เรื่องยาสองชนิดที่ทหารผลิต ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาชนนางหนึ่งเอาไปอภิปรายปัญหางบประมาณ โดยอ้างข้อมูลว่าหนึ่งในสองชนิดนั้น ใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดได้ ทำให้คิดกันไปต่างๆ นานา เพราะเคยมีการจับยาไอ๊ซ์ ยาบ้าแล้วทหารมีเอี่ยว
แต่ว่ายาทั้งสองชนิด Pseudoephedrine และ Alprazolam เป็นยาที่มีประสิทธิภาพ ชนิดแรกแก้อาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้ชงัด อีกชนิดเป็นยานอนหลับ (อย. เรียกว่ายาเสียตัว) ล้วนอยู่ในความควบคุมเข้ม หมอเท่านั้นที่สั่งจ่ายได้
หลังการอภิปรายของกัลยพัชร รจิตโรจน์ มีเสียงท้วงติงว่าข้อมูลของเธอเกี่ยวกับยาสองตัวนี้ไม่สมบูรณ์ เจ้าตัวมาแก้ภายหลังว่า การอภิปรายของเธอมุ่งหมายให้ “พิจารณาถ่ายโอนธุรกิจหรือกิจการของกองทัพซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจความมั่นคง ให้ไปอยู่กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข”
เธอมีทางออกเสนอแนะ “สำหรับยาที่ผลิตน้อย บริษัทเอกชนผลิตไม่คุ้มค่า แต่ยังจำเป็นต้องใช้ในการทหาร ก็สามารถใช้จ้างผลิตได้ กองทัพไม่จำเป็นต้องตั้งโรงงานผลิตเอง ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศโดยไม่บังควร”
และตั้งคำถามว่า “การที่กองทัพมีโรงงานผลิตยาเป็นของตนเองนั้นคือภารกิจที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ เหมาะสมมากน้อยเพียงใด...โดยเฉพาะงบประมาณภายใต้กระทรวงกลาโหมในสัดส่วนนี้ ซึ่งอาจซ้ำซ้อนกับงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข”
ทว่าการวิพากษ์โจมตีต่อเธอ โดยเฉพาะจากนายแบกพรรคเพื่อไทย กลับไปเน้นว่าเป็น “ความอ่อนด้อยของพรรคนี้...ไม่มีความรู้เรื่องกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐ” น่าจะเพราะพรรคนี้ข้ามขั้วกันเสียจนเคยชิน คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทหารไปแย่งงานกระทรวงอื่นทำ
น.ส.กัลยพัชรนั้นจัดว่าเป็นที่ได้ร่ำเรียนมาทางแพทย์ ปริญญาตรีแพทย์ศาตร์ จุฬาฯ ปริญญาโททางโรคผิวหนัง (Dermatology) จากอังกฤษ เคยประจำที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี ในฐานะแพทย์ใช้ทุน แล้วไปเปิดคลีนิคโรคผิวหนังของตนเอง
เธอยอมรับความผิดพลาดในการอภิปรายว่ามีอยู่เรื่องเดียว ที่บอกว่ายาซูโดอีเฟรดีนนั้นทั่วโลกเขาเลิกผลิตกันแล้ว นอกนั้นประเด็นต่างๆ ที่เธอพูดถึงอยู่ในกรอบของญัตติว่า ไม่เหมาะที่ทหารเอางานของหน่วยอื่นมาทำมากล้นจนเกินไป
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ การผลิตยาโดยกองทัพ “หน่วยงานของพลเรือนแทบไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ดิฉันขอเอกสารจากกองทัพแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับอะไรกลับมา” ความสุ่มเสี่ยงสูงถ้าเกิดมีการแปลงสารเคมีตั้งต้นไปเป็นยาเสพติด
คุณหมอนิวชี้ด้วยว่า ไทยมีข้อตกลง ‘ความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน’ หรือ PCA อยู่กับประชาคมยุโรป โดยมาตรา ๒๙ ระบุถึงความร่วมมือในนโยบายด้านยาเสพติดไว้ด้วย แม้ในประเทศจะไม่มีความละอายกัน แต่ระดับนานาชาติมีข้อผูกมัดอยู่นะ