คุยกับ โม-สุวิมล พยาบาลที่อยากให้เลิกโรแมนติไซส์เรื่องความเสียสละ เพราะคําว่า ‘อาชีพเสียสละ’ มันคือการหลอกใช้ให้เราทํางานหนัก
ภาพรวมของปัญหาในการทำงานของคนในวงการสาธารณสุขตอนนี้มีอะไรบ้าง
ถ้าที่หนักๆ เลย หลังจากที่ผ่านช่วงโควิดมาก็จะมีเรื่อง ชั่วโมงการทํางาน ค่าตอบแทน แล้วก็เป็นปัญหาที่เดิมเคยมีมาอยู่แล้ว ก็คือเรื่องของการกดขี่กันในที่ทํางาน
ปัญหาชั่วโมงการทำงานเป็นอย่างไร อธิบายให้ฟังหน่อย
ถ้าเป็นเรื่องของชั่วโมงการทํางานตอนช่วงโควิดก็จะค่อนข้างหนักมาก เพราะว่าเวลามีเจ้าหน้าที่ติดโควิดคนนึง เจ้าหน้าที่คนอื่นก็จะต้องมารับงานในส่วนของเจ้าหน้าที่คนนั้น ทําให้วันหรือชั่วโมงการทํางานที่จะได้พักผ่อนมันน้อยลงไปอีก
พอพ้นจากช่วงโควิดมา พอคนไข้โควิดลดลง คนที่เป็นคนไข้ทั่วไปเริ่มกลับมาโรงพยาบาลมากขึ้น เท่ากับว่าคนที่ทํางานในโรงพยาบาลในทุกตําแหน่งเลยนะ ไม่ใช่แค่หมอ-พยาบาล ไม่ว่าจะเป็น เภสัชฯ ผู้ช่วยพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ หรือว่าแม่บ้าน พนักงานเปล ทุกคนก็กลับมาทํางานหนักเหมือนเดิม คือทํางานหนักมาตลอด ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เรื่องชั่วโมงการทำงาน ถ้าอย่างของพยาบาลตอนนี้ จากที่ทําสํารวจมาปกติจะอยู่ที่ 71-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนของหมอจะอยู่ที่ประมาณ 100+ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะว่าหมอจะอยู่เวร 24 ชั่วโมง ส่วนในสายอาชีพอื่นก็ไม่ได้ต่างกันมาก ส่วนมากก็จะทํางานประมาณ 70-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือถ้าเกินกว่านั้นก็อยู่ที่สัก 80-100 หรือมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็มี ซึ่งด้วยปัญหาจํานวนคนในระบบที่มันลดลง ก็เลยยิ่งทําให้คนที่ยังอยู่ในระบบต้องทํางานด้วยชั่วโมงการทํางานที่มากขึ้น
โดยปกติ ถ้าตามกฎหมายแรงงาน เราควรจะทํางาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้เราทำงานกันเกินมาหนึ่งเท่าตัวของที่ควรจะเป็น แล้วเราได้ลองไปรีเสิร์ชในงานวิจัยของแต่ละประเทศ ทั้งที่อเมริกา หรือว่าโซนยุโรป ส่วนมากจะมีกฎหมายกําหนดไว้ว่าพยาบาลในต่างประเทศจะทํางาน 40-42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะไม่เกินนี้ เพราะว่างานวิจัยเขาบอกว่าถ้าชั่วโมงการทํางานเยอะกว่า 42 ชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะทําให้พยาบาลลาออกจากระบบมากขึ้น
ในไทยมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องชั่วโมงการทำงานของพยาบาลหรือยัง
คือในไทยเราจะแยกการดูแล แยกกฎหมายแรงงาน กับ กฎหมายข้าราชการ ด้วยความที่อาชีพหมอ พยาบาล เภสัชฯ หรือคนที่ทํางานในโรงพยาบาลที่จะบรรจุได้ ทํางานเป็นข้าราชการ เพราะฉะนั้น ก็จะถูกดูแลโดยระเบียบข้าราชการ ไม่ใช่กฎหมายแรงงาน
ฉะนั้นกฎหมายแรงงานที่บอกว่าให้ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะไม่สามารถไปบังคับใช้กับระบบราชการได้ แต่ถ้าเป็นเอกชน กฎหมายแรงงานตรงนี้จะคุ้มครองอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำเอกชนจะทำงานชั่วโมงน้อยกว่า เรื่องจำนวนชั่วโมงก็ยังเยอะเหมือนกันทั้งรัฐทั้งเอกชน ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะว่าพยาบาลยังมีไม่พอ แต่ในเรื่องค่าตอบแทนเอกชนอาจจะสบายกว่าแน่นอน
แล้วเราสามารถขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายได้อย่างไรบ้าง
