The People
Yesterday at 8:00 AM ·
ความหวัง ความฝัน และการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนลงกระดาษของ ‘ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย’ หญิงสาวที่ฝันอยากเป็น ‘นักเขียนในประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการ’
.
“เราว่าประเทศเรามันหดความฝันคน มันน่าเศร้า เราเห็นเด็กหลายคนมีความฝันแล้วต้องหยุดฝัน เพราะโครงสร้างสังคมแม่งไม่เอื้อให้เขาสามารถคิดได้เลยว่าจะเป็นอะไรได้ มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น คนเราควรจะได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น คือถ้าอยากจะขายก๋วยเตี๋ยวเราก็ควรจะได้ขายก๋วยเตี๋ยว ฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรจะได้เป็น”
.
จากถนนราชดำเนินถึงย่านขายบริการคลองหลอด เลาะร่อนไปตามสนามม้า เวทีมวย กัมพูชา พม่า แบกกระเป๋าสะพายเป้ไปทำสารคดีผู้ประท้วงในฮ่องกง แล้วก็วนกลับมาที่ไทยอีกรอบ เรื่องราวแห่งความหวังและความฝัน (ที่ไม่ค่อยจะสมหวังและเป็นจริง) ของผู้คนรวม 13 เรื่องราว ได้ถูกเล่าผ่านหนังสือที่ตีพิมพ์กับ Salmon Books และตั้งชื่อได้อย่างน่าสนใจว่า ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’
.
‘ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย’ คือนักเขียนสารคดีและบรรณาธิการสำนัก The101.world ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น และเป็นคนที่พูดประโยคข้างต้นกับเราระหว่างที่เธอเล่าเรื่องราวของเธอ – จากเด็กหญิงในบ้านพักข้าราชการที่จังหวัดขอนแก่น จนถึงวันที่กลายเป็นนักเขียนสารคดีที่หลาย ๆ คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอนาคตไกล
.
#สืบเสาะเลาะเรื่อง
.
ปาณิสเติบโตในครอบครัวข้าราชการ พ่อของเธอเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แม่เป็นพยาบาล เธอจึงเติบโตมาในรั้วบ้านพักโรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่นที่เจื้อยแจ้วไปด้วยเสียงเด็ก ๆ ลูกข้าราชการวัยไล่เลี่ยกัน ปาณิสเป็นเด็กซนตามประสา เธอใช้เวลาว่างไปกับการปีนป่ายต้นไม้ทุกต้นและเล่นซนกับเพื่อน ๆ โลกกว้างของเธอยิ่งทวีความน่าสนใจขึ้นไปอีกตั้งแต่เด็กหญิงได้สัมผัสกับกลิ่นกระดาษและเนื้อความในหนังสือ ตัวอักษรมากมายที่เรียงรายในวรรณกรรมหลากเล่ม นอกจากจะบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านให้กับปาณิสแล้ว ยังบ่มเพาะความ ‘อยากเขียน’ ให้หยั่งรากลึกในใจของเธอด้วย
.
“เราชอบเขียนไดอารีตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เวลาส่งเรียงความก็ชนะตลอด เพื่อนก็จะหมั่นไส้นิดหน่อย เรียงความวันแม่อะไรอย่างนี้ รู้สึกแล้วว่าการเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ตอนเด็ก ๆ เราอยากเป็นนักข่าวมาก เราจะขโมยเสื้อกั๊กยี่ห้อ Camel ของพ่อมาใส่ ใส่หมวกแก๊ปพลิกกลับด้านแล้วก็ทำทีเป็นนักข่าวไปตามสืบ ซึ่งจริง ๆ ไม่มีเรื่องอะไร ทำเล่น ๆ อันนั้นก็คือความฝันของเรา”
.
ปาณิสเล่าว่า ‘นักข่าว - นักเขียน’ แทบจะเป็นความฝันเดียวของเธอตั้งแต่เด็กจนโต ถ้าไม่นับความฝันที่แทรกในระยะเวลาสั้น ๆ ว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ
.
“เราอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เยอะก็เลยอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไร เป็นนักบินอวกาศอาจจะยาก เป็นนักเขียนและเขียนเรื่องอวกาศก็ได้ สุดท้ายมันก็วนกลับมาที่ความฝันเดียวของเราอยู่ดีว่าอยากจะเรียนเกี่ยวกับการเขียน”
.
#แววตาในสารคดี
.
“เข้ามาเรียนตอนปี 1 แม่งเกรดเหี้ยมาก”
.
ปาณิสเล่าพร้อมเสียงกลั้วหัวเราะถึงวันวานครั้งที่เธอเดินตามความฝัน ด้วยการก้าวเข้าไปเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ หรือ JR เธอผ่านปีแรกของการเรียนที่นั่นมาได้อย่างทุลักทุเลด้วยเกรด 1.78 หากในปีถัดมาหลักสูตรที่ปรับให้นักศึกษาแต่ละคนได้เรียนในเอกที่ตัวเองเลือกก็ทำให้ปาณิสเริ่มปรับตัวและสนุกกับการเรียนมากขึ้น
.
นอกจากนั้นการเรียนที่ครอบคลุมแขนงการเขียนทั้งข่าวและสารคดียังทำให้เธอค้นพบแนวทางใหม่ ปาณิสแน่ใจในช่วงปีที่สองหรือสามของการเป็นนักศึกษานั่นเองว่าที่จริงแล้วเธอไม่ได้รักในการเขียนข่าวเท่าการเล่าเรื่องราวในแนวทางของนักเขียนสารคดี
.
“เราชอบอ่านวรรณกรรมอยู่แล้ว แล้วเวลาเราไปลงพื้นที่ เราคิดว่าสิ่งที่มากกว่าเนื้อหาข่าวมันคือสีหน้า คือแววตาของผู้คน มันคือหยาดเหงื่อและน้ำตาของเขา ซึ่งไอ้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเนื้อข่าว เราก็คิดว่าจะทำยังไงถึงจะเล่าในสิ่งที่เราเห็นได้ สิ่งที่มันกระทบใจเรา ทำยังไงให้มันไปกระทบใจคนอ่านด้วย จนกระทั่งเรามาเจอวิชาเขียนสารคดี เราถึงได้ค้นพบว่าแบบนี้นี่หว่าที่เราอยากทำ”
.
#นักอยากเขียนในWriter
.
ขวบปีที่สามแห่งการเป็นนักศึกษา ในฤดูฝึกงานที่เหล่านักเขียนฝึกหัดต้องพาตัวเองไปฝึกปรือวิชาการเขียนด้วยการทำงานจริง ปาณิสบ่ายหน้าเข้ายื่นจดหมายขออนุญาตฝึกงานกับ ‘Writer’ สำนักพิมพ์หนังสือเล่มที่มีนิตยสารชื่อเดียวกันเป็นของตัวเองที่กลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้ปาณิสฝึกชั่วโมงบินภาคสนามให้แข็งแรงอีกหลายปี หากทีแรก ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ Writer ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าหนึ่งนักอ่านและหนึ่งนิตยสารบนชั้นวาง
.
“เราอ่านงานพี่หนึ่ง - วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ Writer อยู่แล้ว แล้วก็งานพี่ต้อ - บินหลา สันกาลาคีรี แล้วเราก็ไปเห็นแมกกาซีนเล่มหนึ่งวางอยู่บนชั้นที่โรบินสันบางรัก ชื่อหนังสือว่า ‘Writer’ เราก็อะไรวะ อะไรมันคือ Writer พอเปิดอ่านเท่านั้นแหละ มันดีมากเลย บทสัมภาษณ์ในเล่มที่พี่หนึ่งทำมันก็ดีมาก สกู๊ปหรืออะไรต่าง ๆ ที่นักเขียนเขาเขียนมา คือเราอ่านทุกหน้าด้วยความกระหาย อ่านทุกหน้าด้วยความอิ่มเอม อ่านจบเล่มแล้วรู้สึกว่า เชี่ย! ทำไมมันเท่ขนาดนี้วะ ทำไมมันส่งผลต่อความรู้สึกเราขนาดนี้”
.
ความเท่ที่กินใจของ Writer ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่พาให้ทีมนักเขียนเล็ก ๆ แห่งนั้นได้อ้าแขน - กางปีกโอบรับปาณิส นักเขียนมือใหม่ที่เต็มไปด้วยแววความตั้งใจในดวงตาไว้เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นเพื่อน เป็นน้อง และเป็นศิษย์ ตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่ง Writer ปิดตัวในอีกหลายปีให้หลัง
.
“เขาจับเราโยนลงน้ำ” ปาณิสพูดถึงชีวิตการฝึกงานที่ Writer แม้คำ ‘จับโยนลงน้ำ’ อาจฟังดูโหดร้ายไปสักหน่อย แต่แท้จริงแล้วมันคือรูปแบบการสอนและเรียนที่เหล่านักเขียนล้วนต้องพาตัวเองไปเจอ
.
