วันอาทิตย์, ตุลาคม 25, 2563

เรื่องของ เอกชัย คนที่ดูธรรมดา ๆ แต่ไม่ธรรมดา น่าอ่าน น่ารู้ น่าคิด


iLaw
17h ·

เปิดประวัติอดีตแขก ‘ห้องเช่า 112’ ผู้ถูกคุมขังอีกครั้งหลังร่วมชุมนุม : เอกชัย หงส์กังวาน

นับจากการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 การเมืองบนท้องถนนก็ทวีความร้อนแรงขึ้นตามลำดับ โดยมีการชุมนุมใหญ่นัดสำคัญ ได้แก่

Ø การชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม 2563 เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาโควิด19 ในเดือนมีนาคม

Ø การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย 3 สิงหาคม 2563 แม้ไม่ใช่การชุมนุมใหญ่แต่ก็เป็นการชุมนุมที่มีการพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก

Ø การชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมนำเสนอ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

Ø การชุมนุมประชาชนปลดแอก 18 สิงหาคม 2563 พัฒนาจากเพียง ‘เยาวชน’ เป็น ‘ประชาชน’ เป็นพื้นที่การแสดงออกของกลุ่มย่อยต่างๆ มากมาย มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1 ความฝัน

Ø การชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เป็นการชุมนุมแบบค้างคืนครั้งแรกในรอบปี จุดไคลแม็กซ์คือการฝังหมุดคณะราษฎรที่ 2 ลงบนพื้นสนามหลวง

Ø การชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 ของคณะราษฎร เป็นการรวมกันของทุกกลุ่มก่อนหน้านี้

การตั้งข้อกล่าวหาคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในการเคลื่อนไหวช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2563 ต้องถือว่าค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะเท่าที่มีข้อมูลในบรรดาคดีเหล่านี้มีเพียงคดีเดียวที่ผู้ต้องหาถูกฝากขังในเรือนจำ ได้แก่ คดีเยาวชนปลดแอก ซึ่งมีผู้ต้องหา 2 คน คือ ทนายอานนท์ และ ไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกคุมขังในเรือนจำหลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เห็นว่าทั้งสองยังคงร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยจนเข้าข่ายผิดสัญญาประกันจึงขอให้ศาลเพิกถอนการประกัน อย่างไรก็ตาม หลังทั้งสองถูกคุมขังเป็นเวลา 4 วัน (3-7 กันยายน) ก็ถูกปล่อยตัวหลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเลิกฝากขังทั้งสอง

ในเดือนตุลาคม 2563 ท่าทีของฝ่ายรัฐดูจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่ผ่อนคลายให้การชุมนุมดำเนินไปได้แล้วส่งหมายเรียกผู้ต้องหาตามหลัง กลายมาเป็นใช้กำลังยุติการชุมนุมอย่างน้อย 3 กรณี กล่าวคือ

การชุมนุม 13 ตุลาคม 2563 ของคณะราษฎรอีสาน นำโดยจตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่พยายามเข้ายึดพื้นที่หน้าแม็คโดนัลด์ราชดำเนินก่อนการชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคม 1 วัน กรณีนี้จบลงด้วยการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อย 21 คน
ตามมาด้วยการสลายการชุมนุมเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

จากนั้นแม้แกนนำหลายคนจะถูกจับกุมแต่ยังมีประชาชนนัดหมายชุมนุมกันต่อ จบด้วยการที่เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและน้ำผสมสารเคมีสีฟ้าฉีดใส่ผู้ชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อ 16 ตุลาคม

ไม่ใช่แค่ท่าทีต่อการชุมนุมที่แข็งกร้าวขึ้น มาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ร่วมการชุมนุมก็แข็งกร้าวขึ้นเช่นกัน ดังกรณีที่ผู้ร่วมการชุมนุมบางส่วนซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีถูกออกหมายจับทันทีโดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อน

นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องหาคดีเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมบางส่วนที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ในจำนวนนั้นมีอดีตนักโทษคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย 4 คน ได้แก่ 1.สมยศ 2.ไผ่ จตุภัทร์ 3.ปฏิภาณหรือหมอลำแบงค์ 4.เอกชัย โดยพวกเขาทั้งหมดเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะผู้ร่วมชุมนุม มีบางครั้งบางคนที่ได้รับเชิญให้ขึ้นปราศรัยบ้าง

เอกชัย อดีตนักโทษ 112 สู่ผู้ต้องหาคดี 110

ในบรรดาอดีตนักโทษคดี 112 ทั้งหมด เอกชัยเป็นคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุด ได้แก่ ข้อกล่าวหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 16 ปี - 20 ปี