ถ้ามีนโยบายออกมาจัดการตรงนี้ คิดว่ามันน่าจะดีมากขึ้น อย่างปัญหาของพยาบาลตอนนี้มีทางเดียวคือต้องเพิ่มคนเข้าไปในระบบ หรืออย่างน้อยก็เพิ่มแรงจูงใจในการดึงคนจากแผนกอื่นที่ต้องการหาเงินเสริมขึ้นมาทํางาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะต้องขึ้นอยู่กับแรงจูงใจที่จะดึงให้เขาเข้ามาทํางานด้วย
แต่จริงๆ แล้วที่เราอยากได้ คือกฎหมายหรือข้อกําหนดที่ชัดเจนในเรื่องของการกําหนดชั่วโมงการทํางาน ทั้งของแพทย์และของพยาบาลที่เราเรียกร้องกันอยู่ตอนนี้ เพื่อเป็นเหมือนการทําทางไว้ก่อน
เพราะตอนนี้ปัญหาคือ ทั้งแพทยสภาและสภาการพยาบาล ไม่มีข้อกําหนดที่ชัดเจนในเรื่องของชั่วโมงทํางาน มีแต่เพียงแค่คําแนะนําว่า ไม่ควรทํางานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือบอกว่า การทํางานเกินกว่าเวลาที่กําหนดต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่มีใครมาถามความสมัครใจว่าเราจะทําหรือไม่ทํา แต่ว่ามันกลายเป็นว่าเขาบังคับให้เราทําไปในตัว
เราก็เลยอยากได้ข้อกําหนดที่ชัดเจนจากสภาวิชาชีพด้วย แล้วก็อยากให้ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขมองเห็นปัญหานี้ ให้ตรงกันกับเรา
แล้วก็อีกเรื่องที่คิดว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาได้ ก็คือระบบการเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ คือตอนนี้เรายังไม่มีระบบการเก็บข้อมูลที่ดีพอว่าในหนึ่งวัน แพทย์หรือพยาบาล ทํางานเท่าไหร่ คิดเป็นจํานวนคนทํางานกี่คน ซึ่งมันทําให้เราไม่สามารถเอามาใช้คํานวณได้ว่า จริงๆ แล้วในระบบเรา ยังต้องการแพทย์อีกกี่คน ยังต้องการพยาบาลอีกกี่คน ถ้าเราทราบตรงนี้เราก็จะได้ไปผลิตเพิ่มให้เพียงพอกับในระบบได้
เรื่องค่าตอบแทนที่ว่าเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาอย่างไร
ตอนนี้ก็คือภาพรวมอย่างเช่น แพทย์-พยาบาล ถ้าอยู่เวรก็ยังได้ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม หรือเรื่องเงินเดือนขั้นต่ำของคนที่ทํางานในโรงพยาบาลก็ยังไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในปัจจุบัน ก็เลยเป็นภาระที่ทำให้เราต้องทํางานหนักขึ้นเพื่อให้ได้เงินเยอะขึ้น
ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นคือ อย่างเช่น พยาบาลกําหนดไว้ว่าในเวลาทําการที่เป็นชั่วโมงทํางาน ใน 8 ชั่วโมง จะได้ 240 บาท แต่ว่าการขึ้นเวรโอทีนอกเวลาราชการมันไม่มีการกําหนดตายตัวชัดเจน มีแค่ระเบียบที่ระบุออกมาว่าให้ค่าตอบแทนโดยที่ไม่กระทบกับเงินบํารุงโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีมาตรฐานที่เท่ากัน
อย่างสมมติเราเป็นพนักงานออฟฟิศ ก็จะคิดไปเลย 1.5 เท่าต่อชั่วโมง หรือ 3 เท่าต่อชั่วโมงในวันสุดสัปดาห์ แต่อันนี้มันไม่มีการกําหนดว่าคุณจะได้เท่าไหร่ในแต่ละที่ ถ้าที่ไหนที่คุณไปอยู่ได้เงินเยอะก็ดีไป ถ้าที่ไหนที่คุณไปอยู่ได้เงินน้อยก็ซวยไป คือมันไม่ควรจะผลักภาระตรงนี้ไปให้คนทํางานเป็นคนแก้ปัญหาเองด้วยการระมัดระวังการใช้จ่าย คือมันเป็นสิ่งที่คุณควรจะจ่ายให้เขา อย่างสมน้ําสมเนื้อ แล้วก็เท่ากันหมด
อีกหนึ่งประเด็นที่พูดถึงคือเรื่องของการกดขี่ในที่ทํางาน เรื่องนี้มันเป็นอย่างไร
