วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 29, 2563

ชวนฟังคลิปการอภิปรายในสภา ของพิธา : New Normal ทางการเมือง - ฉันทามติใหม่ และข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล


Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
Yesterday at 11:05 AM ·

พิธา New Normal ทางการเมือง - ฉันทามติใหม่ และข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล

[ New Normal ทางการเมือง - ฉันทามติใหม่ และข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล ]
.
ก่อนที่สถานการณ์บ้านเมืองจะตึงเครียดขนาดนี้ พรรคก้าวไกลเคยพยายามเตือนรัฐบาล เคยพยายามเสนอทางออกเพื่อให้วิกฤติครั้งนี้คลี่คลายลง แต่เหมือนว่าท่านไม่ได้รับฟังข้อเสนอของพวกเราเลย เมื่อเกือบสี่เดือนที่แล้วกรกฎาคม ผมได้อภิปรายไว้ว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น ผมได้เตือนให้สังคมไทยต้องมีวุฒิภาวะ ที่จะรับมือกับ inconvenient truth หรือความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน รับมือกับความรู้สึกแห่งยุคสมัย ซึ่งเป็นผลผลิตของปัญหาที่พวกเราล้วนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาและหมักหมมเอาไว้ให้ลูกหลาน ผมยังได้เชิญชวนพวกเราตั้งสติใหม่ เปิดใจ ปรับมุมมอง แล้วลงมือหาทางออกของประเทศไปด้วยกัน ไม่มองอนาคตของชาติเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
.
เมื่อต้นเดือนกันยายน ผมได้อภิปรายถึงความมืดมนของประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติรอบด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่หน่วงรั้งไม่ให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คือ “วิกฤติผู้นำ” ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มันชัดเจนแล้วว่าท่านเป็นผู้นำที่ไม่มีความสามารถที่จะนำพาประเทศออกจากความมืดนี้ได้ และถ้าท่านไม่ยอมถอย ท่านจะพาพวกเราลงเหวกันหมด
.
และเมื่อปลายเดือนกันยายน เป็นช่วงที่พวกเราน่าจะลดอุณหภูมิการเมืองบนท้องถนนได้ แต่รัฐสภากลับเลือกทิ้งโอกาส ตัดสินใจถ่วงเวลา ยื้ออำนาจให้กับผู้นำประเทศและระบอบการเมืองที่ล้มเหลวและหมดความชอบธรรมแล้ว แทนที่เราจะพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าต่อได้ กลับกลายเป็นฉุดประเทศให้ถอยหลังลงไปอีก ท่านเลือกจะกอดอดีตของท่านไว้อย่างหนาแน่น ในขณะที่เยาวชนของพวกเรากำลังถามหาอนาคต มาถึงวันนี้เดือนตุลาคม ไม่กี่สัปดาห์จากวันนั้น สิ่งที่พวกผมได้เตือนไป ภาพนั้นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
.
"ระบอบประยุทธ์ไปต่อไม่ได้"

ไม่ว่าผมจะเตือนอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เพียงแต่ท่านจะไม่ฟัง ท่านกลับทำตรงข้าม สุมฟืนเข้ากองไฟในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ เมื่อเดือนกรกฎาคมเยาวชนเพิ่งออกมาชุมนุม มีข้อเรียกร้องคือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้รัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมากล่าวหาว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง แล้วก็ไล่ปราบปราม จับกุมแกนนำ เมื่อเดือนกันยายน การลงมติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เป็นกุญแจสำคัญและโอกาสทองของรัฐสภาที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง แต่ ส.ว. ที่คสช. แต่งตั้งขึ้นมาก็ยื้อเวลาออกไปไม่ลงมติ
.
เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักเรียนนักศึกษา ประชาชนออกมาชุมนุมอย่างสันติ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ก็กล่าวหาว่า พวกเขาขัดขวางขบวนเสด็จและประทุษร้ายต่อพระราชินี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ยกกำลังตำรวจทหารเข้ากรุง สลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามหลักสากล มุ่งจับกุมปราบปรามนักเรียนนักศึกษาประชาชน มองพวกเขาเป็นอริราชศัตรู นอกจากนี้ท่านยังปิดหูปิดตาประชาชน ด้วยความพยายามปิดสื่อที่พวกเขาตั้งใจเสนอข้อเท็จจริง พยายามปิดช่องทางการสื่อสารของประชาชน
.
พล.อ.ประยุทธ์ไม่ฟังไม่พอ ท่านยังพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน รัฐบาลและรัฐมนตรีบางคนข้างท่าน พยายามใช้กลไกรัฐปลุกม็อบเสื้อเหลือง เกณฑ์ข้าราชการมาเดินขบวนต่อต้านนักเรียนนักศึกษาในเวลาที่ควรจะบริการประชาชน ผมเคารพถ้าประชาชนจะแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสันติ แต่สิ่งที่พวกผมคัดค้านคือ การใช้กลไกรัฐไปสุมไฟความเกลียดชัง ปลุกระดมให้เพื่อนร่วมชาติทำร้ายต่อกัน
.
พล.อ.ประยุทธ์ เรียนผูก ไม่เรียนแก้ นอกจากผูกมัดรัฐธรรมนูญไว้เพื่อสืบทอดอำนาจของตนเองและพวกพ้องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ยังพยายามผูกตนเองไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาอำนาจของตนเองด้วย รัฐบาลในราชอาณาจักรต้องมีบทบาทเป็นเกราะกำบังให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องมีกุศโลบายเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน รัฐบาลต้องทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของประชาชนทุกคน ไม่ว่าประชาชนแต่ละคนจะมีความคิดเห็นต่อสถาบันแตกต่างกันอย่างไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม กลับนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำลังให้แก่ตนเอง การกระทำเช่นนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งยิ่งหยั่งลึกลงไป
.
ดังนั้น ประตูบานแรกที่จะช่วยถอนฟืนออกจากกองไฟ คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ทั้งของโลกและของไทย คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ผู้นำประเทศที่มาจากการรัฐประหาร แต่ถ้าพล.อ. ประยุทธ์ยังดึงดันอยู่ในอำนาจหวงเก้าอี้นายกต่อไป เส้นทางข้างหน้าของท่านคือ ทรราชย์คนต่อไป
.
ผมเชื่อว่าพวกเราผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล น่าจะเห็นร่วมกันแล้วว่า ระบอบประยุทธ์ไปต่อไม่ได้แล้ว พวกเราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย พวกเราอยากมีระบบการเมืองที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบที่เราต้องการจะไม่เกิดขึ้น พวกท่านรู้ดีว่าสัญญานการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องถูกเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่ามาจากที่ไหน
.
ผมอยากขอร้องให้เพื่อนๆ จากพรรคร่วมรัฐบาลให้ถอนตัวออกจากการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ พวกท่านอย่าลอยตัวเหนือปัญหา อย่าปิดหูปิดตาไม่เห็นไม่ได้ยินสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของเรา ถ้าพวกท่านไม่ช่วยกันตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เส้นทางข้างหน้าหากเกิดอะไรที่ไม่คาดฝันขึ้น ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ต้องรับผิดชอบด้วย
.
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกแล้ว

(1) เราก็มาเริ่มกันใหม่ ใช้สภาเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากบัญชีของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่น หากพรรคใดได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากที่สุด พวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ยอมยกมือให้รายชื่อจากบัญชีของพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อไม่ต้องใช้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งควรงดออกเสียง พรรคก้าวไกลแม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลชุดใหม่และก็ไม่มีบัญชีรายชื่อเสนอใครเป็นนายก เรายืนยันว่าจะยอมยกมือให้นายกคนใหม่ที่มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. เพื่อให้มีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาโดยไม่ต้องใช้เสียงของ ส.ว. และไม่ต้องมีนายกคนนอก
.
(2) เมื่อเราได้รัฐบาลชุดใหม่ที่ชอบธรรมมากขึ้นแล้ว รัฐสภาก็เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด เคารพอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนให้สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทุกหมวดภายใต้กรอบที่ไม่ไปเปลี่ยนรูปของรัฐและระบอบการปกครอง พร้อมกันนั้นก็แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราที่จำเป็นไปด้วย โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ถ้าเราแก้ปัญหาทางการเมืองด่านแรกไปได้แล้ว การเมืองก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้นเพื่อสามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วงได้ตามมา
.
(3) หลังจากที่แก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร. รวมทั้งปิดสวิทซ์ ส.ว. หรือแก้ระบบเลือกตั้งได้แล้ว รัฐบาลชุดใหม่ก็ควรยุบสภา ซึ่งเราสามารถที่จะจัดการเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมกับเลือก ส.ส.ร. พร้อมกันได้
.
นี่คือข้อเสนอทางการเมืองเฉพาะหน้าของผม ก่อนที่จะอภิปรายถึงปัญหาที่ใหญ่และลึกซึ้งกว่า ซึ่งหากเราไม่พูดกันอย่างมีวุฒิภาวะแล้ว ผมเกรงว่าจะสายเกินการณ์
.
New Normal ทางการเมือง - ฉันทามติใหม่

อีกประเด็นสำคัญหนึ่งที่รัฐสภาควรเป็นแบบอย่างในการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ซึ่งอยู่ในข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษา อยู่ในญัตติที่รัฐบาลเขียนถึง และมีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายถึงแล้ว นั่นคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
.
แน่นอนครับ ประเทศไทยของเราต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม ระบบกฎหมาย และสถาบันตุลาการ ปฏิรูปยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปเพื่อทำลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาษี ปฏิรูประบบสวัสดิการระบบสาธารณสุข ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบราชการ ยกเลิกระบบราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปการจัดการสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปวัฒนธรรม เป็นต้น ทว่า หากวันนี้พวกเราไม่เป็นต้นแบบในการพูดคุยกันเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย แต่เลือกที่จะปิดหู ปิดตา ปิดปากในประเด็นนี้ ทั้งที่ประชาชนข้างนอกสภากำลังจะขัดแย้งกันอย่างกว้างขวาง ผมเกรงว่ามันจะสายเกินการณ์
.
ต่อประเด็นนี้ ผมขอย้ำว่า พวกเราต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจสภาพความเป็นจริงให้ถูกต้องตรงกันเสียก่อน หากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดเสียแล้ว หากยังเข้าใจว่าสิ่งที่นักเรียนนักศึกษากำลังเรียกร้องกำลังแสดงออกอยู่นั้น เป็นผลมาจากการล้างสมอง การบงการ หรือการชักใยของพรรคก้าวไกลหรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ไปจนถึงศัตรูต่างชาติ ผมกังวลว่า กระดุมเม็ดต่อๆ ไปจะกลายเป็นโศกนาฎกรรม
.
พวกเราต้องเข้าใจและยอมรับเสียก่อนว่า ตอนนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว โลกใบเก่าที่หลายคนคุ้นเคย ที่หลายคนโหยหานั้น ไม่มีอยู่อีกต่อไป แต่เรากำลังเผชิญกับ new normal หรือความปกติทางการเมืองแบบใหม่ การเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่เคยเจอมาก่อน มันเป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นข้อเท็จจริงใหม่ เป็นพลังและความรู้สึกแห่งยุคสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาและความล้มเหลวทางการเมืองที่พวกเรามีส่วนร่วมก่อขึ้น
.
ถึงเวลาแล้วครับที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ปัญหาทางการเมืองครั้งนี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องมาถึงรัฐประหารปี 2557 ซึ่งมีผู้นำกองทัพบางคนและบุคคลบางฝ่ายกระทำการทำให้ประชาชนเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้วย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของรัชสมัย เมื่อสภาพความเป็นจริงและรากฐานของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สังคมจำเป็นต้องแสวงหาฉันทามติใหม่ หากยังปิดหูปิดตาแล้วกอดโลกใบเก่าเอาไว้ เราจะไม่ได้จับมือเผชิญโลกใบใหม่ไปด้วยกัน แต่กลับจะสร้างโศกนาฎกรรมบทใหม่ขึ้นมาแทน
.
สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรามีทางเลือกอยู่สองทางครับ ทางแรกคือทำเหมือนเดิม ไม่อยากฟังในสิ่งที่ไม่อยากฟัง ไม่อยากเห็นในสิ่งที่ไม่อยากเห็น ไม่ยอมรับการมีอยู่ของความเป็นจริงแบบใหม่ เลือกที่จะกดเอาไว้ หากปะทุขึ้นมาก็จับ ปราบ และเข่นฆ่าให้หลาบจำ ผมกังวลว่าหากดึงดันที่จะใช้แนวทางนี้จะไม่ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนจำนวนมากดีขึ้น
.
แนวทางที่สองคือ ยอมรับความปกติใหม่ของสังคมไทย แล้วสร้างบรรยากาศและพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำความเข้าใจกันให้ชัดว่า ฝ่ายที่เรียกร้องการปฏิรูปต้องการอะไร เห็นว่าอะไรเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาจริงหรือไม่ อย่างไร และการปฏิรูปที่ว่าไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน ทำความเข้าใจกันให้ชัดว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือมีข้อกังขากับข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษาต้องการอะไร และมีความกังวลเรื่องอะไร
.
จากนั้นก็ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยในการแสวงหาฉันทามติใหม่ ภายใต้เป้าหมายร่วมกันคือ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่กับประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เราควรใช้กลไกของรัฐสภาร่วมกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการ กระบวนการนิติบัญญัติ การอภิปรายปรึกษาหารือทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือแม้แต่การทำประชามติอย่างระมัดระวัง เป็นต้น เพื่อแสวงหาข้อตกลงใหม่ที่ยอมรับกันได้
.
ในระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงสถาพรเพราะทรง “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” ตามหลักการที่ว่ากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิดหรือ King can do no wrong
.
ในระบอบเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องจัดวางพระอำนาจและพระราชฐานะอย่างประณีตผ่านการจัดทำรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมาย ระเบียบแบบแผน การจัดสรรงบประมาณ การจัดการพระราชทรัพย์ในส่วนที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือกุศโลบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนและพัฒนาการของแต่ละสังคมตามยุคสมัย เพื่อทำให้ไม่ว่าองค์พระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชสมัยจะผลัดเปลี่ยนเช่นไร สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังมั่นคงได้ เป็นที่เคารพของประชาชน นี่คือวิธีการที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในศตวรรษที่ 21
.
ถ้าเรายังหลีกเลี่ยงการแสวงหาฉันทามติใหม่ ยังไม่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ประเทศก็จะไปต่อไม่ได้ ไม่มีเวลา ไม่มีสมาธิ ที่จะพาเพื่อนร่วมชาติเดินไปข้างหน้าในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายสิ่งที่เราเถียงกันอยู่นั้น เถียงกันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว 30 ปีที่แล้ว 20 ปีที่แล้ว 10 กว่าปีที่แล้ว เถียงกันบนชีวิตของเพื่อนร่วมชาติมาแล้วไม่รู้กี่ชีวิต ประเทศของเรามีโรงงานอุตสาหกรรมแห่งความเกลียดชัง เราต้องเลิกสร้างและผลิตซ้ำความเกลียดชังตั้งแต่วันนี้ แล้วแทนที่ด้วยความหวัง แทนที่ด้วยฉันทามติใหม่ ที่จะพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้งหนึ่ง

(ขอบคุณวิดิโอจากมติชน)

https://www.facebook.com/timpitaofficial/videos/695319058068502