เหตุแห่งคดีของเอกชัยเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล ตามคำสัมภาษณ์ที่เขาให้ไว้กับบีบีซีไทย ขณะเกิดเหตุเอกชัยยืนอยู่กับผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กๆ บนถนนพิษณุโลก ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เขากับผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวเดินล่วงหน้ามาก่อนและกำลังรอขบวนใหญ่ที่นัดหมายจะเดินเท้าจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยมาปักหลักชุมนุมกันที่ทำเนียบฯ แต่ช่วงเกิดเหตุรถปราศรัยและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังมาไม่ถึงเพราะถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้

"ตรงที่ผมยืนอยู่มีตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ราว 2 กองร้อย มายืนอยู่เฉย ๆ สักพักหนึ่งก็เริ่มตั้งแถวคล้องแขนกันแล้วเดินมาจุดที่กลุ่มผู้ชุมนุมยืนอยู่ ผมคิดว่าเขาจะมาทำอะไรพวกเราก็เลยลงไปดันกับตำรวจ เพราะกลัวเขาจะมาทำอะไรเรา"

เอกชัยยืนยันกับบีบีซีไทยด้วยว่าตลอดช่วงเวลาที่ยืนอยู่ตรงจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านมา

"ผมไม่รู้เลยว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ระหว่างที่ดันกับตำรวจก็มองไปเห็นขบวนเสด็จฯ มา ก็เลยถามตำรวจว่าขบวนเสด็จเหรอ ทำไมไม่บอก"

เอกชัยระบุด้วยว่าขณะที่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนผ่าน เขาเห็นผู้ชุมนุมบางคนชูสัญลักษณ์สามนิ้ว ส่วนเสียงตะโกนต่างๆ เขาไม่แน่ใจว่าเสียงดังกล่าวดังมาจากทางไหน

นอกจากเอกชัยจนถึงขณะนี้ในคดีนี้มีผู้ต้องหาอีก 2 คน ได้แก่ 1.บุญเกื้อหนุนหรือฟรานซิส นักศึกษามหิดลซึ่งได้รับการประกันตัวระหว่างการสู้คดี 2.สุรนาถ ผู้ร่วมการชุมนุมอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการประกันตัว

ก่อนจะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นคำรบที่สองในชีวิตเมื่อ 16 ตุลาคม 2563 เอกชัยเคยถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2556 ถึง 15 พฤศจิกายน 2558 หรือรวมเวลา 2 ปี 8 เดือน เต็มระยะเวลาที่ศาลพิพากษาลงโทษ

สาเหตุที่เอกชัยไม่เคยได้รับการลดหย่อนโทษไม่ว่าจะเป็นการลดโทษตามปกติหรือลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นเพราะเขาต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกาและศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษาเป็นที่สุดในเดือนตุลาคม 2558 หรือประมาณ 1 เดือนก่อนครบโทษตามคำพิพากษา ดังนั้นจึงเป็นไปตามที่กฎหายกำหนดว่าหากคดียังไม่สิ้นสุดย่อมไม่ได้รับการลดหย่อนโทษ

เขาทำอะไร?

คดีของเอกชัยเกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นยุคที่สมาร์ทโฟนยังไม่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ การซื้อหาแผ่นซีดีบันทึกรายการการเมืองต่างๆ ตามพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองยังเป็นวิธีการเข้าถึงสื่อการเมืองที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น เอกชัยใช้แผ่นซีดีเปล่าบันทึกรายการสารคดีเกี่ยวกับราชวงศ์ไทยของสำนักข่าวเอบีซี ประเทศออสเตรเลีย มาจำหน่ายในพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ท้องสนามหลวง (ซึ่งในขณะนั้นยังชุมนุมได้) นอกจากนั้นเขายังปรินท์เอกสารของเว็บไซต์วิกิลีกส์ที่มีข้อมูลลับเกี่ยวกับราชสำนักไทยมาจำหน่ายด้วยในราคาชุดละ 20 บาท ตามคำบอกเล่าของเอกชัยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบชักชวนเขาไปในที่ลับตาคนเพื่อล่อซื้อซีดีและเอกสารก่อนแสดงตัวจับกุม

ในชั้นสอบสวนเอกชัยถูกคุมขังเพียง 1 วันเพราะหาหลักทรัพย์ประกันตัวได้ไม่ครบในวันที่ถูกนำตัวไปฝากขังแต่ในวันรุ่งขึ้นก็สามารถยื่นประกันตัวได้ เอกชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี

แนวทางการต่อสู้คดีมาตรา 112 ของเอกชัยเป็นการสู้แบบ "ยอมหัก ไม่ยอมงอ" เขายอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ขายแผ่นซีดีจริงแต่เนื้อหาของสารคดีและเอกสารวิกิลีกส์นั้นไม่ผิด เอกชัยถึงขั้นจะขอให้ศาลเรียกพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีมาเป็นพยาน เพราะในเอกสารวิกิลีกส์มีบทสนทนาระหว่างพล.อ.เปรมกับอดีตทูตสหรัฐปรากฏอยู่ แต่สุดท้ายศาลไม่อนุญาต

