ฤา “ชุมชนมิตรภาพ” กลายเป็นพื้นที่รับน้ำรอการระบายของคนเมืองขอนแก่น?
ตุลาคม 26, 2022
Wannisa Seanin
The Isaan Record
กว่า 1 เดือนแล้วที่ชาวชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร แม้น้ำจะลดลง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อจิตใจ ต่อชุมชนยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ
โดยเฉพาะเมื่อเกิดคำถามจากคนในชุมชนว่า ฤาพื้นที่ชุมชนแออัดแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำของคนเมือง รวมถึงปกป้องแหล่งเศรษฐกิจของคนขอนแก่นที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างๆ กันเพื่อให้อยู่รอด
วันนิษา แสนอินทร์ นักข่าวในโครงการ Journalism that Builds Bridges เรื่องและภาพ
ฟูกนอนโดนน้ำท่วมที่ไม่สามารถนำกลับเอามาใช้ได้อีกถูกวางระเกะระกะมีให้เห็นกราดเกลื่อน ในชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น แม้พวกมันจะไม่ได้ราคาสูงลิ่ว แต่อาจเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของครอบครัวที่มีรายได้วันชนวัน อย่าง “พิศมัย กลิ่นประเสริฐ” ที่ต้องขนฟูกออกมาตากแดดโดยที่ไม่รู้ว่า จะได้เก็บเข้าไปในบ้านเมื่อไหร่
“คิดว่า ต้องทิ้งฟูก เพราะมันใช้ไม่ได้แล้ว”พิศมัย กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบและกล่าวอีกว่า “อยู่ที่นี่มาได้ 30 ปีแล้ว อยู่ตั้งแต่น้ำไม่ท่วม ฝนตกน้ำมันก็ไหลไปปกติตั้งแต่มีประตูน้ำตอนสร้างห้างสรรพสินค้านี่แหล่ะที่น้ำเริ่มท่วม ตกมาเดี๋ยวเดียวก็ท่วมแล้ว”
ข้างชุมชนมิตรภาพเป็นกำแพงสูงกั้นกลางระหว่างห้างสรรพสินค้าและชุมชน ด้านข้างชุมชนเป็นลำน้ำขนาดเล็กที่ระบายน้ำมาจากบึงหนองโคตรเพื่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อน้ำระบายไม่ทันก็เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน
หลังฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน พิศมัยในวัย 61 พร้อมกับเพื่อนบ้านอีกกว่า 100 หลังคาเรือน จึงกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น
น้ำที่สูงกว่า 1 เมตรและถูกขังในชุมชนกว่า 10 วัน ทำให้บ้านเรือน รถยนต์ มอเตอร์ไซต์ ทรัพย์สินภายใน ‘ชุมชนมิตรภาพ’ เสียหายจนประเมินค่าไม่ได้
พิศมัย กลิ่นประเสริฐ ชาวชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ชี้ให้ดูถึงระดับน้ำที่ท่วมภายในบ้าน ซึ่งความสูงอยู่ที่ระดับเอวของเธอ
พิศมัย กลิ่นประเสริฐ ชาวชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ขณะเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ในวันน้ำท่วม
รางรถไฟที่พิศมัยและเพื่อนบ้านมานอนระหว่างน้ำท่วม ซึ่งต่อมาเทศบาลนครขอนแก่นได้ตั้งเตนท์ให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว
พิศมัยโชว์ภาพถ่ายความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมบนแท็บเล็ตที่เป็นความทรงจำอันเจ็บปวดของเธอ
น้ำมาเร็วไม่ทันตั้งตัว
เธอย้อนเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า น้ำมาเร็วทำให้ไม่ทันตั้งตัว แต่ก็หยิบข้าวของเฉพาะของจำเป็นออกจากบ้านแล้วไปนอนริมบนรางรถไฟที่อยู่ข้างบ้าน ซึ่งเป็นที่สูงกว่า
เมื่อน้ำเริ่มลดลงเธอจึงกลับเข้ามาสำรวจสภาพบ้าน ซึ่งบ้านของพิศมัยเป็นบ้านชั้นเดียว แม้จะมีข้าวของเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ก็ไม่มีชิ้นไหนที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก โดยเฉพาะห้องนอนที่พบว่า ฟูกและเตียงไม้ที่แช่น้ำนานกว่า 10 วันทำให้เปราะผุจนหัก
ส่วนพื้นบ้านที่เป็นไม้ก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันทำให้เธอไม่สามารถนอนในห้องนอนได้อีก เธอจึงกางมุ้งเอนกประสงค์ไว้กลางลานบ้านทำเสมือนหนึ่งห้องนี้กลายเป็นห้องนอนถาวรของเธอ
“อยู่ตัวคนเดียวก็เลยเก็บของอะไรไม่ทัน”เธอเล่าสภาพที่เกิดขึ้นในวันน้ำท่วม
พิศมัยมีโรคประจำตัว 7 โรคที่มาพร้อมกับความพิการ ทำให้เธอได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 1,000 บาทจากรัฐ
“ตอนนี้ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐจากเหตุน้ำท่วมเลย ไม่ได้ฝันว่าจะได้ แต่จะนำเงินคนพิการที่ได้เดือนละ 1,000 บาทและเงินคนชราที่ได้เดือนละ 600 บาท แล้วค่อยๆ ซ่อมบ้าน” พิศมัยกล่าวอย่างสิ้นหวัง
หลบน้ำขึ้นชั้นสองเพราะศูนย์พักพิงไม่พอ
ไม่ไกลกันนักเป็นบ้านของ ลันดร กลิ่นประเสริญ วัย 61 ปี และสามีของเธอ สมพงศ์ เผ่ากันหา วัย 59 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน
“น้ำมาแรง วันนั้นข้าวของลอยเต็มชั้นล่าง โทรทัศน์ พัดลมก็เก็บไม่ทัน พังหมด”ลันดรเล่าเหตการณ์วันน้ำท่วมที่ยังเป็นอยู่ในความทรงจำที่เธอไม่อยากจำ
ในวันที่น้ำท่วมฉับพลัน ลันดรและสมพงค์ ไม่ได้ย้ายไปนอนบนรางรถไฟเหมือนเพื่อนบ้านคนอื่น เพราะเตนท์สำหรับผู้ประสบภัยมีไม่เพียงพอ เธอกับสามีจึงเลือกนอนบนชั้นสองของบ้าน แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งจากการแจกข้าวกล่อง น้ำดื่มและสิ่งของยังชีพ
“แม้รัฐจะเข้ามาแจกอาหารตอนน้ำท่วม แต่เขาไม่ได้มาดูสภาพบ้านเรา พอน้ำลด เราก็ทำความสะอาดบ้าน ทำให้ดูดีขึ้นมาหน่อย”
ไม่มีเงินซ่อมห้องน้ำหลังน้ำท่วม
ลันดรกล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้ไม่มีเงินซ่อมบ้าน เพราะมีรายได้จากสามีที่มีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซต์คนเดียวเท่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมจึงมีคณานับ
“ตอนนี้ห้องน้ำก็ใช้ไม่ได้ ยังไม่มีเงินมาซ่อม เงินเยียวยาก็ยังไม่ได้ ตอนนี้ลำบากมาก เพราะต้องไปใช้ห้องน้ำที่ปั้ม”เธอโอดครวญถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ
สภาพห้องน้ำของบ้านลันดรและสมพงค์ในปัจจุบันที่ใช้การไม่ได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องไปใช้ห้องน้ำที่ปั๊ม
ลันดรและสภาพครัวหลังน้ำท่วมน้ำท่วมลำเลียงผู้ป่วยลำบาก
น้ำท่วมลำเลียงผู้ป่วยลำบาก
ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปีที่เกิดขึ้นกับชุมชนมิตรภาพไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลในใจให้คนกับสองครอบครัวนี้เท่านั้น
แต่ภายในชุมชนแห่งนี้ยังมีผู้ป่วยติดเตียงอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากชุมชน ขณะน้ำท่วมได้
เทพไทย วันน้อย วัย 20 หลานชายของ คำเวียง ศรีจวง วัย 72 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคความดัน ทั้งยังเป็นคนพิการที่ไม่สามารถพูดได้และเดินไม่ได้
หลานชายเล่าว่า วันที่น้ำเริ่มท่วม คำเวียง มีอาการกำเริบเพราะขาดยา ทำให้ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่การเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างค่อนข้างลำบาก
“ปกติถ้าฝนตกปรอยๆ น้ำจะไม่ท่วม แต่วันนั้นฝนก็ตกปรอยๆ เหมือนเดิม แต่มันกลับท่วม มารู้ทีหลังว่า เกิดการปล่อยน้ำของเทศบาล แม้ว่าบ้านของเรายกสูง หลังจากน้ำท่วมหนักปี 2554 แล้วแต่ก็ยังท่วมอีก”เทพไท บอกเล่าข้อสังเกตที่เขาพบจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้
สถานการณ์ของครอบครัวเทพไทก็ไม่แตกต่างจากครอบครัวอื่นๆ ในชุมชนมิตรภาพ แม้เหตุการณ์น้ำท่วมจะผ่านนานกว่า 1 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ
เทพไทย วันน้อย หลานชายของ คำเวียง และสภาพบ้านที่ยังทิ้งร่องรอยของน้ำขัง
ข้อมูลจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า ชุมชนริมทางรถไฟ ขอนแก่น หรือรู้จักกันในชื่อ “ชุมชมแออัดริมทางรถไฟ” เริ่มก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2503 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้แรงงานรับจ้างขนฟืนเติมเชื้อเพลิงให้รถไฟเพื่อการขนถ่ายสินค้า บริเวณสถานีชุมทางขอนแก่น มาตั้งเพิงพักชั่วคราวใกล้ทางรถไฟเพื่อไม่ให้แรงงานมีปัญหาในการเดินทางทำให้ผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากบางครอบครัวไม่มีสาธารณูปโภค ครอบครัวของเทพไทจึงไม่มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่เขาจำความได้
ไม่แข็งแรงและมีช่องโหว่
ความเสียหายจากน้ำท่วมที่ทำลายทั้งความแข็งแรงของบ้านและข้าวของเครื่องใช้ลำพังรายได้จากการรับจ้างทั่วไปของเทพไทที่มีงานเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจึงอาจไม่เพียงพอกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
“ผมแค่อยากให้รัฐมาช่วยซ่อมแซมบ้านให้และเงินเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น”เป็นความหวังเล็กที่ริบหรี่ของชายวัย 20 ที่ยังพอมี
แม้จะผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งเดือนที่ชุมชนมิตรภาพ ซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมือง อยู่หลังห้างสรรพสินค้าแห่งใหญ่ของเมืองใหญ่
อยู่บริเวณริมรางรถไฟได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่กลับยังไม่มีหน่วยงานไหนมาเหลียวแล พวกเขาก็ได้แต่หวังว่า สักวันรัฐจะมองพวกเขาอย่างเท่าเทียมเหมือนเป็นประชาชนพลเมืองทั่วไปที่ได้รับการเยียวยาจากความสูญเสียที่พวกเขาไม่ได้ก่อ
สภาพชุมชนมิตรภาพหลังจากน้ำลด
เส้นทางน้ำที่ประตูระบายน้ำปล่อยเข้าสู่ชุมชนริมทางรถไฟที่อยู่ข้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของ จ.ขอนแก่น