วันอังคาร, ตุลาคม 25, 2565

นรเศรษฐ์ ทนายอาสาศูนย์ฯกล่าวว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 ที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มนั้น มีการทำกันเป็นเครือข่ายและเป็นระบบ กล่าวคือ มีการตั้งกลุ่มและแบ่งงานกันไปริเริ่มคดี


iLaw
1d

นรเศรษฐ์กล่าวว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 ที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มนั้น มีการทำกันเป็นเครือข่ายและเป็นระบบ กล่าวคือ มีการตั้งกลุ่มและแบ่งงานกันไปริเริ่มคดี เห็นได้จากการที่ “ผู้ฟ้อง” เป็นบุคคลคนหน้าซ้ำ และส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของคดีตามท้องที่ เช่น สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณคดีสูง
.
“เขาทำกันเป็นเครือข่าย มีแบ่งกันว่าใครจะเป็นคนไปแจ้งความ ใครเป็นคนหาข้อมูล บางครั้งหาเจอกระทั่งเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือชื่อ-ที่อยู่ ไม่แน่ใจว่าในกลุ่มเฟซบุ๊กอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวเข้าไปด้วยหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ได้ แค่มีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อจริง เขาก็สามารถเอาไปเสิร์ชหรือให้คนในกลุ่มเอาไปหาข้อมูลต่อได้ แล้วจากนั้นก็แบ่งกันไปแจ้งความร้องทุกข์”
.
“กรณีของคุณภัคภิญญา ถูกดำเนินคดีที่นราธิวาส เชื่อไหมว่าคนที่ไปแจ้งความที่นราธิวาส ตามที่ศูนย์ทนายฯ มีข้อมูล มีอยู่ทั้งหมดอย่างน้อย 9 คดี มีคนกล่าวหาคือคนเดียวกัน กลุ่มนี้เขาจะมีเพจของเขา อย่างกลุ่มหนึ่งที่เคยได้หลักฐานมา เขาทำในนามกลุ่ม คปส. หรือ เครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการบอกว่าเครือข่ายนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อกระทืบเหี้ย หรือบอกลูกเพจว่า ถ้าใครเจอที่ไหนก็ไปแจ้งความกันได้เลย หากใครร้องทุกข์ไม่เป็นให้บอกมา เพจเราจะเป็นคนทำเอกสารให้ คุณมีหน้าที่แค่ไปแจ้งความเท่านั้น”
.
“มันจะเห็นการกระจุกตัวของคดีในแต่ละเขตพื้นที่ เช่น สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ อันนี้ผมไปเป็นทนายอยู่หลายคดี ที่นี่ถ้าจำไม่ผิดมีอยู่ 19 คดี โดยคนกล่าวหา 2 คน จำนวนคดีคนละเท่าๆ กัน”
.
"มันเป็นการทำเป็นขบวนการจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของพลเมืองดี" นรเศรษฐ์กล่าว
.
นอกจากนี้ นรเศรษฐ์ยังอธิบายว่า “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ของฝ่ายโจกท์ที่ถูกตำรวจเชิญมาให้ปากคำในแต่ละคดีนั้น ก็มักจะเป็นคนหน้าซ้ำเช่นเดียวกัน รวมทั้งบางคนก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
.
“ส่วนมากนอกจากกรณีที่ประชาชนไปแจ้งความ ที่ผมเจอ คนที่เจ้าหน้าที่ตรวจอ้างว่าเป็นพยานจะเป็นพยานชุดเดียวกัน เช่น ถ้าขึ้นชื่อเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญมาตรา 112 จะมีอยู่ 3 คนที่ตำรวจเรียกไปเป็นประจำเกือบทุกคดี แล้วผมไปเจอทุกคดี ไปเจอที่กรุงเทพฯ ก็แล้ว ขอนแก่นก็แล้ว เจอหน้ากันจนเบื่อ คนแรกคือ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เขาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่เบิกความบอกผมว่าตนเองไปเป็นพยานเบิกความให้ตำรวจมากกว่า 100 คดี คนที่สอง เจษฎ์ โทณะวณิก และคนที่สามคือ ไชยันต์ ไชยพร ตำรวจจะใช้พยานชุดเดียวกันหมดของฝ่ายผู้กล่าวหา เพื่อให้การว่า ไอ้สิ่งที่จำเลยทำไปเป็นความผิดตาม 112 ไหม หรือเข้าข่ายหรือไม่”
.
“คุณอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ถูกอ้างให้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาลในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่เขาไม่ได้จบการศึกษาในสาขาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยทำงานวิจัยหรือบทความวิชาการใดๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยทำหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้วย แล้วทำไมตำรวจถึงอ้างว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ผมก็ไม่ทราบ”
.
เมื่อผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามว่า ตำรวจจะมีรายชื่อของพยานผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางที่มักใช้ร่วมกันไหม และตามหลักการควรใช้พยานที่มีความหลากหลายหรือไม่ นรเศรษฐ์จึงอธิบายว่า เนื่องจากคดีมาตรา 112 นั้นมีสถานะเป็น "คดีนโยบาย" การออกหมายเรียกพยานจึงมักใช้วิธีการ "แชร์" พยานเพื่อใช้ร่วมกันตามแต่ละท้องที่
.
"คดี 112 เป็นคดีนโยบาย และเท่าที่ผมทราบมา เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการประชุมกับระดับผู้บัญชาการตำรวจภาค หรือประชุมกับส่วนกลางตลอด เข้าใจว่าคงจะมีการแชร์ตลอดใน สภ. หรือ สน. นั้นๆ ว่าให้ใช้พยานที่เป็นใครบ้าง เลยจะเจอแค่พยานเหล่านี้"
.
"ถ้าว่ากันตามหลักจริงๆ กลุ่มพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานที่ศาลต้องรับฟังความเห็น อย่างน้อยต้องเป็นคนที่ไม่มีอคติกับจำเลย ต้องมีความเป็นกลางและเชื่อถือได้พอสมควร ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีอคติ ความเห็นของผมในฐานะนักกฎหมาย พยานปากนั้นไม่ควรรับฟังได้"
.
"เช่น คนที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่ออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 คนที่ออกมาประณามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร แต่ในขณะเดียวกันก็ไปเป็นพยานของฝ่ายโจทก์ แล้วบอกว่าการกระทำนั้นผิดมาตรา 112 ในทางกฎหมายต้องถือว่ามีน้ำหนักรับฟังได้น้อยหรือไม่ควรที่จะดับฟังเพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษได้"
.
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานเสวนา 112 - The Long March เมื่อ “ความรุนแรง” ผันแปรเป็น “กลั่นแกล้งทางกฎหมาย” จัดที่นิทรรศการ #6ตุลาเผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons” เมื่อ 21 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 - 17.30 น. ณ Kinjai Contemporary
.
อ่านสรุปเสวนาทั้งหมด https://freedom.ilaw.or.th/node/1126
ฟังเสวนาย้อนหลัง https://fb.watch/gjt-xcI0Xx/