วันอาทิตย์, ตุลาคม 09, 2565

#6ตุลา วันนี้ไม่ใช่เรื่องของคนเดือนตุลาอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของคนรุ่นปัจจุบัน ที่จะทวงถามความรับผิดชอบของรัฐ ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อประชาชน ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล (impunity) โดยไม่แยแสต่อหลักนิติธรรม


Angkhana Neelapaijit
1d

#46ปี6ตุลา แม้การนำคนผิดมาลงโทษจะหมดอายุความตามกฎหมายอาญาของไทย แต่อาชญากรรมร้ายแรง (Mass Atrocities Crime) ถือเป็น #อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Hmanity) ตามปฏิญาณกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)
.
ความน่าสนใจต่อ #46ปี6ตุลา คือ คนรุ่นใหม่มอง #ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้อย่างไร และ #รัฐควรชดใช้เยียวยาความรู้สึกร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐต่อประชาชนอย่างไร#6ตุลา วันนี้จึงไม่ใช่เรื่องของคนเดือนตุลาอีกต่อไป แต่หมายถึงการที่เยาวชน คนรุ่นปัจจุบันได้ทวงถามความรับผิดชอบของรัฐ (Accountability) ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อประชาชน ปล่อยให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล (impunity) โดยไม่แยแสต่อหลักนิติธรรม ไม่ชดใช้เยียวยาความเสียหายเหยื่อ ไม่สร้างหลักประกันว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดซ้ำ รวมถึงไม่ปฏิรูปตำรวจ ทหาร ระบบยุติธรรมซึ่งรวมถึงศาลและอัยการด้วย
#NeverAgain
.....

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.
2d

เนื้อหาการปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
==========================
“ฆ่า” อย่างไรก็ไม่ตาย: “คนรุ่นใหม่” ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย
ภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 คือการล้อมฆ่านิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดเหี้ยมอำมหิตผิดมนุษย์มนา ทั้งโดยเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นการปิดฉากขบวนการนิสิตนักศึกษาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในช่วงสามปีก่อนหน้า และเป็นความทรงจำร่วมของสังคมไทยว่าครั้งหนึ่งนิสิตนักศึกษาเคยเป็นหัวขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศนี้ ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาจากฝ่ายไหนก็ตาม
ผ่านมากว่าสี่ทศวรรษ นักเรียนนิสิตนักศึกษากลับมาเป็นหัวขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ในด้านหนึ่ง การหวนคืนสู่สมรภูมิการเมืองของนิสิตนักศึกษาก่อให้เกิดความหวังและกำลังใจในฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มักถามไถ่แกมเรียกร้องว่า “นักศึกษาหายไปไหน” ในความขัดแย้งทางการเมือง “เสื้อสี” ในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อีกด้าน การกลับมาของนิสิตนักศึกษาได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ปกครอง เพราะการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นไปอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน คือ ประมาณ 400 ครั้ง ในกว่า 60 จังหวัด จัดโดยกว่า 100 กลุ่ม ภายในช่วงหกเดือนหลังของปี 2563 หากแต่ที่สำคัญคือมีการเสนอข้อเรียกร้องที่มุ่งไปยังผู้ปกครองโดยตรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การชุมนุมใหญ่ที่เบาบางลงหลังการสลายการชุมนุมตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา รวมถึงการใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ชุมนุมกลุ่มย่อยที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตั้งข้อหาดำเนินคดีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมจำนวนกว่า 1,800 คน ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางส่วนเกิดความท้อแท้หรือกระทั่งสิ้นหวัง วิตกกังวลว่านิสิตนักศึกษาถูกกดปราบให้ราบคาบอีกครั้งแล้วหรืออย่างไร ขณะที่อีกฝ่ายอาจกระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ ประเมินว่าเยาวชน “คนรุ่นใหม่” สร้างความระคายให้พวกเขาได้เพียงเท่านี้ แต่ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของฝ่ายไหน อาจเร็วเกินไปที่จะท้อแท้สิ้นหวังหรือกระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ เพราะเยาวชน “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้หายไปไหน พวกเขายังไม่ได้ “ตาย” ไปจากสมรภูมิการเมืองไทยยกใหม่นี้ ไม่ว่าจะมีความพยายาม “ฆ่า” พวกเขาด้วยวิธีใดก็ตาม
นิสิตนักศึกษาหรือว่าเยาวชนจะยังไม่หายไปไหน เพราะสาเหตุที่พวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวไม่ได้เกิดจากการชี้นำหรือจัดตั้งโดยกลุ่มหรือองค์กรใด หากแต่เป็นผลของการบรรจบกันของเงื่อนไขหรือปัจจัยร่วมสมัยหลายอย่าง ขณะเดียวกันพวกเขาไม่ได้ขึ้นต่อกลุ่มหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ ไม่ได้ขึ้นต่อการนำหรือความคิดนำของใคร ฉะนั้น แม้กลุ่มหรือองค์กรหลักไม่ได้จัดการชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ หรือบางกลุ่มสลายตัวไป หรือแกนนำอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่สามารถนำการชุมนุมได้ แต่การที่เงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวยังคงอยู่ค่อนข้างครบถ้วน นิสิตนักศึกษาจึงจะไม่หายไปไหน ยังคงเป็นพลังท้าทายผู้ปกครองเช่นเดิม
เงื่อนไขเหล่านั้นมีอะไรบ้าง อย่างแรกคือความฉ้อฉลของผู้อยู่ในอำนาจ ถ้าย้อนกลับไป นิสิตนักศึกษาเริ่มขยับมาอยู่แถวหน้าการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเด่นชัดหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เนื่องจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้าไม่ว่าจะเป็น นปช. หรือว่า กปปส. ได้สลายตัวลง
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มขนาดเล็ก มีจำนวนไม่มาก ยังไม่ได้รับการขานรับจากนิสิตนักศึกษาในสถานศึกษา และยังไม่ได้เป็นกระแสใหญ่ในหมู่เยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านรัฐประหารที่มีกลุ่มอย่างดาวดินค่อนข้างโดดเด่น การคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีกลุ่มอย่างขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นกำลังหลัก หรือการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งที่มีกลุ่มอย่างคนอยากเลือกตั้งเป็นหัวขบวน จนกระทั่งหลังจากที่ผู้อยู่ในอำนาจเริ่มรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการห้ามแชร์คลิปมิวสิควิดีโอเพลง ประเทศกูมี ที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมไทยอย่างถึงราก และมีฉากหลังส่วนหนึ่งเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เยาวชนจึงได้แสดงการต่อต้านขัดขืนอย่างกว้างขวางจนเป็นกระแสใหญ่ มีการเข้าชมคลิปวิดีโอเพลงเพิ่มประมาณ 10 ล้านครั้งภายในเวลาสองวันหลังเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจออกมาข่มขู่ และส่งผลให้ยอดการเข้าชมคลิปวิดีโอสูงถึงเกือบ 20 ล้านครั้งภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ และมีการแชร์คลิปวิดีโอดังกล่าวกันอย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชน
ขณะที่อีกด้านเยาวชนได้รับรู้เรื่องอื้อฉาวของคนที่อยู่ในอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ที่อื้อฉาวอย่างมาก พวกเขาได้ประจักษ์ว่าคนที่อ้างศีลธรรมความดีในการเข้ามายึดอำนาจและบงการชีวิตพวกเขา ไม่ได้เป็น “คนดี” อย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด มิหนำซ้ำกลับมีความด่างพร้อยและรอยมลทินยิ่งกว่าบุคคลที่คนเหล่านี้ยึดอำนาจมาเสียอีก พวกเขาจึงไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ ที่มีเครือข่ายมหึมาอยู่ข้างหลัง ซึ่งยังอยู่กันพร้อมหน้ามาจนกระทั่งปัจจุบัน
ในตอนแรกเยาวชนพยายามสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากการอยู่ภายใต้การปกครองของผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ผ่านกลไกรัฐสภา คือ การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขาส่วนใหญ่ พวกเขาส่วนใหญ่เลือกพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่และนำเสนอภาพเป็นตัวแทนความใฝ่ฝันของพวกเขา แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะนอกจากการประกาศผลการเลือกตั้งที่ล่าช้าและเต็มไปด้วยความสับสน
พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. มาเป็นลำดับสองกลับสามารถเสนอชื่ออดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีและได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจนสามารถตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลคณะรัฐประหารยังคงสืบทอดอำนาจในคราบรัฐบาลพลเรือนได้ต่อไป และฟางเส้นสุดท้ายก็คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคที่พวกเขาสนับสนุน จนพวกเขาพร้อมใจกันเคลื่อนย้ายพื้นที่การต่อต้านท้าทายจาก โลกออนไลน์ มาสู่ โลกออฟไลน์ ในที่สุด
