กองทัพของกษัตริย์-กษัตริย์ของกองทัพ: คำอธิบายล่าสุดของบทบาท ‘วัง’ กับการเมือง
ที่มา ประชาไท
ทีมข่าวการเมือง รายงาน
2022-07-13
บทบาทและพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการเมืองไทยเป็นเรื่องที่ถกเถียงมาหลายทศวรรษในโลกวิชาการและบนท้องถนน ภายใต้รัชสมัยปัจจุบัน ทิศทางการวิเคราะห์ขยับจากเครือข่ายแบบเก่าไปสู่เครือข่ายแบบใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่นี้ก็คือกองทัพ
กระแสการเรียกร้องบนท้องถนนให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แตะเข้าไปที่ปัญหาใจกลางสำคัญของสังคมไทยในเรื่องบทบาทของสถาบันภายใต้การเมืองประชาธิปไตย กระทบชิ่งไปที่อีกหนึ่งคำถามใหญ่ว่า ใครคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อคำถาม ความไม่พอใจและการหาทางออกทางการเมือง ดำเนินไปพร้อมกับความพยายามทำความเข้าใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในบริบทการเมืองไทย
ป้ายข้อความ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" ถูกชูขึ้นในที่ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีในปี 2563
เมื่อปี 2548 แนวคิด “เครือข่ายกษัตริย์” หรือ network monarchy ที่นำเสนอโดยดันแคน แมคคาร์โก พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับ ‘ตัวแทน (proxies)’ สถาบันทางการเมืองต่างๆ กับการแทรกแซงการเมืองไทย ท่ามกลางบริบทการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยตั้งแต่ 2516 ถึงทศวรรษ 2540 สร้างกรอบความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ที่เป็นที่อภิปรายและถกเถียงกันมาตลอด
และในช่วงทศวรรษแรกของรัชสมัยใหม่ ทรรศนะของผู้สังเกตการณ์มองว่าโฟกัสหลักของเครือข่ายตกไปอยู่ที่กองทัพไทย
กษัตริย์ของกองทัพ
“ผมขอเริ่มด้วยนิยามของความเกี่ยวโยงกันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับกองทัพ ในฐานะคำอธิบายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกองทัพ ซึ่งฝ่ายแรกเล่นบทเป็นหัวหน้าหรือเจ้านาย และฝ่ายหลังเล่นบทเป็นผู้รับใช้ ซึ่งในจุดนั้น เราเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตร ซึ่งไม่เท่าเทียม และไม่สมดุล”
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เจ้าของงานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือในหัวข้อ A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X สมัยที่เป็นนักวิจัยให้กับสถาบัน Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เมื่อเดือน ก.พ. 2565 กล่าวจั่วหัวถึงนิยามความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพในวงเสวนาหัวข้อ Monarchy-Military Nexus and Resilience of Network Monarchy ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา
จากซ้ายไปขวา: ไมเคิล มอนเตซาโน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี พอล แชมเบอร์ส อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
สุภลักษณ์กล่าวต่อไปว่า แรกเริ่มเดิมที กองทัพสมัยใหม่ในไทยมีเป้าหมายเพื่อรับใช้ราชบัลลังก์ ในหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่ามีบางครั้งที่กองทัพอยากจะตีตนเสมอท่าน ดังที่เห็นจากเหตุการณ์กบฎ ร.ศ. 130 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทหารบางส่วนต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และอีกครั้งในการปฏิวัติ 2475 ที่ทำให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ นำมาซึ่งสภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ต่อมา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่พยายามจะดึงอำนาจกลับก็ยังแพ้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สร้างชาติด้วยแนวคิดทหารนิยมและชาตินิยม ดึงความภักดีของกองทัพมาอยู่กับตนเอง จนกระทั่งช่วงการขึ้นสู่อำนาจรอบที่สองของจอมพล ป. ในช่วงสงครามเย็นที่สถาบันกษัตริย์กลับมาสัมพันธ์กับกองทัพอีกครั้ง ซึ่งต่อมาสิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายของสถาบันกษัตริย์ที่จะจบลงหลังสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 9
หนึ่งในตัวชี้วัดมโนภาพของทหารที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ คือหนึ่งในเนื้อหาการบรรยาย “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกเมื่อปี 2562 ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังในหน่วยราชการในพระองค์
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะบรรยายในปี 2562
“ทำไมผมจึงอยากเน้นย้ำให้ท่านเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ทหาร และประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ในอดีตกษัตริย์อยู่บนหลังช้าง ทหารที่อยู่แวดล้อมไม่ว่าบนช้าง หรือรักษาเท้าช้าง ทหารที่ออกรบ ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นประชาชนทั้งชายและหญิง ที่จับดาบสู้ ที่เสียสละสมัครใจเป็นทหารเพื่อช่วยพระมหากษัตริย์ในการปกป้องแผ่นดินไทย”
(คัดจากตอนหนึ่งของการบรรยาย “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง”)
ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันสามารถมองเห็นได้จากพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยเช่นกัน
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบใหม่ที่ไปศึกษาด้านการทหารโดยตรงจากต่างประเทศ แต่หากนับในราชวงศ์จักรีจะนับเป็นพระองค์ที่สามถัดจากรัชกาลที่ 6 และ 7 หนึ่งในภาพจำในด้านภารกิจทางทหารของในหลวงองค์ปัจจุบันที่แพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์และสื่อประชาสัมพันธ์ของภาครัฐคือภาพการกระโดดจากเฮลิคอปเตอร์พุ่งเข้าสู่ฐานที่มั่นที่ยุทธภูมิบ้านหมากแข้ง อ.ด่านซ้าย จ.เลยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2519 ราวหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์ล้อมสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา โมงยามที่การต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่ในกระแสสูง การสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกำลังระอุ และสถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในปฏิบัติการทางจิตวิทยาและสร้างขวัญกำลังใจ
ภาพสยามมกุฎราชกุมารขณะเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารที่บ้านหมากแข้ง
ยุทธภูมิหมากแข้งเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของมกุฏราชกุมาร ณ เวลานั้น หลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากออสเตรเลีย อนึ่ง พระราชกรณียกิจ ณ บ้านหมากแข้งเป็นเพียงหนึ่งในภาพชุดที่ถูกส่งจากแนวหน้า เพราะหลังจากเข้าสู่ฐานที่มั่นและค้างคืนที่นั่น พระองค์ได้เสด็จนำทหารลาดตระเวน และไปเยี่ยมพสกนิกรและผู้ได้รับบาดเจ็บต่อที่โรงพยาบาลใน จ.เพชรบูรณ์ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย พระราชกรณียกิจในลักษณะเดียวกันที่ดำเนินต่อมา ทำให้ภาพของในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้รับการเทิดพระเกียรติในฐานะนักการทหาร ต่างไปจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นที่จดจำในฐานะกษัตริย์นักพัฒนา
กองทัพของกษัตริย์
รากฐานทางทหารไม่ได้อยู่แค่เพียงในอดีต สุภลักษณ์ยังชี้ให้เห็นจากข้อมูลที่เผยแพร่ตามสาธารณะว่าในหลังรัชกาลที่ 10 ชอบทำให้คนรอบตัวเป็นทหารด้วย กลุ่มคนเหล่านี้บางครั้งมีหน้าที่ทางทหารจริง บางกลุ่มมีหน้าที่ในทางพระราชพิธี บางกลุ่มก็ไม่สามารถระบุได้ ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมามีสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่มียศทางทหารเป็นพลเอก และมีตำแหน่งรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ส่วนเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ก็มียศพลตรีและได้ผ่านการฝึกกระโดดร่มในเวลากลางคืนมาแล้ว นอกจากนั้น ในช่วงพิธีเถลิงราชสมบัติก็มีภาพสมาชิกราชวงศ์สวมใส่ชุดทหารอีกด้วย
หลังการรัฐประหารในปี 2557 และการขึ้นสู่ราชสมบัติเมื่อปี 2559 มีการผ่านกฎหมายที่นำมาสู่การโยกย้ายหน่วยงานพลเรือนและกองกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปอยู่ภายใต้ส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งเป็นภาวะที่สุภลักษณ์มองว่าสิ่งนี้คือการเกิดขึ้นของกองทัพส่วนพระองค์
เมื่อเดือนเมษายน 2560 หรือราว 6 เดือนหลังรัชกาลที่ 10 ทรงขึ้นครองราชย์ ได้มีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 โอนหน่วยงานราชการ 5 แห่งมาเป็นส่วนราชการในพระองค์ โดยการจัดระเบียบส่วนงานต่างๆ กำหนดไว้ให้เป็นไป “ตามพระราชอัธยาศัย” ได้แก่
- สำนักราชเลขาธิการ-เดิมเป็นส่วนราชการอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากรม ราชเลขาธิการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
- สำนักพระราชวัง-เดิมเป็นหน่วยราชการในพระองค์ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
