วันเสาร์, ตุลาคม 23, 2564

เปิดประเด็นการปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยในพื้นที่การชุมนุม ในยุคการชุมนุมของราษฎร จนกลายเป็นหนึ่งในมูลเหตของการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้น แตกต่างจากอดีตอย่างไร


iLaw
9h ·

การกดปราบการพูดถึงประเด็นกฎหมายและพระราชอำนาจแวดล้อมสถาบันฯ ด้วยมาตรา 112
แม้ประเด็นบทบาทพระมหากษัตริย์ในการเมืองหรือประเด็นสาธารณะ จะถูกพูดถึงอยู่บ้างในอดีต แต่ก็มักจะออกมาในรูปแบบของงานวิชาการ เช่น การศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยชนิดา ชิตบัณฑิตย์ หรือหนังสือ พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในมิติทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เขียนโดย พอพันธ์ อุยยานนท์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ (หนังสือตีพิมพ์ในปี 2557 ก่อนการออกพ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2560) แต่ก่อนปี 2563 ประเด็นเหล่านั้นยังไม่เคยถูกอภิปรายอย่างเปิดเผยในบริบทของการเมืองบนท้องถนน
.
ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทนายอานนท์ นำภา นำประเด็นปัญหาทั้งข้อกฎหมายและการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ไม่ว่าจะเป็นการออกพ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี 2560 และอีกฉบับในปี 2561 พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ที่ผ่านสภาในปีเดียวกัน รวมถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน มาอภิปรายอย่างเปิดเผยบนเวทีการชุมนุมด้วยภาษาที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้
.
หลังการอภิปรายครั้งแรก นักกิจกรรมคนอื่นๆ ก็เริ่มเปิดหน้าปราศรัยประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย โดยการอภิปรายบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และบริบทแวดล้อมอย่างเปิดเผยในพื้นที่การชุมนุม กลายเป็นหนึ่งในมูลเหตของการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคการชุมนุมของราษฎร ที่แตกต่างไปจากคดีมาตรา 112 ในยุคก่อนๆ ที่แม้บางคดี เช่นคดีของดา ตอร์ปิโด หรือคดีของธานัทหรือ ทอม ดันดี จะมีมูลเหตุจากการปราศรัยในที่ชุมนุมเหมือนกัน แต่ก็มีลักษณะเป็นการเสียดสีหรืออภิปรายโดยซ่อนสัญญะบางอย่างไม่ใช่การอภิปรายปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเปิดเผย
+++การขยายพระราชอำนาจด้วยการแก้รัฐธรรมนูญหลังประชามติ +++
“คนแรกที่ผมจะเอ่ยถึง คือ คนที่ดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาสนับสนุนตัวเอง คือ คนที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกฯ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คนที่จะเป็นนายกฯ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ คือ จะจงรักภักดีต่อสถาบันฯ บริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และที่สำคัญคือจะพิทักษ์รักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แต่ประยุทธ์จงใจไม่ปฏิญาณต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ของพวกเราว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รับปากว่าจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง”
คือตอนหนึ่งของคำปราศรัยของทนายอานนท์ นำภาซึ่งเป็นเสมือนการสรุปใจความสำคัญของการปราศรัยของเขาในวันนั้น อานนท์ระบุว่า คสช. คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการขยายอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งตัวอย่างที่ทนายอานนท์ยกมา ได้แก่ กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้พระราชอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังผ่านการออกเสียงประชามติ อานนท์ปราศรัยว่า
.
“มีการแก้ไขประเด็นใหญ่ๆ อยู่ 2 ประการ คือ แก้ไขกรณีที่เกิดวิฤกติของบ้านเมือง รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยบอกว่าให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยในกรณีที่มีวิกฤติบ้านเมือง แต่พระมหากษัตริย์รับสั่งให้เเก้ประเด็นนี้ ให้ตัดออกเหลือเพียงให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประการที่ 2 คือ การแก้ไขให้พระมหากษัตริย์ กรณีที่ไม่อยู่ในประเทศไทยไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เราจึงได้เห็นพระมหากษัตริย์ของเราเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ นานครั้งจึงจะกลับมาที่ประเทศไทย
.
ข้อเท็จจริงนี้พี่น้องทุกคนทราบ ทหารตำรวจทุกคนทราบ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนไม่กล้าพูด ด้วยความเคารพอย่างยิ่งยวดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าปัญหานี้จะต้องถูกพูดอย่างเป็นทางการเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน”
.
มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการประชามติ มีความพยายามจะสร้างความชัดเจนให้กับการแก้ไขปัญหาของประเทศในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นแต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนทางออกไว้ จากเดิมที่ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดบังคับไว้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาเป็นการกำหนดว่า
.
ให้ที่ประชุมของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในประเทศ เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เป็นผู้หาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีการประกาศใช้ มีการแก้ไขมาตรา 5 กลับไปเป็นแบบเดียวกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
.
นอกจากนั้นก็มีการแก้ไขมาตรา 16 ในประเด็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่จากเดิมรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการออกเสียงประชามติกำหนดให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อจะเสด็จไปต่างประเทศ หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ผ่านการแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทาน เมื่อมีเหตุทั้งสองกรณีพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ ซึ่งในประเด็นนี้ นอกจากทนายอานนท์แล้ว นักกิจกรรมคนอื่นๆ ยังนำมาปราศรัยด้วยเช่นกัน
.
เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ บิ๊ก จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ตั้งข้อสังเกตระหว่างการปราศรัยในการชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าเผด็จการ ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ว่า มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้พระมหากษัตริย์เสด็จไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จแทนพระองค์ซึ่งอาจเปิดทางให้พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล
.
ประเด็นการไม่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการในกรณีประทับอยู่ต่างแดนหรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ยังถูกนำมาอภิปรายโดยครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ ในการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ด้วย โดยอรรถพลระบุตอนหนึ่งว่า
.
"...ไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วอนุญาตให้กษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศ โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการ นอกจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่คือหนึ่งสาเหตุที่เราจะต้องมาที่หน้าสถานทูตเยอรมันในวันนี้ เพราะเราเกิดความสงสัยว่า มีการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ใช้พระราชอำนาจของพระองค์ในการบริหารราชการ ในการบริหารบ้านเมือง อยู่ในเขตอธิปไตยของเยอรมนีหรือไม่..."
.
ในเดือนมกราคม 2564 บีบีซีไทยรายงานคำชี้แจงของรัฐบาลกลางเยอรมนีที่มีต่อรัฐสภาว่า
.
"...รัฐบาลเยอรมนีทราบ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับในเยอรมนีบ่อยครั้งและประทับอยู่เป็นระยะเวลานาน ตามที่รัฐบาลไทยแจ้งให้ทราบนั้นพระองค์เสด็จมาประทับเป็นการส่วนพระองค์
.
รัฐบาลเยอรมนีได้แจ้งให้ทางฝ่ายไทยรับทราบแล้วถึงความคาดหวังของรัฐบาลกลางเยอรมนีว่า ขณะประทับอยู่ที่นี่จะไม่มีพระราชบัญชา ตัดสินพระราชหฤทัยใด ๆ ที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล"
.
ทั้งนี้ ทนายอานนท์ อรรถพล และเกียรติชัย ต่างถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยทั้งสามกรณี
+++พ.ร.ก.โอนย้ายอัตรากำลังพลฯ - พ.ร.บ.ส่วนราชการในพระองค์ คำถามถึงพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย+++
.
ในปี 2560 ซึ่งประเทศยังอยู่ภายใต้การบริหารของคสช. มีการออกกฎหมายสำคัญสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการบริหารข้าราชการในพระองค์ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และพ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
.
กฎหมายทั้งสามฉบับให้อำนาจพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์และบริหารงานบุคคล ภายใต้องค์กรที่ตั้งใหม่ ชื่อว่า “ส่วนราชการในพระองค์” หน่วยงานนี้รับงบประมาณจากรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์สามารถใช้พระราชอำนาจในลักษณะที่อาจขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาทิ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจบริหารส่วนราชการในพระองค์ และสามารถมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพราะทรงเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง
.
ต่อมาในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยคะแนนเสียง 376 ต่อ 70 เสียง ให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยพระราชกำหนดนี้มีสาระสำคัญคือ
.
ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ โดยมีมาตรา 8 วรรคสอง ของพ.ร.ฎ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ กำหนดว่า “ให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์" จึงหมายความว่าพระมหากษัตริย์สามารถบังคับบัญชากำลังพลระดับกองพลสองกองพลได้โดยพระองค์เอง
.
การผ่านกฎหมายฉบับนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อของอดีตพรรคอนาคตใหม่เคยอภิปรายถึงเหตุผลที่เขาไม่สามารถออกเสียงเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ไว้โดยสรุปได้ว่า รัฐบาลใช้วิธีการออกกฎหมายฉบับนี้เป็นพระราชกำหนดก่อนนำเข้าสภาโดยที่อาจไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนจริง นอกจากนั้น "...ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่า ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง การถวายความจงรักภักดีจึงไม่ใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้พระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ"
.
การปฏิรูปการบริหารส่วนราชการในพระองค์และกฎหมายโอนอัตรากำลังพลได้ถูกผู้ชุมนุมบางส่วนหยิบยกไปปราศรัยคัดค้าน ขณะที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
"ในปี 2562 พี่น้องจำได้ไหมครับ เมื่อมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มีการเสนอกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 โอนกำลังพลทหาร กรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดูแลปกครองไปตามพระราชอัธยาศัย"
.
"กรณีนี้สำคัญนะครับ ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนให้กษัตริย์มีอำนาจดูแลปกครองทหารจำนวนมากขนาดนี้ ไม่มีครับ การทำเช่นนั้นมันสุ่มเสี่ยงสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" คือ คำปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ก.โอนย้ายอัตรากำลังฯในวันที่ 3 สิงหาคม 2563
.
จากนั้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ประเด็นเกี่ยวกับกำลังพลที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ ยังไปปรากฎในประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ซึ่งถูกอ่านโดยรุ้งปนัสยาระหว่างการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า การใช้พระราชอำนาจโยกย้ายกำลังพลของพระมหากษัตริย์อาจเป็นการใช้พระราชอำนาจที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พร้อมระบุในข้อเรียกร้องข้อที่ 5. ว่า
.
"5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย"
.
ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรีหรือฟอร์ด จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก เคยปราศรัยถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ระหว่างการปราศัยในการชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าเผด็จการ ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ทัตเทพกล่าวตอนหนึ่งว่า
.
"...สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องไม่มีพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีพระราชอำนาจในทางการเมือง...พระราชอำนาจที่ไม่ควรจะมีรวมไปถึงอำนาจในการสั่งการบังคับบัญชากองทัพด้วยพระองค์เอง..." ทัตเทพยังระบุด้วยว่าพ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลฯ ถือเป็นการสร้างภาระความรับผิดชอบให้กับพระมหากษัตริย์ซึ่งอาจไปขัดต่อหลัก The King can do no wrong อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดินเพราะมิได้ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
"...การที่รัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์โอนกำลังไปนี้ หลายกองพันให้ไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์เองนั้น ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงรับผิดชอบกับการที่มีพระราชอำนาจมากขึ้น การกระทำของรัฐบาลประยุทธ์ขัดกับหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่กษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิดเพราะกษัตริย์ไม่มีอำนาจทางการเมือง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อำนาจและความรับผิดชอบเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี แต่การที่ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจทางการทหารเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ รัฐบาลเผด็จการมีจุดประสงค์ทำให้ The king can do wrong ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องมีความบในทางกองทัพมากยิ่งขึ้น..."
.
คำปราศรัยของทัตเทพ และอานนท์ เป็นมูลเหตุให้ทั้งสองถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
+++ความเสี่ยงที่ต้องเลือก+++
ที่ผ่านมามีนักกิจกรรมอย่างน้อย 33 คน ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยที่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการปราศรัยในพื้นที่การชุมนุมในลักษณะพาดพิงหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ปราศรัยบางคนอาจใช้คำหยาบหรือใช้คำพูดลักษณะเสียดสีเพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟังให้ผู้ชุมนุม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำปราศรัยบางส่วน ไม่ได้มุ่งโจมตีไปที่เกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มุ่งโจมตีตัวบุคคล หากแต่เป็นการวิพากษ์ไปที่ข้อกฎหมายและโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และข้อเรียกร้องที่ปรากฎก็เป็นเพียงการร้องขอให้ปรับปรุงหรือยกเลิกเงื่อนไขเหล่านั้น
.
ผู้ปราศรัยหลายคนรับรู้ถึงความเสี่ยงในการออกมาอภิปรายประเด็นอ่อนไหวนี้ แต่ก็เลือกที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาเพียงเพราะหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ในการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร น่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความในใจของผู้ปราศรัยหลายคนที่ถูกดำเนินคดี
.
"ในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เราควรต้องพูดถึงได้ทั้งในแง่ของการสรรเสริญและในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยตามระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กัลยาณมิตรที่ดีย่อมต้องตักเตือนกันได้..."
.
คำปราศรัยนี้ เป็นเหตุให้เธอถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดี
ดูอ้างอิงในลิงค์บทความ >>> https://ilaw.or.th/node/5996