วันศุกร์, พฤษภาคม 13, 2559

นักอนุรักษ์สำรวจแม่น้ำโขง หวั่นจีนขอระเบิดแก่งระบบนิเวศเปลี่ยน พบนกใกล้สูญพันธุ์





ที่มา ข่าวสดออนไลน์
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค.59 กลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และทีมนักดูนก ได้ร่วมกันสำรวจระบบนิเวศน์คอนผีหลง ในลำน้ำโขง เป็นครั้งที่ 2 ทั้งนี้ ระหว่างขึ้นไปสำรวจตามดอนและหาดทรายกลางลำน้ำโขง พบว่ามีนกสารพัดชนิดอาศัยเป็นพื้นที่วางไข่และอนุบาลลูกน้อย โดยบางแห่งพบรังนกนับสิบๆรัง เช่น ดอนตุ๊ โดยเฉพาะนกแอ่นทุ่งเล็กที่วางไข่อยู่ตามพื้นหินกรวด เพื่อให้ไข่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติซึ่งช่วยป้องกันศัตรูที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่าต้นไคร้ที่เป็นไม้น้ำประจำถิ่นจำนวนมากตายลง โดยไม้น้ำชนิดนี้เป็นพืชสำคัญในระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร





นายจักร กินีสี นักดูนก กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นที่อาศัยของนกอย่างน้อย 70 ชนิด โดยเป็นนกน้ำที่อาศัยอยู่ตามดอนต่างๆเท่าที่พบขณะนี้ไม่น้อยกว่า 20 ชนิด ซึ่งนกเหล่านี้มีทั้งนกอพยพที่หนีอากาศหนาวมาจากตอนเหนือมาอาศัยอยู่ และนกประจำถิ่น ทั้งนี้ นกหลายชนิดเป็นนกที่ต้องสร้างรังและเลี้ยงลูกบนเกาะกลางลำน้ำเพราะไม่สามารถไปหากินตามป่าได้ ดังนั้น หากเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงถูกทำลาย ย่อมส่งผลกระทบกับนกเหล่านี้โดยตรง ซึ่งขณะนี้พื้นที่ของนกก็เหลือน้อยเต็มทีและต้องแย่งกันอยู่แย่งกันกิน ดังนั้น จึงควรช่วยกันดูแลและปกป้องพื้นที่ไว้ให้พวกเขา

"แม่น้ำโขงมีนกหลายชนิดที่มีอยู่ที่เดียวในโลก หากเขาสูญพันธุ์ไปก็น่าเสียดายและอาจส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง สมัยก่อนแถวนี้เคยมีนกยูงด้วย แต่ถูกคุกคามจนหมดไป ยิ่งการที่น้ำในแม่น้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติ ก็ยิ่งทำให้นกเหล่านี้อยู่ยาก แต่ตอนนี้ยังถือว่าระบบนิเวศบนเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงยังมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่นกจะมาขยายพันธุ์เพราะมีความหลากหลายมาก "นายจักร กล่าว

นายชฏิล เฉียบแหลม วัย 63 ปี ชาวบ้านเชียงของซึ่งมีอาชีพขับเรือ กล่าวว่าในสมัยก่อนจะมีนกอพยพมาอาศัยอยู่และหากินตามเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงจำนวนมาก เช่น นกเป็ดน้ำที่มากันฝูงใหญ่มาก แต่ระยะหลังหายไปหมด ตนไม่เห็นด้วยหากจะมีการระเบิดเกาะแก่งกลางลำน้ำโขง เพราะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และจะทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเนื่องจากทุกวันนี้นักท่องเที่ยวต่างเหมาเรือมาชมเกาะแก่งที่เป็นความงามของแม่น้ำโขง หากระเบิดทิ้งหมด แม่น้ำโขงก็กลายเป็นแค่รางน้ำ ที่สำคัญยังส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะเกาะแก่งเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ รวมไปถึงนก

"ทุกวันนี้ชาวบ้านก็อยู่ยากเต็มที ปลาก็หายากมาก ออกเรือไปบางทีได้แค่ตัวเดียว ปลูกพืชเกษตรริมน้ำก็ทำไม่ได้ เพราะจีนจะปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ที่ผ่านมาก็ถูกท่วมกันไปเยอะ เหลือแต่การท่องเที่ยวที่ยังพอหารายได้ได้ นี่ถ้าเขามาสร้างเป็นแหล่งโรงงานอีก คงไม่เหลืออะไร เพราะน้ำเน่าน้ำเสียก็คงต้องปล่อยลงแม่น้ำโขง"นายชฎิล กล่าว

