วันเสาร์, ตุลาคม 29, 2565

ตรวนชีวิต ตรวนเสรีภาพ ชีวิตภายใต้พันธนาการของกำไลอีเอ็ม



เมื่อแสดงออกตามสิทธิ จึงถูกจำกัดเสรีภาพ: ชีวิตภายใต้พันธนาการของกำไลอีเอ็ม

พิมพ์ชนก พุกสุข 
28 Oct 2022
1O1

ต้นปี 2018 ศาลยุติธรรมประกาศพร้อมใช้กำไลติดตามตัวหรืออีเอ็ม (Electronic Monitoring – EM) สำหรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้ออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือเพื่อลดความแออัดในเรือนจำและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิต ตลอดจนคืน ‘เสรีภาพ’ ให้แก่ผู้ต้องหาในสังคมอีกครั้ง

กล่าวให้ชัด กำไลอีเอ็มถือกำเนิดขึ้นมาบนพื้นฐานแนวคิดการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน อันหมายถึงความเชื่อที่ว่ามนุษย์ล้วนมีสิทธิในการได้ใช้ชีวิต ได้ครอบครองเสรีภาพซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

ต้นปี 2022 ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่ต้องคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยมีเงื่อนไขให้พวกเขาสวมกำไลอีเอ็มที่ข้อเท้าตลอดเวลา

อุปกรณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาบนฐานความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน และความเชื่อมั่นที่ว่ามนุษย์ควรได้สิทธิในการใช้ชีวิตในสังคม ถูกนำมาใช้กับกลุ่มคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันพึงมีตามรัฐธรรมนูญและหลักสากลโลก อาจนับเป็นหนึ่งในภาวะกลับหัวกลับหางของกระบวนการยุติธรรมไทย

ดีกว่าอยู่ในเรือนจำไหม -ก็ใช่, แต่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่ -นี่อาจตอบยาก

นี่ย่อมไม่ใช่อะไรอื่นนอกเสียจากความลักลั่นย้อนแย้งของตุลาการไทย ที่ไม่ว่าใครคงหาคำตอบกันไม่ง่ายนัก

ผลัดเปลี่ยนจากการถูกขังในเรือนจำ สู่การถูกกักขังในบ้านตัวเอง



ประตูรั้วเหล็กขยับเคลื่อนพร้อมเสียงเห่าขรมต้อนรับมาจากข้างใน มองลอดเข้าไปเห็นต้นเสียงสองตัวแกว่งหางก้นส่ายคล้ายเป็นสัญญาณลับแจ้งกันว่าเป็นมิตร เจ้าของเอื้อมมือข้างหนึ่งลูบหัวกระซิบกระซาบขอความเงียบสักครู่ มืออีกข้างถือแบตเตอรี่สำรองขนาดเขื่อง -แต่ไม่พบโทรศัพท์อยู่ใกล้ๆ

“ตัวนี้ชื่อข้าวเหนียว ตัวนี้ชื่อฮันเตอร์ค่ะ” เธอหันมาบอก ยิ้มพราวแล้วหันกุลีกุจอหาน้ำหาท่ามาต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเรา จึงได้เห็นว่าสิ่งที่เราเข้าใจไปเองด้วยความเคยชินว่าเธอน่าจะกำลังชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ กลายเป็นว่าสายไฟสีดำนั้นทิ้งตัวลงถึงพื้น เชื่อมต่อกันกับอุปกรณ์ติดตามตัวที่ข้อเท้าซ้ายของเธอ

ห้าวินาทีแห่งความเข้าใจผิดนั้นตอกย้ำเราชัดเจนว่า นี่คือแง่มุมที่คนสวมกำไลอีเอ็มต้องเผชิญ และเป็นหนึ่งในแง่มุมอีกนับไม่ถ้วนที่คนไม่ได้สวมไม่ทันตระหนักถึง

ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 20 ปี อยู่กับแง่มุมที่ว่านี้มาร่วมห้าเดือนเต็ม เป็นผลลัพธ์ของการถูกศาลพิพากษาคดี 112 ศาลกำหนดเงื่อนไขให้เธอสวมกำไลอีเอ็มเป็นอุปกรณ์ติดตามตัว และห้ามออกนอกเคหะสถานโดยเด็ดขาดเว้นเสียแต่ได้รับอนุญาตจากศาล นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงได้มีโอกาสเจอหน้าข้าวเหนียวและฮันเตอร์ เพราะเรานัดเจอทานตะวันที่อื่นนอกเหนือไปจากรั้วบ้านเธอไม่ได้

ในอีกความหมายหนึ่ง ทานตะวันเปลี่ยนผ่านจากการถูกกักขังในเรือนจำ มาสู่การถูกกักขังในบ้านตัวเอง

“การอยู่บ้านมันก็ดีกว่าอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วล่ะ เราได้เจอพ่อแม่ ได้เจอเพื่อน แต่ไม่สามารถไปไหนมาไหนแบบที่เราเคยไปได้แล้ว” เด็กสาวบอก เว้นระยะ มีกลิ่นอายครุ่นคิดเจือในประโยค “ก็มีคนบอกเรานะว่า อย่างน้อยคุณก็ไม่ต้องถูกขังอยู่ในคุก ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องขึ้นเรือนนอนภายในเวลาที่เขากำหนด

“ตอนนั้นใจเราก็คิดว่ามันก็ใช่นะที่ว่าเราไม่ต้องไปเจออะไรแบบนั้นแล้ว แต่แล้วยังไงล่ะ แม้ว่ามันจะดีกว่าอยู่ในคุก แต่สุดท้ายแล้วเราสมควรโดนแบบนี้แล้วเหรอ ต่อให้เราจะออกมาจากคุกแล้ว แต่ไหนล่ะคืออิสรภาพ”

พ้นไปจากเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหะสถาน ทานตะวันยังมีเงื่อนไขว่าด้วยการห้ามเข้าร่วมหรือทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ตลอดจนกิจกรรมอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง นับเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ชวนให้อึดอัดสำหรับเธอมากที่สุดข้อหนึ่ง “เราคิดว่าที่เขาให้เราใส่กำไลอีเอ็มนั้นไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลบหนี แต่เพื่อกันไม่ให้เรากันไปทำกิจกรรมหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากกว่า”

ในความอัดอั้น เธอทำเรื่องขอออกไปร่วมชุมนุมต่อศาลยาวเหยียด หนึ่งในนั้นคือข้อความว่า ‘จำเลยหวังว่าศาลจะเข้าใจถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 44 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ’

“แต่ศาลก็ให้เหตุผลทำนองว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายซึ่งเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว สรุปคือไม่ให้เข้าร่วมเพราะอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายน่ะ คำถามคือแล้วไหนล่ะคือเสรีภาพ”



ในวัย 20 หลายคนอาจใช้เวลาในพื้นที่อื่นนอกจากบ้าน -ไม่ใช่ว่าบ้านไม่ใช่ที่อันเหมาะสมหรือควรไปให้พ้น- เพียงแต่มันเป็นช่วงวัยของการออกไปยังแห่งหนอื่น แต่นี่ย่อมใช้ไม่ได้กับตะวัน อย่างน้อยก็ในโมงยามที่ตรวนเหล็กแห่งศตวรรษที่ 21 ล่ามข้อเท้าเธออยู่

เราถามเธอว่าหากไม่มีกำไลอีเอ็ม ทานตะวันในเวลานี้จะทำอะไรอยู่

เธอยิ้ม ตอบเร็ว “ทานตะวันในเวลานี้จะไปร่วมชุมนุม ไปม็อบ ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง คงมีแค่ว่าเราอยากทำอะไรสักอย่างที่่ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ จะโดนอะไรก็โดน ถือว่าได้ทำ อย่างน้อยก็ได้สู้”