ในแง่นี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ไม่ว่าข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายจะเป็นเช่นไร แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่าลำพังแต่กลไกรัฐสภาไม่สามารถนำพาให้พวกเขาหลุดพ้นจากผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ได้ จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อไป ดังที่พวกเขาแสดงให้เห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
การที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาหรือว่าเยาวชนยังสามารถชุมนุมเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะการจัดรูปองค์กร ข้อเรียกร้อง และกลวิธีการเคลื่อนไหวของพวกเขา เพราะแม้จะมีกลุ่มหลักในการจัดการชุมนุมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประชาชนปลดแอก หรือคณะราษฎร 2563 แต่กลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีลักษณะเป็น “องค์กรนำ” ที่มีการ “จัดตั้ง” เหมือนเช่นขบวนการนักศึกษาในทศวรรษ 2510 หรือมีลักษณะเป็นกลุ่มการเมือง “กึ่งจัดตั้ง” เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ รวมถึง กปปส. ในช่วงการเมืองเสื้อสี ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มย่อยอีกจำนวนมากโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ที่ทั้งเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่จัดโดยกลุ่มหลักและที่แยกกันจัดควบคู่กันไป ซึ่งมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากนี้ ต่อมากลุ่มหลัก เช่น คณะราษฎร 2563 ได้ปรับแนวทางการจัดรูปกลุ่มเป็นในลักษณะไร้แกนนำ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ราษฎร ให้สอดรับกัน ขณะที่กลุ่มที่เกิดขึ้นตามมาเน้นหลักการและแนวทางการจัดรูปกลุ่มในลักษณะ “ทุกคนเป็นแกนนำ” ส่งผลให้เยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมไม่ขึ้นต่อองค์กรนำหรือแกนนำคนใด พวกเขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่กลุ่มหรือบุคคลใดริเริ่มก็ได้
นอกจากการจัดรูปองค์กรที่ไม่เน้นการนำ สาเหตุที่เยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมไม่ว่าผู้ริเริ่มในการจัดเป็นกลุ่มหรือบุคคลใด เป็นเพราะพวกเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นหรือวาระการเคลื่อนไหวร่วมกัน เพราะแม้ข้อเรียกร้องในการชุมนุมกำหนดโดยกลุ่มหรือองค์กรหลัก แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ประมวลมาจากผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่นายกรัฐมนตรี การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งปรากฏในเชิงสัญลักษณ์หรือในลักษณะเปรียบเปรยในหมู่ผู้ร่วมชุมนุมรวมถึงผู้ปราศรัย ก่อนจะพัฒนาเป็นข้อเสนออย่างเป็นระบบโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันกลุ่มย่อยและโดยเฉพาะกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ ที่มีประวัติศาสตร์และบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมเฉพาะ ได้ผนวกข้อเรียกร้องหรือประเด็นปัญหาของตัวเองเข้าไปด้วยในการเคลื่อนไหว ฉะนั้น แม้บางกลุ่มสลายตัวไปหรือไม่ได้มีการจัดชุมนุมใหญ่ แต่ตราบเท่าที่ข้อเรียกร้องหลักยังไม่ได้ได้รับการตอบสนอง รวมถึงยังมีประเด็นปัญหาของกลุ่มและในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาหรือว่าเยาวชนก็จะยังคงมีต่อไป
นอกจากนี้ การที่เยาวชนมีกลวิธีการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย ช่วยให้พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยขณะที่กลุ่มหลักเน้นการปราศรัยบนเวที กลุ่มย่อยบางกลุ่ม เช่น REDEM และ ราษฎร เน้นการเคลื่อนที่แบบจรยุทธ์ บางกลุ่ม เช่น ทะลุแก๊ส เน้นการเผชิญหน้าท้าทาย ขณะที่บางกลุ่ม เช่น ทะลุฟ้า เน้นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ สร้างสรรค์ และมีชีวิตชีวา พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมสามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น อีกทั้งยังมีกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องและมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะหรือว่าเพศสภาวะ ฉะนั้น แม้จะการชุมนุมใหญ่ที่เน้นการปราศรัยเบาบางลง หรือการชุมนุมแบบเผชิญหน้าท้าทายหยุดชะงักไป แต่ด้วยความที่มีกลวิธีการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นหลากหลาย เยาวชนจึงสามารถปรับใช้กลวิธีเหล่านี้ในประเด็นและวาระต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่นับรวมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่ยังคงปรากฏให้เห็นเช่นกัน
นอกจากการจัดรูปองค์กร ข้อเรียกร้อง รวมถึงกลวิธีการเคลื่อนไหวของพวกเขาแล้ว สาเหตุที่นิสิตนักศึกษาจะยังคงเป็นพลังสำคัญในการเมืองไทยร่วมสมัยยังเป็นเพราะการออกมาอยู่แถวหน้าหรือว่า “การนำ” ของพวกเขาได้รับการตอบรับจากคนกลุ่มอื่นด้วย ทั้งพรรคการเมืองภายในรัฐสภาและประชาชนบนท้องถนน กล่าวในส่วนพรรคการเมือง แม้ร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยตัวแทนกลุ่มเยาวชนจะไม่ผ่านการพิจารณา แต่พรรคการเมืองที่มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกับเยาวชนก็ได้ร่วมเสนอกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย และแม้กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองเหล่านี้จะไม่ผ่านเช่นกัน แต่พรรคการเมืองเหล่านี้ก็ได้ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อมาอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน สิ่งที่เยาวชนได้บุกเบิกแผ้วถางไว้จึงมีเส้นทางให้ก้าวเดินต่อไป และพวกเขาก็สามารถเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายเหล่านี้ผ่านระบบรัฐสภาได้
ในส่วนประชาชน แม้การเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในช่วงแรกมีนักเรียนนิสิตนักศึกษาหรือว่าเยาวชนเป็นองค์ประกอบหลัก แต่ก็มีประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะคนช่วงวัยสูงกว่ารวมอยู่ด้วยตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังมีจำนวนและสัดสวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนชื่อกลุ่มจาก เยาวชนปลดแอก เป็น ประชาชนปลดแอก ในการชุมนุมครั้งที่สองของกลุ่ม รวมถึงการตั้งชื่อกลุ่มที่เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ ว่า คณะราษฎร 2563 ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ต่างชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวที่นำโดยเยาวชนไม่ได้มีเฉพาะคนรุ่นเยาว์ หากแต่ประกอบด้วยคนวัยที่สูงกว่าด้วย
นอกจากนี้ หลังการสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 และแกนนำเยาวชนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีและคุมขัง รวมถึงไม่มีการชุมนุมใหญ่โดยกลุ่มเคลื่อนไหวหลักอีก คนสูงวัยกว่าที่เคลื่อนไหวมาก่อนหน้าได้เข้ามาเป็นแกนนำและกำลังหลักในการจัดการชุมนุมเคลื่อนไหวมากขึ้น ดังกรณี คาร์ม็อบ ที่ผู้ริเริ่มคืออดีต แกนนอน และ แกนนำ เสื้อแดง ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยคนสูงวัยกว่าเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีการจัดกิจกรรมกว่า 40 ครั้งภายในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2564 และมีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยกว่า เพราะคนกลุ่มนี้เห็นว่าสะดวกในการเข้าร่วม สามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่เสี่ยงหรือตกเป็นเป้าเหมือนการชุมนุมแบบเผชิญหน้าหรือกระทั่งการชุมนุมแบบเวทีปราศรัย
เช่นเดียวกับกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ก็ริเริ่มโดยนักกิจกรรมทางการเมืองที่สูงวัยกว่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ ในกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่หน้าศาลฎีกา หรือกลุ่มปัญญาชนสาธารณะ ศิลปิน รวมถึงนักวิชาการในพื้นที่ ในกิจกรรม “ยืนหยุดทรราช” ที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึงกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่ จ.อุบลราชธานี และด้วยความที่กลุ่มเยาวชนหลักไม่ได้จัดกิจกรรมใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ก็ส่งผลให้การชุมนุมเคลื่อนไหวโดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา ที่เน้นการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง กลายเป็นกิจกรรมที่จัดโดยและมีผู้เข้าร่วมเป็นคนสูงวัยกว่าเป็นส่วนใหญ่ ไม่นับรวมกองทุนราษฎรประสงค์ที่ใช้เป็นเงินประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ที่ผู้บริจาคส่วนใหญ่คือประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะคนวัยสูงกว่าเช่นกัน
คนต่างช่วงวัยที่ร่วมกันเคลื่อนไหวภายใต้ “ขบวนการเยาวชนไทยร่วมสมัย” เหล่านี้ในด้านหนึ่งถูกยึดโยงเข้าด้วยกันจากการมีประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับปัญหาและความยากลำบากในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงความคับแค้นจากความอยุติธรรมที่ได้รับ และความโกรธเคืองที่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะมาตรการสลายการชุมนุมที่ไม่ได้สัดส่วน ขณะที่อีกด้านพวกเขาถูกเชื่อมร้อยด้วยแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งในระดับกว้างอย่างเช่นประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค และในระดับที่จำเพาะเจาะจงอย่างเช่นแนวคิดฝ่ายซ้าย เพราะเยาวชนจำนวนหนึ่งอ่านงานเขียนของนักคิดกลุ่มนี้ ขณะที่คนวัยสูงกว่าที่สนับสนุนเยาวชนจำนวนมากเป็น “สหายเก่า”
ประสบการณ์และความคิดร่วมเหล่านี้ได้หลอมรวมคนต่างวัยอย่างพวกเขาให้เป็นคน “รุ่น” เดียวกันในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพลง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ของอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “เพราะโลกนี้มีคนอย่างเธอ คนหนุ่มสาว เพราะโลกนี้มีคนอย่างเธอ ประชาชน เพราะโลกนี้มีคนแบบเธอ ราษฎรทั้งหลาย ให้มันจบที่รุ่นเรา” สะท้อนให้เห็นว่า “รุ่นเรา” ไม่ได้มีเฉพาะคนหนุ่มสาว หากแต่มีประชาชนหรือราษฎรซึ่งเป็นคนช่วงวัยอื่นรวมอยู่ด้วยอย่างสำคัญ
ขณะเดียวกันคนรุ่นเยาว์ไม่ได้มีเพียงนักเรียนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย หากแต่มีนักเรียนอาชีวศึกษารวมถึงเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบรวมอยู่ด้วย คนรุ่นเยาว์กลุ่มนี้ไม่เพียงแต่เข้าร่วมการชุมนุมที่นำโดยนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย หากแต่ยังได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มและชุมนุมเคลื่อนไหวในแนวทางเฉพาะของตัวเองด้วย
เพราะเหตุนี้ การเคลื่อนไหวของเยาวชน “คนรุ่นใหม่” ในระลอกนี้จึงมีฐานทางสังคมค่อนข้างกว้าง เพราะมีความหลากหลายทั้งช่วงวัยและสถานะทางเศรฐกิจและสังคม รวมไปถึงอัตลักษณ์ทางสังคมอื่น เช่น เพศสภาวะ และชาติพันธุ์ ที่ร้อยรัดด้วยประสบการณ์และความคิดร่วม เป็นเครือข่ายหรือกลุ่มก้อนที่ก่อตัวขึ้นใหม่ที่จะเคลื่อนตัวต่อไปไม่หยุดยั้ง
แม้การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุข้อเรียกร้องใด แต่ก็ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง การไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ การไม่รับปริญญา และผลการสำรวจความเห็นในที่สาธารณะ ต่างชี้ว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปมากแล้ว คำถามคือผู้ปกครองจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร จะพอใจเพียงแค่ใช้กำลังขัดขวางหรือสลายการชุมนุม ใช้เจ้าหน้าที่ข่มขู่คุกคามหรือติดตามจับตาผู้เคลื่อนไหว หรือใช้กฎหมายกับผู้เห็นต่างอย่างบิดเบี้ยวเพียงเท่านั้นหรืออย่างไร เพราะวิธีเหล่านี้อาจสยบความกระด้างกระเดื่องได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถลดความขุ่นเคืองในระยะยาวได้ หรือเห็นว่ายังสามารถหว่านล้อมกล่อมเกลานักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนด้วยวิธีการเดิมได้ต่อไปหรืออย่างไร แต่อย่าลืมว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายกลายเป็นหนังสือยอดนิยมแทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ และมีสื่อทางเลือกโดยเฉพาะในโลกเสมือนให้เข้าถึงนอกเหนือจากสื่อกระแสหลัก จนยากเกินกว่าจะยึดกุมความคิดจิตใจผู้คนเหมือนเก่าได้ ทั้งหมดนี้คือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ตามใจ เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ “ฆ่า” อย่างไรก็ไม่ตาย
ในทางกลับกัน นิสิตนักศึกษาหรือว่าเยาวชนจะดำเนิน “การนำ” โดย “ไร้แกนนำ” ของตัวเองในการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร จะดึงคนในช่วงวัยสูงกว่ามาเป็นคน “รุ่น” ทางการเมืองเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างไร และจะขับเคลื่อนความคิดนำหรือข้อเรียกร้องหลักต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะด้วยการอาศัยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นฐานและแนวทาง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายแห่งในโลกนี้มีจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
(ขอบคุณภาพจาก ไพศาล จันทร์ปาน และสำนักข่าวราษฎร)