วันจันทร์, กันยายน 09, 2567

‘นโยบายเร่งด่วน’ ๑๐ อย่าง ของรัฐบาลแพทองธาร ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจไทยเฉื่อยชา ได้หรือไม่ ‘กึ๋น’ ของทักษิณ เป็นตัวประกัน

รัฐบาลแพทองธารประกาศสัญญาประชาคม ตั้งโจทย์ นโยบายเร่งด่วน ๑๐ อย่าง ประชาชนคงต้องตั้งตารอว่าจะสำเร็จได้ไหม เมื่อไหร่ ทุกอย่างควรที่จะมีพัฒนาการให้เห็นได้มากๆ ไม่ใช่นิดหน่อยภายใน ๑ ปี ถ้าตั้งมาโดยรู้สมการ

หมายถึงว่าทั้งสิบเรื่องนี้ มีแนวทางที่จะดำเนินการไว้แล้ว บางอย่างอาจจะยังต้องคิดค้นวิธีการและขัดสีฉวีวรรณ หรือ Fine Tuning ในกรรมวิธีเพิ่มเติมอีกพอประมาณ แต่หลายๆ เรื่องควรที่จะลงมือได้ทันที เพื่อที่จะทำผลงานให้เห็นประจักษ์โดยไว

โดยเฉพาะในบางประเด็นที่มีการวิจารณ์ วิเคราะห์ และเสนอแนะอย่างเป็นระบบในทางวิชาการไว้แล้ว อย่างน้อยๆ ทีมเศรษฐกิจของอุ๊งอิ๊งน่าจะได้สำรวจตรวจตราดูกันไว้ เพื่อเทียบเคียงสำหรับปรับปรุงกรณีที่มีโครงการพร้อมแล้ว

เพราะส่วนใหญ่ในสิบข้อเป็นนโยบายเฉพาะหน้า จึงต้องรู้ซึ้งถึงปัญหาและหนทางแก้ไขไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ปกป้องธุรกิจ เอสเอ็มอีจัดสร้างระบบเกษตรกรรมทันสมัย ‘Smart Agriculture’ และกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว บีบีซีไทย นำเสนอบทความเรื่อง “ทศวรรษที่สูญหายทางเศรษฐกิจของไทย” เอาไว้ ชวนให้สำเหนียกในประเด็น “การเจริญเติบโตที่ชะลอตัว, อัตราการบริโภคต่ำ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนย่ำแย่”

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์บอกว่า ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดช้ามาก เป็นลำดับ ๑๖๒ ใน ๑๘๙ ประเทศ โดยที่ ฟื้นตัวช้ากว่าตัวเองในอดีต แสดงว่าต้องยกเครื่องโครงสร้างขนานใหญ่

โดยคำนึงในข้อสำคัญว่าเศรษฐกิจไทยถูกแทรกแซงและแข่งขันโดยจีน เสียจนตกอยู่ในสภาพกะปรกกะเปรี้ยเป็นอันมาก เมื่อ ๗ สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ได้แถลงถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม

“๖ เดือนแรกของปีว่าหดตัว ๑.% ซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนส่งออกสินค้ามาแข่งขันขันในอาเซียนมากขึ้น” เรื่องนี้ต้องแก้ให้ได้ไวๆ และไม่เพียงพิสูจน์ความสามารถการบริหารจัดการของ น.ส.แพทองธาร เท่านั้น

แต่ทดสอบ กึ๋น ของทักษิณ ชินวัตร พร้อมกันไปด้วยในฐานะผู้ครอบครองนายกฯ หญิง โดยเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์การผลิตอุตสาหกรรม ซึ่ง ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าฯบอกว่าไทยเรายังด้อยอยู่มาก

ดร.แบ๊งค์ชี้ว่าสินค้าส่งออกของไทยหดตัวลงไปเรื่อยๆ “ในปัจจุบันก็น้อยกว่าเกาหลี มาเลเซีย และเวียดนาม” เหตุหนึ่งเพราะ “กลุ่มสินค้าที่ไทยมีความเก่งหรือเชี่ยวชาญ มันกลับทิศกับโลกเขาอยู่ เรากำลังเก่งในสิ่งที่โลกเขากำลังถอนตัวออกไป”

นั่นเป็นข้อด้อยอย่างช่วยไม่ได้ ที่ตกเป็นภาระของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งต้องแก้ไข

(https://www.bbc.com/thai/articles/cp8n9872ej5o?)