บ่ายแก่แล้วตอนที่เราลุกขึ้นยืนร่ำลาเธอ ข้าวเหนียวกับฮันเตอร์ส่งเสียงเห่าเมื่อเห็นเจ้านายลุกขึ้นเดินไปเปิดประตูรั้วส่งแขก เด็กสาวหยุดยืนส่งเราอยู่หน้าประตู มือข้างหนึ่งยังถือแบตเตอรี่สำรองขนาดยักษ์ที่เชื่อมสายต่อกับเครื่องมือจากรัฐที่ติดตามเธออยู่

และในจัดจ้าของแดดบ่าย ทานตะวันยังยิ้มส่งท้ายอันเป็นยิ้มที่เข้มแข็ง เปี่ยมหวัง เสียจนหวังว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็นยิ้มนี้อีกครั้งในสถานที่อื่นนอกไปเสียจากรั้วบ้านของเธอ

ตรวนชีวิต ตรวนเสรีภาพ – พรากงาน พรากอนาคต



บีม-ณัฐกรณ์ ชูเสนาะ กำซาบรสชาติของมาตรา 112 เมื่ออายุครบ 17 ปี เมื่อครั้งเข้าร่วมกิจกรรม ‘ใคร ๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน’ เมื่อปลายปี 2020 นับจากเวลานั้น เขากลายเป็นเยาวชนระลอกแรกๆ ที่ต้องคดี 112 และถูกส่งเข้าสู่กระบวนการศาลเยาวชนที่ต้องรับมือกับคดีการเมืองของเยาวชนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ “ตอนนั้นผมก็คิดนะว่ามันไม่มีเยาวชนคนไหนควรมาโดนคดี 112 เพียงเพราะออกมาตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจหรอก” ณัฐกรณ์บอก

สองปีให้หลัง ณัฐกรณ์ในวัย 19 ปีต้องคดี 112 อีกครั้งเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมทำโพลตั้งคำถามต่อขบวนเสด็จฯ ก่อนจะเกิดเหตุชุลมุนซึ่งทำให้เขากลายผู้ต้องหามาตรา 112 และ 116 ที่ผิดไปจากเมื่อก่อนคือคราวนี้เขาไม่ได้เป็นเยาวชนอีกแล้ว ยังผลให้เขาต้องคำพิพากษาว่าต้องใช้ชีวิตต่อไปด้วยการสวมกำไลอีเอ็มติดตามตัวทุกฝีเก้า

“ตอนไปถึงศาล ผมนั่งรอตั้งแต่บ่ายถึงห้าโมงเย็น สักพักมีเจ้าหน้าที่ศาลเดินมาบอกว่าต้องใส่กำไลอีเอ็มนะ แล้วผมไม่ได้คิดว่าต้องโดนเงื่อนไขนี้ สุดท้ายก็ต้องใส่ติดข้อเท้าไว้โดยที่ศาลก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมต้องให้เราใส่ด้วย แต่คิดว่าเขาน่าจะติดตามดูพวกเราว่าได้ไปร่วมม็อบไหม ได้ไปทำกิจกรรมอะไรหรือเปล่า

“ผมไม่ได้มองว่าคดีนี้สมควรจะต้องใส่กำไลอีเอ็ม” เขายืนกราน เขม็งเครียดในแววตาย้ำเตือนถึงความหนักแน่น “ไม่มีใครสมควรต้องมาใส่กำไลอีเอ็มเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิดร้ายแรง เราแค่ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ ไม่ได้ทำอะไรอื่นเลย”

เป็นเวลาหลายเดือนแล้วนับตั้งแต่ที่เขาต้องใช้ชีวิตภายใต้การควบคุมของกำไลอีเอ็มและการจับตาดูของรัฐอย่างเข้มงวด แม้จะปราศจากเงื่อนไขด้านเวลา แต่สำหรับคนหนุ่มที่ชื่นชอบการออกเดินทาง เล่นดนตรีและทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใครจะปฏิเสธได้ลงว่ากำไลข้อเท้าที่คอยเตือนให้ต้องชาร์จแบตเตอรี่ทุกค่ำคืนไม่กวนใจ

มากไปกว่านั้น การมีอยู่ของมันทำให้เขากลายเป็นคนว่างงานในที่สุด

จบจากชั้นมัธยม ณัฐกรณ์ตัดสินใจหันเหชีวิตออกจากระบบการศึกษาและทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ความหมกมุ่นกับกาแฟทำให้เขารับจ้างเป็นบาริสต้าอยู่พักใหญ่ ค่อยๆ บ่มเพาะภาพฝันว่าสักวันหากเขาเข้าใจเรื่องกาแฟได้แม่นยำมากพอ ก็อาจจะเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองในอนาคต ทว่า เมื่อความฝันประสานงาเข้ากับคดีทางการเมืองเข้าอย่างจัง และออกดอกผลเป็นกำไลอีเอ็มที่ข้อเท้าอันเขื่อง อย่าว่าแต่ร้านกาแฟของตัวเอง ลำพังหาหนทางกลับไปเป็นบาริสต้าในร้านน้อยใหญ่ ณัฐกรณ์ยังไม่อาจเอื้อมถึง

“ผมสมัครงานไม่ได้เลย แต่ละที่ปฏิเสธหรือไม่ก็หายไปเงียบๆ ทั้งที่เรายังไม่ได้บอกว่าเราต้องสวมกำไลติดตามตัวเพราะอะไร เราอยากบอกเขาว่าเราต้องติดมันที่ข้อเท้าเพราะคดีทางการเมืองนะ แต่ส่วนใหญ่เขาก็หายไป ไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย”

ใช่ว่าจะเข้าใจไม่ได้ -เขาบอก ยิ้มเศร้าโรยบนใบหน้า
 


ทุกวันนี้เขายังคงยื่นสมัครงานอยู่อย่างไม่ลดละ ขุ่นเคืองหัวใจก็ต้องเก็บไว้เพราะชีวิตไม่ได้เหลือทางเลือกให้คร่ำครวญมากนัก พร้อมกันกับที่รู้ดีว่าเสรีภาพและอิสรภาพลื่นไถลหลุดไปจากปลายนิ้ว -ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ใช่ว่าจะครอบครองมันไว้เต็มใบจากกฎหมายไทยที่ขีดกรอบเพดานไว้หนาแน่น “ถ้าคุณมองว่าการไม่ติดคุก การได้ออกมาอยู่ในสังคมมันคือการให้เสรีภาพเราจริงๆ เราก็ไม่ต้องถูกติดตามตัวแล้วสิ”

ในโลกคู่ขนาน เราถามเด็กหนุ่มว่าหากวันนี้ไม่มีกำไลอีเอ็ม เขาจะอยู่แห่งหนไหนในชีวิต

ยิ้มเศร้าเป็นสิ่งแรกที่เราเห็นก่อนการมาถึงของคำตอบในอีกอึดใจให้หลัง คำตอบที่ต่อชีวิตของตัวเองที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยก็ในเวลานี้ “ก็คงไปเป็นบาริสต้าอยู่ที่ไหนสักแห่งแล้วล่ะครับ”

ทางเลือกที่เลือกไม่ได้



นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกดำเนินคดีทางการเมือง แต่เป็นครั้งแรกที่เธอต้องติดกำไลอีเอ็มติดตามตัว อย่างเดียวที่ยังเหมือนเดิมคือรอยยิ้มเข้มแข็งและสว่างไสว ชุบชูหัวใจคนรอบตัว

นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2014 ชลธิชาเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ในฐานะนักรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย แต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ เป็นครั้งแรกที่เธอได้สัมผัสกับกำไลอีเอ็มจากกิจกรรม ‘ราษฎรสาส์น’ แคมเปญชวนประชาชนเขียนจดหมายถึงกษัตริย์เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ และลงเอยด้วยการที่กระบวนการยุติธรรมไทยมอบทางเลือกให้เธออยู่สองทาง -หากว่านี่จะเรียกว่า ‘ทางเลือก’ ได้- นั่นคือหากไม่เข้าเรือนจำ ก็ใส่กำไลอีเอ็มติดตามตัว

“การติดกำไลอีเอ็มมันแปลว่าคุณต้องถูกติดตามตัวตลอดเวลา มันจึงเป็นการกระทบสิทธิอีกประการหนึ่ง จึงต้องมีองค์ประกอบให้ต้องพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะไปติดใครเลยก็ได้ แต่ต้องมีเรื่องการยินยอมหรือให้ consent จากคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย กรณีเรา ถ้าเราไม่ยอมเซ็นต์หนังสือเพื่อยอมติดกำไลอีเอ็ม หมายความว่า ณ วันนั้น เราต้องเข้าไปอยู่ข้างในเรือนจำ และ ณ วันนี้ เราก็ยังต้องอยู่ข้างในเรือนจำ และอันนี้แหละที่ผิดหลักการมากๆ” ชลธิชาบอก

ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมายังประเด็นเดิม ว่านี่ยังเรียกว่าทางเลือกได้หรือไม่หากมัน ‘บีบ’ ให้อีกฝ่ายต้องเดินเพียงทางเดียว นี่จึงเป็นที่มาของกำไลอีเอ็มบนข้อเท้าขวาหญิงสาว



ความเสียดเย้ยแรกคือกำไลอีเอ็มของเธอพร้อยไปด้วยสติกเกอร์ของการชุมนุมเมื่อสามปีก่อน ความเสียดเย้ยที่สองคือเมื่อเธอได้รับเชิญให้ไปพูดคุยประเด็นสิทธิมนุษยชนบนเวทีระดับสากลที่จัดขึ้นในประเทศไทย ทุกสายตาพร้อมพากันพุ่งมายังข้อเท้าของเธอกับอุปกรณ์ติดตามตัว พร้อมคำถามว่าเหตุใดประเทศไทยจึงใช้เครื่องติดตามตัวกับคนที่มีคดีทางการเมืองหรือคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็น

อย่าว่าแต่ชลธิชา เอาเข้าจริง ประเด็นนี้ใครจะไปตอบหรือหาหลักการอะไรได้กัน

หลังสวมกำไลติดตามตัวมาหลายเดือน รู้ตัวอีกทีมันก็พรากเอาโอกาสมากมายไปจากชีวิต ในฐานะนักรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับเชิญให้เดินทางไปพูดบนเวทีต่างประเทศหลายๆ แห่ง ชลธิชาจำเป็นต้องปฏิเสธงานเหล่านั้นไปเพราะไม่อาจขึ้นเครื่องบินได้ แม้จะยื่นเรื่องต่อศาลไปหลายรอบโดยยื่นเงื่อนไขวางเงินประกันเพิ่มและยินดีตั้งผู้กำกับดูแลระหว่างการเดินทาง แต่ก็พบว่า เธอโดนยกคำร้อง ได้แต่มองดูโอกาสหนึ่งในชีวิตปลิวหายผ่านหน้าไป

นั่นอาจเป็นสิ่งที่ตาเนื้อเห็น ร่างกายรู้สึกชัด แต่สิ่งหนึ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นในสำนึกรู้คือความหวาดระแวงในการใช้เสรีภาพ พร้อมกันกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมที่จางหายลงไปทุกที “มันทำให้เราตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาหรือของกระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมั่นหรือความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการนี้ ซึ่งเราว่ามันกระทบและกู้คืนได้ยากมากสำหรับเราเองในฐานะที่เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น”

แต่นั่นไม่ใช่ความสิ้นหวัง ในภาวะสูญเสียความเชื่อมั่น ชลธิชายังคงรอยยิ้มสว่างไสวนั้นไว้ได้แม้ในยามที่เล่าเรื่องราวอันชวนให้ทดท้อ

ในชีวิตที่โรยไปด้วยคดีทางการเมืองจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ชลธิชายังส่งยิ้มให้ทุกคนเหมือนเมื่อหลายปีก่อน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเธอเอาเรี่ยวเอาแรงหรือพลังที่ไหนมาสวมใส่หัวใจนัก แต่มันก็เป็นรอยยิ้มที่ท้าทาย เสียดเย้ยต่อความอยุติธรรมที่เธอต้องเผชิญมาอยู่เสมอหลายต่อหลายปี

เมื่อสูญเสียความสามัญของชีวิต



แรกเจอหน้า เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ชวนเราคุยถึงร้านอาหารเหนือที่เขาหลงใหล โบราณสถานที่เขาอยากไป ทุกประโยคประดับด้วยระยับในแววตา แต่ทั้งหมดตัดจบด้วยกำไลข้อเท้าที่ส่งสัญญาณติดตามตัวเขามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หลังออกจากเรือนจำในฐานะผู้ต้องหาคดี 112 พร้อมหนึ่งในเงื่อนไขการจำกัดเวลาเข้าออกเคหะสถาน

“ผมโดนเงื่อนไขห้ามออกจากบ้านระหว่าง 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า แต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็เปลี่ยนเป็นให้ ‘ใช้ชีวิต’ ถึงสามทุ่ม” เขาเน้นคำแล้วยิ้มตาหยี แม้สิ่งที่ต้องเผชิญไม่ชวนให้ยิ้มสู้เท่าไหร่

การต้องสวมกำไลอีเอ็มพร้อมเงื่อนไขจำกัดเวลา หมายความว่าเขาไม่อาจออกเดินทาง ท่องเที่ยวได้อย่างที่ใจอยาก ไม่ต้องพูดถึงการออกสำรวจโบราณสถานเก่าแก่อันเป็นความหลงใหลส่วนตัว ลำพังไปร้านข้าวใกล้บ้านอาจยังต้องคำนวณให้ละเอียกว่าจะกลับมาทันเวลาที่ศาลกำหนดหรือไม่ “คุณไปกินข้าวต้มกับที่บ้าน ก็ต้องคิดแล้วว่าจะกลับบ้านทันไหม หรือผมอยากไปเยี่ยมคุณปู่ที่ลำปาง ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ใส่กำไลอีเอ็มคุณก็ไปหาปู่ได้เลย แต่ผมต้องไปขอศาลก่อนให้เขาเซ็นต์เอกสารเพื่อไปหาปู่ ทั้งที่มันควรจะไปได้เลยด้วยซ้ำ” เขาบอก

ยิ่งกับปัญหาด้านสุขภาพ กำไลอิเล็กทรอนิกส์บนข้อเท้าที่เป็นโรคเก๊าท์ก็ดูไม่ใช่สิ่งที่ไปด้วยกันได้ดีเท่าไหร่ และสำหรับใครที่เป็นโรคนี้ น่าจะเห็นภาพดีว่าอาการปวดข้อโดยตัวมันเองนั้นก็ทรมานมากพออยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมีน้ำหนักของกำไลอีเอ็มถ่วงยิ่งเป็นเหมือนฝันร้าย “ผมเคยต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะเป็นเก๊าท์ ซึ่งกำไลอีเอ็มนี่ก็ชวนปวดประสาทมากเพราะหมอเขาต้องจับดูอาการต่างๆ ที่ข้อเท้า แล้วกำไลมันไปขวาง”

