Nurses Connect
15h ·
21 ตุลาคม วันพยาบาลแห่งชาติ และชาติคือประชาชน
แด่พยาบาลสามัญชนทุกคน ผู้เป็นกระดูกสันหลังของระบบบริการสุขภาพ
ในแต่ละปี มีการกำหนดวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพยาบาลอยู่ 2 วันด้วยกัน คือวันพยาบาลสากลและวันพยาบาลแห่งชาติ โดยได้มีการกำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล เนื่องจากเป็นวันเกิดของ ฟอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการให้กำเนิดการพยาบาลสมัยใหม่ และวันสำคัญอีกวันคือ วันพยาบาลแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล จากนั้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 เป็นต้นมา หรือเป็นเวลากว่า 33 ปี ที่ประเทศไทยได้มีการกำหนดให้วันนี้ เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ
ประวัติศาสตร์การพยาบาลในไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ.2439 จากปัญหาการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ขณะคลอด ต่อมาเมื่อประเทศเปิดรับการแพทย์แผนตะวันตกมากขึ้น ก็ได้มีการก่อตั้ง “โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล” (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)
ต่อมาได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนพยาบาล เมื่อมีการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในด้านต่างๆ ทำให้ได้มีการช่วยเหลือประเทศไทยในการปรับปรุงด้านการแพทย์ การเรียนการสอนพยาบาลได้ถูกปรับปรุงหลักสูตรจากการพยาบาลของไทยให้เป็นมาตรฐานเทียบเท่าสากล เริ่มมีห้องแล็ปในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทั้งการพยาบาลและการผดุงครรภ์
ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กว่า 200,000 คนในระบบสุขภาพไทย ทั้งที่ปฏิบัติงานในภาครัฐและเอกชน หากเปรียบเทียบชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติในการทำเกษตรกรรมแล้ว ก็คงจะไม่เกินจริงนักหากจะเปรียบเปรยว่า อาชีพพยาบาล ก็เป็นกระดูกสันหลังของระบบบริการสุขภาพ
พยาบาลมีหน้าที่หลักในการให้การดูแลสุขภาพของผู้คนทุกช่วงวัย เรียกได้ว่าดูแลตั้งแต่ “ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน” ดูแลในทุกมิติของความเป็นมนุษย์ด้วยการดูแลแบบองค์รวม ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมีกระบวนการพยาบาลเป็นหลักในการให้การพยาบาลบนพื้นฐานทฤษฎีทางการพยาบาล อีกทั้งบทบาทในการดูแลสุขภาพของพยาบาลไม่ได้เริ่มต้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น หากแต่เริ่มต้นตั้งแต่ การส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดโอกาสการเกิดการเจ็บป่วย การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย การดูแลรักษาเมื่อเกิดการเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสุขภาพหลังเกิดการเจ็บป่วยแล้ว
แต่เมื่อหันกลับมามองคุณภาพชีวิตของพยาบาลแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พยาบาล กลับเป็นอาชีพที่ถูกละเลยเรื่องความมั่นคงและก้าวหน้าในวิชาชีพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลสังกัดของรัฐหรือของเอกชน ที่ต้องประสบกับปัญหาภาระงานที่ไม่สมดุลกับการจัดอัตรากำลัง ค่าตอบแทน ความมั่นคงและสวัสดิการ เช่นเรื่องของการบรรจุ แม้ว่าในปัจจุบัน พยาบาลยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลนก็ตาม เนื่องจากรัฐไม่สามารถรักษาพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพของรัฐได้
“Nurse: A Voice to Lead. A Vision for Future Health care” อาจจะเป็นคำขวัญที่ดูไกลเกินความเป็นจริงเมื่อเทียบสถานการณ์พยาบาลในไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้พยาบาลจะเป็นวิชาชีพที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบสาธารณสุข แต่เสียงของพวกเรานั้นกลับช่างเบาหวิว
และนี่คือวันพยาบาลแห่งชาติในแง่มุมของ Nurses Connect เราอยากจะพูดถึงวันนี้ ในฐานะของวันสำคัญ แต่เป็นวันสำคัญเพื่อที่แสงจะได้สะท้อนไปถึงเพื่อนพยาบาลของเราทุกคน ที่ปฏิบัติงานอยู่ในทุกมุมของประเทศ และยังถูกค้างค่าแรง ค่าเวรเสี่ยงภัย เป็นวันสำคัญ เพื่อที่เราจะได้ร่วมรำลึกถึงเพื่อนพยาบาลที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานในปีนี้
และขอเชิญชวนเพื่อนพยาบาล ร่วมกันตั้งปณิธาน และปฏิบัติภารกิจ ให้บริการสุขภาพ ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ในฐานะที่ผู้ป่วยเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา และร่วมส่งเสียงของท่านให้ดังขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ตัวเราและเพื่อนพยาบาลของเรา Nurses Connect เอง ก็จะไม่หยุดส่งเสียงของเรา จนกว่าอาชีพพยาบาลจะถูกพัฒนาและคุณภาพชีวิตของเพื่อนพยาบาลและประชาชนจะดีขึ้น เพราะเราเชื่อเสมอว่า “คุณภาพชีวิตของพยาบาลที่ดีขึ้น จะนำไปสู่ภาวะสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน”
ขอบคุณภาพประกอบจาก REUTERS
#ภาคีพยาบาล
...
Mrk Mrk
15h ·
หากอาชีพพยาบาลไม่ได้ถูกเอายึดโยงกับชนชั้นสูงแล้ว
อาชีพนี้จะมีคุณค่าในสายตาระบบสาธารณสุขประเทศนี้แค่ไหน