บางคนบอกว่าแนวทางการต่อสู้คดีแบบเขาแทบจะเรียกว่าปิดประตูชนะ เพราะเท่าที่มีข้อมูลในสมัยนั้นแทบไม่เคยมีคดีใดที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาไม่ผิด ส่วนใหญ่จะยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอจะชี้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด น่าสนใจว่าทนายที่ว่าความให้เอกชัยในวันนั้นก็คือ ทนายอานนท์ คนเดียวกับที่นำประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไปอภิปรายอย่างเปิดเผยในการชุมนุมปี 2563

หลังพ้นโทษ เอกชัยยังคงทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอนมีปมนาฬิกาหรูพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เขาก็ไปดักรอมอบนาฬิกาของเล่นให้ พร้อมทั้งยังปรินท์รูปนาฬิกาหรูมาติดบนเสื้อสูทเก่าของตัวเองแล้วใส่ไปดักรอพบพล.อ.ประวิตร เขาใส่เสื้อสูทตัวนั้นบ่อยจนกระทั่งขี้เกลือขึ้น

ในช่วงที่มีการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2561 เอกชัยก็ไปร่วมชุมนุมจนกลายเป็นจำเลยคดีแกนนำการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ไปด้วย และเมื่ออดีตผบ.ทบ.พูดกับนักข่าวว่าให้นักการเมืองที่หาเสียงว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน เอกชัยก็ลากลำโพงไปเปิดเพลงประเทศกูมีให้ ผบ.ทบ.ฟังถึงหน้ากองทัพบกจนได้คดีพ.ร.บ.ชุมนุมติดตัวไปอีกคดี

ไม่ใช่แค่คดีความ การรณรงค์ทางการเมืองในลักษณะโผงผางขวานผ่าซากของเขาทั้งในพื้นที่สาธารณะและบนโลกออนไลน์ยังทำให้เอกชัยถูกคุกคามในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากคดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถูกพาไปเก็บตัวในค่ายทหารหลังประกาศจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปฝังแทนหมุดหน้าใสที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถูกตำรวจ "พาไปเที่ยว" กาญจนบุรีหลังประกาศใส่เสื้อแดงและ "ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด" ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขณะเดียวกันก็มีคนมาทำร้ายเขาด้วยวิธีการอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสาดด้วยน้ำปลาร้า ดักชกที่ป้ายรถเมล รุมทำร้ายเขาที่ตรอกข้าวสารระหว่างรณรงค์คัดค้านการเลื่อนวันเลือกตั้งไปจนถึงดักทำร้ายเขาที่หน้าศาลอาญาในวันที่มีนัดศาล แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ก็ยังหาตัวคนผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ และมีอีก 2 กรณีที่มีคนร้ายบุกไปเผารถของเขาที่จอดอยู่หน้าบ้านถึง 2 ครั้ง

วันที่มีข่าวว่าเขาถูกออกหมายจับ เอกชัยรับโทรศัพท์พร้อมบอกว่าเขาคุยได้ไม่นานเพราะกำลังทำกับข้าวอยู่ หลังฟังคำบอกเล่าเรื่องหมายจับล่าสุดและอัตรตราโทษของคดีมาตรา 110 เอกชัยพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “ข้อหาหนักเลยนี่หว่า” แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีตกใจอะไรแต่ยังบอกเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคมด้วยน้ำเสียงปกติพร้อมยืนยันว่าตัวเขาไม่ได้เข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จแต่อย่างใด สอดคล้องกับที่สื่อบางสำนักก็รางงานตรงกันว่าไม่มีผู้ชุมนุมเข้าไปขวางทางหรือขว้างปาสิ่งของใส่รถยนต์พระที่นั่ง

แม้จะถูกดักทำร้ายร่างกายครั้งแล้วครั้งเล่าและถูกดำเนินคดีหลายต่อหลายคดีรวมถึงคดีล่าสุดที่อาจทำให้เขาต้องติดคุกตลอดชีวิตหากศาลพิพากษาว่าเขามีความผิด เชื่อว่าเอกชัยก็จะไม่เปลี่ยนตัวตนหรือเลือกที่จะสยบยอมต่อผู้มีอำนาจเพื่อแลกกับอิสรภาพของเขา

ทำความรู้จักเอกชัยให้มากขึ้น >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/643
ย้อนดูคดีมาตรา 112 ของเอกชัย >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/68
ดูบทสัมภาษณ์เอกชัยในบีบีซีไทย >>>
https://www.bbc.com/thai/thailand-54549559

(https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164553541250551/)