“เขาไม่ได้คิดว่าเราเป็นเด็กฝึกงาน เขาโยนงานที่มันสำคัญให้ ทำสกู๊ปประจำฉบับ สัมภาษณ์นักเขียนใหญ่ ๆ ตอนคอมเมนต์งานก็คอมเมนต์ด้วยปากกาแดงเต็มหน้ากระดาษ คือมันดีมากสำหรับเรา พี่ต้อสอนเราเรื่องวิธีเขียน การจับประเด็นที่น่าสนใจ พี่หนึ่งสอนเราเรื่องสัมภาษณ์คน ทำยังไงให้ฟังคนได้นาน ทำยังไงให้ได้เรื่องราวลึก ๆ บางทีครึ่งชั่วโมงแรกที่คุยอาจจะต้องลบทิ้งไปทั้งก้อนเลยก็ได้ คุณอาจจะคุยกับเขา 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้ได้บางประโยคที่มันสำคัญก็ได้”
.
#ใครเป็นเจ้าของความหวัง?
.
หลังการปิดตัวของ Writer ปาณิสเดินทางต่อบนเเส้นทางสายตัวหนังสือของตนด้วยการเข้าทำงานเป็นบรรณาธิการของมติชนอยู่หนึ่งปี ก่อนจะมาเป็นนักเขียนควบตำแหน่งบรรณาธิการสำนัก The101.world ด้วยหน้าที่นี้เองที่ทำให้ปาณิสได้กลับมาจับปากกาเขียนหนังสือ ปาณิสพาตัวเองไปในทุกที่ที่มีผู้คน หรือจะให้ชัดไปกว่านั้น ปาณิสพาตัวเองไปทุกที่ที่มี ‘ความหวัง’ ของผู้คน
.
‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ คือรวมเล่มหนังสือจากประสบการณ์ทำงาน 2 - 3 ปีใต้ปีก The101.world ที่มีที่มาจากชื่อสกู๊ปที่เธอเคยเขียน แม้สารคดี ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของแม่น้ำโขงเพียงผู้เดียว’ จะไม่ได้ปรากฏในเล่ม หากส่วนหนึ่งของมันก็กลายเป็นกรอบคิดหลัก ๆ อันครอบคลุมพอสำหรับหนังสือเล่มนี้ที่พูดถึงความหวังของคนทุกหมู่เหล่า ความหวังและฝันอย่างจริงใจโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่วาดหวังไว้จะเป็นจริงได้หรือไม่ แม้มันจะเป็นเพียงเรื่องง่าย ๆ สำหรับบางคนอย่างการ ‘มีชีวิตที่ดีขึ้น’ ก็ตาม
.
“ถ้าพูดแบบรวม ๆ มันก็คงหวังถึงชีวิตที่ดีขึ้น แต่ว่าชีวิตที่ดีขึ้นของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเป็นเรื่องเล็กก็ได้ แต่บางคนอาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น แต่ว่าทั้งหมดมันคือชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมันไม่มีใครควรจะสมหวังอยู่คนเดียว”
.
‘มันไม่มีใครควรจะสมหวังอยู่คนเดียว’ คือถ้อยคำที่ชักนำให้เราถามต่อถึงความนัย ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ในชื่อหนังสือ ซึ่งปาณิสก็ตอบกับเราว่า “เวลาเราพูดถึงความหวัง มันจะมีคนที่สมหวังกับคนที่ผิดหวัง เราว่าโลกนี้มันมีคนที่ผิดหวังเยอะไปหน่อย แล้วมันมีคนสมหวังแค่กระจุกเดียว เราแม่งไม่ควรให้คนบางกลุ่มสมหวังอยู่อย่างนั้น ทำอะไรก็ได้อย่างที่ตัวเองคิดอยู่ตลอด ส่วนคนอื่นกลับต้องผิดหวังเพื่อให้เขาสมหวัง คือมันมีอะไรแบบนี้อยู่
.
“เราอยากเล่าเรื่องคนที่เขาไม่มีเสียงของตัวเอง หรือเสียงเขาอาจจะเบาเกินไป คือเราไม่ใช่นักบุญ ไม่ใช่มูลนิธิ ไม่ใช่อะไรเลย ถ้ามีอะไรสักอย่างที่เราพอจะทำได้ก็คงเป็นการเล่า เราอยากเล่าเรื่องราวของเขาออกไปให้มันเข้าถึงหัวจิตหัวใจคนมากที่สุด เราอยากให้คนรู้และรู้สึกไปกับเรื่องของเขา เพื่อที่มันจะนำไปสู่ประตูบานอื่นที่ทำให้คนได้เข้าใจว่าจริง ๆ สังคมเรามีปัญหานะเว้ย แล้วเราก็อาจจะได้สังคมที่ดีขึ้นสักวัน คือไม่รู้ว่าเราหวังเยอะไปไหมนะ หนังสืออาจจะไม่ได้ทรงพลังขนาดนั้นหรอก มันก็จะเป็นแค่เรื่องเล่าที่คนอ่านไม่ได้อะไรก็ได้ ถ้ามันจะเกิดอะไรสักอย่างกับหัวใจคนสักคนหรือ 2 คน เราว่ามันก็ทำหน้าที่ของมันแล้ว”
.
#ความฝันในสารคดีบทสุดท้าย
.
“ถ้าพูดอย่างกำปั้นทุบดินคือโลกนี้มันไม่แฟร์เว้ย”
.
คือคำแรกที่ปาณิสพูดกับเราหลังจากถูกถามว่าทำไมความฝันของคนบางกลุ่ม - ซึ่งอาจจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมด้วยซ้ำไป ถึงยังไม่ ‘สมหวัง’ เสียที
.
“แต่ว่าไม่หรอก เราต้องเชื่อว่าโลกมันจะยุติธรรมได้ คือมนุษย์ต่อสู้มาตลอด การไม่พอใจหรือการไม่สมหวังมันอาจจะเป็นธรรมชาติของคนเพื่อให้กาลเวลามันเดินหน้าไปก็ได้ แต่ว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือเรารู้สึกว่ามันมีคนไม่ดีที่มีอำนาจเยอะเกินไป แล้วไอ้คนไม่ดีที่อยู่ในอำนาจแม่งเสือกมีอำนาจในโครงสร้างที่กดคนไว้เยอะมาก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาธิปไตยถึงสำคัญ ทำไมเสรีภาพถึงสำคัญ เพราะว่ามันจะนำมาสู่ความเท่าเทียมของคน”
.
เช่นเดียวกับอีกหลายคนในโลก ปาณิสเชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย’ คือกระบวนการที่จะนำมาซึ่งความหวัง ความฝัน มอบความเท่าเทียม และนำมาซึ่ง ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ ที่ใครหลายคนฝันหา เช่นเดียวกับในหนังสือของเธอ เรื่องราวการเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศไทยถูกร้อยเรียงเอาไว้ในบทสุดท้ายของเล่ม เหตุผลแรกเพราะปาณิสอยากบันทึกมันเอาไว้ในฐานะประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย ส่วนเหตุผลถัดมาอาจเป็นเพราะเธอเองก็หวังและฝันถึงสิ่งเดียวกันกับพวกเขา
.
“เราอยากให้ทุกคนมีความสุข คือดูโลกสวยใช่ไหม ดูเพ้อฝัน แต่เราอยากให้คนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เราเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับไดโนเสาร์ของต่างประเทศ คนเขียนตอนเด็กเขาชอบไปเล่นหลังบ้านที่เป็นตีนภูเขา และเขาก็ไปเจอเหล็กร้อน แล้วเขาชอบมาก เขาชอบหิน เขาชอบฟอสซิลมาก โตขึ้นเขาแม่งกลายไปเป็นนักบรรพชีวินฯ คือเป็นคนที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องฟอสซิล
.
“แล้วสมมติเราเป็นเด็กไทย เราชอบเล่นหินหลังบ้านเหมือนกัน แต่เราจะฝันถึงได้ไหมวะว่าเราจะเป็นนักบรรพชีวินฯ คือทำไมในบางพื้นที่ความฝันของคนมันถึงสามารถไปได้ไกล แล้วทำไมในบางพื้นที่เราถึงต้องหยุดความฝันของเราไว้ เพราะว่าแม่งไม่มีอะไรเอื้อให้เราเป็นสิ่งที่เราอยากเป็น
.
“เราว่าประเทศเรามันหดความฝันคน มันน่าเศร้า เราเห็นเด็กหลายคนมีความฝันแล้วต้องหยุดฝัน เพราะโครงสร้างสังคมแม่งไม่เอื้อให้เขาสามารถคิดได้เลยว่าจะเป็นอะไรได้ มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น คนเราควรจะได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น คือถ้าอยากจะขายก๋วยเตี๋ยวเราก็ควรจะได้ขายก๋วยเตี๋ยว ฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรจะได้เป็น ซึ่งไม่ใช่ได้มาด้วยการรัฐประหารด้วยนะ”
.
หรือถ้าจะเอาให้ง่ายกว่านั้น เราถามปาณิสว่าถ้าเธอฝันและหวังได้เพียงอย่างเดียว ความฝันของเธอนับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นอะไร ปาณิสตอบอย่างมั่นใจ
.
“เราอยากเป็นนักเขียนในประเทศไทย ประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการ”
.
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ
ภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว
.
อ่านบทความ ความหวัง ความฝัน และการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนลงกระดาษของ ‘ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย’ หญิงสาวที่ฝันอยากเป็น ‘นักเขียนในประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการ’ ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่: https://thepeople.co/panis/
.
#ThePeople #Social #ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว