3 ปี ลงทุนน้ำ 3 แสนล.! เข็นอีก 526 โปรเจกต์ 8 แสนล้าน ก่อน'บิ๊กตู่'ชวนสวดมนต์ไล่พายุ
3 ตุลาคม 2564
สำนักข่าวอิศรา
“…ปรากฎว่า ในช่วง 3 ปีแรก ของแผนแม่บท (ปี 2561-2563) รัฐบาลจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 305,180 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงปี 2564-2566 รัฐบาลมีแผนผลักดันโครงการภายใต้แผนพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 5 ภูมิภาค จำนวน 526 โครงการ วงเงินลงทุน 879,000 ล้านบาท…”
............................
3 ตุลาคม 2564
สำนักข่าวอิศรา
“…ปรากฎว่า ในช่วง 3 ปีแรก ของแผนแม่บท (ปี 2561-2563) รัฐบาลจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 305,180 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงปี 2564-2566 รัฐบาลมีแผนผลักดันโครงการภายใต้แผนพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 5 ภูมิภาค จำนวน 526 โครงการ วงเงินลงทุน 879,000 ล้านบาท…”
............................
สถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลพายุ ‘เตี้ยนหมู่’ และฝนตกหนักจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ยังคงไม่คลี่คลาย
ล่าสุดหลายจังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพและปริมณฑล กำลังเตรียมรับมือน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาจาก จ.ตาก จ.สุโขทัย จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก และจ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น (อ่านประกอบ : ปภ.สรุปสถานการณ์น้ำท่วม 30 จังหวัด เสียชีวิต 6 สูญหาย 2 ราย)
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ว่า ในช่วง 7 ปี ของการบริหารประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริหารจัดการน้ำปีละ 6 หมื่นล้านบาท หรือ 7 ปี เป็นงบรวมกว่า 4 แสนล้านบาท
แต่ประชาชนยังต้องประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม' เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า
“…เอาแค่ในปี 2560-2564 ที่มี “แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” (ช่วงปีหลังๆ สุดมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวเรือใหญ่) ก็ใช้ไปแล้วกว่า 296,780 ล้านบาท และที่สำคัญ คือ ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เห็นภาพบ้านเรือนจมบาดาล เห็นผู้คนต้องขนของหนีน้ำมาแล้วมากมาย…”
กระทั่ง วิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมชลประทาน ออกมาชี้แจงว่า กรมฯบูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงาน โดยผลการดำเนินงานระหว่างปีงบ 2557-2564 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 2,000 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านไร่ และมีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์กว่า 6 ล้านครัวเรือน
วิทยา ยังระบุว่า มีโครงการชลประทานสำคัญๆที่ดำเนินงานสำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 ,โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำรายงานชี้แจง คชก. (EIA) ,โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ซึ่งคืบหน้าไปแล้ว 62% และการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเสร็จไปแล้ว 6 โครงการ เป็นต้น
(พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2564 ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ภายใต้แผนแม่บท ‘การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580)’ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และจัดหาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา ซึ่งเป็นข้อมูล ณ เดือน พ.ค.2564
ปรากฎว่า ในช่วง 3 ปีแรกของแผนแม่บท (ปี 2561-2563) รัฐบาลจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 305,180 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงปี 2564-2566 รัฐบาลเตรียมผลักดันโครงการภายใต้แผนพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 5 ภูมิภาค จำนวน 526 โครงการ วงเงินลงทุน 879,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยระหว่างปี 2561-2563 มีการจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 24,265 แห่ง วงเงิน 85,137 ล้านบาท เช่น การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 13 กิโลเมตร ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 8.6 หมื่นไร่ และมีปริมาณน้ำใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 171.74 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2564-2566 กำหนดแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคเหนือ 165 โครงการ วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท อาทิ การผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพล ,คลองผันน้ำยม-น่าน และสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างน้อย 6 แห่ง เช่น อ่างฯแม่เมาะ จ.พะเยา ,อ่างฯตะเคียน จ.ลำปาง ,อ่างฯแม่คำมี จ.แพร่ ,อ่างฯน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ,อ่างฯน้ำกิ จ.น่าน และอ่างฯน้ำกอน จ.น่าน (อ่านข้อมูลประกอบ)
2.การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลาง โดยระหว่างปี 2561-2563 มีการจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 9,166 แห่ง วงเงิน 50,623 ล้านบาท เช่น การขยายเขตพัฒนาประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ 108 แห่ง, สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 11 กิโลเมตร สร้างระบบบำบัดใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพระบบเดิม 7 แห่ง และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 5,620 ไร่ เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2564-2566 กำหนดแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคกลาง 145 โครงการ วงเงิน 4.1 แสนล้านบาท อาทิ โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครรินทร์ (ระยะที่ 1-2) ,อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ตอนล่าง จ.เพชรบุรี ,ประตูระบายน้ำลพบุรี จ.อยุธยา ,การฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และโครงการผันน้ำชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย เป็นต้น (อ่านข้อมูลประกอบ)
3.การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยระหว่างปี 2561-2563 มีการจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 5,951 แห่ง วงเงิน 38,624 ล้านบาท เช่น การขยายเขตพัฒนาประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ 60 แห่ง, สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 2 กิโลเมตร สร้างระบบบำบัดใหม่ 1 แห่ง และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 4,270 ไร่ เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2564-2566 กำหนดแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก 51 โครงการ วงเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองอ้อ-บางพระ ,อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง ,อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จ.ฉะเชิงเทรา ,ประตูระบายน้ำ บ้านวิงชัน จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่แก้มลิงลุ่มต่ำบางพลวง จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น (อ่านข้อมูลประกอบ)
4.การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยระหว่างปี 2561-2563 มีการจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 77,916 แห่ง วงเงิน 80,196 ล้านบาท เช่น การขยายเขตพัฒนาประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ 199 แห่ง, สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 9 กิโลเมตร และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 34,060 ไร่ เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2564-2566 กำหนดแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 102 โครงการ วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท อาทิ ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล (ระยะที่ 1) ,ผันน้ำเขื่อนป่าสัก-ลำตะคอง ,อ่างเก็บน้ำห้วยบอน จ.อุบลราชธานี ,การฟื้นฟูและพัฒนาบึงหนองหาร จ.สกลนคร และพัฒนาแหล่งบาดานขนาดใหญ่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นต้น (อ่านข้อมูลประกอบ)
5.การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ โดยระหว่างปี 2561-2563 มีการจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 7,864 แห่ง วงเงิน 50,600 ล้านบาท เช่น การขยายเขตพัฒนาประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ 94 แห่ง, สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 24 กิโลเมตร, สร้างระบบบำบัดน้ำใหม่ 4 แห่ง และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 5,170 ไร่ เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2564-2566 กำหนดแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคใต้ 63 โครงการ วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท อาทิ อ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ จ.พังงา ,อ่างเก็บน้ำคลองช้าง จ.สตูล ,อ่างเก็บน้ำธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ,อ่างเก็บน้ำเขาพลู จ.ตรัง ,สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมือง สงขลา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง ยะลา หลังสวน และสร้างแก้มลิง 2 แห่ง เป็นต้น (อ่านข้อมูลประกอบ)
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติจัดสรรเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในปี 2561-2563 วงเงิน 305,180 ล้านบาท นั้น ยังไม่รวมงบกลางอีกอย่างน้อย 30,168.8 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นการเร่งด่วน ในช่วงปี 2563-2564 ได้แก่
7 ม.ค.2563 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 ไปพลางก่อน สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 วงเงิน 3,079.47 ล้านบาท
13 ส.ค.2563 อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงิน 11,892.87 ล้านบาท
15 ก.ย.2563 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 วงเงิน 6,742.77 ล้านบาท
6 ก.ค.2564 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564 จำนวน 2,914 รายการ วงเงิน 3,359.35 ล้านบาท
17 ส.ค.2564 ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วงเงิน 1,243.12 ล้านบาท
14 ก.ย.2564 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 จำนวน 3378 รายการ วงเงิน 3,851.22 ล้านบาท
เหล่านี้เป็นภาพรวมการอนุมัติจัดสรร ‘งบบริหารจัดการน้ำ’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็น ‘หัวเรือใหญ่’ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะขอให้ประชาชนร่วมกันสวดมนต์ไล่พายุ
“ขอให้ช่วยกันสวดมนต์ อย่าให้พายุเข้ามาอีกเลย พายุลูกเดียวนี่ก็พอแล้ว ต้องช่วยกันคิดใหม่ว่าวันข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร จะต้องปลูกบ้านอย่างไร จะต้องปลูกบ้าน 2 ชั้นหรือขยับขยายไปอยู่ในที่สูงขึ้น ซึ่งรู้ว่ายากแต่ถ้าตั้งใจฝั่งรัฐบาลพูดบ้าง ก็น่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย เมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา
อ่านประกอบ :
เกาะติดแผนน้ำ 20 ปี! โหมบิ๊กโปรเจกต์ 2 แสนล้าน รัฐรวมศูนย์สั่งการเบ็ดเสร็จ