สำหรับพริษฐ์ ทางออกจึงเป็นการเขียนหนังสือยื่นคำร้องต่อศาลให้ยกเลิกการใส่กำไลอีเอ็มด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ “ผมบอกว่าผมเป็นโรคที่ข้อเท้า มันเจ็บ แต่ศาลบอกว่า รู้ว่าเจ็บ แต่ถอดแล้วนี่ก็ไม่ใช่จะหายสักหน่อย ให้ใส่ต่อไป” เขาปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะขื่น ไม่มีประโยคใดต่อท้ายคล้ายว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเล่าก็สรุปความบิดเบี้ยวบางประการได้ชัดเจนมากพออยู่แล้ว



ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว พื้นที่ต่างๆ ของชีวิตหดหายไปภายใต้การกลืนกินของกำไลอีเอ็ม แต่พูดให้ไกลไปกว่านั้น ใช่ไหมว่ามันกำลังบดขยี้ความเป็นมนุษย์ของเขา “ความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพ กลายเป็นเราพูดไม่ได้ เราอาจมีอิสรภาพแต่ไม่มีเสรีภาพ เราพอจะมีอิสระที่พอจะได้อยู่บ้าน แต่เสรีภาพที่เราจะใช้ชีวิตของตัวเองในการจะบอกว่า วันนี้ฉันจะไปลำปาง วันนี้ฉันจะไปเที่ยวกับเพื่อน มันไม่มีแล้ว รวมถึงเสรีภาพที่เราจะคิดและแสดงความเห็นต่อสังคมด้วยเช่นกัน”

ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์ติดตามตัว แต่เป็นวิธีคิดแบบกลับหัวในความมุ่งมาดต้องการจำกัดสิทธิผู้ที่ต้องการแสดงออกภายใต้ท่าทีของการให้เสรีภาพแบบจำกัด ปฏิเสธยืนกรานการตัดสินใจของเราในฐานะปัจเจกในการจะออกจากบ้าน ไปจนถึงในการจะแสดงความคิดเห็น

“ผมว่าความเป็นคนจะสมบูรณ์เมื่อเราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้เอง” พริษฐ์บอก แล้วขยายความต่อ น้ำเสียงหนักแน่นและมั่นคงเช่นเดิม “แต่ไม่เป็นอะไรหรอก ถึงอย่างไรเราเชื่อว่าความเป็นมนุษย์ของเราก็ต้องกลับมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

ไม่แน่ใจว่าประโยคนั้นมุ่งหมายปลอบใจคนฟังหรือเปล่า แต่เราก็พยักหน้าสำทับ ใช่ -ไม่เป็นอะไรหรอก ถึงอย่างไรความเป็นมนุษย์ก็จะไม่หายไปไหน ไม่ว่าใครต่อใครจะพยายามพรากมันไปจากเขาอีกกี่รอบก็ตาม

กำไลอีเอ็ม ความย้อนแย้งลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย

เคยมีคำกล่าวขำขันกันว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์สำหรับการเขียนงานเชิงสัจนิยมมหัศจรรย์ ในแง่ที่ว่ามันเต็มไปด้วยความลักลั่นย้อนแย้ง แบบที่เราเห็นผ่านการใช้อุปกรณ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาบนฐานของการเห็นคุณค่าแห่งความเสรีภาพ ที่ถูกนำไปใช้กับคนที่แสดงออกตามเสรีภาพ แต่ไม่ถูกใจรัฐ

กำไลอีเอ็มจึงไม่เพียงเป็นภาพแทนของการติดตามจากรัฐ หากแต่มันยังเป็นเสมือนหลักฐานที่บอกถึงความย้อนแย้งของกระบวนการยุติธรรมไทย

หากปล่อยให้สถานการณ์แห่งความขัดแย้งในตัวเองนี้ดำเนินต่อไปบนสถาบันที่ควรจะหนักแน่นมั่นคงอย่างสถาบันตุลาการ ก็น่าถามว่า แล้วในภายหน้า ประชาชนจะยังเหลือพื้นที่แห่งความเชื่อมั่น วางใจใดได้อีกเล่า