ด้วยความที่เป็นสังคมข้าราชการ เอาจริงๆ ก็เป็นทุกที่ ในเรื่องการกดขี่กันของผู้ที่อายุมากกว่ากับคนที่อายุน้อยกว่า ทั้งในเรื่องของอํานาจที่มีไม่เท่ากัน หรือว่าสิทธิในการที่จะแสดงออกที่ไม่เท่ากัน เหมือนมาจากความโซตัสที่เราถูกสั่งสอนกันมาว่า เขาเป็นพี่เราเป็นน้อง แล้วเราต้องเรียนรู้จากเขาเนื่องจากว่าเขามีประสบการณ์มากกว่า มันก็เลยยิ่งส่งเสริมให้เขาดูมีอำนาจมากกว่าเรา จนบางครั้งมันก้าวข้ามเส้นคำว่าการเคารพความเป็นมนุษย์กันไป ทั้งด้วยคําพูดหรือการกระทำ
ในแง่ของการเป็น ‘แรงงาน’ ทําไมดูเหมือนแสงส่องไปไม่ถึงแรงงานในวงการสาธารณสุข ทำไมจึงเป็นแบบนั้น
มันเกิดจากการหล่อหลอมกันมาว่าเราเป็นอาชีพที่คนให้คุณค่าในสังคม บางทีเลยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นแรงงานคนหนึ่ง คิดว่าตัวเองเป็น หมอ-พยาบาล เป็นอาชีพที่มีเกียรติ แล้วพอพูดถึงแรงงานก็นึกถึงคนที่ใช้แรงงาน เป็นกรรมาชีพที่เป็นกรรมกรอะไรอย่างนี้ ซึ่งพอมองตัวเองแบบนั้น มันก็เลยเกิดจุดบอดในการรับรู้สิทธิของการเป็นแรงงาน กลายเป็นว่าเห็นแต่ด้านที่ตัวเองอยู่ในฐานะที่มีคนยกย่อง เลยทำให้เสียสิทธิตรงนั้นไป
นอกจากนั้นพยาบาลยังถูกฝังหัวมาตั้งแต่แรกว่า เราเป็นนางฟ้าชุดขาว แล้วเราก็เสียสละดูแลคนไข้มากมาย พอกลายเป็นอาชีพที่คนเริ่มมองว่าน่ายกย่อง ก็จะไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแรงงาน ประกอบกับทั้งหมอทั้งพยาบาลเป็นข้าราชการอีก ข้าราชการก็จะแยกตัวเองออกมาจากแรงงาน ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหมายของแรงงานก็คือคนทํางานทุกคน เราก็เป็นคนทํางานเหมือนกันหมด บางทีเลยกลายเป็นว่าเราไม่ตื่นรู้ในสิทธิของตัวเองที่จะปกป้องผลประโยชน์จากการทํางาน
ทัศนคติหรือเรื่องแบบไหนที่อยากให้คนในวิชาชีพเดียวกันมีความคิดที่เปลี่ยนไป
อย่างแรกเรามองว่าสิ่งที่ควรจะเลิกโรแมนติไซส์ก็คือ เรื่องของความเสียสละในอาชีพ ทั้งแพทย์ทั้งพยาบาลเป็นเหมือนกันหมดเลย คือมีความคิดว่าเราเสียสละ เราทําเพื่อคนไข้
เราเลยอยากให้พยาบาลหรือแพทย์รู้ตัวว่า คําว่า ‘เสียสละ’ ที่เขาพูดกับคุณเนี่ย มันคือการหลอกใช้ให้คุณทํางานหนัก โดยเอาคําว่าเสียสละมายกยอปอปั้น เพื่อไม่ให้คุณเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะได้
ทำให้ช่วงที่พยาบาลส่งเวรหรือช่วงที่พยาบาลทํางานเกินเวลาไป ไม่สามารถเบิกค่าตอบแทนได้ ทั้งที่งานยังไม่เสร็จ เราก็ไม่สามารถลงเวรไปได้
ทําให้หมอที่ลุกขึ้นมาผ่าตัดคนไข้ทั้งคืน ได้เงินรายเวรแค่ 1,100-2,000 บาท ทั้งที่บางทีคืนนั้นหมอผ่าตัดคนไข้ไปไม่รู้กี่คน หรือยืนผ่าตัดไปไม่รู้กี่ชั่วโมง
ทําไมเราต้องทํางานเกินชั่วโมงการทํางานเพราะว่าคนไม่พอ คือทั้งหมดนี้ มันถูกคุมด้วยคําว่าเสียสละหมดเลย แล้วพอเอาคําว่า “ช่วยกันหน่อย” มาบวกกับ “เราเสียสละทำเพื่อคนไข้” มันก็เลยกลายเป็นว่า ทุกคนชินกับการที่เราอยู่แบบนี้มาตลอด ทำให้เราไม่กระตือรือร้นที่จะเรียกร้องในสิ่งที่เราเสียไป เพราะเราไม่ได้มีมันตั้งแต่แรก
อีกสิ่งที่อยากให้คนในอาชีพปรับเปลี่ยนทัศนคติคือ เราไม่ได้เสียสละไปกว่าใครในสังคม เราทํางานเหมือนกัน เราเป็นคนทํางานเท่ากัน แต่ว่างานที่เราทํา มันดันเป็นงานที่เกี่ยวกับชีวิตคน ซึ่งมันต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจสูงเฉยๆ โดยที่เราก็ควรได้รับสิทธิที่เราควรจะได้เช่นกัน
จริงๆ แล้วอาชีพนี้มันก็มีคุณค่าในตัวเองนั่นแหละ แต่แค่ไม่ได้อยากให้มองว่ามันมีคุณค่ามากไปกว่าอาชีพอื่นเท่านั้นเอง
ขอบคุณสถานที่: Beaker and Bitter
📍https://g.page/beakerandbitter?share
ที่มา Brandthink.me