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าการสำรวจในครั้งที่ 2 ทำให้เห็นรายละเอียดชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีหลังจากที่กลุ่มรักษ์เชียงของเคยลงพื้นที่สำรวจมาแล้วซึ่งในครั้งนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือ ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้น-ลงของน้ำที่ผิดปกติ แต่ครั้งนี้ที่เห็นมากขึ้นคือต้นไคร้น้ำที่ตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตามปกติต้นไคร้ซึ่งขึ้นอยู่บนแก่งหินจะจมอยู่ใต้น้ำปีละ 4-5 เดือนในฤดูฝน เมื่อน้ำลดก็จะผลิใบ ออกดอกและออกผล แต่เมื่อมีการปล่อยน้ำไม่เป็นเวลาจากเขื่อนทางตอนบน ทำให้ต้นไคร้ต้องจมน้ำอีกหลายรอบ ดังน้ำจึงทำให้ต้นไคร้ตายจำนวนมากซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะต้นไคร้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง

นายนิวัฒน์กล่าวว่า เช่นเดียวกันนกต่างๆ ที่มีแหล่งอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำโขงก็ได้รับผลกระทบมากมาย ยิ่งหากปล่อยให้มีการระเบิดเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ย่อมส่งผลกระทบโดยตรง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือเรื่องเร่งด่วนก็จะรีบรายงานให้สาธารณชนได้รับทราบ และเรื่องทั่วไปก็จะนำมาวิเคราะห์และรวบรวมเป็นองค์ความรู้ในรูปแบบหนังสือเพื่อนำมาแบ่งปันกันต่อไป





ผู้สื่อข่าวถามว่าทั้งประเทศต้นแม่น้ำโขงคือจีนและประเทศท้ายน้ำของไทยคือลาวต่างก็สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงปิดหัวและปิดท้ายประเทศไทยไว้หมดแล้ว หากเราจะใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงบ้างได้หรือไม่ นายนิวัฒน์กล่าวว่า มนุษย์ยังเข้าใจธรรมชาติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากร เราควรคำนึงถึงคนอื่นด้วย อย่าตักตวงด้วยความโลภเพราะทำให้สิ้นเปลืองมากและกลายเป็นความสูญเสียในที่สุด เช่น กรณีระเบิดแก่งเพื่อการเรือพาณิชย์ซึ่งชาวบ้านแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร ที่สำคัญคือมีทางเลือกอยู่แล้วคือมีเส้นทาง R3A และสะพานเชื่อมเพื่อการขนส่งสินค้า หรืออย่างกรณีสร้างเขื่อนที่อ้างว่าได้พลังงานสะอาด ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เพราะนั่นเป็นการฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง และเรามีพลังงานทางเลือกมากมาย ดังนั้นผู้ที่เป็นรัฐบาลควรเข้าใจ

"หากปล่อยให้มีการระเบิดแก่งหรือสร้างเขื่อนบริเวณนี้อีก ก็เท่ากับฆ่าแม่น้ำโขงให้ตายสนิท และชาวบ้านเองก็ต้องลำบากเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องยืนยันถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่รักษาผลประโยชน์ของทุนใหญ่"นายนิวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงการเดินเรือเสรีของ 4 ประเทศแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย เมื่อปี 2543 โดยข้อตกลงระบุให้มีการเดินเรืออย่างเสรีในทางน้ำระยะทาง 886 กิโลเมตร จากท่าเรือซือเหมา ของจีน ลงมายังพรมแดนจีน พม่า พรมแดนพม่าลาว สามเหลี่ยมทองคำ พรมแดนลาว ไทย อ.เชียงของ ลงไปจนถึงหลวงพระบาง ซึ่งในส่วนของหมุดพรมแดนพม่าจีนที่ 43 ถึงเมืองห้วยทรายของลาว ตรงข้าม อ.เชียงของ โครงการระบุว่ามีแก่งหินและดอนกว่า100 แห่ง ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อการเดินเรือ จนต่อมามีการปรับปรุงร่องน้ำมาตลอดและมาหยุดที่แก่งคอนผีหลงในช่วงปี 2547 เนื่องจากปัญหาเส้นพรมแดนไทยลาว

อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี 2557 ทางการจีนได้ผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง โดยเน้นช่วงที่เหลือคือเชียงแสนถึงหลวงพระบาง โดยมีแก่งคอนผีหลงเป็นแก่งหลักที่ทำให้ไม่สามารถเดินเรือขนาดใหญ่ได้เพราะมีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้ปัจจุบันเรือขนาดใหญ่ของจีนสามารถเดินทางมาได้แค่ท่าเรืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย