเข้ามา ซึ่งจตุภัทร์ยังไม่ได้รับทั้งหมด (ทนายแจ้งภายหลังว่าโอนย้ายแล้วเรียบร้อยเฉพาะส่วนที่เป็นเงินฝากและของที่เป็นหนังสือ ทนายก็รับกลับมาให้แล้ว)

จตุภัทร์ทราบว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อดูสถานการณ์น้ำท่วม จึงฝากบอกว่า ‘ภัยพิบัติมาแล้วก็ไป แต่คนจัญไรมาแล้วไม่ไปสักที’ และ ‘ผมภูมิใจที่เป็นคนชัยภูมิ’

ส่วนเรื่องคดีที่จตุภัทร์ฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรณีลงข่าวว่าเขาหลบหนีการเกณฑ์ทหาร เมื่อยังถูกจำคุกด้วยคดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย อยากให้แจ้งทนายความว่าให้เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท เนื่องจากช่วงที่เกิดเหตุระยะแรก เคยติดต่อไปทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้ลงประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่ทางตัวแทนไม่รับข้อเสนอ ภายหลังแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น จึงได้รับการติดต่อกลับมาว่าขอไกล่เกลี่ยโดยจะจ่ายเป็นค่าเสียหายให้จตุภัทร์ 30,000 บาท และลงประกาศขอโทษในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจตุภัทร์มองว่ายังไม่เหมาะสม

ส่วนเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เคยขอความยินยอมจากจตุภัทร์ในการเข้าถึงข้อมูลการรักษาและเวชระเบียนเมื่อยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่เคยเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ จึงอยากฝากให้ประสานงาน กสม. เพื่อเข้ามาเยี่ยมภายในเรือนจำ และอยากให้สื่อสารประเด็นการถูกควบคุมตัวในครั้งนี้ว่า เสรีภาพในการพูดนั้นน้อยลงเรื่อยๆ และตนเองไม่ได้มองว่าผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว เพราะไม่ได้พูดหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ยังถูกถอนประกัน จึงอยากให้เน้นย้ำประเด็นนี้ ขณะนี้สิทธิพลเมืองไม่มีเหลืออยู่เลยในสังคมไทย

เยี่ยมทวี เที่ยงวิเศษ (อาทิตย์) กลุ่มทะลุฟ้า เวลาประมาณ 11.25 น.

ทวี หรือที่เรียกกันว่า “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์วันที่ตนเคยเข้าไปช่วยกลุ่มทะลุฟ้าเก็บข้าวของช่วงที่มีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยเขาเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 18.00 น. และเห็นกลุ่มทะลุฟ้าเก็บของจึงเข้าไปช่วย สถานที่เป็นบริเวณทางเชื่อมสี่แยกราชประสงค์ หลังจากนั้นจึงติดรถกลุ่มทะลุฟ้าเพื่อกลับบ้าน เมื่อรถขับถึงบริเวณโรงพยาบาลพญาไท มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คน ไม่ใส่เครื่องแบบเจ้าหน้าที่และไม่แสดงเอกสารระบุตัวตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถปาดหน้ารถคันที่ตนนั่งอยู่ และเดินลงมาทุบกระจกรถ

ขณะนั้นยังไม่มีการแสดงหมายจับหรือเอกสารอื่นใด ตนและคนอื่นๆ จึงไม่ยอมลงจากรถ พยายามแจ้งว่าขอพบทนายความและเพื่อนก่อน อย่างไรก็ตาม กลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวไม่ยอมถอย เคาะกระจกรถอย่างต่อเนื่อง ตนและคนอื่นๆ จึงเปิดกระจกรถลงมา 1 ด้าน และได้ทราบว่ากลุ่มชายฉกรรจ์แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและขอให้ลงมาเจรจาข้างๆ รถ ตนและคนอื่นๆ จึงลงจากรถ ระหว่างที่พยายามถามหาหัวหน้าชุดก็ไม่มีใครแสดงตัว จึงเกิดการกระชากลากถูตัวกลุ่มทะลุฟ้า รวมทั้งทวี โดยชายกลุ่มดังกล่าว

ในระยะเวลาประมาณ 20 นาทีที่เกิดเหตุชุลมุนขึ้น กลุ่มชายฉกรรจ์พยายามแย่งโทรศัพท์มือถือที่ไลฟ์สดอยู่ จนตกกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย ทวีแจ้งว่าตนถูกมวลชนที่ล้อมรอบดึงตัวออกมา จึงไม่ได้ถูกควบคุุมตัวไปในวันนั้น

จนวันที่ 15 กันยายน 2564 ทวีเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ในคดีชุมนุม #Saveมิลลิ กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท มาแสดงหมายจับ โดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน วันนั้นมีทนายความเดินทางไปช่วยกรณีรับทราบข้อกล่าวหาในคดีแรกอยู่แล้ว จึงเดินทางต่อไปยัง สน.พญาไท เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีที่ 2 พนักงานสอบสวนขอฝากขังตนและศาลอนุญาตให้ฝากขังและภายหลังไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะยื่นประกันไป 2 ครั้งแล้ว ตนจึงถูกคุมขังตลอดมา

ทวีเดิมเป็นคนพื้นเพจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อก่อนเคยทำงานเป็นช่างเชื่อมที่โรงงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ต่อมาตกงาน จึงเดินทางเข้ากรุงเทพ และเข้าร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองไปแล้ว 7 คดี

ทวียืนยันว่าตนไม่มีความคิด หรือความสามารถ ที่จะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่ทราบว่าพยานที่พนักงานสอบสวนแจ้งว่ายังสอบปากคำไม่เสร็จนั้นคือใคร จึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานได้อยู่แล้ว ไม่เป็นเหตุที่ควรจะฝากขังตนต่อไป

เยี่ยมชิติภัทร์ (นกฮูก) (สงวนนามสกุล) เวลาประมาณ 12.30 น.

ขิติภัทร์แจ้งว่าทนายความอีกท่านหนึ่งเคยสอบข้อเท็จจริงตนไปแล้ว ตอนนี้ตนยังอยู่ในแดนเดียวกันกับทวี ชิติภัทร์มีภาวะเป็นโรค PTSD ต้องได้รับยาต่อเนื่องและเคยรับยาจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยเพิ่งรับยาไป 1 เดือนก่อนหน้านี้ และครบกำหนดที่ต้องรับยาและพบแพทย์ ในวันที่ 12 หรือ 15 ตุลาคม นี้ อย่างไรก็ตาม ชิติภัทร์ได้รับยาจากกรมราชทัณฑ์ แผนกจิตเวชเช่นกันระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และอยากให้ทนายความติดต่อแม่ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เขตบางแค เนื่องจากเขาอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน

ชิติภัทร์ระบุว่าตนเคยเข้าร่วมเป็นแนวหน้าในการเดินขบวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ในช่วงปี 2563 แต่ไม่ใช่กลุ่มการ์ด เขาเคยถูกยิงด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564

วันที่เกิดเหตุเป็นวันที่ 16 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 20.40 น. เขาห็นเด็กกลุ่มทะลุแก๊ซได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม จึงเดินเข้าไปบริเวณแฟลต 7 ของแฟลตดินแดง เพื่อขอความช่วยเหลือกับกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่อยู่บริเวณนั้น หลังจากนั้นตนถูกรุมทำร้าย ชิติภัทร์ใช้คำว่า “ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว”

เขาเล่าว่าถูกตรวจค้นกระเป๋า ถูกทำเลนส์กล้องถ่ายรูปแตก จำชื่อคนที่ทำร้ายได้ 1 คน อยู่แฟลตดินแดง 7 ทำให้รู้สึกกลัวมาก หลังจากนั้นกลุ่มชาวบ้านที่รุมทำร้ายถามตนว่าจะกลับบ้านหรือจะไป สน. ซึ่งตนแจ้งว่าจะไป สน. เมื่อไปถึง ได้ถูกค้นตัว และถูกแจ้งข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

ชิติภัทร์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ดินแดง จนถึงเวลาประมาณ 17.00-18.00 น. ของวันถัดมา (17 กันยายน 2564) พนักงานสอบสวนแจ้งว่ายังทำสำนวนไม่เสร็จ จึงถูกฝากขัง และศาลไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่นั้น

ชิติภัทร์ขอความช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังหลายคนที่อยู่ห้องเดียวกัน อาทิคนจีน ที่ต้องการดิกชันนารี จีน-อังกฤษ เพราะไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยกับใครได้

ส่วนชิติภัทร์เองอยากได้สมุด ปากกาหรือดินสอมาเขียนหรือวาดรูปเล่น เนื่องจากเป็นการบรรเทาอาการ PTSD ของตน และอยากได้หนังสืออ่าน เช่น หนังสือแนวประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะคนข้างในไม่รู้กฎหมายเยอะมาก

ทั้งสามคนระบุว่ายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยชิติภัทร์แจ้งว่ามีบางคนลงนัดฉีดไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ฉีด ส่วนจตุภัทร์แจ้งว่าไม่ได้เฉียดจะได้ฉีดวัคซีนเลย

—————————————————

ทนายความ ผรัณดา ปานแก้ว

นอกเหนือจากทนายความภัทรานิษฐ์ที่ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทั้ง 3 รายแล้ว ยังมีทนายความอีกรายที่ได้เข้าพบทวีและชิติภัทร์ นั่นคือทนายผรันดา

เธอเล่าว่า ในศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2564 เธอได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังรายแรกคือทวี หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” โดยการเยี่ยมครั้งนี้เป็นการเยี่ยมครั้งที่ 2 ของเธอ เนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราขทัณฑ์ว่า มีผู้ต่อคิวรอเยี่ยมผู้ต้องขังรายอื่นอีกหลายคิว สำหรับนัดเยี่ยมรอบเช้า เธอจึงเลือกนัดเยี่ยมในรอบบ่ายแทน

สำหรับห้องเยี่ยม มีทั้งหมด 3 ห้อง ซึ่งห้องที่ทนายผรันดาเข้าไป มีโทรศัพท์สำหรับคุยกับผู้ต้องขังทั้งหมด 3 เครื่อง พร้อมกับมีจอมอนิเตอร์ถ่ายทอดภาพของผู้ต้องขังให้ทนายได้เห็น มีโทรศัพท์อีกเครื่องข้างๆ เป็นของแดน 1 อย่างไรก็ตาม การเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ก็มีอุปสรรคอยู่ เนื่องจากจอมอนิเตอร์ไม่สามารถถ่ายทอดภาพของทวี ซึ่งเป็นเฉพาะกรณีของแดน 2 ทำให้การพูดคุยครั้งนี้ต้องทำผ่านทางโทรศัพท์อย่างเดียว

ทนายผรันดาได้อัพเดตข้อมูลว่า ณ ขณะนั้น วันที่เข้าเยี่ยม ทวีถูกคุมขังมาเป็นเวลา 17 วันแล้ว และน่าจะครบกำหนดในการกักตัวเพื่อตรวจเชื้อโควิดในวันที่ 6 – 7 เดือนตุลาคม (การกักตัวใช้เวลา 21 วัน) หลังจากกักตัวเสร็จ ทวีจะถูกย้ายที่คุมขังจากที่แดน 2 ไปยังแดน 4 ซึ่งจะต้องเข้ากระบวนการกักตัวอีก 4 วัน

ทนายเล่าต่อว่า ตอนนี้ทวียังคงมีกำลังใจดีเหมือนเมื่อครั้งที่เธอได้เยี่ยมครั้งแรก ไม่ได้กังวลเรื่องคดีความของตัวเองมากนัก และยังได้บอกทวีว่า ทางทีมทนายเตรียมจะยื่นประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของการตรวจโรคโควิด ก็ยังไม่พบเชื้อแต่อย่างใด และเขายังฝากกำลังใจถึงน้องๆ กลุ่มทะลุฟ้าที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ แม้ว่าจะไม่มีเขา พร้อมทั้งยังสัญญาว่า หากตนได้รับการประกันตัวออกไป เขายืนยันจะยังคงสู้ต่อไป

ทวีเล่าให้ทนายฟังว่า เขาได้รับสิ่งของที่คนข้างนอกซื้อให้ เป็นพวกอาหารแห้งและอาหารสด เพิ่มเติมจากอาหาร 3 มื้อที่ทางเรือนจำจัดหาให้ โดยของที่ส่งเข้ามา เขาได้เอาไปเก็บไว้ที่ปลายหัวนอน และได้แบ่งปันให้ผู้ต้องขังรายอื่นด้วย

สำหรับปูมหลังในชีวิตของทวี เขาเริ่มเข้ามามีส่วนในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อครั้งที่ “ไผ่” จตุภัทร์ นำมวลชน “เดินทะลุฟ้า” เดินเท้าผ่านจังหวัดสระบุรีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งทวีได้ทำงานเป็นช่างเชื่อมอยู่ที่นั่น เขาได้ลางานไปเดินขบวนร่วมกับไผ่ถึง 2 ครั้ง จากนั้นเขาได้ออกจากงานเพื่อมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าอย่างเต็มตัว สาเหตุที่เขามาร่วมในการเคลื่อนไหว นั่นก็เพราะเล็งเห็นปัญหาเรื่องปากท้องและปัญหาในการบริหารงานของรัฐบาล

หลังจากเยี่ยมทวีเสร็จ ทนายผรันดายังได้คุยกับ “นกฮูก” ชิติภัทร์ ทนายความเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยเข้าพูดคุยกับชิติภัทร์แล้ว 1 ครั้ง แต่ในครั้งนั้น เจ้าตัวมีอาการป่วย PTSD (เหตุจากปัญหาในครอบครัวส่วนตัว) กำเริบ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร สาเหตุที่อาการกำเริบเพราะชิติภัทร์ขาดยาทางจิตเวชที่เขาต้องทานประจำวันละ 2 เม็ด โดยปกติเขาเข้ารับการรักษาอาการดังกล่าวที่สถาบันกัลยาฯ หลังจากเข้าที่คุมขังได้ประมาณ 3 – 4 วัน แม่ของเขาได้นำยามาให้ โดยแพทย์ของราชทัณฑ์เป็นคนจ่ายยาให้ในแต่ละวัน

หลังจากได้ทานยาแล้ว น้ำเสียงของชิติภัทร์ในการพูดคุยครั้งนี้เริ่มดีขึ้น ดูสดใสขึ้น อีกทั้งตอนนี้เขาก็ได้รับสมุดและปากกาตามที่เคยร้องขอไป ทำให้สามารถจดหรือระบายเรื่องที่ไม่สบายใจออกมาผ่านตัวหนังสือ นอกจากการเขียน ชิติภัทร์ยังใช้เวลาในการอ่านหนังสือในห้องสมุดของที่คุมขัง เป็นอีกทางที่ช่วยให้สภาพจิตใจของเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับชิติภัทร์ เขาเคยโดนจับกุมแล้วครั้งหนึ่งใน #ม็อบ29สิงหา ก่อนที่จะได้รับการประกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคดีติดตัว แต่เขาก็ยังเลือกที่จะออกมาชุมนุมกับเยาวชนกลุ่ม #ทะลุแก๊ซ อีก ก่อนที่จะถูกจับกุมและไม่ได้ประกันในครั้งนี้

สาเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวอีก เขาระบุว่าอยากออกมาช่วยเยาวชนต่อสู้ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็เพิ่งจะอายุ 21 ปี เท่านั้น และเพิ่งจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยด้านการท่องเที่ยว ในช่วงที่เรียนจบนั้นเอง ประเทศไทยก็เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปากท้องขึ้น เขาจึงเลือกที่จะมาแสดงออกถึงความไม่พอใจในการชุมนุมที่ดินแดง

ในวันที่ชิติภัทร์ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรวจพบว่าเขาได้ครอบครองกัญชาด้วย แต่แม่ของชิติภัทร์ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่า การที่เขาใช้กัญชาก็เพื่อรักษาอาการ PTSD ของตัวเอง แม่ของชิติภัทร์จึงอยู่ระหว่างไปเอาใบรับรองแพทย์จากสถาบันกัลยาฯ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น

ทั้งนี้ ชิติภัทร์ยังได้ฝากข้อความให้ทนายความ ถึงเพื่อนๆ ข้างนอก ระบุว่า ตัวเขายังสบายดี ไม่ต้องห่วง ยังพออยู่ได้ นี่เป็นการฝากข้อความถึงเพื่อนข้างนอกครั้งแรกของเขา

จากการได้เข้าเยี่ยมทั้ง 2 คนในครั้งนี้ ทนายผรันดาได้แสดงความเห็นเรื่องปูมหลังในการเคลื่อนไหวของทั้งทวี – ชิติภัทร์ ระบุว่า ทั้ง 2 คนเป็นคนที่ได้รับกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง นั่นจึงเป็นชนวนให้ทั้งคู่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าของตัวเอง

“ทั้ง 2 คน เป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพราะเจอความลำบากในสังคม มองจากมุมที่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรง แล้วก็เห็นขบวนคนอื่น เห็นการต่อสู้ของคนอื่นๆ เลยออกมาร่วมเพราะอยากจะทำความเข้าใจ อยากรู้ว่าว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ได้มีครอบครัวที่พร้อมสนับสนุน ทั้งคู่พยายามที่จะรับผิดชอบตัวเอง ไม่อยากให้ใครมารับผิดชอบกับชีวิตพวกเขา”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

บันทึกทนายความ เยี่ยม “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” และ “ชิติพัทธ์” ผู้ฝากศรัทธาและความห่วงใยสู่ผู้คนนอกเรือนจำ
‘อาทิตย์ ทะลุฟ้า’ ถูกตร.แสดงหมายจับคดี #ม็อบ3กันยา ทั้งที่ไม่เคยได้หมายเรียก ก่อนรีบขอฝากขัง ศาลอาญาไม่ให้ประกัน
#ม็อบ16กันยา จับตามหมายจับ 3 ราย จับหลังชุมนุมดินแดง 2 ราย ถูก คฝ. ฟาดด้วยปืน-รุมกระทืบ ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 1 ราย