วันอาทิตย์, ตุลาคม 30, 2565

มาตรา 112 : อนาคตก้าวไกล กลางดงต้านนโยบายแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงเหตุผลที่เลือกเปิดนโยบายการเมืองเป็นอันดับแรกว่า หากการเมืองไม่ดี ยากที่เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาอื่น ๆ จะถูกแก้ไขได้

มาตรา 112 : อนาคตก้าวไกล กลางดงต้านนโยบายแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ

24 ตุลาคม 2022
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

แกนนำพรรคก้าวไกลวิจารณ์กลับนักการเมืองต่างค่าย “รู้ว่ามีปัญหา แต่ขาดความกล้าหาญทางการเมือง” หลังหลายพรรคประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทว่าพรรคสีส้มเองอาจไม่ใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 2566

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวนโยบายชุดแรก “การเมืองไทยก้าวหน้า” เมื่อ 15 ต.ค. หนึ่งในนั้นคือการผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังมีประชาชนนับร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

ชาวก้าวไกลมองว่าเป็น “กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” และยืนยันว่า “การแก้มาตรา 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ”

ขณะที่แกนนำพรรคการเมืองอื่น ๆ ต่างออกมาประกาศจุดยืน “ไม่เห็นด้วย” “ไม่เอาด้วย” และ “จะคัดค้านขัดขวางอย่างถึงที่สุด” โดยบางพรรคถึงขึ้นประกาศล่วงหน้าว่า “ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย”

“ถ้าคิดแบบนักการเมืองดั้งเดิม ก้าวไกลอาจดูเหมือนนักการเมืองนอกขนบ ไม่มีกลยุทธ์การเมือง ไม่ฉลาด แต่เราเชื่อว่านี่คือวิถีการเมืองของเรา” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวกับบีบีซีไทย

ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากรอบด้าน ชัยธวัชมองในแง่ดีว่าภายหลังพรรคเปิดนโยบายการเมืองชุดแรก ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม นั่นหมายความว่าการทำงานทางความคิดเริ่มขึ้นแล้ว

“เราไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นการหาเสียงนะ เพราะไม่ใช่เพิ่งมาทำตอนจะมีเลือกตั้ง แต่เรานำเสนอไว้นานแล้ว” เลขาธิการพรรคอันดับ 4 ในสภาผู้แทนราษฎร ระบุ


ในระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อ 22 ก.ค. 2565 เรื่องการดำเนินคดี 112 แก่ผู้ต้องขังทางการเมือง ส.ส. พรรคก้าวไกลพร้อมใจกันชูภาพของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง" และ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ "ใบปอ" ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานั้น เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว

ย้อนกลับไปเมื่อ ก.พ. 2564 ก.ก. เสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส.ก้าวไกล 9 คนที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตตินี้

ผลปรากฏว่า ร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว แต่สำหรับฉบับที่ 5 คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ตั้งแต่หมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป, ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน, ดูหมิ่นศาล และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณา โดย ก.ก. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สภาว่า สำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โต้แย้งว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

ก่อนบรรจุเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายการเมืองของพรรค ชัยธวัชเล่าว่า ชาวก้าวไกลคิดกันหนัก-คุยกันนาน เพราะรู้ว่าการโยนประเด็นนี้ออกสู่สาธารณะอาจนำมาสู่การสูญเสียคะแนนนิยมของพรรค แต่เมื่อมาตรา 112 กลายเป็นประเด็นทางสังคม มีการแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหานี้และข้อหาอื่น ๆ อย่างกว้างขวางรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และเห็นได้ชัดว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีการบังคับใช้อย่างผิดปกติ ส่งผลต่อระบบนิติรัฐนิติธรรม และทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม พรรคจะทำเหมือนไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมได้อย่างไร

“ถ้าเรานิ่งเฉยแล้วเงียบ เราจะเป็น ส.ส. ไปทำไม หรือจะมีพรรคนี้ไปทำไม อันนี้คือจุดเริ่มต้นในการนำเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปี 2564 รู้เลยว่าถ้าเสนอออกไปต้องเสียคะแนนนิยมแน่ เช่นเดียวกับการประกาศเป็นนโยบายการเมืองของพรรคในครั้งนี้” ชัยธวัชบอก


ประชาชนบางส่วนรวมตัวกันหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒะ เมื่อ 10 พ.ย. 2564 เพื่อฟังคำวินิจฉัยคดีชุมนุม 10 ส.ค. 2563 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

นับจากมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีนักกิจกรรมการเมืองและประชาชนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 216 คน ใน 235 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 17 คน ใน 20 คดี ตามการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“คนที่เลือกก้าวไกลก็อาจไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้”

การยืนยันผลักดันแก้ไขมาตรา 112 ผ่านนโยบายชุดแรกของพรรค ก.ก. คล้ายเป็นการหยั่งเสียง-รวมเสียงแนวร่วมนอกสภา เพื่อกดดันกลับมาที่คนในสภาภายหลังเลือกตั้ง 2566 หรือไม่

ชัยธวัชชี้ว่า ประชาชนที่โหวตให้พรรคใดพรรคหนึ่งคงไม่ได้มีเหตุผลเดียว และเป็นเรื่องปกติมากที่คนอาจไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งหมด แต่เห็นด้วยบางส่วน

“ดังนั้นคนที่เลือกก้าวไกลก็อาจไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่เมื่อเรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อเสนอของเรา หากเราได้รับความไว้วางใจก็จะผลักอย่างเต็มที่ ซึ่งรูปธรรมก็คือการเสนอร่างกฎหมาย”

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแกนนำอย่างน้อย 8 พรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาล่างชุดปัจจุบัน ออกมาประกาศไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั่นทำให้นโยบายทางการเมืองของก้าวไกลยากจะเห็นผลในทางปฏิบัติหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เลขาธิการพรรค ก.ก. เห็นว่า เป็นหน้าที่ของพรรคที่ต้องอธิบายกับสังคมและสภา จนกว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วย ถ้าเกิดไม่สำเร็จ พรรคก็ต้องทำงานความคิดกับสังคมต่อไป ซึ่งบางเรื่องอาจต้องใช้เวลา 3 ปี 5 ปี 10 ปี

ซัดนักการเมือง “อาศัยเสื้อคลุมความจงรักภักดีหาประโยชน์ส่วนตัว”

กว่าจะถึงวันนั้น นโยบายรื้อมาตรา 112 อาจเป็นจุดสกัดกั้นโอกาสพลิกบทบาทจากฝ่ายค้าน 4 ปี ไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารหรือไม่ หลังบางพรรคการเมือง เช่น พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกาศไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีแนวคิดแก้ไขมาตรา 112

“ต่อให้ไม่มีเรื่องนี้ เราก็ไม่คิดจะร่วมรัฐบาลกับภูมิใจไทยอยู่แล้ว” ชัยธวัชตอบทันควัน ก่อนขยายความว่า ถ้าฟังสิ่งที่ ก.ก. ตรวจสอบรัฐบาล และพรรค ภท. ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวคิดในการดำเนินนโยบายและแนวทางทำงานการเมืองแตกต่างกันมาก


อนุทิน ชาญวีรกูล และ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564

เช่นเดียวกับบางพรรคการเมือง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ชัยธวัชใช้คำว่า “อยากหาเสียงด้วยการประกาศจุดยืนเรื่องนี้” แต่อย่าลืมว่ากรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งขึ้นโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. หลังสลายการชุมนุมการเมืองปี 2553 ก็เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 เหมือนกัน โดยให้ลดอัตราโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 7 ปี พร้อมเสนอให้การสอบสวนเป็นคดีได้ก็ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่

“นักการเมืองจำนวนมากรู้ว่ามีปัญหา แต่ขาดความกล้าหาญทางการเมือง ขาดจริยธรรมทางการเมืองที่จะนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง อาศัยเสื้อคลุมความจงรักภักดีหาประโยชน์ส่วนตัว แสวงหาอำนาจทางการเมือง โดยอาศัยสถาบันฯ บังหน้า ตั้งแต่เรื่องการใช้งบประมาณ ผลักดันโครงการ อ้างสถาบันฯ เพื่อรัฐประหารให้ตัวเองมีอำนาจ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์จากเครือข่ายที่แวดล้อมสถาบันฯ โดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ดำรงอยู่ส่งผลเสียต่อสถาบันฯ อย่างไร” ชัยธวัชกล่าว

เขาคิดว่า สังคมอาจไม่ต้องการนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่าจงรักภักดีเพื่อจะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ตัวเอง แต่ต้องการคนที่จงรักภักดีจริง ๆ คิดถึงอนาคตของสถาบันฯ จริงๆ มีสติ และมีปัญญา

อาจไม่ใช้แก้ ม. 112 เป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาล

ส่วนเรื่องการจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคใด เลขาธิการพรรคอันดับ 4 ของสภา ขอให้รอดูผลการเลือกตั้ง และเหตุผลในการร่วมรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันหมดทุกเรื่อง แต่มีวาระใหญ่ ๆ ที่เห็นร่วมกันได้

ภายหลังการเลือกตั้ง 2562 พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แสดงเจตนารมณ์ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ 7 พรรคการเมือง นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยมีข้อตกลงใหญ่ ๆ ร่วมกัน อาทิ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และปฏิรูปกองทัพ ก่อนที่ทั้งหมดจะตกที่นั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 รวบรวมเสียงแข่งและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

กับเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของ ก.ก. หลังการเลือกตั้ง 2566 ชัยธวัชบอกว่ายังไม่มีการพูดคุยในพรรค แต่คงหนีไม่พ้นข้อตกลงใหญ่ ๆ เช่นเดิม “อาจไม่ใช่เรื่อง 112 ก็ได้ เพราะเรื่องนี้เราเข้าใจดีว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคไม่ต้องการพูดถึง ไม่ต้องการแตะต้อง แต่เพราะเป็นแบบนั้น ก้าวไกลถึงพูด ถึงเสนอ”

พ่อบ้านประจำพรรคก้าวไกลยังเลี่ยงจะตอบคำถามถึงโอกาสจับมือกับเพื่อไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รับรู้ในหมู่คอการเมืองว่า พท. กับ ก.ก. มีเพดานต่างกันในกรณีมาตรา 112 โดยชัยธวัชบอกเพียงว่าตอบแทนพรรคอื่นไม่ได้ แต่ละพรรคมีชุดนโยบายแตกต่างกัน และย้ำคำเดิมว่า ไม่จำเป็นต้องเห็นร่วมกันทั้งหมด แต่สามารถมีวาระใหญ่ ๆ ที่เห็นร่วมกันได้

แสดงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะไม่เป็นเงื่อนไขหลักในการเข้าร่วม/ไม่เข้าร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ บีบีซีไทยถาม


คำตอบของแกนนำก้าวไกลคือ การแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายการเมืองของพรรค ซึ่งพรรคที่ต้องการร่วมรัฐบาลกับ ก.ก. ถ้าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เราก็สามารถใช้หน้าที่ ส.ส. ผลักดันผ่านสภาได้อยู่แล้ว


ชัยธวัช ตุลาธน แถลงเมื่อ 3 พ.ย. 2564 ยืนยันว่าการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 จะช่วยลดปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากมาตรา 112 ลง และไม่กระทบต่อสถาบันฯ

ท้ายที่สุดเมื่อให้ประเมินความเสี่ยงทางการเมืองเรื่องยุบพรรค หลังสมาชิกพรรคไทยภักดียื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ เลขาธิการพรรค ก.ก. ไม่รู้สึกกังวล เพราะการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเป็นอำนาจของสภาอยู่แล้ว

เขายังย้อนอดีตด้วยว่า มาตรา 112 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2499 ไม่ใช่ไม่เคยถูกแก้ไข แต่เคยแก้ไขมาแล้วหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทว่าเป็นการแก้ในลักษณะเพิ่มโทษ จากจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

เสียงต้านที่เป็นเอกฉันท์ของนักการเมืองต่างพรรค

เพียงสัปดาห์เดียวหลังก้าวไกลเปิดนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง มีปฏิกริยาจากนักการเมืองต่างพรรคที่ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน ประหนึ่งเป็น “เอกฉันท์” ว่าไม่เห็นด้วย

ยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่ยังสงวนท่าที โดย สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค ตอบคำถามผู้สื่อข่าวโดยบอกเพียงว่าเรื่องนี้เป็นจุดยืนของแต่ละพรรค ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจเอง แต่สำหรับ พท. ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือ เศรษฐกิจปากท้องประชาชน ความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมไทย

สำหรับ “แนวต้าน” การแก้ไขมาตรา 112 ให้เหตุผลใกล้เคียงกัน ดังนี้

พรรคภูมิใจไทย : “ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย”

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เล่าย้อนไปถึงอุดมการณ์ข้อแรกในการก่อตั้งพรรค ภท. เพื่อ “ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ” พรรคไม่มีนโยบาย ไม่มีความคิดเรื่องแก้ไขมาตรา 112 และไม่เข้าใจว่าคนที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 เดือดร้อนอะไรกับกฎหมายนี้

“ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ากฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะท้าทาย คิดจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็กลัวโทษตามกฎหมาย จึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ให้สิ่งที่ตนจะทำเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ” อนุทินกล่าว

หัวหน้าพรรคอันดับสองของรัฐบาลแสดงความมั่นใจด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 112 “ไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา” และยังพูดแทนสมาชิก ภท. ทุกคนด้วยว่า “เราไม่แก้ไข และจะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออีกกี่ครั้งก็ตาม”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ภท. จะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับ ก.ก. ใช่หรือไม่ อนุทินตอบว่า “ไม่มีทางอย่างแน่นอน” ไม่ใช่เฉพาะ ก.ก. แต่ ภท. จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบาย มีแนวคิดแก้ไขมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย เพราะมีอุดมการณ์ขัดแย้งกันจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้


นายกฯ เป็นประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 ก.ค. 2565

พรรคประชาธิปัตย์ : “ไม่เอาด้วย”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค ระบุว่า ปชป. ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีบทคุ้มครองประมุขของประเทศ

พรรคชาติไทยพัฒนา : “รอให้ดินกลบหน้า ผมไม่ยอมแก้ ม. 112 แน่นอน”

วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ประกาศจุดยืนของ ชทพ. ว่า จะไม่ไปยุ่งอะไรกับมาตรา 112 เพราะตั้งแต่เกิดมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เห็นคนทั่วไปมีปัญหา อีกทั้งปัจจุบัน ขนาดบุคคลธรรมดายังมีคดีหมิ่นประมาทอยู่ในศาลตั้งหลายร้อยหลายพันคดี

“มาตรา 112 ไม่ใช่มาตราที่หาเรื่องใคร แต่ใช้เพื่อปกป้องสถาบันฯ อันเป็นที่รัก หากมีใครอุตริไปหาเรื่อง เราจะต้องมีอุปกรณ์หรือกฎหมายใดปกป้องสถาบันฯ ได้”

“มาตรา 112 มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เห็นใครมีปัญหา หัวเด็ดตีนขาดก็ต้องมีมาตรา 112 รอให้ดินกลบหน้า ผมไม่ยอมแก้มาตรา 112 แน่นอน” หัวหน้าพรรค ชทพ. ลั่นวาจา

พรรคพลังประชารัฐ : “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรค ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขมาตรา 112 เนื่องจากเป็นบทบัญญัติในการคุ้มครองประมุขของรัฐ ซึ่ง พปชร. ชัดเจนมาโดยตลอดต่อการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และพรรคจะยึดมั่นแนวทางนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

พรรคพลังท้องถิ่นไท : “จะคัดค้านอย่างแน่นอน”

ชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรค อีกคนที่ออกมาย้ำจุดยืนเรื่องการปกป้องสถาบันฯ พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะสถาบันฯ ไม่ได้ทำอะไรให้ ไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบายเช่นนี้ “หากพรรคก้าวไกลเสนอเรื่องเข้ามาในสภา พรรคพลังท้องถิ่นไทจะคัดค้านอย่างแน่นอน”


แนวร่วม “ราษฎร” เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 นับจากมีแกนนำและประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทยอยถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

พรรคเสรีรวมไทย : “ยกเลิกไม่ได้”

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค ให้ความเห็นว่า สร. ยืนยันมาตลอดว่าแนวทางพรรคเป็นแบบกลาง ๆ อย่าง ก.ก. บอกให้ยกเลิกเลย ถามว่าบุคคลธรรมดารัฐธรรมนูญยังปกป้องไม่ให้ใครมาทำร้ายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินเลย ใครมาหมิ่น เราก็ฟ้องได้ แล้วถ้ามาหมิ่นสถาบันฯ จะไม่มีสิทธิทำอะไรเลยหรือ ดังนั้นยกเลิกไม่ได้ ใครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องมีโทษเหมือนกัน แต่เห็นว่าควรปรับรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ไม่ใช่ใครก็ไปแจ้งความได้ ควรให้ตัวแทนสำนักพระราชวังดำเนินการ หรือลดจำนวนปีในการรับโทษจำคุก

พรรคไทยศรีวิไลย์ : หากไม่มี ม. 112 “อาจเกิดสงครามกลางเมือง”

มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรค บอกว่า พรรคไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 และย้ำความจำเป็นในการมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ เพื่อพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครอง ในขณะที่ประชาชนเองก็มีกฎหมายปกป้องสิทธิในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรครายนี้เชื่อว่า หากไม่มีมาตรา 112 หรือกฎหมายปกป้องกันคุ้มครองพระมหากษัตริย์ จะเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีชี้นำประชาชนเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองอื่นตามต้องการ และเกิดความสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหากษัตริย์เป็นประมุข จนอาจเกิดสงครามคิด การเมืองและสงครามกลางเมืองในอนาคต

พรรคพลังธรรมใหม่ : “เป็นการเปิดช่องทางกฎหมายเพื่อให้คนไทยมีความรู้สึกชังชาติตัวเอง”

มหัศจักร โสดี โฆษกพรรค ตั้งคำถามว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างไรจากมาตรา 112 ซึ่งหลายประเทศในโลกก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขหรือผู้นำประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า “นโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นการเปิดช่องทางกฎหมายเพื่อให้คนไทยมีความรู้สึกชังชาติตัวเอง หรือต้องการทำลายสถาบันหลักของชาติหรือไม่” นอกจากนี้ยังขอให้ กกต. ตรวจสอบการหาเสียงที่อาจขัดต่อกฎหมายด้วย
 

ในระหว่างเปิดตัวพรรคไทยภักดีเมื่อ 20 ม.ค. 2564 นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม ประกาศต่อสู้กับ 3 องค์กรการเมือง หนึ่งในนั้นคือพรรคก้าวไกล

พรรคไทยภักดี : “การมีกฎหมายนี้เป็นเรื่องปกติ”

ตัวแทนพรรคเข้ายื่นหนังสือถึง กกต. เมื่อ 21 ต.ค. เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ก.ก. เสนอนโยบายเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งกฎหมายนี้ระบุว่า พรรคต้องไม่ปฏิบัติการใด ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรค ระบุว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของรัฐและมีใช้อยู่กันทั่วโลก การมีกฎหมายนี้เป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังมีประเด็นที่เสนอให้นำมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐออกไปอยู่ในหมวดที่ยอมความกันได้ ถือเป็นการลดระดับความสำคัญของกฎหมายลง และการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นโจทก์แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดมาตรา 112 เป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนในอนาคตข้างหน้า

ก้าวไกลเสนอแก้ ม. 112 อย่างไร

สำหรับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับก้าวไกล (เฉพาะมาตรา 112) ที่ถูกตีตกไป ก่อนที่พรรคจะเดินหน้าผลักดันต่อผ่านนโยบายเลือกตั้ง 2566 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
  • ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (จากเดิมต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี)
  • ความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (จากเดิมต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี)
  • แก้ไขให้เฉพาะสำนักพระราชวังมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น (จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องคดีได้)
  • เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค เป็นผู้แถลงนโยบายการเมืองของพรรคก้าวไกล ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม เมื่อ 15 ต.ค. หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขมาตรา 112