- กรมราชองครักษ์-เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม
- หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์-เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม
- สำนักงานนายตำรวจราชสำนัก-เดิมสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตาม พระราชอัธยาศัย
การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา
ในส่วนของกองกำลังทหารและตำรวจจะอยู่ภายใต้หน่วยบัญชาการความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานผู้บังคับบัญชา 2) สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ 3) สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ 4) กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 5) กองบัญชาการตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์
มาตรา 14 ในพระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวกันยังอนุญาตให้เกิดการโอนข้าราชการในพระองค์เป็นข้าราชฝ่ายอื่นที่ หรือในทางกลับกันนั้น “ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” ซึ่งในส่วนนี้ถูกใช้เป็นข้อรองรับในการโอนกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ที่ผ่านการโหวตของสภาเมื่อเดือน ต.ค. 2562
นอกจากกองกำลังที่ถูกจัดวางตามกฎหมายนี้แล้ว สุภลักษณ์ยังเพิ่มเติมว่ามีอีกสองหน่วยงานที่ไม่ได้มีระบุในกฎหมาย คือหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ 904) ซึ่งทราบว่ามีทหารทำงานอยู่ภายใต้หน่วยนี้จริง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าทำหน้าที่อะไร อีกหน่วยคือกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงษานุวงศ์ แต่ขึ้นตรงกับกองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีพลตำรวจโทจิรภพ ภูริเดชเป็นผู้บัญชาการ
อนึ่ง กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” เมื่อปี 2563
“เครือข่าย” ย้ายขั้ว
ในความเข้าใจของสุภลักษณ์ ‘เครือข่ายกษัตริย์’ มีหน้าที่สนับสนุนบทบาทของกษัตริย์ ทำให้กองทัพภักดีต่อกษัตริย์ สร้างกองทัพพระราชาหรือทหารของพระราชา นอกจากนั้นยังมีหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างกองทัพกับกษัตริย์ และเครือข่ายกษัตริย์ต้องมี ‘ผู้จัดการเครือข่าย’ ในรัชกาลก่อน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ทำให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม
แต่สำหรับเครือข่ายในรัชกาลใหม่ ข้อค้นพบของสุภลักษณ์พบว่ารัชกาลที่ 10 มีลักษณะแบบลงไปจัดการด้วยตัวเอง สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ภายในเครือข่ายและสร้างเครือข่ายด้วยตนเอง และศูนย์กลางของเครือข่ายได้ย้ายออกมาจากองคมนตรีด้วยสองเหตุผล หนึ่ง ประธานองคมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้ผ่านจุดสูงสุดของอาชีพทหาร และเหินห่างจากกองทัพมากแล้ว สอง ในหลวงรัชกาลที่ 10 มักให้องคมนตรีดูแลในเรื่องสังคม
แล้วศูนย์กลางเครือข่ายย้ายไปที่ไหน? สุภลักษณ์มองว่าเครือข่ายได้ย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่กลุ่มก้อนที่เรียกว่า “ทหารคอแดง” ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนอิทธิพลของทหารกลุ่มใหม่นอกเหนือไปจากกลุ่มวงษ์เทวัญและบูรพาพยัคฆ์ที่มีอยู่เดิม โดยทหารคอแดงนั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก นายทหารผู้นี้มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือเป็นลูกผสมของกลุ่มวงษ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์ และหน่วยรบพิเศษ
จากการนับของสุภลักษณ์พบว่ามีทหารอีกจำนวน 15 นายเป็นสมาชิกของกลุ่มทหารคอแดงนี้ และส่วนมากเป็นนายทหารจากกองทัพบก โดยทหารเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ โดยเฉพาะในกองทัพบก และกองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย
พอล แชมเบอร์ส อาจารย์และที่ปรึกษาพิเศษด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยกใจความหนึ่งในบทนำจากหนังสือ The Soldier King ของสุภลักษณ์ ใจความว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะคาดหวังให้คนถืออาวุธมาเชื่อฟังคนที่ไม่ถืออาวุธ หรืออีกนัยหนึ่ง ให้กษัตริย์ที่ไม่ถืออาวุธรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงเมื่อข้ารับใช้ของเขาติดอาวุธครบมือ” ว่าเป็นจุดที่สะท้อนมุมมองที่สำคัญยิ่งในประเด็นการทำให้กองทัพเป็นกองทัพของพระราชา
ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่
ทหารของพระราชา: เมื่อความภักดีในระบอบเก่า คือการเปลี่ยนไม่ผ่านในระบอบใหม่
แชมเบอร์สเรียกภาวะความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์แบบที่สุภลักษณ์นำเสนอว่า “ทหารพระราชา (Monarchized military)” ตามคำเรียกในงานที่เขาเขียนร่วมกับนภิสา ไวฑูรเกียรติ พูดถึงภาวะที่ต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมได้ให้ความชอบธรรมแก่รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และกองทัพในแบบที่เกื้อหนุนกัน
แชมเบอร์สกล่าวต่อไปว่า ทหารพระราชาคือสิ่งที่อธิบายได้ด้วยแนวคิดเรื่องรัฐคู่ขนาน (parallel state) ของอิวาน บริสโก (Ivan Briscoe) ประธานโครงการ International Crisis Group องค์กรป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อธิบายว่ารัฐคู่ขนานคือการที่มีองค์กรหนึ่งๆ ที่เชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ แต่ก็มีผลประโยชน์ของตัวเองที่ต้องแสวงหา โดยดุลยภาพทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้จากการคะคานกันของผลประโยชน์ ในบริบทของไทย ส่วนที่เป็นแกนหลักของทหารพระราชาคือสถาบันกษัตริย์ที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพ ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างได้ประโยชน์จากกันและกัน โดยกองทัพได้ความชอบธรรม และสถาบันได้รับการคุ้มครอง
ภาษีและความทรงจำ: ราคาของความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น
“เมื่อคุณยกย่องกบฎ คุณก็ต้องดาวน์เกรดฮีโร่ในตอนนั้นด้วย”
สุภลักษณ์มองว่าความสัมพันธ์ของกองทัพและกษัตริย์ในแบบที่เป็นอยู่กำลังทำงานเปลี่ยนความเข้าใจและความทรงจำทางการเมืองด้วยการทำลายพื้นที่รำลึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น การหายไปอย่างลึกลับของอนุสาวรีย์ปราบกบฎที่แยกหลักสี่และหมุดคณะราษฎร การใช้ชื่อกบฏต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นชื่อห้องภายในกองบัญชาการกองทัพบก การเปลี่ยนแปลงนามค่ายทหารจากค่ายพหลโยธิน เป็นค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต ค่ายพิบูลสงคราม เป็นค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปจนถึงการนำรูปปั้นพระยาพหลพลหยุหเสนาและจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากที่ตั้ง
ในหนังสือ Soldier King มีการนำเสนองบประมาณที่กองทัพจัดไว้ในหมวดหมู่ “ส่งเสริมและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” งบประมาณภายใต้หมวดหมู่นี้กระจายอยู่ตามกองทัพทุกเหล่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย งบประมาณภายใต้หมวดหมู่นี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาบ้าง แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เป็นการจัดสรรงบประมาณตามที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดเอาไว้
ไอลอว์ องค์กรภาคประชาสังคมด้านกฎหมายยกตัวอย่างของผลผลิตที่เคยอยู่ในงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เช่น ในปี 2554 มี “ผลผลิตที่ 1 : การเทิดทูน การป้องกันรวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์” ภายใต้แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า “จัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาสอันควร รวมทั้งดำเนินการป้องกัน ตอบโต้ ทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเชิดชูพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์”
และในปี 2560-2562 งบประมาณถูกตั้งไว้ในโครงการที่ 1 : โครงการการเทิดทูนป้องกัน รวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่เอกสารงบประมาณปี 2563 และ 2564 โครงการพิทักษ์รักษา การถวายพระเกียรติการปฏิบัติตามพระราชประสงค์และการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
จากทุกเหล่าทัพ กองทัพบกมีสัดส่วนงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์สูงที่สุด โดยมีงบประมาณอยู่ระหว่าง 296-336 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีงบประมาณ 2560-2564 และเป็นงบประมาณด้านส่งเสริม เทิดทูน พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ อยู่ที่ 106-336 ล้านบาทต่อปี กองทัพเรือมีงบประมาณด้านดังกล่าวรองลงมาเป็นจำนวน 6.8-50.5 ล้านบาทต่อปี และกองทัพอากาศที่ 3.5-41.3 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีเดียวกัน
ในเวทีเสวนา สุภลักษณ์ให้ความเห็นว่ารูปธรรมของปการพิทักษ์และส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์คือการปฏิบัติการทางจิตวิทยาต่อต้านการคุกคามสถาบัน เช่น กรณีสิ่งที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ลาซาด้าเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่กองทัพตบเท้าติติงและแบนลาซาด้าสืบเนื่องจากการโฆษณาที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการล้อเลียนความพิการและอาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกองทัพบกออกตัวแรงจนถึงขั้นห้ามกำลังพลใช้บริการ และไม่ให้ลาซาด้านำสินค้าเข้าพื้นที่ของกองทัพบก ในขณะที่เหล่าทัพอื่นออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับแคมเปญโฆษณาเท่านั้น
อีกตัวอย่างที่สุภลักษณ์ยกขึ้นมาคือโครงการจิตอาสาพระราชทานของกองทัพ ซึ่งจะเห็นว่ากองทัพบกมีบทบาทในการนำทหารใส่ชุดจิตอาสาไปช่วยเหลือพื้นที่ไฟไหม้ย่านบ่อนไก่เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และกองทัพเรือเองก็มีการของบประมาณเพื่อใช้ในโครงการจิตอาสาอีกด้วย
การสืบค้นของประชาไทพบว่าใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2566 กระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ มีการขอใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเป็นจำนวน 12,118,800 บาท อยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โครงการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์
จากความสัมพันธ์เหนียวแน่น สู่คำถามสำคัญเรื่องรัฐประหาร-นำทหารออกจากการเมือง
การมองฉากทรรศน์ทางการเมืองผ่านความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างกองทัพและพระมหากษัตริย์ และการมีอยู่ของกลุ่มทหารคอแดงเป็นปัจจัยหลัก อาจนำมาสู่การคาดการณ์ทางการเมืองไทยที่น่าสนใจ
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ศาสตราจารย์จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากองทัพไทยมักประกาศว่าตนมีหน้าที่พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทหารมักจะพูดว่าตนเป็นทหารของพระราชา แต่สิ่งที่หนังสือของสุภลักษณ์นำเสนอนั้นจะบอกว่า ทหารของพระราชาเพิ่งจะเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ในนามของทหารคอแดง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารและตำรวจ ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี เมื่อ 18 ม.ค. 2563 (ที่มา: phralan.in.th)
อุกฤษฎ์กล่าวว่า กรอบในการดูพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือนในไทยต่างไปจากความสัมพันธ์แบบเดียวกันในสังคมสมัยใหม่ที่อื่น เพราะหลักพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยและทหารก็แทรกแซงการเมืองมาตลอด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทหารเองก็มีความขัดแย้งกันในรุ่น เช่น ความขัดแย้งระหว่างเชาวลิต ยงใจยุทธ์ โรงเรียนนายร้อยจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 1 กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รุ่นที่ 5 และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รุ่นที่ 7 ในทศวรรษ ค.ศ. 1980 หลังจากนั้นความขัดแย้งระหว่างหรือภายในรุ่นก็มีอยู่เรื่อยๆ เช่น ในกลุ่ม 3 ป. หรือบูรพาพยัคฆ์ในรุ่น 19 21 22 และ 23 และในยุคหลังปี 2546-2562 กลุ่ม 3 ป. ได้นั่งตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกท่ามกลางความไม่พอใจของทหารรุ่นอื่นๆ แต่หลังปี 2562 กลุ่มทหารคอแดงที่เข้ามาใหม่ที่มีความพิเศษมาก คือมีความเชื่อมโยงกับกษัตริย์โดยตรง
อาจารย์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินว่า การเลื่อนลดปลดย้ายทหารระดับผู้บัญชาการรอบหน้า กลุ่มบูรพาพยัคฆ์จะกลับมาแข่งขันกับกลุ่มทหารคอแดงอีกครั้ง
สุภลักษณ์มองว่า การเอาทหารออกจากการเมืองไทยเป็น “ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้” เพราะหลักพลเรือนควบคุมกองทัพเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในหมู่ทหาร การเลื่อนลดปลดย้ายทหารรอบหน้าต้องดูว่าจะมีสัญญาณคำสั่งมาจากไหน หากมีทหารคอแดงได้เลื่อนขึ้นตำแหน่งต่อก็อาจจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น แต่คำถามก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากทหารคอแดงถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปกันหมดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่ากษัตรอย์จะหยิบคนในส่วนราชการในพระองค์ เช่น ในราบ 1 หรือราบ 11 มาเป็นทหารระดับ ผบ.
อีกคำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อกษัตริย์มีอำนาจควบคุมกองทัพมากขึ้นแล้ว จะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ ต่อคำถามนี้ สุภลักษณ์มองว่าการรัฐประหารยังเกิดขึ้นได้
“จากการคุยกับนักการเมือง ทหาร อดีตทหาร และคนที่กำลังอยู่ในตำแหน่ง ก็บอกว่า เมื่อกษัตริย์มีกองทัพส่วนพระองค์ เป็นหน่วยที่พร้อมรบ หน่วยรบอื่นจะไม่กล้าที่จะท้าทายและทำรัฐประหาร แต่ข้อโต้แย้งของผมก็คือ รัฐประหารจะยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้ามีความยินยอมจากวัง ประวัติศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่า การรัฐประหารไม่เคยสำเร็จหากไม่มีความยินยอมจากวัง” สุภลักษณ์กล่าว
แชมเบอร์สมองว่า ความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในกองทัพสามารถหาจุดร่วมได้ภายใต้กษัตริย์ และความหวาดหวั่นต่ออนาคตก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายนี้เกาะเกี่ยวกันอยู่ การนำกองทัพออกจากการเมืองไทยจะไม่สามารถทำได้ตราบใดที่กองทัพยังคงได้รับการสนับสนุนจากวังหรือชนชั้นนำและหากประชาชนยังแตกแยกทางการเมือง หากกระแสต่อต้านกษัตริย์ขยายตัว กษัตริย์จะต้องการกองทัพที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสถาบัน แต่กองทัพที่เข้มแข็งนั้นก็อาจยากที่จะควบคุม ท้ายที่สุด ทหารจะยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในการทำหน้าที่การันตีสถานภาพและการดำรงอยู่ของการเป็นทหารพระราชา และพยายามจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ
ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ผู้ให้กำเนิดแนวคิดเครือข่ายกษัตริย์ มองว่าแนวคิดที่ตนได้เริ่มนั้นได้มีชีวิตของตัวมันเองผ่านการถกเถียงและการนำไปใช้โดยคนอื่นในทางสาธารณะจนไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของแนวคิดนั้นแล้ว เพราะบริบทการพูดถึงเครือข่ายกษัตริย์ในปี 2564 ก็ต่างไปจากบริบทที่ก่อกำเนิดแนวคิดนี้ที่เดิมทีเป็นการพูดถึงบริบทการเมืองพลเรือนหลังจากทหารกลับกรมกองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการเกิดขึ้นของศูนย์กลางทางอำนาจอีกขั้วที่มีทักษิณ ชินวัตรเป็นศูนย์กลางหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นคู่แข่งกับศูนย์กลางทางอำนาจที่มีวังเป็นแกนกลาง
ทั้งนี้ แมคคาร์โกคิดว่า ในรัชกาลที่ 10 ‘เครือข่าย’ ยังคงดำรงอยู่ แม้ธรรมชาติของเครือข่ายได้เปลี่ยนไปในหลายทาง แต่ก็คิดว่าผู้เล่นยังรู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อมีสัญญาณของเจตจำนงบางอย่าง อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในพระบรมราชโองการปี 2562 หลังพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือพระบรมราชโองการในคืนก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ที่ระบุว่าให้ส่งเสริมคนดี